ชะพลูป่า
ชะพลูป่า (Piper wallichii) หรือเรียกกันว่า “ตะค้านหนู” เป็นชะพลูป่าที่มักจะนำใบมาใช้ห่อเมี่ยงหรือนำมาทำแกงคั่ว นอกจากจะนิยมนำมาทานแล้วชะพลูป่ายังมีสรรพคุณทางยาซึ่งทั้งต้นเป็นส่วนผสมในตำรายาสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา ถือเป็นต้นที่คนไทยคุ้นเคยและรู้จักกันอย่างแพร่หลายเพราะใบชะพลูมักจะพบได้มากในเมนูอาหารต่าง ๆ
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของชะพลูป่า
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Piper wallichii (Miq.) Hand. – Mazz.
ชื่อท้องถิ่น : จังหวัดน่านเรียกว่า “พลูป่า” จังหวัดสระบุรีเรียกว่า “ตะค้านหนู” จังหวัดชลบุรีเรียกว่า “ชะพลูป่า” มีชื่ออื่น ๆ เรียกว่า “ผักแค พลูแก พลูตุ๊กแก พลูกะตอย สะค้านหนู”
ชื่อวงศ์ : วงศ์พริกไทย (PIPERACEAE)
ชื่อพ้อง : Piper aurantiacum Wall. ex C. DC.
ลักษณะของชะพลูป่า
ชะพลูป่า เป็นไม้ล้มลุกเลื้อยพันชนิดหนึ่ง
ลำต้น : ลำต้นตั้งตรงหรือรอเลื้อย มีข้อโป่งพอง
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันเป็นรูปวงรี รูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบมนเบี้ยว ขอบใบเรียบ ผิวใบด้านบนเกลี้ยงเป็นมัน เนื้อใบบาง
ดอก : ออกดอกเป็นช่อเชิงลดตามซอกใบและที่ปลายยอด ดอกย่อยเรียงตัวอัดแน่นเป็นรูปทรงกระบอกแล้วห้อยลง ดอกเป็นสีเหลืองอ่อน ไม่มีกลีบดอกและกลีบเลี้ยง
ผล : ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม เป็นผลรวมที่เกิดจากดอกเจริญมาเป็นผลและอัดแน่นอยู่บนก้านผลอันเดียว
สรรพคุณของชะพลูป่า
- สรรพคุณจากทั้งต้น
– แก้อาการอักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย ตำรายาพื้นบ้านล้านนานำทั้งต้นมาตำแล้วพอกแก้อาการ
ประโยชน์ของชะพลูป่า
เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบใช้รับประทานสดเป็นผักหรือใช้ห่อเมี่ยง นำมาทำแกงคั่วได้อีกด้วย
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของชะพลูป่า
จากการทดลองกับสัตว์พบว่า เมื่อนำผลชะพลูป่ามาสกัดด้วยแอลกอฮอล์นั้นสามารถลดความดันโลหิต ยับยั้งการเต้นที่ผิดปกติของหัวใจและกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้และมดลูกในสัตว์ทดลองได้
ชะพลูป่า มักจะพบในรูปแบบของผักที่ใช้รับประทานในเมนูเมี่ยงหรือในแกงคั่ว ทั้งนี้ขึ้นชื่อว่าใบผักสีเขียวย่อมต้องมีประโยชน์ต่อร่างกาย ใบชะพลูนั้นสามารถนำทั้งต้นมาใช้ปรุงเป็นยาได้ตามตำรายาพื้นบ้านล้านนา มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้อาการอักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้ ทว่ายังมีการวิจัยว่าใบชะพลูป่านั้นช่วยลดความดันเลือดและช่วยให้หัวใจทำงานเป็นปกติและยังพบว่าช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้และมดลูกในสัตว์ทดลองเพศเมียได้อีกด้วย
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ชะพลูป่า”. หน้า 167.
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ชะพลูป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [07 ม.ค. 2015].
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. “List of Piper species in Thailand”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : home.kku.ac.th/raccha/. [08 ส.ค. 2015].