ผักตบไทย ทั้งต้นรสจืด แก้พิษในร่างกาย แก้รังแค เป็นยาขับลมและขับปัสสาวะ

ผักตบไทย

ผักตบไทย (Monochria) เป็นพืชในวงศ์ผักตบที่มักจะพบตามแหล่งน้ำหรือคลองบึงทั่วไป มีดอกสีน้ำเงินปนม่วงทำให้คลองหรือแหล่งน้ำที่มีผักตบไทยดูสวยงาม จึงนิยมนำมาใช้เป็นไม้ปลูกประดับได้ นอกจากนั้นผักตบไทยจะมีความนิ่มกรอบจึงนำมาทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริกหรือนำมาปรุงในเมนูอาหารต่าง ๆ เป็นผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการและมีสรรพคุณทางยาสมุนไพรได้ทั้งต้น

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของผักตบไทย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Monochoria hastata (L.) Solms
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Monochria” “Monochoria arrowleaf falsepickerelweed”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ผักตบ ผักโป่ง” จังหวัดสงขลาเรียกว่า “ผักสิ้น” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “ผักตบเขียด”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ผักตบ (PONTEDERIACEAE)

ลักษณะของผักตบไทย

ผักตบไทย เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปีที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบได้ตั้งแต่อินเดีย เนปาล ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและภูมิภาคมาเลเซีย ในประเทศไทยพบได้ทุกภาคและมักจะขึ้นอยู่ในน้ำ พบตามแหล่งน้ำจืด ริมหนองน้ำ คลองบึง ที่ชื้นแฉะ โคลนตมและตามท้องนาทั่วไป
ลำต้น : ลำต้นอยู่ใต้ดิน ชูก้านใบเหนือระดับน้ำ มีเหง้าใหญ่และแตกลำต้นเป็นกอ
ใบ : เป็นใบเดี่ยว แทงออกมาจากลำต้นใต้ดิน ก้านใบส่วนล่างมีลักษณะเป็นกาบหุ้มซ้อนกัน ก้านใบส่วนบนมีลักษณะกลมยาวและอวบน้ำ แผ่นใบเป็นรูปหัวใจหรือรูปสามเหลี่ยมคล้ายหัวลูกศร ปลายใบแหลม โคนใบมนเว้า ขอบใบเรียบ หลังใบและท้องใบเรียบเกลี้ยง ก้านใบยาวอวบ ส่วนโคนของก้านใบแผ่ออกเป็นกาบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจะโดยจะออกจากโคนก้านใบหรือใกล้แผ่นใบ ดอกแทงมาจากราก มีแผ่นใบประดับสีเขียวรองรับดอกย่อย 15 – 16 ดอก กลีบรวมมีจำนวน 6 กลีบ เรียงเป็น 2 วง วงละ 3 กลีบ กลีบดอกเป็นสีน้ำเงินปนม่วง สีฟ้าปนม่วงหรือมีสีขาวแต้มบ้างเล็กน้อย กลีบดอกค่อนข้างบอบบาง ดอกมีเกสรเพศผู้ 6 อัน ติดอยู่บนวงกลีบรวม แบ่งเป็นขนาดสั้น 5 อัน และขนาดยาว 1 อัน เมื่อดอกได้รับการผสม กลีบรวมจะรัดห่อหุ้มผล ส่วนปลายกลีบบิดพันเป็นเกลียว มักจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน
ผล : ผลเป็นแบบแคปซูลลักษณะเป็นรูปวงรี แห้งและแตกได้
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดเป็นสีน้ำตาล

สรรพคุณของผักตบไทย

  • สรรพคุณจากทั้งต้น แก้พิษในร่างกาย เป็นยาขับลม
    – แก้แผลอักเสบ ช่วยถอนพิษ แก้อาการปวดแสบปวดร้อน ด้วยการนำต้นสดใช้ตำพอกหรือใช้ทา
  • สรรพคุณจากใบ เป็นยาขับพิษร้อน เป็นยาขับปัสสาวะ เป็นยาทาแก้ฝี
    – เป็นยาแก้พิษเบื่อเมา ด้วยการนำใบมาตำผสมกับผักกระเฉดแล้วคั้นเอาน้ำมาดื่ม
  • สรรพคุณจากเหง้า
    แก้รังแค ชาวเกาะนำเหง้ามาบดกับถ่านใช้ทาแก้อาการ

ประโยชน์ของผักตบไทย

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อน ก้านใบอ่อนและช่อดอกนำมาทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริก น้ำพริกปลา ส้มตำหรือลวกจิ้มกับน้ำพริก ยอดอ่อนและดอกอ่อนยังนำไปปรุงในแกงส้ม แกงเลียงหรือนำมาผัดได้ด้วย
2. ปลูกเป็นไม้ประดับ
3. ใช้ในการเกษตร ทั้งต้นนำมาหั่นเป็นฝอยใช้เลี้ยงหมูหรือทำเป็นปุ๋ยหมักได้
4. ใช้ในอุตสาหกรรม ลำต้นนำมาตากแห้งใช้ทำเป็นเครื่องจักสานต่าง ๆ

คุณค่าทางโภชนาการของผักตบไทยต่อ 100 กรัม

คุณค่าทางโภชนาการของผักตบไทยต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 9 กิโลแคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ
ใยอาหาร 0.7 กรัม
แคลเซียม  31 มิลลิกรัม
เหล็ก 0.1 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 28 มิลลิกรัม
เบต้าแคโรทีน 1,961 ไมโครกรัม
วิตามินเอ 324 ไมโคกรัมของเรตินอล
วิตามินบี1 0.01 มิลลิกรัม
วิตามินบี2 0.30 มิลลิกรัม
วิตามินบี3 3.1 มิลลิกรัม
วิตามินซี 5 มิลลิกรัม

ผักตบไทย ทั้งต้นมีรสจืดและนิ่มกรอบจึงเหมาะสำหรับนำมารับประทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริกและปรุงในแกงได้ นอกจากนั้นยังมีดอกสีน้ำเงินปนม่วงอยู่ในน้ำจึงนำมาปลูกประดับในสวนน้ำได้ ชาวเกาะนำมาใช้เป็นยาสมุนไพร ผักตบไทยมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะทั้งต้นและใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้พิษในร่างกาย เป็นยาขับลม เป็นยาขับปัสสาวะและแก้รังแคได้ ถือเป็นต้นที่พบได้ทั่วไปในน้ำและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายด้านและยังมีคุณค่าทางโภชนาการอีกด้วย

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “ผักตบไทย (Phak Top Thai)”. หน้า 177.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ผักตบไทย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [18 พ.ย. 2014].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ผักตบไทย”. อ้างอิงใน : หนังสือ พรรณไม้น้ำบึงบอระเพ็ด. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [18 พ.ย. 2014].
ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (นพพล เกตุประสาท). “ผักตบไทย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : clgc.rdi.ku.ac.th. [18 พ.ย. 2014].