ต้นสาบแร้งสาบกา ช่วยในการขับเสมหะ

สาบแร้งสาบกา
ต้นสาบแร้งสาบกา ช่วยในการขับเสมหะ เป็นวัชพืชล้มลุก ใบเดี่ยวรูปมนรี ปลายแหลม โคนใบเว้าคล้ายรูปหัวใจ ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ดอกมีสีม่วงน้ำเงินหรือขาว ผลทรงกระบอกปลายแหลมเป็นเส้น
สาบแร้งสาบกา
เป็นวัชพืชล้มลุก ใบเดี่ยวรูปมนรี ปลายแหลม โคนใบเว้าคล้ายรูปหัวใจ ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ดอกมีสีม่วงน้ำเงินหรือขาว ผลทรงกระบอกปลายแหลมเป็นเส้น

สาบแร้งสาบกา

สาบแร้งสาบกา เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของอเมริกาเขตร้อนกลางแจ้ง เจริญเติบโตได้ในดินทุกชนิด ในปัจจุบันพบขึ้นทั่วไปตามริมถนน ชายป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ทุ่งหญ้า ชื่อสามัญ Goat Weed[1] ชื่อวิทยาศาสตร์ Ageratum conyzoides (L.) L. จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1] พบมีขึ้นตามธรรมชาติในที่รกร้างข้างทางทั่วไป มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ ในประเทศไทยคือ หญ้าสาบแฮ้ง (เชียงใหม่), หญ้าสาบแร้ง (ราชบุรี), ตับเสือเล็ก (สิงห์บุรี) เทียมแม่ฮาง (เลย), เซ้งอั่งโซว (จีนแต้จิ๋ว), เซิ่งหงจี้ (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของสาบแร้งสาบกา

  • ต้น เป็นวัชพืชเป็นไม้ล้มลุกปีเดียว สูง 1-2 ฟุต กิ่งก้านเป็นสีเขียวอมม่วงเล็กน้อย ทั้งต้นมีขนสีขาวปกคลุม มีกลิ่นเฉพาะตัว สามารถขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด[1],[2]
  • ใบ ออกเป็นใบเดี่ยวรูปมนรี ปลายแหลม โคนใบเว้าคล้ายรูปหัวใจ ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย เรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ แต่ส่วนยอดจะเรียงสลับกัน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-5.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-13 เซนติเมตร ก้านใบยาวประมาณ 7-26 มิลลิเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวและมีขนอ่อนๆขึ้นปกคลุมอยู่ ก้านใบมีขนปกคลุมตลอดทั้งก้าน[1],[2]
  • ดอก ดอกเป็นช่อตรงส่วนยอดของต้น ช่อหนึ่งจะมีดอกขนาดเล็กประมาณ 6 มิลลิเมตร มีสีม่วงน้ำเงินหรือขาวและอัดตัวกันแน่นเป็นจำนวนมาก กลีบดอกมีขนาดเล็กเป็นหลอดเส้น ๆ ปลายแหลม เรียงซ้อนกัน 2-3 ชั้น มีขนบริเวณหลังกลีบดอกเล็กน้อย ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน อยู่ที่ใจกลางของดอก ส่วนปลายมีรอยแยกเป็น 5 กลีบ[1],[2]
  • ผล เป็นรูปเส้นตรงสีดำมีขนาดเล็ก ลักษณะของผลเป็นรูปคล้ายทรงกระบอกปลายแหลมเป็นเส้น มีร่อง 5 ร่อง[1],[2]

สรรพคุณของสาบแร้งสาบกา

1. ใบ สามารถเป็นยาแก้อาการปวดบวมได้ โดยใช้ทาภายนอก (ใบ)[1]
2. นำใบสดนำมาผสมกับน้ำตาลทรายแดง จากนั้นนำมาตำรวมกัน ใช้พอกบริเวณที่เป็นแผลเรื้อรังหรือมีหนองจะสามารถช่วยรักษาได้(ใบ)[1]
3. สามารถทำเป็นยาแก้อาการอักเสบจากพิษงู ตะขาบ แมงป่อง หรือแมลงได้ โดยการใช้รากและใบตำพอกและคั้นเอาน้ำมาใช้(รากและใบ)[3]
4. ใช้ยอดและใบนำมาตำแล้วพอกบริเวณแผลฟกช้ำ แผลสด แผลถลอก มีเลือดออก สามารถช่วยรักษาได้ อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นยาห้ามเลือดได้อีกด้วย(ใบ)[1],[3]
5. ใช้เป็นยาขับระดูของสตรีได้ (ทั้งต้น)[1],[3]
6. ใช้เป็นยาขับนิ่วในไต นิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้ (ทั้งต้น)[2]
7. ใช้เป็นยาแก้บิดได้ (ทั้งต้น)[1],[3]
8. ใช้ยาแห้งนำมาคั่วให้เหลือง แล้วบดให้เป็นผง ใช้ครั้งละ 1.5-2 กรัม นำมาชงกับน้ำดื่มสามารถช่วยรักษาอาการปวดกระเพาะ ปวดท้อง กระเพาะลำไส้อักเสบ จุกเสียดแน่นท้องได้(ทั้งต้น)[2]
9. ทั้งต้นสามารถใช้เป็นยาแก้ลมได้ (ทั้งต้น)[1],[3]
10. ใช้ใบสด 120 กรัม และกากเมล็ดชา 15 กรัม นำมาผสมกันแล้วตำพอกปากที่เป็นแผล[1]
11. สามารถทำเป็นยาหยอดตาแก้อาการตาเจ็บได้ โดยการใช้น้ำที่คั้นจากใบมาทำ(ใบ)[1],[3]
12. การดื่มน้ำที่คั้นจากใบสามารถช่วยทำให้อาเจียนได้ (ใบ)[1],[3]
13. ใช้ใบสดประมาณ 60 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน จะสามารถใช้รักษาไข้หวัดได้ส่วนรากและทั้งต้นก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้เช่นกัน (ใบ, ราก, ทั้งต้น)[1] และอีกวิธีคือให้ใช้ต้นสดประมาณ 70 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม จะสามารถใช้เป็นยาแก้หวัดตัวร้อนได้(ต้น)[2]
14. ใช้ใบสดนำมาตำพอกบริเวณข้อหรือกระดูกที่ปวด จะสามารถช่วยรักษาอาการเหล่านี้ได้(ใบ)[1]
15. การใช้ใบสดประมาณ 120 กรัม และกากเมล็ดชา 15 กรัม นำมาผสมกันแล้วตำพอกบริเวณตาปลาที่อักเสบ จะสามารถช่วยรักษาอาการอักเสบได้(ใบ)[1]
16. หากเกิดผดผื่นคันสามารถใช้ใบ มาตำพอกบริเวณที่คัน จะสามารถช่วยรักษาอาการคันได้(ใบ, ทั้งต้น)[1],[2]
17. ใบสดและยอดใช้รักษาแผลเรื้อรังที่เนื้อเยื่อเมือกบวมอักเสบได้ ด้วยการนำมาล้างน้ำ ผสมกับเกลือและข้าวหมัก ตำให้เข้ากัน ใช้พอกบริเวณที่เป็น (ใบ)[1]
18. ใช้เป็นยาแก้สตรีตกเลือดได้ (ทั้งต้น)[2]
19. ช่วยแก้อาการช่องท้องทวารหนักหย่อนยานได้(ทั้งต้น)[1]
20. สามารถใช้ส่วนรากมาทำเป็นยา ยับยั้งการเจริญเติบโตของก้อนนิ่วได้ (ราก)[1]
21. ชาวเขาเผ่าอีก้อ แม้ว และมูเซอ ใช้เป็นยาแก้อาการปวดท้อง อาหารเป็นพิษ อาหารไม่ย่อย รวมถึงโรคกระเพาะอาหาร โดยการใช้รากและใบนำมาเคี้ยวกิน หรือต้มกับน้ำดื่ม(รากและใบ)[3]
22. ช่วยแก้อาการท้องขึ้นอืดเฟ้อได้ โดยใช้ใบมาทาภายนอก(ใบ)[1]
23. รักษาอาการคออักเสบได้ โดยการใช้ใบสดประมาณ 30-60 กรัม นำมาล้างให้สะอาด แล้วคั้นเอาแต่น้ำผสมกับน้ำตาลกรวด ใช้รับประทานวันละ 3 ครั้ง (ใบ)[1] สามารถใช้เป็นยาแก้คอเจ็บ คออักเสบปวดบวม ต่อมทอนซิลอักเสบ ทางเดินหายใจติดเชื้อได้ (ทั้งต้น)[2]
24. ใช้ยอดสด นำมาคั้นเอาแต่น้ำแล้วนำมาใช้หยอดหูสามารถใช้รักษาหูชั้นกลางอักเสบได้(ใบ)[1] สามารถแก้หูน้ำหนวกได้ (ทั้งต้น)[2]
25. ชาวเขาเผ่าอีก้อ แม้ว และมูเซอจะทำยาแก้อาการปวดศีรษะ ยาแก้ไข้ ด้วยการใช้รากและใบนำมาต้มกับน้ำดื่ม(รากและใบ)[3]
26. ช่วยในการขับเสมหะได้ (ทั้งต้น)[3]
27. ใช้เป็นยาขับพิษร้อนถอนพิษไข้ ออกฤทธิ์ต่อปอดและหัวใจ เพราะทั้งต้นมีรสเผ็ดขม เป็นยาสุขุม (ทั้งต้น)[2]

วิธีใช้ : ยาสดนำมาตำคั้นเอาน้ำรับประทาน หรือ ใช้ตำพอกรักษาแผลภายนอก
ส่วนยาแห้งนำมาบดเป็นผงใช้โรยตามแผล[2] ยาสดให้ใช้ครั้งละ 35-70 กรัม ส่วนยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 15-35 กรัม

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

1. พบ สารจำพวกน้ำมันระเหย มีกรดอินทรีย์, กรดอะมิโน, โพแทสเซียมคลอไรด์, อัลคาลอยด์, ฟลาโวนอยด์, Ageratochromene, coumarin, β-Sitosterol, friedelin, stigmasterol ได้ทั้งต้น[1],[2]
2. สารสกัดแอลกอฮอล์และน้ำต้มจากทั้งต้นหรือรากมีฤทธิ์ระงับอาการปวด โดยมีความรุนแรงเท่ากับมอร์ฟีน ทราบผลได้จากการทดลองในสัตว์ทดลอง แต่ก็ควรมีการศึกษาวิจัยต่อไป[3]
3. ทั้งต้นมีสารสกัดที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ Staphylococcus aureus[1],[2]

สั่งซื้อ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “สาบแร้งสาบกา”. หน้า 777-779.
2. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “สาบแร้งสาบกา”. หน้า 522.
3. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “สาบแร้งสาบกา”. หน้า 33.
4. https://medthai.com/

อ้างอิงรูปจาก
1. https://commons.wikimedia.org/
2. https://www.jatiluhuronline.com/