ผักกระเฉด มีแคลเซียมสูง ช่วยบำรุงร่างกายและเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง
ผักกระเฉด เป็นพืชที่เกิดตามผิวน้ำ ลำต้นเป็นเถากลม เนื้อนิ่ม ระหว่างข้อมีปล้องเป็นฟองสีขาวไว้หุ้มลำต้น

ผักกระเฉด

ผักกระเฉด (Water mimosa) เป็น ผักที่มีรสชาติอร่อยเมื่อนำมาปรุงและผัดน้ำมันหอยหรือเมนูยอดฮิตที่ชื่อว่า “ผัดผักกระเฉดไฟแดง” เป็นผักที่ใช้ปรุงในเมนูอาหารไทยได้หลากหลายชนิด ขึ้นชื่อว่าผักที่เป็นพืชสีเขียวแล้วย่อมอุดมไปด้วยสารอาหารและประโยชน์มากมาย ผักกระเฉดเองก็มีสรรพคุณทางยาได้เช่นกัน

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของผักกระเฉด

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Neptunia oleracea Lour.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Water mimosa”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ผักกระเฉด ผักรู้นอน” ภาคเหนือเรียกว่า “ผักหนอง” ภาคใต้เรียกว่า “ผักฉีด” ภาคอีสาน จังหวัดยโสธรและอุดรธานีเรียกว่า “ผักกระเสดน้ำ” จังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ผักหละหนอง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE)

ลักษณะของผักกระเฉด

ผักกระเฉด เป็นพืชที่เกิดตามผิวน้ำ ลำต้นเป็นเถากลม เนื้อนิ่ม
ใบ : เป็นใบประกอบคล้ายใบกระถิน ตัวใบจะหุบลงในเวลากลางคืน จึงเรียกว่า “ผักรู้นอน” ระหว่างข้อมีปล้องเป็นฟองสีขาวไว้หุ้มลำต้น เรียกว่า “นมผักกระเฉด” เป็นตัวช่วยพยุงให้ผักกระเฉดลอยน้ำได้และช่วยดึงไนโตรเจนจากอากาศไปเลี้ยงยอด
ราก : รากงอกออกมาตามข้อ เรียกว่า “หนวด”
ดอก : ดอกจะเป็นช่อเล็ก ๆ สีเหลือง
ผล : ผลมีลักษณะเป็นฝักโค้งงอเล็กน้อยและแบน
เมล็ด : มีเมล็ดประมาณ 4 – 10 เมล็ด

สรรพคุณของผักกระเฉด

  • สรรพคุณด้านเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย บำรุงร่างกายและดับพิษร้อน เสริมสร้างกระบวนการเผาผลาญสารอาหารให้นำมาสร้างเป็นพลังงานให้กับร่างกายได้ สำหรับคนธาตุไฟและธาตุดินจะช่วยทำให้ร่างกายเกิดความสมดุลและไม่เจ็บป่วย
  • สรรพคุณช่วยบรรเทาอาการ แก้อาการปวดศีรษะ แก้พิษไข้ ขับเสมหะ แก้อาการปวดแสบปวดร้อน ถอนพิษยาเบื่อยาเมา
  • สรรพคุณด้านประสาทสัมผัสทั้ง 5 บำรุงและรักษาสายตา เสริมสร้างฟันให้แข็งแรง
    – บรรเทาอาการปวดฟัน ด้วยการนำผักกระเฉดมาตำผสมกับเหล้า แล้วหยอดในบริเวณที่มีอาการปวด
  • สรรพคุณด้านระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย ขับลมในกระเพาะ ช่วยในการขับถ่าย ป้องกันโรคท้องผูก
  • สรรพคุณด้านป้องกันโรค รักษากามโรค ป้องกันการเกิดโรคตับอักเสบ
  • สรรพคุณด้านกระดูกและกล้ามเนื้อ เสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ป้องกันโรคกระดูกพรุน ทำให้กล้ามเนื้อทำงานได้อย่างเป็นปกติ
  • สรรพคุณด้านเลือดในร่างกาย ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดงและช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง

ประโยชน์ของผักกระเฉด

เป็นส่วนประกอบของอาหาร ประกอบในเมนู เช่น ยำวุ้นเส้นผักกระเฉด ผัดหมี่กระเฉด ผัดผักกระเฉดไฟแดง ผักกระเฉดผัดน้ำมันหอย หรือจะใช้รับประทานสดร่วมกับน้ำพริก หรือถ้าจะให้ดีเมื่อลวกเสร็จแล้วให้ตักผักใส่น้ำเย็นจัดทันที จะทำให้ผักกระเฉดกรอบอร่อยและน่ารับประทานมากขึ้น หรือจะใช้น้ำแข็งมาโปะก็ได้เช่นกัน

เคล็ดลับ

– การเลือกซื้อผักกระเฉดควรเลือกซื้อผักที่มียอดอ่อน เพราะจะมีความกรอบและอร่อยมากกว่าผักกระเฉดแก่
– เคล็ดลับในการลวกผักง่าย ๆ ตั้งน้ำให้เดือดแล้วใส่เกลือด้วยเล็กน้อย อย่าลวกนานเพราะจะทำให้ผักกระเฉดเหนียว

คุณค่าทางโภชนาการของผักกระเฉด

คุณค่าทางโภชนาการของผักกระเฉด 100 กรัม ให้พลังงาน 29 กิโลแคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารอาหาร
โปรตีน 6.4 กรัม
ไขมัน 0.4 กรัม
แคลเซียม 387 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 7.0 มิลลิกรัม
ธาตุเหล็ก 5.3 มิลลิกรัม 
เบตาแคโรทีน 3,710 ไมโครกรัม
ไทอะมีน 0.12 มิลลิกรัม
ไรโบฟลาวิน 0.14 มิลลิกรัม
วิตามินบี1 0.12 มิลลิกรัม 
วิตามินบี2 0.14 มิลลิกรัม
ไนอะซีน 3.2 มิลลิกรัม
วิตามินซี 22 มิลลิกรัม
กากใยอาหาร 1.8 กรัม

ข้อควรระวัง

1. ไม่ควรรับประทานดิบ เพราะมีความเสี่ยงต่อพยาธิตัวอ่อนที่อาจปะปนเข้ามา รวมไปถึง “ไข่ปลิง” ที่ทนความร้อนได้สูงมาก ควรรับประทานสุกที่ต้มด้วยความร้อนสูงก่อนนำมารับประทาน
2. คนที่รับประทานยารักษาอยู่ไม่ควรรับประทาน เพราะฤทธิ์ของผักกระเฉดอาจจะไปทำให้ยารักษาโรคเสื่อมฤทธิ์ได้

ผักกระเฉด เป็นยาสมุนไพรที่บรรพบุรุษใช้รักษาบำรุงร่างกายมาแต่เนิ่นนาน จัดเป็นประเภทยาเย็นที่มีความสามารถในการดับความร้อนในร่างกายได้ มีรสชาติอร่อยเมื่อนำมาปรุงกับอาหารต่าง ๆ สรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ เสริมสร้างกระดูกเพราะมีแคลเซียมสูง แก้ไข้ แก้อาการปวดแสบร้อน บำรุงร่างกายให้แข็งแรง เป็นผักที่รับประทานง่ายและพบได้ทั่วไปในเมนูอาหารไทยต่าง ๆ

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม