ต้นคำไทย
เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ใบสีเขียวเหลือบแดงบางนุ่ม ดอกเป็นช่อตั้ง ดอกสีขาวแกมชมพูหรือสีชมพูอ่อน ผลมีขนสีแดงเหมือนผลเงาะ เมล็ดสีน้ำตาลแดง

คำไทย

คำไทย หรือ คำแสด มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของอเมริกาตอนกลาง ต่อมาได้ขยายไปทางเหนือและใต้ เช่น เม็กซิโก บราซิล และกัวเตมาลา ก่อนจะถูกนำไปปลูกในประเทศที่มีอากาศร้อนทั่วโลก ชื่อวิทยาศาสตร์ Bixa orellana L. จัดอยู่ในวงศ์คำแสด (BIXACEAE) ชื่อสามัญ Anatto tree ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ (กรุงเทพ) คำแสด คำแงะ คำเงาะ คำแฝด (เลย) ซิติหมัก (ภาคเหนือ) แสด มะกายหยุม (ภาคอีสาน) ชาตรี (ภาคใต้) ดอกชาติ ชาด (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) หมากมอง (เขมร-สุรินทร์) ส้มปู้ จำปู้ (เขมร) ชาดี ชาตี คำยง

หมายเหตุ : ต้นในบทความนี้เป็นพันธุ์ไม้คนละชนิดกันกับต้นคําแสด ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mallotus philippensis Mull.arg. ที่จัดอยู่ในวงศ์ EUPHORBIACEAE เนื่องจากทั้งสองชนิดมีชื่อท้องถิ่นที่เหมือนกันว่า “คําแสด” จึงอาจทำให้เกิดความสับสนได้ หากต้องการอ่านบทความดังกล่าว ท่านสามารถอ่านได้ที่ คำแสด

ลักษณะของคำไทย

  • ต้น จัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นโดยประมาณ 3-8 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกลมหนาทึบ เปลือกลำต้นเรียบมีสีน้ำตาลปนเทา ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด และการตัดกิ่งเพื่อนำไปปักชำ สามารถพบได้ตามป่าเบญจพรรณชื้นและตามป่าดิบแล้ง[1],[4],[5],[8]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนรอบต้น ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ปลายใบจะแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างโดยประมาณ 8-10 เซนติเมตรและยาวโดยประมาณ 11-18 เซนติเมตร แผ่นใบมีลักษณะบางนุ่ม ใบมีสีเขียวเหลือบแดง ส่วนใบอ่อนมีสีแดง
  • ดอก ออกดอกเป็นช่อตั้ง ดอกจะออกที่ปลายกิ่ง ในแต่ละช่อจะมีดอกย่อยโดยประมาณ 5-10 ดอก ดอกย่อยมีสีขาวแกมชมพูหรือสีชมพูอ่อนๆ กลีบดอกมี 5 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่ยาว และมีกลีบรองดอกขนาดเล็กสีเขียว ดอกอ่อนจะมีลักษณะกลม ผิวสีแดง ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมากและมีเกสรเพศเมียอีก 1 ก้าน ที่รังไข่มีขนรุงรัง ภายในมีช่อง 1 ช่อง และมีไข่อ่อนอยู่เป็นจำนวนมาก[1],[2]
  • ผล ลักษณะของผลเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายผลแหลม มีขนสีแดงเหมือนผลเงาะ ผลเมื่อแก่จัดจะแตกออกเป็น 2 ซีก ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก[1],[2]
  • เมล็ด มีสีน้ำตาลแดง มีลักษณะกลม และมีเนื้อหุ้มเมล็ดเป็นสีแดงหรือสีแสด[1],[2]

สรรพคุณของคำไทย

1. บำรุงหัวใจ (ดอก)[5]
2. หากความดันโลหิตสูง ให้ใช้เปลือกต้นประมาณ 1 ฝ่ามือต่อน้ำ 1 ลิตร นำมาต้มเป็นยาดื่มวันละ 3 เวลาจะช่วยลดความดันโลหิตได้ (เปลือกต้น)[9]
3. ดอกใช้ปรุงเป็นยาหรือใช้ต้มกินเป็นยาบำรุงโลหิตให้สมบูรณ์ (ดอก[1],[2],[3],[4],[5], ราก[5], เปลือกต้น[5], เมล็ด[5]) และมีข้อมูลระบุว่ารากเป็นยาบำรุงเลือดลม (ราก)[9]
4. ดอกใช้ต้มกินเป็นยารักษาโรคโลหิตจาง (ดอก)[1],[2],[3],[4],[5]
5. ราก มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงร่างกาย (ราก)[9]
6. เมล็ดช่วยรักษาไข้มาลาเรีย ส่วนเปลือกรากช่วยป้องกันไข้มาลาเรีย (เมล็ด, เปลือกราก)[1],[2],[4],[5]
7. หมอพื้นบ้านจะใช้เมล็ดทำเป็นยารักษาอาการไข้ แก้ไข้ (เมล็ด)[4],[5]
8. ช่วยบำรุงประสาท บำรุงสมอง (ดอก)[5]
9. ใบนำมาชงกับน้ำกินเป็นยาแก้กษัย (ใบ)[9]
10. ใบหรือเปลือกรากใช้เป็นยาลดไข้ (ใบ, เปลือกราก)[1],[2],[4],[5]
11. ใบช่วยรักษาอาการเจ็บคอ (ใบ)[1],[2],[4],[5]
12. ช่วยขับเสมหะ (เมล็ด)[5]
13. เปลือกต้นและเมล็ดช่วยแก้ไข้ทับระดู (เปลือกต้น, เมล็ด)[5]
14. ช่วยระงับความร้อนภายในร่างกาย (ดอก)[5]
15. ช่วยรักษาริดสีดวงที่จมูก ด้วยการใช้ใบนำมาซอยแล้วตากแดดให้แห้ง นำมามวนเป็นยาสูบจะช่วยแก้ริดสีดวงจมูกได้ (ใบ)[9]
16. เนื้อหุ้มเมล็ดมีรสหวานร้อน เป็นยาระบายท้อง (เนื้อหุ้มเมล็ด)[1],[2],[4],[5]
17. เมล็ดมีรสร้อน มีสรรพคุณเป็นยาแก้ลม (เมล็ด)[5]
18. ใบ ช่วยรักษาโรคดีซ่าน (ใบ)[1],[2],[4],[5]
19. รากใช้เป็นยาบำรุงปอด (ราก)[9]
20. ดอกนำมาต้มกินจะช่วยรักษาโรคบิดได้ (ใบ, ดอก)[1],[2],[3],[4],[5] ส่วนเมล็ดมีสรรพคุณแก้บิดเช่นกัน (เมล็ด)[5]
21. ช่วยรักษาโรคหนองใน (เมล็ด, เปลือกราก)[1],[2],[4],[5]
22. ใบใช้เป็นยาขับปัสสาวะ โดยใช้ใบประมาณ 8-10 ใบ นำมาต้มกับน้ำ 1 ลิตร ใช้ดื่มวันละ 3 เวลา (ใบ[1],[2],[4],[5], เมล็ด[5]) ใบนำมาชงกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปัสสาวะขุ่นข้น (ใบ)[9]
23. ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร ด้วยการใช้ต้นคําไทยทั้งห้านำมาต้มรับประทานเป็นยา โดยใช้ประมาณ 1 มือต่อน้ำ 1 ลิตร แบ่งกินหลังอาหารวันละ 3 เวลา (ทั้งต้น)[9]
24. ใช้เป็นยาขับพยาธิ (เนื้อหุ้มเมล็ด[1],[2],[4],[5], ขนจากผล[5])
25. ช่วยแก้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ด้วยการใช้เปลือกต้นประมาณ 1 ฝ่ามือต่อน้ำ 1 ลิตร นำมาต้มเป็นยาดื่มวันละ 3 เวลา (เปลือกต้น)[9]
26. ช่วยรักษาไตพิการ (ดอก)[1],[2],[4],[5]
27. เมล็ดใช้ตำพอกหัวหน่าวแก้อาการปวดมดลูกของสตรีหลังการคลอดบุตร (เมล็ด)[5]
28. สำหรับผู้ที่ต่อมลูกหมากโต ให้ใช้เปลือกต้นประมาณ 1 ฝ่ามือต่อน้ำ 1 ลิตร นำมาต้มเป็นยาดื่มวันละ 3 เวลา (เปลือกต้น)[9]
29. ดอกช่วยบำรุงโลหิตระดูและขับระดูของสตรี ส่วนเมล็ดก็เป็นยาขับระดูเช่นกัน (ดอก, เมล็ด)[5]
30. รากใช้ต้มเป็นยาให้หญิงอยู่ไฟกิน (ราก)[9]
31. ดอกช่วยรักษาอาการแสบร้อนและคันตามผิวหนัง (ดอก[1],[2],[4],[5], ราก[5])
32. เมล็ดใช้เป็นยาหอมและเป็นยาฝาดสมาน สมานแผล ส่วนดอกและผลก็เป็นยาสมานแผลเช่นกัน (เมล็ด, ดอก, ผล)[1],[2],[4],[5]
33. ช่วยแก้ดีพิการ (ดอก)[5]
34. ช่วยบำรุงน้ำเหลืองให้สมบูรณ์ (ดอก)[5]
35. เนื้อหุ้มเมล็ดช่วยรักษาโรคผิวหนัง (เนื้อหุ้มเมล็ด[1],[2],[4],[5], เมล็ด[5])
36. เปลือกต้นนำมาใช้ฝนทาแก้พิษงู (เปลือกต้น)[9]
37. เมล็ดใช้เป็นยารักษาโรคพิษจากสบู่แดง และมันสำปะหลัง (เมล็ด)[1],[2],[4],[5]
38. น้ำมันจากเมล็ดช่วยรักษาการติดเชื้อที่ผิวหนัง (น้ำมันจากเมล็ด)[7]
39. ดอกช่วยแก้พิษ (ดอก)[5]
40. นอกจากนี้ยังมีการใช้ใบเพื่อรักษาการถูกงูกัด (ใบ)[4],[5]
41. เถาช่วยแก้อาการปวดเมื่อย (เถา)[7]
42. มีข้อมูลระบุว่า นำใบมาใช้ชงกับน้ำดื่มจะช่วยบำรุงสมรรถภาพทางเพศได้ (ใบ)[9]
43. เมล็ดนำมาตำใช้เป็นยาพอกหรือทาแก้อาการปวดบวม (เมล็ด)[5]
44. น้ำมันจากเมล็ดมีรสร้อน ใช้ทาแก้อัมพฤกษ์อัมพาต แก้อาการขัดตามข้อ (น้ำมันจากเมล็ด)[5]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • จากการทดสอบความเป็นพิษพบว่า สารสกัดส่วนเหนือดินด้วยเอทานอล : น้ำ (1:1) มีขนาดที่ทำให้หนูถีบจักรตายครึ่งหนึ่งเท่ากับ 0.375 ก./กก. หรือมากกว่า 1 ก./กก. เมื่อฉีดเข้าช่องท้อง และมีค่า 3.8 ก./กก. เมื่อฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ขนาดของสารสกัดรากด้วยน้ำที่ทำให้หนูถีบจักรตายครึ่งหนึ่งมีค่าเท่ากับ 700 มก./กก. ไม่พบความเป็นพิษ[6]

ประโยชน์ของคำไทย

1. หมอยาอีสานจะนิยมปลูกต้นคำไทยไว้หน้าบ้าน เพื่อใช้เป็นสมุนไพรในการรักษาผู้ที่ถูกมนต์ดำหรือผู้ที่โดนของ ทั้งจากการถูกคนทำใส่หรือจากภูตผีมาทำด้วย โดยหมอยาจะให้กินยาสมุนไพรชนิดนี้หรือชนิดอื่นต้มให้รับประทาน แต่จะต้องใช้ใบคำไทยลูบตามผิวกายเพื่อดึงเอาของไม่ดีออกจากร่างกายร่วมกับมนต์คาถา หรือจะใช้ใบคำไทยร่วมกับมนต์คาถาโดยไม่ต้องกินยาสมุนไพรก็ได้[9]
2. เปลือกต้นของคำไทยหรือคําแสดสามารถนำมาใช้ทำเป็นเชือกได้ดี[8]
3. ชาวท้องถิ่นดั้งเดิมในอเมซอนจะใช้เนื้อหุ้มเมล็ดทาเพื่อแต่งลวดลายตามร่างกายและใบหน้า เพื่อแสดงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว[8]
4. เนื้อหุ้มเมล็ดใช้ทำเป็นสีสำหรับแต่งอาหาร แต่งสีเนย สีไอศกรีม ฝอยทอง น้ำมัน หรือเพื่อเพิ่มความเข้มของไข่แดง เป็นต้น และยังใช้เป็นสีสำหรับย้อมไหมและฝ้าย ผ้าขนแกะ ฯลฯ นอกจากนี้ยังใช้ผสมในยาขัดรองเท้า ยาขัดหนัง ขัดพื้นเพื่อจะทำให้หนังมีสีแดงคล้ำ ฯลฯ โดยนำเมล็ดมาแช่ในน้ำร้อนและหมักทิ้งไว้หลาย ๆ วัน เพื่อทำให้ผงสีส้มที่มีชื่อว่า Bixin ตกตะกอน แล้วจึงแยกเอาเมล็ดออก แล้วนำน้ำสีที่ได้ไปเคี่ยวจนน้ำเกือบแห้ง และนำไปตากแดดจนแห้งเป็นผง เก็บไปใช้ในการย้อมสีต่อไป โดยสีที่ได้คือสีแสด หรือเรียกว่าสี Annatto, Arnotto, หรือ Orlean และเป็นสีที่ไม่มีพิษ[2],[3],[4],[5],[7],[8]
5. น้ำมันจากเมล็ดสามารถช่วยรักษาสภาพของน้ำมันพืชและผลิตภัณฑ์นมได้[7]
6. นิยมใช้ปลูกกันเป็นไม้ประดับเพื่อความสวยงาม เพราะนอกจากดอกก็ยังมีผลที่ออกเป็นกลุ่ม ๆ ดูสวยงามกว่าดอกเสียอีก และยังมีความทนทานมากกว่าดอกหลายเท่าอีกด้วย โดยจะมีทั้งพันธุ์ผลสีแดงและผลสีเหลือง ในประเทศไทยเราส่วนมากแล้วจะปลูกแต่พันธุ์ผลสีแดง หากนำพันธุ์ผลสีเหลืองมาปลูกคู่กับพันธุ์ผลสีแดงก็จะทำให้เกิดความงดงามมากยิ่งขึ้น[4],[8]
7. มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านไวรัส ต้านปรสิต โปรโตซัว กดระบบประสาทส่วนกลาง ลดความดันโลหิต ลดระดับน้ำตาลในเลือด เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด ยับยั้งการหลั่งของกระเพาะอาหาร คลายกล้ามเนื้อเรียบของลำไส้ ยับยั้งการสร้างโพรสตาแกลนดิน (อังกฤษ: prostaglandin) ยับยั้งเอนไซม์ Aldolase ยับยั้งการเจริญของเซลล์ ทำให้แพ้ ไล่แมลง ฆ่าแมลง ดึงดูดแมลง และเร่งการงอกของพืช[6] บ้างว่ามีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ขับปัสสาวะ ต้านการอักเสบ ต้านอาการชัก ลดระดับคอเลสเตอรอล ลดการหลั่งของกรดในหนู ต้านพิษงู และมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย[9]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1 หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “คำไทย (Kham Thai)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 79.
2 หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. “คําไทย”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). หน้า 86.
3 หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. “คำไทย Annatto Tree”. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). หน้า 64.
4 หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “คําไทย”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 185-187.
5 ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “คำเงาะ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [18 ก.พ. 2014].
6 สมุนไพรในร้านยาโบราณ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. “คำไทย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.msu.ac.th. [18 ก.พ. 2014].
7 ศูนย์ปฎิบัติการโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “คำแสด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.goldenjubilee-king50.com. [18 ก.พ. 2014].
8 มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 279 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า. “คำแสดสีสันบนใบหญ้าและผืนผ้า”. (เดชา ศิริภัทร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [18 ก.พ. 2014].
9 กลุ่มรักษ์เขาใหญ่. “คําไทย หน้าตาสดใส เลือดลมดี”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rakkhaoyai.com. [18 ก.พ. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1.https://antropocene.it
2.https://costarica.inaturalist.org