ปุดใหญ่ มีเหง้ารสเผ็ดร้อนและกลิ่นหอม ดีต่อระบบย่อยอาหารในร่างกาย
ปุดใหญ่ มีเหง้าอยู่ใต้ดินเป็นแท่งยาว รสเผ็ดร้อน มีกลิ่นหอม นิยมนำใส่ในเมนูแกงเพื่อดับกลิ่นคาวหรือเป็นเครื่องเทศ

ปุดใหญ่

ปุดใหญ่ (Etlingera coccinea) เป็นต้นที่คนไทยเรียกกันง่าย ๆ ว่า “ปุด” เป็นพืชในวงศ์ขิงที่มีเหง้าอยู่ใต้ดินซึ่งเป็นส่วนที่มีรสเผ็ดร้อนแต่มีกลิ่นหอมจึงนิยมนำส่วนนี้มาปรุงรสอาหารเพื่อดับกลิ่นคาวหรือเป็นเครื่องเทศใส่ในเมนูแกงต่าง ๆ ได้ ปุดใหญ่มีดอกสีแดงสดและขอบกลีบเป็นสีเหลืองอ่อนทำให้ดูสวยงามและโดดเด่นเป็นอย่างมาก ในด้านสรรพคุณทางยาสมุนไพรนั้นปุดใหญ่เป็นยาของชาวเขาเผ่าเย้าด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของปุดใหญ่

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Etlingera coccinea (Blume) S.Sakai & Nagam.
ชื่อท้องถิ่น : คนไทยเรียกว่า “ปุด” ชาวมลายูปัตตานีเรียกว่า “จะปูบะซา ตะบุ๊บะซา”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)
ชื่อพ้อง : Achasma macrocheilos Griff.

ลักษณะของปุดใหญ่

ปุดใหญ่ เป็นไม้ล้มลุกขนาดใหญ่อายุหลายปีที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักจะพบตามป่าดิบชื้นทั่วไป
ลำต้น : ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง
เหง้า : มีเหง้าอยู่ใต้ดิน ลักษณะของเหง้าเป็นแท่งรูปทรงกระบอกยาวและมีกลิ่นหอม
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน รูปขอบขนานแกมใบหอกหรือรูปวงรีแกมขอบขนาน ปลายใบแคบเป็นติ่งแหลม โคนใบมน ผิวใบเรียบเป็นมัน ก้านใบยาว โคนก้านใบแผ่ออกเป็นกาบหุ้ม
ดอก : ออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ ใกล้กับโคนต้นซึ่งจะแทงขึ้นมาจากเหง้าเหนือพื้นดิน ช่อหนึ่งมีดอกย่อยประมาณ 4 – 10 ดอก ออกเรียงตัวอัดกันแน่น มีใบประดับ กลีบดอกเป็นสีแดงสด ส่วนขอบกลีบเป็นสีเหลืองอ่อน สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี
ผล : เป็นผลแห้งและแตกได้ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม

สรรพคุณของปุดใหญ่

  • สรรพคุณจากเหง้า ช่วยให้เจริญอาหาร
    – ช่วยปิดแผลสดและแผลไฟไหม้ ด้วยการนำเหง้ามาตำให้แหลกแล้วใช้ปิดแผล
  • สรรพคุณจากราก
    – เป็นยาขับลม โดยชาวเขาเผ่าเย้านำรากปุดใหญ่มาต้มกับน้ำแล้วดื่มเป็นยา
    – แก้ปวดท้อง แก้โรคกระเพาะอาหาร แก้อาหารไม่ย่อยและอาหารเป็นพิษ ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำแล้วดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากใบ
    – เป็นยาห้ามเลือด ด้วยการนำยอดอ่อนและใบอ่อนมาปิดแผล

ประโยชน์ของปุดใหญ่

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ต้นปุดอ่อนนำมาลอกกาบนอกออกเหลือไว้เฉพาะไส้ในเพื่อนำมาทานเป็นผักสดหรือลวกจิ้มกับน้ำพริกได้ ดอกอ่อนสามารถนำมาต้มรับประทานเป็นผักได้ ส่วนของเหง้า หน่ออ่อนและไส้นำมาใช้ในการปรุงรสอาหารเพื่อดับกลิ่นคาวหรือเป็นเครื่องเทศใส่ในแกงต่าง ๆ ได้
2. เป็นภาชนะใส่ของ กาบหุ้มลำต้นนำมาใช้สานเป็นภาชนะใส่ของชั่วคราวได้

ปุดใหญ่ เป็นต้นที่มีดอกสีแดงสดและมีสีเหลืองเล็กน้อยที่ขอบชวนให้ดูเด่น เป็นต้นที่เหง้าใต้ดินมีรสเผ็ดร้อนและมีกลิ่นหอมจึงนำมาใช้ในการปรุงอาหารและเป็นยาสมุนไพร ชาวเขาเผ่าเย้านำรากของปุดใหญ่มาใช้เป็นยารักษา ปุดใหญ่มีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของรากและเหง้า มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ช่วยให้เจริญอาหาร เป็นยาขับลม แก้โรคกระเพาะอาหาร แก้อาหารไม่ย่อยและอาหารเป็นพิษได้ เป็นต้นที่เหมาะต่อระบบย่อยอาหารและระบบขับลมในร่างกาย

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ปุดใหญ่”. หน้า 107.
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ปุดใหญ่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [25 พ.ย. 2014].
ไทยเกษตรศาสตร์. “ปุดใหญ่”. อ้างอิงใน : หนังสือวัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaikasetsart.com. [25 พ.ย. 2014].
วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานีน้อมรับพระราชดำริ, โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ปุด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : rspg.svc.ac.th. [25 พ.ย. 2014].