ถั่วแปบ

ถั่วแปบ

ถั่วแปบ มีสายพันธุ์ที่หลากหลายมาก สามารถพบได้ทางภาคเหนือและทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นฝักแบนยาวและโค้งงอ เมล็ดมีรสหวานมัน สามารถนำมาใช้ประกอบอาหารได้หลากหลาย นำมาใช้เป็นพืชคลุมดินและเป็นอาหารของสัตว์เลี้ยง อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการและยังมีสารหลากหลายชนิดที่ช่วยยับยั้งโรคได้มากมาย แถมยังเป็นผักที่ทานได้ง่ายอีกด้วย ดีอย่างมากที่จะนำมาใช้ประกอบอาหารเพื่อทานเป็นประจำ

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของถั่วแปบ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lablab purpureus (L.) Sweet
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Hyacinth bean” “Dolichos bean” “Seim bean” “Lablab bean” “Egyptian kidney bean” “Indian bean” “Australian pea”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “ถั่วแปะยี” ภาคตะวันตกเฉียงเหนือเรียกว่า “กวาวน้ำ ถั่วหนัง ถั่วแล้ง มะแปน ถั่วแปยี ถั่วมะเปกี” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “ถั่วแปบขาว ถั่วหนัง หมากแปบ มะแปบ” จังหวัดสกลนครเรียกว่า “ถั่วแปบน้อย แปบปลาซิว” ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่เรียกว่า “โบ่บ๊ะซะ” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “เป๊าะบ่าสะ” ชาวกะเหรี่ยงแดงเรียกว่า “กู๊เบเส่, กู๊เบอีโท้, กู๊เบผ่าบุ๊” ชาวลัวะเรียกว่า “แผละแถะ” ชาวปะหล่องเรียกว่า “เบล่เปยี่” ชาวเมี่ยนเรียกว่า “เซียงหวังตบ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE)
ชื่อพ้อง : Dolichos lablab L., Dolichos purpureus L., Lablab niger Medik., Lablab lablab (L.) Lyons, Lablab vulgaris var. albiflorus DC., Vigna aristata Piper

ลักษณะของถั่วแปบ

ถั่วแปบ เป็นไม้ล้มลุกเลื้อยพันที่มีอายุหลายปี มักจะพบได้ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ต้น : ลักษณะของเรือนยอดเป็นรูปทรงกระบอก
ลำต้น : มีลำต้นอยู่เหนือดิน ตั้งตรงเองไม่ได้ จะใช้ส่วนของลำต้นเกี่ยวพัน โดยเถามีลักษณะกลมสีเขียวและมีขนสีขาวขึ้นอยู่ประปราย ไม่อวบน้ำ มีรากสะสมอาหารอยู่ใต้ดิน
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบเรียงสลับกัน ใบย่อยที่ปลายมีลักษณะเป็นรูปไข่ ส่วนใบย่อยด้านข้างมีลักษณะเป็นรูปไข่เบี้ยว มีหูใบย่อย แผ่นใบมีขนบาง
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจะตามซอกระหว่างก้านใบกับกิ่ง ในช่อมีดอกย่อยจำนวนมาก ลักษณะของดอกเหมือนกับดอกถั่วทั่วไป กลีบดอกเป็นสีม่วงหรือสีขาวแยกออกจากกัน มีจำนวน 3 กลีบ เป็นรูปไต กลีบรองดอกเป็นรูประฆัง มีเกสรตัวผู้สีเหลืองจำนวน 3 อัน มีเกสรตัวเมียสีเหลืองจำนวน 1 อัน ส่วนรังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ ดอกไม่มีกลิ่น
ผล : ผลมีลักษณะเป็นฝักแบนยาวและโค้งงอ ปลายผลเป็นจะงอย ลักษณะของผลมี 2 ชนิด คือ ฝักแบนและฝักกลม ผิวผลเรียบและเป็นสีเขียวอ่อนหรือสีม่วง สันฝักนูนขรุขระเป็นสีเขียวอ่อน
เมล็ด : ในผลมีเมล็ดอยู่ประมาณ 3 – 6 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปไข่กลม มีสีหลากหลายไปตามสายพันธุ์ ตั้งแต่สีครีม สีขาวเหลือง สีน้ำตาลอ่อน จนถึงสีแดงหรือมีลาย

สรรพคุณของถั่วแปบ

  • สรรพคุณจากถั่วแปบ แก้คอแห้ง ช่วยดับร้อน ถอนพิษ ขจัดความชื้น ช่วยถอนพิษสุรา ช่วยระงับอาเจียน ช่วยแก้อาการเมาค้าง บำรุงม้าม บำรุงกระเพาะอาหาร ช่วยระงับอาการท้องร่วง ช่วยแก้อาการประจำเดือนมาไม่ปกติ ช่วยเร่งการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาว ช่วยกำจัดทำลายเซลล์และสิ่งปลอมในร่างกาย รักษาอาการท้องร่วง ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด เป็นริดสีดวงทวาร ใช้ถอนพิษฝี ทำให้เลือดแข็งตัว
    – ช่วยแก้อาการท้องอืด ระงับอาการท้องร่วง ช่วยทำให้เจริญอาหาร ช่วยระงับอาเจียน ด้วยการนำถั่วแปบมาปรุงหรือทำเป็นข้าวต้มผสมรวมกับแคร์รอตและลูกเดือย
    – ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง มีฤทธิ์ในการต้านมะเร็ง ด้วยการนำถั่วแปบสดปรุงผัดผสมกับแคร์รอตและเห็ดที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง
  • สรรพคุณจากเมล็ด ช่วยบำรุงกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย ช่วยแก้โรคตา ช่วยลดไข้ แก้ไข้ แก้ไข้สัมประชวร ช่วยแก้เสมหะในร่างกาย ช่วยแก้ลม ช่วยแก้อาการเกร็ง ต้านการกระตุ้นให้เกิดการกลายพันธุ์จากสารบางชนิด ทำให้เมล็ดเลือดแดงแตก
  • สรรพคุณจากผล ช่วยบำรุงกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย บำรุงร่างกาย ช่วยแก้อาการแพ้
  • สรรพคุณจากราก รักษาโรคตา ช่วยแก้โรคซาง
  • สรรพคุณจากทั้งต้น
    – แก้อาการเจ็บคอ แก้เสียงแหบแห้ง ด้วยการนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากใบ
    – รักษาโรคคางทูม ด้วยการนำมาตำใช้พอก
    – ช่วยในการรักษาเนื้อร้าย ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ด้วยการนำใบถั่วแปบสดประมาณ 1 กิโลกรัม มาคั้นเอาแต่น้ำสีเขียว ใช้ดื่มหลายครั้งต่อวัน
  • สรรพคุณจากน้ำต้มเมล็ด ช่วยต้านอาการอักเสบ ต้านฮอร์โมนไทรอยด์ ช่วยลดการดูดซึมของแอลกอฮอล์ในกระเพาะอาหาร ช่วยเพิ่มการกำจัดแอลกอฮอล์

ประโยชน์ของถั่วแปบ

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ฝักถั่วแปบสามารถนำมาใช้ประกอบอาหาร โดยนิยมนำมาทำให้สุกแล้วใส่แกง นำมาผัด นำมาลวกจิ้มเป็นผักจิ้มกินกับน้ำพริกต่าง ๆ ส่วนเมล็ดนำไปทอดรับประทาน
2. ใช้ในด้านการเกษตร ปลูกเป็นพืชเพื่อช่วยปรับบำรุงดินหรือปลูกเป็นพืชคลุมดินได้ เมล็ดแก่ของถั่วแปบนิยมนำมาใช้เป็นอาหารวัวและควาย

คุณค่าทางโภชนาการของเมล็ดถั่วแปบอ่อนต้ม สุก แห้ง ไม่ใส่เกลือ

คุณค่าทางโภชนาการ ต่อ 100 กรัม โดยคิดเป็น % ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ ให้พลังงาน 50 กิโลแคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารที่ได้รับ
คาร์โบไฮเดรต 9.2 กรัม
ไขมัน 0.27 กรัม
โปรตีน 2.95 กรัม
วิตามินบี1 0.056 มิลลิกรัม (5%)
วิตามินบี2 0.088 มิลลิกรัม (7%)
วิตามินบี3 0.48 มิลลิกรัม (3%)
วิตามินบี9 47 ไมโครกรัม (12%)
วิตามินซี 5.1 มิลลิกรัม (6%) 
ธาตุแคลเซียม 41 มิลลิกรัม (4%)
ธาตุเหล็ก 0.76 มิลลิกรัม (6%)
ธาตุแมกนีเซียม 42 มิลลิกรัม (12%)
ธาตุแมงกานีส 0.21 มิลลิกรัม (10%) 
ธาตุฟอสฟอรัส 49 มิลลิกรัม (7%) 
ธาตุโพแทสเซียม 262 มิลลิกรัม (6%) 
ธาตุสังกะสี 0.38 มิลลิกรัม (4%)

คุณค่าทางโภชนาการของฝักถั่วแปบอ่อน

คุณค่าทางโภชนาการ ต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 334 แคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารที่ได้รับ
น้ำ 12.1 กรัม
โปรตีน 21.5 กรัม
ไขมัน 1.2 กรัม 
คาร์โบไฮเดรต 61.4 กรัม
เส้นใยอาหาร 6.8 กรัม
ธาตุแคลเซียม 98 มิลลิกรัม
ธาตุเหล็ก 3.9 มิลลิกรัม
ธาตุฟอสฟอรัส 345 มิลลิกรัม
วิตามินบี1 0.40 มิลลิกรัม
วิตามินบี2 0.12 มิลลิกรัม
วิตามินบี3 1.8 มิลลิกรัม

ถั่วแปบ เป็นต้นที่สามารถนำส่วนต่าง ๆ มาใช้เป็นยาสมุนไพรได้แทบทุกส่วน อุดมไปด้วยวิตามินแร่ธาตุและยังง่ายต่อการทาน ในด้านการเกษตรยังดีต่อการเป็นพืชคลุมดินด้วย ถั่วแปบมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของเมล็ด มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงม้าม บำรุงกระเพาะอาหาร ช่วยบำรุงกำลัง แก้โรคตา รักษาโรคคางทูม และมีส่วนช่วยป้องกันโรคมะเร็งได้

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. “ถั่วแปบ”. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). หน้า 93.
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “Hyacinth bean, Lablab”. อ้างอิงใน: หนังสือพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง ชุดที่ 1 (เกรียงไกรและคณะ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [20 ม.ค. 2014].
ข้อมูลพรรณไม้, พืชผักพื้นเมือง : ผักสวนครัว, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ถั่วแปบ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [20 ม.ค. 2014].
โรงเรียนละหานทรายรัชดาภิเษก. “ถั่วแปบ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.lrp.ac.th. [20 ม.ค. 2014].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “ถั่วแปบ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable. [20 ม.ค. 2014].
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “Lablab”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: en.wikipedia.org/wiki/Lablab. [20 ม.ค. 2014].
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 221 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า. “ถั่วแปบ ผักพื้นบ้านชื่อไทยโบราณ”. (เดชา ศิริภัทร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [20 ม.ค. 2014].
บ้านมหา. “ถั่วแปบ ของวิเศษสำหรับต้านโรคมะเร็ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.baanmaha.com. [20 ม.ค. 2014].
ฐานข้อมูลท้องถิ่น สำนักวิทยบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. “ถั่วแปบ สมุนไพร”. อ้างอิงใน: การสำรวจพรรณไม้ในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร. ม.ป.พ. (กมลทิพย์ ประเทศ และคณะ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 202.29.15.9/rlocal/. [20 ม.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/
รูปอ้างอิง
1.https://minnetonkaorchards.com/hyacinth-bean-vine/