เห็ดหูหนู สุดยอดสรรพคุณทางยา ป้องกันโรคอันตราย บำรุงอวัยวะสำคัญ
เห็ดหูหนู หรือ เห็ดหูหนูดำ เป็นแผ่นเหมือนกับหูหนูหรือหูคน แผ่นคล้ายวุ้น เนื้อนิ่มและเหนียว มีสีออกน้ำตาลเทาหรือน้ำตาลอ่อน

เห็ดหูหนู

เห็ดหูหนู (Jelly ear) หรือ เห็ดหูหนูดำ เป็นพืชในกลุ่มเห็ดราของเห็ดฟันไจ มีรสจืดชุ่มและเป็นยาสุขุม เป็นเห็ดที่หาได้ง่ายและราคาไม่แพง จึงเป็นเห็ดที่คนนิยมนำมาบริโภคกันอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในอาหารเจ ถือเป็นเห็ดที่พบได้ทั่วไปในเมนูต่าง ๆ เป็นที่รู้กันดีว่าเห็ดหูหนูมีประโยชน์ต่อร่างกายและมีคุณค่าทางโภชนาการ ดีอย่างมากต่ออวัยวะภายในและป้องกันโรคอันตรายได้

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของเห็ดหูหนู

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Auricularia auricula – judae (Bull.) J.Schröt.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Jew’s ear” “Wood ear” “Jelly ear”
ชื่อท้องถิ่น : มีชื่ออื่น ๆ เรียกว่า “เห็ดหูหนูดำ เห็ดหูแมว เห็ดหูลัวะ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ AURICULARIACEAE

ลักษณะของเห็ดหูหนู

เห็ดหูหนู มักจะพบตามลำต้นของต้นใหญ่ที่เน่าเปื่อยหรือซากไม้ที่ผุสลาย มีลักษณะเป็นแผ่นเหมือนกับหูหนูหรือหูคน แผ่นคล้ายวุ้นใส เนื้อนิ่มอ่อนและเหนียว มีสีออกน้ำตาลเทาหรือน้ำตาลอ่อน แผ่นใบด้านบนเรียบเป็นมันเงา ส่วนขอบแผ่นมีรอยจีบหรือเป็นลอน ด้านใต้ใบมีขนละเอียดขึ้นปกคลุมอยู่เล็กน้อย ถ้าใบแห้งจะมีความแข็งและเหนียว ก้านใบเห็ดหูหนูนั้นสั้นมาก โดยจะอยู่กลางดอกหรือไปข้างใดด้านหนึ่งยึดติดกับลำต้นไม้หรือท่อนไม้ที่เน่าเปื่อย ส่วนสปอร์ของเห็ดหูหนูจะมีลักษณะเป็นรูปไส้หรือมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก มีสีเทาม่วงอ่อน

สรรพคุณของเห็ดหูหนู

  • ออกฤทธิ์ต่อปอด ตับ กระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่ เป็นยาบำรุงร่างกาย เป็นยาซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอในร่างกาย เป็นยาฟอกเลือด ช่วยทำให้ปอดชุ่มชื่น ช่วยทำให้เลือดเย็น ช่วยแก้อาการไอ แก้อาเจียนเป็นเลือด แก้เลือดกำเดาไหล เป็นยาห้ามเลือด ช่วยแก้มือเท้าเย็นชา ป้องกันโรคหลอดเลือดอุดตัน ลดไขมันในเลือดสูง ลดความดันเลือดสูง ป้องกันหลอดเลือดแข็งตัว ป้องกันหลอดเลือดตีบ ป้องกันเลือดจาง แก้อาการอ่อนเพลีย รักษาวัณโรค แก้หอบหืด แก้ไอแห้ง แก้ไอเป็นเลือด แก้เจ็บคอ แก้ร้อนใน แก้นิ่วในถุงน้ำดี แก้นิ่วในทางเดินกระเพาะปัสสาวะ แก้นิ่วในไต แก้อุจจาระเป็นเลือด ป้องกันมะเร็งและต้านมะเร็ง ลดอาการแทรกซ้อนภายหลังจากการฉายรังสี ช่วยหยุดเลือด เป็นยาระบายและขับของเสียในลำไส้ ทำให้หัวใจแข็งแรง ช่วยบำรุงสายตา บำรุงตับ ทำให้ร่างกายกระฉับกระเฉง ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่ตึงเครียดให้คลายตัว บำรุงผิวพรรณ
  • รักษาโรคความดันโลหิตสูงหรือเส้นเลือดแข็งตัว ด้วยการนำเห็ดหูหนู 3 กรัม มาแช่ในน้ำ 1 คืน จากนั้นนำมานึ่งประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง ใส่น้ำตาลกรวดลงผสมกันทานวันละครั้งก่อนนอน
  • รักษาอาการท้องผูก ช่วยรักษาริดสีดวงทวารมีเลือดหรือถ่ายเป็นเลือด ด้วยการนำเห็ดหูหนู 3 – 6 กรัม และลูกพลับอบแห้ง 30 กรัม มารวมกันต้มกับน้ำทาน
  • รักษาอาการประจำเดือนมามากหรืออาการตกขาวของสตรี รักษาอาการตกเลือดหรือแก้สตรีตกเลือด ด้วยการนำเห็ดหูหนูอบแห้งมาบดให้เป็นผง ใช้ชงกับน้ำทานครั้งละ 3 – 6 กรัม วันละ 2 ครั้ง

ประโยชน์ของเห็ดหูหนู

เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใช้ประกอบอาหารอย่างเมนูผัดเนื้อไก่ใส่ขิงใส่เห็ดหูหนู แกงจืดเห็ดหูหนู ยำเห็ดหูหนู เป็นต้น เป็นอาหารคาวของอาหารเจและยังเป็นสุดยอดของเห็ดอีกด้วย

คุณค่าทางโภชนาการของเห็ดหูหนู

คุณค่าทางโภชนาการของเห็ดหูหนู ต่อ 100 กรัม จากข้อมูลของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ สาขาพืชผัก ระบุว่า ให้พลังงาน 321.5 แคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสรอาหาร
ไขมัน 0.70%
โปรตีน 7.25%
คาร์โบไฮเดรต 71.50%
ความชื้น 85.70%
กากใยอาหาร 18.70%
เถ้า 1.69%
วิตามินบี1 0.008 มิลลิกรัม
วิตามินบี2 1.173 มิลลิกรัม
วิตามินบี3 0.43 มิลลิกรัม
วิตามินซี 0.38 มิลลิกรัม
แคลเซียม 332.60 มิลลิกรัม
เหล็ก 14.30 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 122.10 มิลลิกรัม

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเห็ดหูหนู

พบสาร โปรตีน ไขมันและกลูโคสกลูโคลิน เช่น D – Mannanm Glueuronic acid, Methyl pentose, Licithin, Cephalin, Sphingomyelin, Ergosterol และแร่ธาตุอีกหลายชนิด

ข้อควรระวังของเห็ดหูหนู

1. ผู้ที่มีระบบการย่อยอาหารหรือมีภาวะของร่างกายเย็นมาก ต้องมีอาหารหรือสมุนไพรอื่นที่มีคุณสมบัติร้อนประกอบด้วย
2. ไม่ควรกินมากในช่วงกลางคืน แต่ควรกินในช่วงเวลากลางวันมากกว่า

เห็ดหูหนู เป็นเห็ดที่อยู่ในอาหารทั่วไปและสามารถพบได้ง่าย อีกทั้งยังเป็นสุดยอดเห็ดที่ช่วยบำรุงร่างกายได้อย่างดี สามารถป้องกันโรคที่คนทั่วไปมักจะเป็นกันได้ ถือเป็นเห็ดที่ไม่ควรมองข้าม แถมยังมีราคาไม่แพงและซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไป เป็นเห็ดที่เหมาะต่อผู้สูงอายุในการซ่อมแซมร่างกายและบำรุงอวัยวะ ส่วนคนหนุ่มสาวก็ควรทานเพื่อป้องกันเช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง บำรุงสายตาและบำรุงตับได้ ไม่ใช่เรื่องดีนักที่จะปฏิเสธการทานเห็ดหูหนูเพราะไม่มีอะไรยากเลยในการซื้อมาทำกินเองหรือไปทานที่ร้าน แถมยังอุดมไปด้วยสรรพคุณมากมายขนาดนี้ ทั้งหมดทั้งมวลมีแต่กำไรต่อชีวิตทั้งสิ้น

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “เห็ดหูหนู”. หน้า 628.
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 300 คอลัมน์ : แพทย์แผนจีน. (นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล). “เห็ดหูหนู : สุดยอดของเห็ด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [24 ก.ย. 2014].
อาหารพื้นบ้านล้านนา, สำนักหอสมุด และสำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “เห็ดหูหนู”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : library.cmu.ac.th/ntic/lannafood/. [24 ก.ย. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/