เร่วหอม เครื่องเทศกลิ่นหอม ช่วยแก้ไข้และรักษาริดสีดวงทวาร
เร่วหอม เป็นพืชล้มลุก ดอกมีสีแดงแทงช่อโดยตรงจากเหง้า ผลคล้ายกับผลเงาะ เหง้ามีสีอมชมพู มีกลิ่นหอม

เร่วหอม

เร่วหอม (Etlingera punicea) มักจะนิยมนำมาใช้เป็นเครื่องเทศในการปรุงอาหาร เป็นพืชสำหรับคนเมืองตราดและจันทบุรี คนส่วนมากอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อและไม่รู้จัก ส่วนมากเร่วหอมจะเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ หรือเป็นส่วนประกอบในอาหารมากกว่าที่จะนำมารับประทานโดยตรง

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของเร่วหอม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Etlingera punicea (Roxb.) R.M. Smith
ชื่อวงศ์ : วงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)
ชื่อพ้อง : Etlingera punicea (Roxb.) R.M. Smith

ลักษณะของเร่วหอม

เร่วหอม เป็นพืชล้มลุกที่คาดกันว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเปอร์เซีย แล้วแพร่ขยายไปยังประเทศร้อนชื้น มักจะพบอยู่ทั่วไปตามต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ที่มีฝนตกชุก มีเหง้าอยู่ใต้ดินสีอมชมพู ลำต้นสากสีเขียวอมแดง ส่วนโคนต้นมีสีแดงเรื่อและมีกลิ่นหอม
ใบ : ใบออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเรียวยาว หนาและมีสีเขียวเข้ม ขอบใบเรียบ
ดอก : ดอกมีสีแดง ออกดอกแทงช่อโดยตรงจากเหง้า
ผล : ผลออกเป็นช่อ เปลือกผลมีขนคล้ายกับผลเงาะ
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลเข้มเรียงอัดกันแน่นอยู่เป็นจำนวนมาก
เหง้า : อยู่ใต้ดินมีสีอมชมพู มีกลิ่นหอม

สรรพคุณของเร่วหอม

  • สรรพคุณจากผล ช่วยแก้ไข้ แก้อาการหืดและไอมีเสมหะ เป็นยาขับลม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อและจุกเสียดแน่นท้อง รักษาริดสีดวงทวาร
  • สรรพคุณจากใบ เป็นยาขับปัสสาวะ
  • สรรพคุณจากรากและเหง้า เป็นยาเส้น

ประโยชน์ของเร่วหอม

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร
– ผลนำมาใช้เป็นเครื่องเทศ
– รากนำมาใช้เป็นเครื่องเทศในการปรุงน้ำก๋วยเตี๋ยว น้ำต้มเนื้อ แกงป่า แกงเลียงและผัดเผ็ด เป็นต้น
– เหง้าแก่ใช้ต้มน้ำซุปก๋วยเตี๋ยวหมูหรือใช้ทำแกงเลียง และทำน้ำพริกแกงผัดเผ็ดหมูป่า
– เหง้าอ่อนใช้รับประทานสดร่วมกับน้ำพริก
2. เป็นส่วนประกอบของยา รากและเหง้าใช้ทำเป็นยาหอมเย็นได้
3. ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เร่วหอมแห้งชนิดแท่งสามารถนำมาใช้เป็นแท่งสำหรับคนในเครื่องดื่มร้อน ๆ เพื่อให้มีกลิ่นหอมเช่นเดียวกับเปลือกอบเชย เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อย่างลูกกวาด ลูกอมเร่วหอม น้ำยาบ้วนปาก ยาสีฟัน เจลสำหรับล้างมือ น้ำปรุงรส ชาสมุนไพรเพื่อสุขภาพ เร่วหอมอบแห้ง น้ำมันหอมระเหยบริสุทธิ์ เร่วหอมสกัด เป็นต้น

สารสำคัญออกฤทธิ์ที่พบ

  • สาร 4-methoxycinnamyl 4-coumarate
  • สาร p-anisic acid
  • สาร p-hydroxy benzaldehyde
  • สาร 4-methoxycinnamyl alcohol
  • สาร p-coumaric acid
  • สาร trans-4-methoxycinnamaldehyde
  • สาร (E)-methyl isoeugenol
  • สาร trans-anethole
  • สาร p-anisaldehyde

เร่วหอม เป็นเครื่องเทศที่มีกลิ่นหอม ช่วยให้รสชาติของอาหารกลมกล่อมและน่าทานมากยิ่งขึ้น คนเมืองตราดและจันทบุรีได้มีการนำเร่วหอมมาใช้เป็นเครื่องเทศมานานแล้ว สรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ รักษาริดสีดวงทวาร ช่วยแก้ไข้และเป็นยาขับลม

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

แหล่งอ้างอิง
สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เว็บไซต์ : https://puechkaset.com/