ชะมดต้น ช่วยลดความเครียด ลดซึมเศร้า

0
1466
ชะมดต้น
ชะมดต้น ช่วยลดความเครียด ลดซึมเศร้า ดอกสีเหลืองนวล เมล็ดมีรสขมเย็น ใบนำมาทานเป็นผัก สามารถรักษาอาการทั้งภายนอกและภายใน

ชะมดต้น

ชะมดต้น

ชะมดต้น เป็นไม้พื้นเมืองในแถบเอเชีย พบได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย มีดอกสีเหลืองนวลดูวยงาม ส่วนของเมล็ดเรียกว่า “เทียนชะมด” เมล็ดมีรสขมเย็น น้ำมันหอมระเหยจากเมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาได้ แถมยังมีสารที่ให้ความหอมอีกด้วย นอกจากนั้นยังนำมาเคี้ยวจะได้กลิ่นเหมือนชะมดเช็ด สามารถนำมาใช้แต่งกลิ่นกาแฟได้ด้วย ส่วนของใบนำมาทานเป็นผัก ทั้งต้นเป็นยาสมุนไพรรักษาอาการทั้งภายนอกและภายใน

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของชะมดต้น

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Abelmoschus moschatus Medik.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Abelmosk” “Ambrette seeds” “Annual hibiscus” “Bamia moschata” “Galu gasturi” “Muskdana” “Musk mallow” “Musk okra” “Musk seeds” “Ornamental okra” “Rose mallow seeds” “Tropical jewel hibiscus” “Yorka okra”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ชะมัดต้น ฝ้ายผี” คนทั่วไปเรียกว่า “เทียนชะมด” ไทยบางแห่งเรียกว่า “จั๊บเจี๊ยว” จีนกลางเรียกว่า “หวงขุย”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ชบา (MALVACEAE)
ชื่อพ้อง : Abelmoschus moschatus var. betulifolius (Mast.) Hochr., Hibiscus abelmoschus L., Hibiscus abelmoschus var. betulifolius Mast., Hibiscus chinensis Roxb.

ลักษณะของชะมดต้น

ชะมดต้น เป็นพรรณไม้ล้มลุกเนื้ออ่อนขนาดเล็กหรือไม้พุ่มอายุประมาณ 1 – 2 ปี เป็นพรรณไม้พื้นเมืองในแถบเอเชีย มักจะชอบขึ้นบริเวณที่รกร้างและที่ลุ่มทั่วไป มักขึ้นตามที่โล่งหรือริมลำธาร ตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น และชายป่าเบญจพรรณ
ลำต้น : ทั้งต้นมีขนสีขาวขึ้นปกคลุม
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ใบมีลักษณะเป็นหยักหรือเป็นแฉกประมาณ 3 – 5 แฉก บริเวณยอดต้นมีแฉกเล็กและเรียวกว่าใบที่อยู่บริเวณโคนและกลางต้น ลักษณะของใบเป็นรูปดาวหรือรูปฝ่ามือ ปลายใบแหลม โคนใบเว้าเข้าหากันคล้ายรูปหัวใจ ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อยไม่เป็นระเบียบ ผิวใบสากและมีขนกระจายทั้งสองด้าน หูใบเป็นเส้นด้าย
ดอก : เป็นดอกเดี่ยวบริเวณซอกใบ ริ้วประดับมี 6 – 12 อัน ลักษณะเป็นรูปเส้นด้ายหรือรูปใบหอก กลีบเลี้ยงเป็นรูปใบหงาย แยกจรดโคนด้านเดียว ปลายกลีบมี 5 แฉกตื้น ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม กลีบดอกเป็นสีเหลืองนวลและมีสีม่วงเข้มหรือสีม่วงแดงตรงกลางทั้งด้านในและด้านนอก กลีบเป็นรูปไข่กลีบ มักจะออกดอกในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม
ผล : ผลมีลักษณะเป็นรูปกลมยาวเป็น 5 เฟือง คล้ายผลมะเฟือง มีขนแข็งคมคายสีเหลืองขึ้นปกคลุมทั้งฝัก เป็นผลแห้งแตก รูปวงรีปลายผลแหลม เปลือกผลบาง ผลอ่อนเป็นสีเขียวแก่ เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำ
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาล ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไต มีปุ่มขนาดเล็กเป็นร่างแหกระจาย มีกลิ่นหอมแรงเหมือนชะมดเชียง

สรรพคุณของชะมดต้น

  • สรรพคุณจากเมล็ด เป็นยาช่วยเจริญอาหาร เป็นยาบำรุงธาตุ รักษาอาการกระหาย เป็นยาขับลม ช่วยรักษาอาการอักเสบของกระเพาะอาหาร เป็นยารักษาโรคกามโรค หรือโรคหนองใน รักษาการขาดสีผิวของผิวหนังหรือผิวหนังด่างเผือก แก้เสมหะและดีพิการ แก้ลมให้คลื่นเหียน แก้อาการเกร็ง รักษาอาการปวดหัวใจ ดับพิษงู
    – แก้อาการปวดศีรษะ แก้อาการปวดกระเพาะ ด้วยการนำเมล็ดประมาณ 5 – 10 กรัม มาบดให้เป็นผงชงกับน้ำดื่ม
    – รักษาผดผื่นคัน ด้วยการนำเมล็ดมาบดรวมกับแป้งผสมกันในอัตราส่วน 1 ต่อ 1
    – แก้หิด ด้วยการนำเมล็ดประมาณ 1 กำมือ มาบดให้ละเอียดใส่น้ำนมแล้วคนผสมให้พอแฉะ ใช้ทาบริเวณที่มีอาการวันละ 1 – 2 ครั้ง จนกว่าจะหาย
  • สรรพคุณจากน้ำมันหอมระเหย เป็นยาระงับประสาท ช่วยคลายความเครียด ลดอาการวิตกกังวล ลดซึมเศร้า เป็นยาขับลม ช่วยในการย่อยอาหาร ช่วยกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ ช่วยกระตุ้นการทำงานของต่อมหมวกไต ช่วยลดอาการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อ ช่วยคล้ายกล้ามเนื้อ
  • สรรพคุณจากราก ขับพิษร้อนถอนพิษไข้ แก้อาการไข้ไม่ยอมลด แก้ไอร้อน แก้ไอเรื้อรัง เป็นยารักษาโรคหนองใน
  • สรรพคุณจากดอกและราก เป็นยาแก้บิดของเชื้ออะมีบา แก้อาการท้องผูก เป็นยารักษานิ่วในทางเดินปัสสาวะ
  • สรรพคุณจากใบ เป็นยาฆ่าพยาธิ เป็นยารักษาโรคพยาธิและขับไส้เดือน เป็นยารักษากลากเกลื้อน เป็นยาทาภายนอกแก้ฝีบวม แก้ฝีหัวช้าง
  • สรรพคุณจากดอก เป็นยาฆ่าพยาธิ เป็นยารักษาโรคพยาธิและขับไส้เดือน เป็นยาแก้น้ำกามเคลื่อนในขณะหลับ
  • สรรพคุณจากรากและใบ
    – รักษากามโรค รักษาโรคปวดข้อ ด้วยการนำใบและรากพอประมาณมาต้มกับน้ำกินเป็นยา
  • สรรพคุณจากราก เป็นยาแก้พิษฝีหนอง เป็นยารักษารังแค ช่วยฆ่าเชื้อตามขุมขนและรากผม เป็นยาแก้อาการปวดบวม ช่วยขับน้ำนมในสตรีหลังการคลอดบุตร เป็นยาแก้วัณโรค
    – รักษาแผลพุพอง แก้แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ด้วยการนำรากมาบดให้เป็นผงพอประมาณ แล้วนำมาพอกหรือโรยบริเวณที่เป็นแผล
  • สรรพคุณจากต้น เป็นยารักษาเกลื้อนช้าง แก้เกลื้อนใหญ่ แก้เรื้อนน้ำเต้า แก้เรื้อนกวาง รักษาฝีภายใน
  • สรรพคุณจากผลสด ตำพอกรักษาฝีและเร่งหนองให้แตกเร็ว

ประโยชน์ของชะมดต้น

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบใช้รับประทานเป็นผัก ใช้แต่งกลิ่นอาหารได้
2. เป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรม นำมาปลูกเพื่อเอาใยของเปลือกมาใช้ทำเชือกและกระสอบ รากมีสารเหนียวใช้เป็นกาวในการทำกระดาษ เมล็ดเมื่อนำมาเคี้ยวจะได้กลิ่นเหมือนชะมดเช็ดจึงนำมาใช้แต่งกลิ่นกาแฟได้
3. เป็นสารให้ความหอม เมล็ดให้น้ำมันที่ทำให้มีกลิ่นหอม ใช้ทำน้ำหอม
4. ป้องกันแมลง เมล็ดนำมาบดให้เป็นผงใช้โรยตู้เสื้อผ้าเพื่อป้องกันแมลง

ชะมดต้น มีเมล็ดเป็นส่วนสำคัญและมีน้ำมันหอมระเหยที่เป็นยาสมุนไพรได้ทั้งภายนอกและภายใน สามารถนำส่วนต่าง ๆ ของต้นมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ชะมดต้นมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของเมล็ดและราก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ช่วยรักษาอาการอักเสบของกระเพาะอาหาร เป็นยารักษาโรคกามโรคหรือโรคหนองใน เป็นยาระงับประสาท ช่วยคลายความเครียด ลดอาการวิตกกังวล ลดซึมเศร้า เป็นยาสมุนไพรที่ดีสำหรับคนยุคใหม่ที่มีแต่ความเครียดมากมาย

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “ชะมดต้น”. หน้า 196.
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ชะมดต้น”. หน้า 248-249.
สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ชะมดต้น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [07 ม.ค. 2015].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ชะมดต้น, ฝ้ายผี”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 6 (ก่องกานดา ชยามฤต). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [07 ม.ค. 2015].
อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ชะมดต้น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/. [07 ม.ค. 2015].
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “ชะมดต้น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : th.wikipedia.org. [07 ม.ค. 2015].
หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ผลเพิ่มความไวต่ออินซูลินในหนูอ้วนของสาร myricetin จากชะมดต้น”. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/. [07 ม.ค. 2015].
ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “ชะมดต้น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaibiodiversity.org. [07 ม.ค. 2015].
ตำราวิชาการ สุคนธบำบัด (ดร.จงกชพร พินิจอักษร, ภญ.วัจนา สุจีรพงศ์สิน). “ชะมดต้น”. หน้า 128.