ลิ้นจี่
ลิ้นจี่ (Lychee, Litchi, Lichee, Lichi) เป็นไม้ยืนต้นกึ่งเขตร้อนที่มีอายุยืนยาวผลไม้ชนิดนี้มีลักษณะเปลือกเป็นสีแดง ถูกจัดอยู่ในวงศ์เดียวกันกับลำไยและเงาะ จัดอยู่ในวงศ์เงาะ (SAPINDACEAE) ผลอุดมไปด้วยน้ำ 83% ช่วยให้ผิวชุ่มชื้น มีสารต้านอนุมูลอิสระ ไฟเบอร์สูง และยังมีสารอาหารสำคัญอย่างวิตามิน A, B และวิตามิน C ที่ช่วยให้หลอดเลือดและกระดูกแข็งแรง ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Litchi chinensis Sonn. และได้มีการปลูกอย่างแพร่หลายในประเทศไทยแถบภาคเหนือ หรือในต่างประเทศ เช่น เวียดนาม ญี่ปุ่น อินเดียตอนเหนือ บังกลาเทศ อเมริกาใต้ และสหรัฐอเมริกา โดยสายพันธุ์มีอยู่หลากหลายสายพันธุ์ แต่ที่เป็นที่นิยมกันก็ได้แก่ สายพันธุ์จักรพรรดิ กิมเจ็ง และฮงฮวย เป็นต้น โดยถือเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของผลไม้สดหรือในรูปแบบแปรรูปก็ตาม
ลักษณะของลิ้นจี่
- ลำต้น มีอายุ 5-25 ปี หรือมากกว่า เป็นไม้ไม่มีการพลัดใบ และมีความสูงขนาดกลาง มีลำต้นสูงประมาณ 10-15 เมตร หรือมากกว่า ลำต้นแตกกิ่งค่อนข้างต่ำ กิ่งมีขนาดยาว แตกกิ่งออกจำนวนมาก ทำให้แลดูเป็นทรงพุ่มหนาทึบเป็นทรงกลม เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาลอมเทา เปลือกลำต้นขรุขระ
- ใบ เป็นใบประกอบ โดยมีก้านใบหลักยาว 10-20 ซม. แต่ละก้านใบมีใบย่อยแตกออกด้านข้างเรียงสลับกัน 2-10ใบ ใบมีลักษณะเป็นรูปหอก เรียวยาว โคนใบสอบ ปลายใบแหลม แผ่นใบเรียบ แผ่นใบหนา และเหนียวคล้ายหนัง ใบอ่อนหรือยอดอ่อนมีสีค่อนข้างแดง ส่วนใบแก่มีสีเขียวเข้ม และเป็นมัน ส่วนท้องใบมีสีเขียวอมเทาที่จางกว่าแผ่นใบด้านบน
- ดอก ออกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่งหรือปลายยอด มีก้านช่อดอกยาว 10-30 ซม. ก้านช่อดอกแตกแขนงกว้าง 10-30 ซม. แต่ละช่อดอกประกอบด้วยดอกจำนวนมาก ดอกมีขนาด 3-5 มม. มีก้านดอกยาวประมาณ 1.5 มม. ดอกมีกลีบเลี้ยง 4-5 กลีบ ส่วนกลีบดอกจะไม่มี สีเหลืองอมเขียว เป็นรูปถ้วย ภายในมีเกสรตัวผู้ 5-10 อัน ส่วนชั้นในสุดเป็นเกสรตัวเมียที่มีก้านชูเกสร และรังไข่ โดยรังไข่มี 2 พู แต่จะติดเป็นผลเพียง 1 พู เมื่อดอกบานจะส่งกลิ่นหอม
- ผล มีลักษณะหลายแบบขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ทั้งผลแบบกลม ทรงรี และรูปหัวใจ โดยใน 1 ช่อ จะมีผลตั้งแต่ 1-40 ผล หรือมากกว่า ผลมีเปลือกบาง ผิวเปลือกขรุขระ มีสีชมพูอมแดงหรือสีแดงสด เปลือกผลสามารถแกะแยกออกจากเนื้อได้ง่าย เนื้อสีขาวขุ่นที่ฉ่ำไปด้วยน้ำ เนื้อให้รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย
- เมล็ด มีลักษณะรี เปลือกเมล็ดมีสีน้ำตาลเข้ม ผิวเปลือกเรียบ และเป็นมัน ขั้วเมล็ดมีเยื่อสีขาวที่เชื่อมกับขั้วผล
สรรพคุณของลิ้นจี่
1. รับประทานเป็นยาบำรุงร่างกายได้
2. ใช้ช่วยให้พลังชี่ขับเคลื่อน (เมล็ด)
3. ใช้ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย (ราก, เปลือกลำต้น)
4. มีฤทธิ์ช่วยแก้อาการไอเรื้อรัง
5. มีฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระอย่างสูง (สารสกัดจากเปลือก)
6. สามารถต้านมะเร็ง และช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมได้อีกด้วย (สารสกัดเพอริคาร์ป)
7. เปลือกของผลใช้ทำเป็นชาชงดื่มแก้อาการหวัด (ชาจากเปลือก)
8. ใช้ช่วยแก้อาการคัดจมูก
9. มีส่วนช่วยบำรุงระบบการย่อยอาหาร
10. สามารถลดกรดในกระเพาะอาหารได้
11. สามารถช่วยบรรเทาอาการไม่ปกติของระบบทางเดินอาหาร
12. มีฤทธิ์ช่วยป้องกันการเกิดและช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน
13. ใช้ช่วยแก้การติดเชื้อในลำคอ (ชาจากเปลือก)
14. สามารถช่วยรักษาอาการท้องเดินได้
15. ช่วยลดขนาดเนื้องอก (งานวิจัยในประเทศจีน แต่ไม่ได้ระบุไว้แน่ชัดว่าใช้ส่วนใด)
16. ใช้ช่วยรักษาโรคจากการติดเชื้อไวรัส (ชาจากเปลือก)
17. ช่วยแก้อาการท้องเสียชนิดไม่รุนแรงได้ (ชาจากเปลือก)
18. ใช้ช่วยปกป้องและรักษาตับ (สารสกัดของผล)
19. สามารถช่วยรักษาอาการปวดท้องได้ (เมล็ด)
20. ช่วยรักษาอาการปวดไส้เลื่อนได้ (เมล็ด)
21. มีประโยชน์ในการช่วยป้องกันการเกิดโรคเหน็บชาได้ (วิตามินบี 1)
22. รากหรือเปลือกของลำต้นนั้น ใช้แก้อาการติดเชื้อไวรัสและอีสุกอีใสได้ (ราก, เปลือกลำต้น)
23. สามารถช่วยลดอาการปวดต่าง ๆ ได้ (เมล็ด)
24. ใช้ช่วยรักษาอาการปวดบวมอัณฑะ (เมล็ด)
25. สามารถใช้ช่วยรักษาโรคไส้เลื่อน อัณฑะหย่อนยาน โดยการนำเมล็ดไปตากแห้งแล้วนำไปคั่วกับไฟอ่อน ๆ จนสุกเกรียม จากนั้นนำมาบดให้เป็นผง แล้วเอาผงที่ได้มาประมาณ 1-2 ช้อนโต๊ะ เอามาต้มกับน้ำ หรือตัก 1 ช้อนโต๊ะ แล้วนำมาชงกับน้ำร้อน ดื่มวันละ 3-4 ครั้ง ติดต่อกันประมาณ 20 วัน (เมล็ด)
ประโยชน์ของลิ้นจี่
1. สามารถนำมาทำเป็นน้ำผลไม้ดื่มช่วยแก้กระหาย และให้รสชาติที่หวานชื่นใจ
2. เป็นผลไม้เศรษฐกิจที่มีสำคัญต่อบ้านเราเป็นอย่างยิ่ง โดยมีการนำไปแปรรูปเป็นผลไม้กระป๋องและอบแห้งเพื่อส่งออกนั่นเอง
คุณค่าทางโภชนาการ
คุณค่าทางโภชนาการของเนื้อ ต่อ 100 กรัมให้พลังงาน 66 กิโลแคลอรี
สารอาหาร | ปริมาณสารที่ได้รับ |
คาร์โบไฮเดรต | 16.53 กรัม |
น้ำตาล | 15.23 กรัม |
เส้นใย | 1.3 กรัม |
ไขมัน | 0.44 กรัม |
โปรตีน | 0.83 กรัม |
วิตามินบี 1 | 0.011 มิลลิกรัม 1% |
วิตามินบี 2 | 0.065 มิลลิกรัม 5% |
วิตามินบี 3 | 0.603 มิลลิกรัม 4% |
วิตามินบี 6 | 0.1 มิลลิกรัม 8% |
วิตามินบี 9 | 14 ไมโครกรัม 4% |
วิตามินซี | 71.5 มิลลิกรัม 86% |
ธาตุแคลเซียม | 5 มิลลิกรัม 1% |
ธาตุเหล็ก | 0.13 มิลลิกรัม 1% |
ธาตุแมกนีเซียม | 10 มิลลิกรัม 3% |
ธาตุแมงกานีส | 0.055 มิลลิกรัม 3% |
ธาตุฟอสฟอรัส | 31 มิลลิกรัม 4% |
ธาตุโพแทสเซียม | 171 มิลลิกรัม 4% |
ธาตุโซเดียม | 1 มิลลิกรัม 0% |
ธาตุสังกะสี | 0.07 มิลลิกรัม 1% |
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
ในเนื้อผลมีสารประกอบชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการร้อนในได้ ดังนั้นไม่ควรที่จะรับประทานปริมาณที่มากจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้เกิดอาการร้อนในได้ ควรจะเลือกรับประทานผลไม้ให้หลากหลายเพื่อให้เกิดความสมดุลของร่างกายและป้องกันการเกิดอาการดังกล่าวอีกด้วย
สั่งซื้ออาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
แหล่งอ้างอิง
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), เว็บไซต์หมอชาวบ้าน
อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.sci.news/genetics/
2. https://vimafoods.com/en/product/lychee/