ถั่วพู ผักยอดนิยมกินกับน้ำพริก อุดมไปด้วยวิตามินแร่ธาตุสูง ช่วยบำรุงร่างกาย

0
1784
ถั่วพู
ถั่วพู เป็นผักที่ช่วยเสริมสร้างการดูดซึมของแคลเซียม มีเส้นใยอาหารสูง โปรตีนสูง แคลเซียมและฟอสฟอรัสสูง อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ

ถั่วพู

ถั่วพู

ถั่วพู เป็นพืชในเขตร้อนที่มีลักษณะนูนออกมา เป็นผักที่มักจะพบในอาหารทานพร้อมกับน้ำพริกกะปิ หรือน้ำพริกทั่วไป ถือเป็นผักอีกชนิดหนึ่งที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด เช่น วิตามินเอ ซี อี และยังเป็นผักที่มีโปรตีนสูงด้วย นอกจากนั้นยังมีเมล็ดที่มีน้ำมันอยู่ด้วย สามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันพืชสำหรับใช้ปรุงอาหารได้ ประโยชน์ยังมีอีกมากมาย ทั้งเป็นยาสมุนไพร ส่วนประกอบในอาหาร วัตถุดิบทางการเกษตร และเป็นยาในการรักษาสิวและโรคผิวหนังบางชนิดได้ด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของถั่วพู

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Psophocarpus tetragonolobus (L.) DC.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Winged bean” “Goa bean” “Asparagus pea” “Four – angled bean” “Winged pea”
ชื่อท้องถิ่น : มีชื่ออื่น ๆ ว่า “ถั่วพูใหญ่ ถั่วพูตะขาบ ถั่วพูจีน”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE)

ลักษณะของต้นถั่วพู

ถั่วพู เป็นไม้เลื้อยที่ไม่มีเนื้อไม้แต่มีอายุหลายปี เป็นพืชที่ปลูกง่ายและเจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด ยกเว้นในดินที่มีน้ำขัง
ลำต้น : ลำต้นเลื้อยพัน มีลำต้นสีเขียวและเขียวปนม่วง
ราก : เป็นรากที่สะสมอาหารอยู่ใต้ดิน มีปมซึ่งเป็นที่อยู่ของเชื้อไรโซเบียมจำนวนมาก
ใบ : ใบเรียงสลับกัน เป็นใบประกอบแบบขนนก ใบย่อยมี 3 ใบ โคนใบกลมและเบี้ยว ปลายใบแหลม มีรูปร่างหลายแบบ เช่น รูปสามเหลี่ยม รูปไข่ และรูปใบหอก
ดอก : ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบแบบช่อกระจะ ในช่อหนึ่งจะมีดอกอยู่ประมาณ 3 – 12 ดอก กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันคล้ายรูประฆัง ปลายเป็น 5 กลีบ กลีบเป็นซี่สั้น กลีบดอกมีระหว่างสีขาวและสีม่วงแดง สีน้ำเงิน สีแดง มีเกสรตัวผู้อยู่ 10 ก้าน แบ่งเป็น 2 มัด มัดหนึ่งมี 9 ก้าน ส่วนอีกมัดมี 1 ก้าน
ฝัก : เป็นรูปขอบขนานจนถึงรูปแถบ มีหน้าตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยม แต่ละมุมของฝักจะมีปีกตามยาว ปีกมีลักษณะเป็นหยักแบบจักคล้ายฟันเลื่อย มีสีเขียว มีรูปร่างเป็นฝักสี่เหลี่ยม มีปีก 4 ปีก เมื่อตัดตามขวางจะแบ่งได้เป็น 4 แบบคือ rectangular, semi flat, flat on sides และ flat on suture ฝักมีทั้งสีเขียว สีม่วง และสีเหลือง ผิวจะแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ แบบผิวเรียบและแบบผิวหยาบมาก ในฝักมีเมล็ดอยู่ประมาณ 8 – 20 เมล็ด
เมล็ด : ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปกึ่งทรงกลม มีตั้งแต่สีขาว สีเหลือง สีครีม สีน้ำตาล สีดำ และแบบที่เป็นลวดลายต่าง ๆ ส่วนใหญ่แล้วเมล็ดจะมีสีน้ำตาล และยังมีขนาดต่างกัน

สรรพคุณของถั่วพู

  • สรรพคุณ ช่วยป้องกันและลดการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ช่วยป้องกันมะเร็งเต้านม ส่งผลดีต่อฮอร์โมนเพศหญิง ช่วยลดคอเลสเตอรอล
  • สรรพคุณจากฝักอ่อน ช่วยบำรุงร่างกาย ช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย ช่วยแก้อาการตัวร้อน ลดไข้ในเด็กทารก ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • สรรพคุณจากเมล็ด
    – ช่วยบำรุงร่างกาย ด้วยการนำเมล็ดแก่ตากแห้งมาบดให้เป็นผง นำมาละลายกับน้ำครั้งละ 5 – 6 กรัม ทานก่อนอาหารวันละ 3 เวลา
    – ช่วยทำให้สุขภาพแข็งแรง เพิ่มกำลังวังชา ด้วยการนำเมล็ดแก่มาต้มให้สุกแล้วทาน หรือจะนำเมล็ดที่ต้มสุกแล้วมาบดให้ละเอียดผสมกับน้ำร้อน ใช้ดื่มก่อนอาหารวันละ 3 เวลา
  • สรรพคุณจากหัว ช่วยทำให้ดวงจิตชุ่มชื่น ช่วยแก้ไข้กาฬ ช่วยแก้อาการร้อนใน แก้กระหายน้ำ
    – ช่วยบำรุงกำลัง ด้วยการนำหัวใต้ดินมาเผาหรือนึ่งกิน
    – ช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย ด้วยการนำหัวมาตากแห้งแล้วคั่วให้เหลือง ใช้ชงกับน้ำดื่ม
  • สรรพคุณจากราก ช่วยแก้อาการปวดมวนท้อง ช่วยแก้โรคลมพิษกำเริบ ทำให้คลั่งเพ้อ เป็นยาโรคเพื่อวาโยธาตุกำเริบ ใช้รักษาดีพลุ่งพล่าน ทำให้คลั่งเพ้อ แก้อาการปวดมวนท้อง แก้กระทำให้ตาแดง
    – เป็นยาชูกำลัง แก้โรคหัวใจ ด้วยการนำรากผสมกับสมุนไพรและน้ำดอกไม้ใช้เป็นยา
  • สรรพคุณจากฝัก ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรง ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน ช่วยระบบขับถ่ายให้ทำงานอย่างเป็นปกติ ช่วยป้องกันอาการท้องผูก
  • สรรพคุณจากใบ ช่วยแก้อาการอาเจียน
  • สรรพคุณจากน้ำมันในเมล็ด ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมสภาพของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย

ประโยชน์ของถั่วพู

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อน ใบอ่อน ดอกอ่อน ฝักอ่อน นำมาใช้กินเป็นผักและหัวใต้ดินใช้กินเป็นอาหารแห้ง คนไทยนิยมใช้ฝักอ่อนเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริก ชาวญี่ปุ่นนำฝักอ่อนมาทอดเป็นเทมปุระ ในอินเดียและศรีลังกานิยมนำฝักอ่อนมาดองไว้รับประทาน มีการนำหัวมาแปรรูปเป็นแป้งสำหรับใช้ประกอบอาหาร หรือนำไปเชื่อมเป็นขนมหวานได้ เป็นอาหารขบเคี้ยวที่มีโปรตีนสูงอีกด้วย
2. สกัดเป็นน้ำมัน เมล็ดแก่มีน้ำมันอยู่ร้อยละ 16 -18 สามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันพืชสำหรับใช้ปรุงอาหารได้
3. ใช้ในการรักษาสิว ใช้ในการรักษาสิวและโรคผิวหนังบางชนิด
4. ใช้ในการเกษตร สามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ เป็นพืชบำรุงดินได้ดี ช่วยเพิ่มไนโตรเจนให้แก่ดินและเมื่อไถกลบต้นถั่วหลังการเก็บเกี่ยวไปแล้วยังกลายเป็นปุ๋ยพืชที่ดินต้องการอีกด้วย

ถั่วพู เป็นพืชเพียงไม่กี่ชนิดที่สามารถนำมารับประทานได้แทบทุกส่วนของต้น ถือเป็นผักที่ช่วยเสริมสร้างการดูดซึมของแคลเซียม มีเส้นใยอาหารสูง โปรตีนสูง แคลเซียมและฟอสฟอรัสสูง อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด เช่น วิตามินเอ ซี อี คู่ควรอย่างมากในการนำมารับประทานเป็นประจำ แถมยังมีรสชาติอร่อยอีกด้วย มีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของหัวและฝัก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ป้องกันมะเร็งเต้านม ช่วยบำรุงร่างกาย ช่วยลดคอเลสเตอรอลและแก้โรคหัวใจได้ด้วย

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
สถาบันวิจัยและพัฒนา กำแพงแสน มหาวิทยาเกษตรศาสตร์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rdi.kps.ku.ac.th. [17 ต.ค. 2013].
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: en.wikipedia.org/wiki/Winged_bean. [17 ต.ค. 2013].
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 350. คอลัมน์: บทความพิเศษ. รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ., นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 219. “ถั่วพู ถั่วพื้นบ้านที่โลกกำลังจับตามอง“. คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [17 ต.ค. 2013].
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. กรีนไฮเปอร์มาร์ท สารานุกรมผลิตผลและผลิตภัณฑ์จากพืชในซุปเปอร์มาร์เก็ต ฉบับคอมพิวเตอร์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.sc.mahidol.ac.th. [17 ต.ค. 2013].
กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย. [ออนไลน์]. “สรรพคุณและประโยชน์ของถั่วพู“. เข้าถึงได้จาก: www.dol.go.th. [17 ต.ค. 2013].
สมุนไพรดอตคอม. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.samunpri.com. [17 ต.ค. 2013].
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaihealth.or.th. [17 ต.ค. 2013].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/
รูปอ้างอิง
1.https://www.jungledragon.com/image/53823/winged_beans_flowers.html