กระเจียวขาว รสเผ็ดร้อนและมีกลิ่นหอม ช่วยขับลมและแก้อาการปวดเมื่อยได้
กระเจียวขาว มีดอกสีขาวออกเป็นช่อบริเวณปลายยอด มีกลิ่นหอม ผลเป็นรูปไข่กลับและมีขน

กระเจียวขาว

กระเจียวขาว (White angel) มีดอกสีขาวสวยงามแถมยังมีกลิ่นหอมเหมาะสำหรับปลูกประดับเป็นอย่างมาก เป็นผักป่าที่เหมาะแก่การปลูกไว้ในสวน กระเจียวขาวเป็นผักที่นิยมในหมู่ชาวบ้านและชาวสวนสำหรับรับประทานจิ้มกับน้ำพริก นอกจากความสวยงามแล้วยังนิยมรับประทานเป็นยาสมุนไพรได้เช่นกัน

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของกระเจียวขาว

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Curcuma parviflora Wall.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “White angel”
ชื่อท้องถิ่น : จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “อาวขาว” จังหวัดเลยเรียกว่า “กระเจียวโคก กระชายดง” จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “กระเจียวขาว” จังหวัดสุโขทัยเรียกว่า “ว่านม้าน้อย” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “กระจ๊อด กระเจียว ดอกดิน อาว”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)

ลักษณะของต้นกระเจียวขาว

ต้นกระเจียวขาว เป็นไม้ล้มลุกที่พบในประเทศอินเดีย พม่า ลาว เวียดนาม มาเลเซีย จีนและประเทศไทย มักจะพบตามป่าดิบทั่วไป ป่าดิบแล้ง ป่าผลัดใบ บริเวณโคกและบริเวณป่าโปร่ง
ลำต้น : มีลำต้นตั้งตรง
เหง้า : เหง้าอยู่ใต้ดินและมีกลิ่นหอม มีลักษณะเป็นรูปไข่ขนาดสั้นมาก ภายในเป็นสีน้ำตาลอ่อน ๆ ทั้งนี้เหง้าของลำต้นเทียมที่แก่เต็มที่หรือมีดอกแล้วเท่านั้นจึงจะบวมพองสะสมน้ำและอาหารได้
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันเป็นรูปขอบขนานแกมรูปใบหอกหรือเป็นรูปวงรี ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบเป็นรูปลิ่มหรือมน ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ก้านใบแผ่เป็นกาบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายยอดโดยจะออกจากกลางลำต้น ช่อดอกมีดอกย่อยจำนวนมาก กลีบดอกเป็นสีขาว มีใบประดับเป็นสีเขียว มีสีขาวล้วนหรือมีสีม่วงหรือสีน้ำเงินแต้มอยู่ที่ส่วนปลาย ขอบกลีบหยักเป็นคลื่น ๆ ออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนธันวาคม
ผล : เป็นผลแห้งและแตกได้ ลักษณะของผลเป็นรูปไข่กลับและมีขน

สรรพคุณของกระเจียวขาว

  • สรรพคุณจากหน่ออ่อน เป็นยาช่วยขับลม
  • สรรพคุณจากดอกอ่อน เป็นยาช่วยขับลม
  • สรรพคุณจากใบ
    – รักษาแผลสดและช่วยห้ามเลือด ด้วยการนำใบมาตำแล้วคั้นเอาน้ำมาทาเป็นยา
  • สรรพคุณจากทั้งต้น
    – เป็นยาทาถูนวดสำหรับแก้อาการปวดเมื่อย ด้วยการนำต้นกระเจียวขาวทั้งต้นมาผสมกับหัวขมิ้นขาว หัวข่าหด หัวเร่ว หัวไพล หัวว่านมหาเมฆ หัวว่านสาวหลงและหัวว่านแสงอาทิตย์ นำมาเคี่ยวกับน้ำมันพืชแล้วกรองเอากากทิ้งเอาแต่น้ำมันมาใช้ทา

ประโยชน์ของกระเจียวขาว

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ดอกอ่อนและหน่ออ่อนสามารถนำมาต้มหรือลวกใช้รับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริกหรือนำมาใส่ในแกงได้
2. ปลูกเป็นไม้ประดับ

กระเจียวขาว เป็นดอกที่มีการนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรมาเนิ่นนาน อยู่ในตำราตำรับยาพื้นบ้านล้านนาและชาวเขาเผ่าอีก้ออีกด้วย หน่ออ่อนและดอกอ่อนของกระเจียวมีรสเผ็ดร้อนและมีกลิ่นหอมจึงนิยมนำส่วนนี้มารับประทานมากกว่าส่วนอื่น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ เป็นยาช่วยขับลม ช่วยห้ามเลือดและแก้อาการปวดเมื่อยได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “กระเจียวขาว”. หน้า 89.
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “กระเจียวขาว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [14 เม.ย. 2014].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร. “กระเจียวขาว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [14 เม.ย. 2014].