ต้นมะจ้ำก้อง
เป็นไม้พุ่มขนาดใหญ่ ไม่มีข้อปล้อง ดอกเป็นช่อสีขาวแกมชมพูจาง ๆ ผลกลมขนาดเท่ากับเม็ดขนุนสีแดง ผลสุกสีม่วงดำหรือสีดำ

ต้นมะจ้ำก้อง

ต้นมะจ้ำก้อง มีเขตการกระจายพันธุ์ในแถบอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย โดยจะพบขึ้นตามป่าชั้นกลางภายในป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น โดยจะพบได้มากในบริเวณริมลำธารหรือตามทุ่งหญ้าที่ชื้นแฉะ ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 30-1,050 เมตร[1],[2] ชื่อวิทยาศาสตร์ Ardisia sanguinolenta Blume ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ardisia colorata Roxb. จัดอยู่ในวงศ์ วงศ์ PRIMULACEAE (MYRSINACEAE)[1],[2] ชื่ออื่น ๆ อ้ายรามใบใหญ่ (จังหวัดตรัง), ทุรังกะสา (จังหวัดสตูล), มะจำก้อง (จังหวัดเชียงใหม่), ตาปลา (จังหวัดตราด), กระดูกไก่ ก้างปลา ก้างปลาเขา (จังหวัดจันทบุรี), พิลังกาสา เหมือด (จังหวัดเลย), จีผาแตก (จังหวัดลพบุรี), กาลังกาสาตัวผู้ (จังหวัดนครราชสีมา), ตาเป็ดตาไก่ (จังหวัดนครศรีธรรมราช)[1],[2]

ลักษณะของต้นมะจ้ำก้อง

  • ต้น
    – เป็นพันธุ์ไม้ประเภทพุ่มที่มีขนาดใหญ่หรือเป็นพันธุ์ไม้ประเภทยืนต้นที่มีขนาดเล็ก
    – ลำต้นมีความสูงอยู่ที่ประมาณ 1-4 เมตร
    – ลำต้นมีสีเป็นสีเทาเข้ม ไม่มีข้อปล้อง ผิวเกลี้ยงไม่มีขนขึ้นปกคลุม
    – ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขาจากปลายยอด
  • ใบ
    – มีใบในลักษณะที่เป็นใบเดี่ยว โดยใบจะออกเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก
    – ลักษณะรูปร่างของใบเป็นรูปใบหอกกลับหรือรูปไข่ ตรงปลายใบแหลมหรือเป็นติ่งแหลม ๆ ส่วนโคนใบสอบ บริเวณขอบใบเรียบ
    – แผ่นใบผิวหนาแข็งเป็นมัน ซึ่งผิวใบจะเรียบเป็นสีเขียว และใบอ่อนจะมีสีเป็นสีแดง[1],[2]
    สัดส่วนขนาดของใบ: ใบมีขนาดความกว้างอยู่ที่ประมาณ 3.8-7.5 เซนติเมตร และมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 12.5-25 เซนติเมตร
  • ดอก
    – ออกดอกเป็นช่อในลักษณะที่แยกแขนงเป็นรูปพีระมิด โดยดอกจะออกที่บริเวณปลายกิ่งก้านหรือตามส่วนยอดของต้น
    – ช่อดอกย่อยจะออกในรูปแบบกระจุกลักษณะคล้ายกับซี่ร่ม
    – ออกดอกตลอดทั้งปี แต่ในช่วงเดือนตุลาคมจะออกดอกมากเป็นพิเศษ[1],[2]
    – ช่อดอกย่อย จะมีกลีบดอกทั้งสิ้น 5 กลีบ กลีบดอกมีสีเป็นสีขาวแกมชมพูจาง ๆ ใบมีรูปร่างรีแกมรูปขอบขนาน บริเวณโคนกลีบจะเชื่อมติดกัน
    – กลีบเลี้ยงมีทั้งสิ้น 5 กลีบ มีลักษณะรูปร่างเป็นรูปสามเหลี่ยม และจะมีจุดสีดำหรือมีขนสั้น ๆ ขึ้นกระจายอยู่ทั่วกลีบเลี้ยง
    – ดอกมีเกสรเพศผู้เป็นสีเหลือง และมีก้านช่อดอกเป็นสีม่วงอมแดง
  • ผล
    – ผลเป็นผลสดแบบมีเนื้อเมล็ดเดี่ยว
    – ผลเป็นทรงกลม มีขนาดเท่ากับเม็ดขนุน ผลตอนอ่อนจะมีสีเป็นสีแดง แต่เมื่อผลสุกหรือผลแก่แล้วก็จะเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำหรือสีดำ
    – ภายในผลมีเมล็ดทรงกลมอยู่ 1 เมล็ด[1]

สรรพคุณ และประโยชน์ของต้นมะจ้ำก้อง

1. ลำต้นนำมาใช้ทำเป็นยาแก้โรคกษัยได้ (ลำต้น)[3]
2. ลำต้นนำมาใช้ทำเป็นยาแก้โรคเรื้อนได้ (ลำต้น)[1],[2]
3. ลำต้นนำมาใช้ทำเป็นยาฟอกขับปัสสาวะให้บริสุทธิ์ มีฤทธิ์ในการแก้นิ่ว และแก้ปัสสาวะขุ่นข้นได้ (ลำต้น)[3]
4. ในประเทศมาเลเซียที่รัฐเประ จะนำใบมาต้มกับน้ำใช้สำหรับรักษาอาการติดเชื้อไวรัส (ใบ)[4]
5. ใบ ช่วยแก้อาการไอได้ (ใบ)[2]
6. ตำรายาของไทยจะใช้ใบ นำมาทำเป็นยาแก้โรคตับพิการ (ใบ)[1],[2]
7. ใบ นำมาใช้ทำเป็นยาแก้อาการท้องเสียได้
8. ดอก มีสรรพคุณในการนำมาทำเป็นยาฆ่าเชื้อโรคได้ (ดอก)[2]
9. ผล นำมาใช้ทำเป็นยาแก้ไข้ได้ (ผล)[1],[2]
10. ผลนำมาใช้ทำเป็นยาแก้อาการท้องเสียได้ (ผล)[1],[2]
11. ผลมีฤทธิ์เป็นยาแก้ธาตุพิการ และแก้โรคซางได้ (ผล)[2]
12. ผลและเมล็ดมีฤทธิ์เป็นยาแก้โรคลมพิษได้ (ผล, เมล็ด)[2]
13. ราก นำมาตำผสมกับเหล้า โดยจะกรองกากเอาแต่น้ำมาดื่ม ส่วนกากที่กรองออกมาก็สามารถนำเอามาพอกใช้ปิดแผล โดยจะมีฤทธิ์เป็นยาถอนพิษงู (ราก)[2]
14. รากนำมาใช้ทำเป็นยาแก้กามโรค และโรคหนองในได้ (ราก)[1],[2]
15. ใช้ปลูกสำหรับเป็นไม้ประดับได้ เนื่องจากมีทรงพุ่ม ใบและช่อดอกที่มีความสวยเด่นชวนให้เพลิดเพลินตา (แต่ดอกไม่มีกลิ่นหอม)

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

1. จากการศึกษาค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับต้น พบเม็ดสี (pigment) สีส้มทองชื่อ Rapanone ภายในเปลือกต้น ซึ่งเมื่อนำมาใช้ทำการทดลองกับหนูที่ติดเชื้อโรคเรื้อน โดยให้ยากับหนูทดลองตัวนี้ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 6-12 เดือน ก็ได้ผลลัพธ์ว่าสามารถลดการเพิ่มจำนวนของเชื้อโรคเรื้อนได้[1]

2. สารสกัดจากผลสุก สามารถนำมารับประทานยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย (Salmonella spp. และ Shigella spp.)[1]

3. สารสกัดจากเปลือกต้นมีฤทธิ์ในการเข้าไปยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อหนองในภายในหลอดทดลองได้[1]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “พิลังกาสา”. หน้า 55.
2. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “มะจ้ำก้อง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [04 พ.ย. 2014].
3. พืชสมุนไพรโตนงาช้าง. “มะจ้ำก้อง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : paro6.dnp.go.th/web_km/พืชสมุนไพรโตนงาช้าง/. [04 พ.ย. 2014].
4. Joutnal of Ethnobiology and Ethnomedicine. “Ethnomedical survey of plants used by the Orang Asli in Kampung Bawong, Perak, West Malaysia.”. (Samuel AJ, Kalusalingam A, Chellappan DK, Gopinath R, Radhamani S, Husain HA, Muruganandham V, Promwichit P.)

อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.biolib.cz/
2.https://www.researchgate.net/