มะกรูด ( Kaffir Lime ) คุณประโยชน์ทางยาที่ไม่ควรมองข้าม
มะกรูด ( Kaffir Lime ) คือ สมุนไพรที่มีผิวขรุขระ มีรสเปรี้ยวกลมกล่อม และมีกลิ่นหอม น้ำมันจากผิวมะกรูดมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา

มะกรูด คือ

มะกรูด ( Kaffir Lime ) คือ สมุนไพรที่มีผิวขรุขระ มีรสเปรี้ยวกลมกล่อม และมีกลิ่นของน้ำมันหอมระเหยจัดอยู่ในตระกูลส้ม นิยมใช้กันมาตั้งแต่ในสมัยโบราณ ใช้ในการประกอบอาหาร ใช้สระผมช่วยบำรุงสุขภาพเสริมความงาม ซึ่งผิวมะกรูดจะมีสารซิโตรเนลลา ( Citronellal ) จะอยู่ในส่วนของน้ำมันจากผิวมะกรูด มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา มักจะนำมาใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์แชมพู มะกรูดเป็นพืชสมุนไพรโบราณที่มีคุณประโยชน์มากมายจริง ๆ

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของมะกรูด

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Citrus hystrix DC.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญ 3 ชื่อ คือ “Kaffir lime” “Leech lime” “Mauritius papeda”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “มะขุน มะขูด” ภาคใต้เรียกว่า “ส้มกรูด ส้มมั่วผี” จังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “มะขู”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ส้ม (RUTACEAE)

ลักษณะของมะกรูด

มะกรูด มีถิ่นกำเนิดในประเทศลาว อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ใบ : ใบเป็นใบประกอบชนิดลดรูปเรียงสลับกัน ใบสีเขียวแก่ พื้นผิวใบเรียบเกลี้ยงเป็นมันและค่อนข้างหนา มีกลิ่นหอมมากเพราะมีต่อมน้ำมันอยู่ โดยใบด้านบนมีสีเข้ม ส่วนใต้ใบสีอ่อน
ดอก : ออกดอกเป็นกระจุก กลีบดอกสีขาว ดอกร่วงง่ายและมีกลิ่นหอม
ผล : มีผลสีเขียวเข้มคล้ายมะนาว ผิวเปลือกนอกขรุขระ ขั้วหัวท้ายของผลเป็นจุก ผลมีต่อมน้ำมันกระจายอยู่ที่ผิว (hesperidium) ผลอ่อนมีสีเขียวแก่ เมื่อผลสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองสด พันธุ์ที่มีผลเล็กผิวจะขรุขระน้อยกว่าและไม่มีจุกที่ขั้ว
เมล็ด : มีเมล็ดจำนวนมาก

สรรพคุณของมะกรูด

รากมะกรูด : มีรสจืดเย็น สามารถช่วยแก้อาการไข้ ถอนพิษสำแดง แก้ลมจุกเสียด กระทุ้งพิษไข้ แก้พิษฝีภายใน และช่วยอาการเสมหะเป็นพิษ
ใบมะกรูด : ช่วยแก้ไอ แก้อาการอาเจียนเป็นเลือด ช่วยแก้อาการช้ำใน ช่วยในการชะลอการขยายตัวของเซลล์มะเร็ง และช่วยต่อต้านมะเร็งบางชนิดได้
ผลมะกรูด : ช่วยแก้อาการไอ ขับเสมหะ ช่วยฟอกโลหิต ช่วยแก้อาการปวดท้องในเด็กอ่อน ช่วยขับระดู ขับลมในลำไส้ แก้อาการน้ำลายเหนียว แก้เถาดานในท้อง
ผิวมะกรูด : ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ อาการเป็นลม หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ ขับลมในลำไส้ แก้อาการจุกเสียด ท้องอืด แน่นท้อง และขับสารพิษที่อยู่ในร่างกาย

การนำไปใช้ประโยชน์ของมะกรูด

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร เป็นส่วนประกอบของเมนูอาหารอย่างแกงไทยทั้งหลาย ผัดเผ็ดต่าง ๆ น้ำพริกมะกรูด หรือนำมาทำเป็นน้ำมะกรูด ใบของมะกรูดมีกลิ่นหอมที่ช่วยให้รสอาหารกลมกล่อมขึ้น ดับกลิ่นคาวในอาหาร หรือใช้แทนน้ำมะนาว
2. เป็นส่วนประกอบของยาสมุนไพร ใช้เป็นยาสมุนไพรพวกยาดองมะกรูดหรือเป็นส่วนประกอบของยาที่มีรสมะกรูด
3. ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสระผม ใช้มะกรูดเป็นส่วนผสมในยาสระผมหรือผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นมะกรูด
4. ปลูกประดับความมงคลของบ้าน ในสมัยก่อนมีความเชื่อว่ามะกรูดเป็นไม้มงคลที่ช่วยให้ผู้อยู่อาศัยมีความสุขหากปลูกไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
5. เป็นยาสระผมของคนโบราณ คนสมัยโบราณนิยมนำมะกรูดมาสระผม
6. ใช้ในพระราชพิธีสำคัญ “พระราชพิธีโสกันต์” ซึ่งระบุไว้ในพระราชพิธีสิบสองเดือนไว้ว่าจะต้องมีผลมะกรูดและใบส้มป่อยประกอบในพิธีด้วย
7. ใช้เป็นยาไล่ยุงและแมลง มีการผลิตน้ำมันหอมระเหยในรูปแบบแคปซูลเพื่อใช้ไล่แมลงและหนอนสำหรับเกษตรกร

ประโยชน์ของมะกรูด

  • ช่วยทำความสะอาดเส้นผม ทำให้ผมแข็งแรง ดกดำเงางาม นุ่มลื่น
  • ขจัดรังแค ชันนะตุ ช่วยบำรุงหนังศีรษะไม่ให้แห้ง
  • ลดอาการคันศีรษะ และปรับสมดุลให้หนังศีรษะ
  • แก้ปัญหาผมร่วง ที่เกิดจากสารเคมีที่มีฤทธิ์
  • ทำลายรูขุมขน และต่อมสร้างเส้นผม
  • ลดการขาดหลุดร่วงของเส้นผมได้ เมื่อใช้ต่อเนื่อง
  • จะช่วยให้เซลล์รากผมแข็งแรงขึ้น กระตุ้นให้เกิด
  • การงอกขึ้นมาใหม่ของเส้นผมได้อย่างรวดเร็ว
  • ช่วยล้างสารเคมีตกค้างบนเส้นผม
  • และหนังศรีษะ จากการย้อมผมและการดัดผม
  • ทำให้ผมหงอกช้า
  • มะกรูดเป็นสมุนไพรธรรมชาติ จึงไม่ต้องกลัวแพ้เหมือนแชมพูที่ทำจากสารเคมี
  • มะกรูดมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรงและต้านทานโรค
  • ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์     
  • ใบมะกรูดและน้ำมะกรูดสามารถใช้ดับกลิ่นคาวในอาหารได้
  • วิตามินซีและกรดธรรมชาติสามารถช่วยบำรุงผิวหน้าได้ ( แต่ไม่ควรพอกทิ้งไว้นานเกินไป )
  • ลดการก่อตัวของไบโอฟิล์มซึ่งเป็นคราบแบคทีเรียในช่องปากได้ถึง 99 เปอร์เซ็นต์

แจกสูตร มะกรูดเชื่อม

1. มะกรูด 30 ลูก
2. น้ำตาลทราย 500 กรัม
3. เกลือ 1/2 ช้อนชา
4. น้ำเปล่า 1/2 ถ้วย

วิธีทำมะกรูดเชื่อม

1. นำมะกรูดลูกที่มีจุกไม่แก่มาล้างน้ำให้สะอาด แล้วปอกเอาเปลือกสีเขียวออกให้หมด ให้เหลือเนื้อสีขาว (เปลือกเก็บไว้ใช้ทำอย่างอื่นต่อได้)
2. หั่นครึ่งมะกรูด แล้วคั้นน้ำและแยกเม็ดออก จากนั้นแบะเอาตรงกลางออกเพื่อจะได้ไม่เป็นเสี้ยน
3. จากนั้นนำไปขยำเกลือล้างน้ำ3-5 ครั้ง เพื่อให้ได้มะกรูดใส สีสวย หรือบางคนจะล้างแล้วแช่น้พปูนใส 1 คืนแล้วคั้นน้ำออกให้แห้งก็ได้ค่ะ
4. นำมะกรูด น้ำตาลทรายขาว หรือน้ำตาลทรายแดง เกลือ และน้ำเปล่า ใส่กระทะ เคี่ยวประมาณ 30 นาที (ถ้าใช้น้ำตาลทรายแดงจะเป็นสีน้ำตาล)
5. เมื่อมะกรูดเปลี่ยนสีให้เคี่ยวต่อไปจนน้ำตาลซึมเข้าเนื้อมะกรูดจนเหนียว เป็นอันใช้ได้
6. จากนั้นนำมะกรูดพักให้เย็นแล้วใส่ภาชนะปิดฝาให้สนิท หากแช่ตู้เย็นจะเก็บไว้ทานได้เป็นปี

สูตรขจัดรังแค และแก้คันศีรษะด้วยมะกรูด

  • นำมะกรูดเผาไฟให้พอมีน้ำมันซึมออกมาจากผิว และมีกลิ่นหอม แล้วนำมาผ่าครึ่ง
  • บีบน้ำมะกรูดมาชโลมให้ทั่วหนังศีรษะ หมักไว้ประมาณ 15-30 นาที ล้างออกด้วยน้ำสะอาด

สูตรแชมพูเพื่อผมนิ่ม ลื่น และรักษาอาการคันศีรษะ

  • นำมะกรูดผ่าครึ่ง ต้มกับน้ำเล็กน้อย สัดส่วน น้ำ : มะกรูด คือ 2 : 1 ตั้งไฟพอเดือดยกลง ปิดฝาทิ้งไว้ จากนั้นนำมาคั้นกรองด้วยผ้าขาวบาง
  • นำน้ำมะกรูดที่ได้มาชโลมให้ทั่วเส้นผมและหนังศีรษะ ใช้ทำความสะอาดเส้นผมแทนแชมพู หรือใช้เคลือบเส้นผมแทนครีมนวดผมก็ได้

สูตรทำแชมพูสมุนไพรใช้เอง

สูตร 1
ส่วนผสม

1. มะกรูด 3-5 ผล
2. หญ้าปักกิ่ง 1 ถ้วย

วิธีทำ

  • มะกรูดผ่าตามขวางเป็นสองซีก หญ้าปักกิ่งทั้งต้นล้างน้ำให้สะอาดใช้ทั้งราก ทั้งใบ
  • ใส่มะกรูด หญ้าปักกิ่ง น้ำซาวข้าว รวมในหม้อ ตั้งไฟปานกลาง รอให้เดือดประมาณ 20 นาที ปิดฝายกลง
  • รอจนน้ำเย็น สังเกตสีของน้ำจะคล้ำขึ้น ใช้มือคั้นกากทิ้ง
  • กรองน้ำด้วยผ้าขาวบางอีกครั้ง เก็บใส่ขวดไว้ใช้สระผมแทนแชมพู

สูตร 2
ส่วนผสม   

1. มะกรูด 3-5 ผล
2. ใบหมี่ 10 ใบ
3. น้ำซาวข้าวเหนียว 1 ลิตร

วิธีทำ

  • มะกรูดผ่าตามขวางเป็นสองซีก ตั้งน้ำพอเดือด ใส่มะกรูดและใบหมี่ลงไปในหม้อที่มีน้ำซาวข้าวเหนียว
  • รอให้เดือดต่อประมาณ 10 นาที ยกลงแล้วปิดฝาทิ้งไว้รอจนเย็น
  • ใช้ผ้าขาวบางกรองเอากากออก แล้วเก็บใส่ขวดไว้ใช้สระผมแทนแชมพู

สูตรผิวขาวด้วยมะกรูด

  • ให้นำมะกรูด 1 ลูกมาผ่าครึ่ง คั้นเอาแต่น้ำ มาผสมกับนมสด 1 ถ้วย ข้าวโอ๊ต 1 ถ้วย และน้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ คนส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากันดี
  • นำมาขัดลงบนผิวจนทั่ว เน้นจุดที่หยาบกร้าน เช่น ข้อศอก หัวเข่าและข้อพับ
  • ปล่อยไว้ประมาณ 15 – 20 นาที แล้วนำใยบวบชุบน้ำมะกรูดมาขัดผิวอีกครั้งอย่างเบามือ เพื่อกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวเก่า
  • จากนั้นล้างออกด้วยน้ำให้สะอาด ผิวก็จะดูขาวใส
  • ทำเป็นประจำ สัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง ควบคู่กับการทาครีมกันแดดเป็นประจำทุกวัน

ข้อควรระวัง

การใช้น้ำมันหอมระเหยมะกรูดมาใช้ทาภายนอกหลังจากทาแล้วภายใน 4 ชั่วโมง ไม่ควรให้ผิวหนังบริเวณที่ทานั้นสัมผัสกับแสงแดดโดยตรง เพราะอาจจะทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นไหม้ได้ เพราะในน้ำมะกรูดมีสารออกซิเพดามิน ( oxypedamin ) ซึ่งจะทำให้เกิดอาการแพ้เมื่อโดนแสงแดด

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

มะกรูด ประโยชน์ของมะกรูด สมุนไพรหลากสรรพคุณคู่ครัวไทย (ออนไลน์). สืบค้นจาก : https://health.kapook.com [ 5 สิงหาคม 2562].
มะกรูด สมุนไพรกลิ่นหอม เสริมสุขภาพและบำรุงความงาม (ออนไลน์). สืบค้นจาก : https://www.pobpad.com [ 5 สิงหาคม 2562].
Kaffir Lime (ออนไลน์). สืบค้นจาก : http://theepicentre.com [ 5 สิงหาคม 2562].