พรมมิ ( Brammi )
ต้น พรมมิ ( Brammi ) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Bacopa monnieri จัดอยู่ในวงศ์ Scrophularioaceae เป็นพืชล้มลุก ลำต้นอวบน้ำมีลักษณะเป็นข้อปล้อง ลำต้นเลื้อยบนพื้นดิน ส่วนยอดจะชูขึ้นเด่นชัดไม่มีขนมีขนาดเล็กสีเขียวอ่อน ใบสีเขียวเข้มกว่าลำต้นเล็กน้อย เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ชุ่มน้ำหรือริมตลิ่ง มีดอกสีขาวหรือสีครามอ่อน ในประเทศอินเดียและประเทศจีนนิยมกินพรมมิเพื่อเป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงสมองและใช้เป็นส่วนผสมในยารักษาโรคบางชนิด
พรมมิ ภาษาจีนใช้ชื่อว่า “ อือลังไฉ่หรืออุยลักก๊วยโช๊ะ ” ส่วนประเทศไทยต้นพรมมิเป็นผักพื้นบ้านที่หลายคนรู้จักดี โดยเฉพาะคนไทยภาคอีสานที่จะรู้จักผักพรมมิในชื่อผักมิ ผักหมี่ นมมิ พรมลีหรือผักหยดน้ำตา ที่เรียกว่า “ ผักหยดน้ำตา ” ก็เพราะลักษณะของใบของต้นพรมมิที่คล้ายกับหยดน้ำตานั่นเอง ภาคกลาง เช่น ราชบุรี ชลบุรี จะเรียกว่า “ ผักเบี้ย ” ภาคใต้ตอนบนแถบประจวบคีรีขันธ์ ถ้าเป็นต้นสีเขียวเรียก “ พรมมิ ” แต่ถ้ามีต้นสีแดงเรียกว่า “ พรมมิ พรมมิแดง ผักเบี้ยแดง ” คนไทยนิยมรับประทานผักมิสดทั้งต้นและใบพร้อมกัน กินเป็นผักแกล้มหรือกินจิ้มกับน้ำพริกก็ได้ รสชาติของผักมิจะออกขมนิดๆ และยังมีการนำผักมิมาใช้เป็นสมุนไพรเพื่อรักษาโรคอีกด้วย เช่น การดับพิษไข้ แก้อาการร้อนใน ใบช่วยขับเสมหะ ต้นใช้เป็นยาขับเลือด แก้อักเสบบวม เป็นต้น ในผักพรมมิมีสารสำคัญในกลุ่มแอลคาลอยด์ เช่น ซาโปนิน บรามิน ( Brahmine ) และนิโคติน
การแพทย์อายุรเวทระบุว่า พรมมิมีรสขมหวาน ใช้เป็นยาเย็น มีฤทธิ์ทำให้สงบ ลดอาการผิดปกติทางสมอง เสริมสร้างการทำงานของสมอง ในทางการแพทย์แผนไทย พรมมิทั้งต้นมีรสเย็นหวาน ขับปัสสาวะ ขับพยาธิ ขับเสมหะ แก้หืดช่วยบำรุงประสาท แก้ลมบ้าหมู แก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ และบำรุงหัวใจ
สรรพคุณของผักพรมมิ
จากสรรพคุณของผักมิ หรือ ต้นพรมมิ ที่มาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน นักวิทยาศาสตร์ได้เล็งเห็นถึงคุณค่าของต้นพรมมิ จึงได้มีการค้นคว้าและวิจัยสารสกัดจากต้นพรมมิ พบว่า ต้นพรมมิมีสรรพคุณช่วยบำรุงสมองให้แข็งแรง ลดความเสื่อมของเซลล์สมอง เพิ่มความจำ เพิ่มสมาธิและเพิ่มการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งสรรพคุณที่ได้กล่าวมานี้ไม่ได้กล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอย เพราะได้มีการทำวิจัยและทดลองอย่างละเอียดถี่ถ้วนทั้งในสัตว์ทดลองและมีการนำมาทดลองใช้ในคนแล้วด้วย ซึ่งในขั้นตอนแรกได้มีการทำวิจัยในหนูทดลอง
โดยการทำการวิจัยในหนูทดลอง โดยแบ่งหนูทดลองออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 ใส่สารเหนี่ยวนำให้เกิดสภาวะสมองเสื่อมและให้อาหารที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากพรมมิลงไปด้วย
กลุ่มที่ 2 ใส่สารเหนี่ยวนำให้เกิดสภาวะสมองเสื่อมเช่นเดียวกับกลุ่มแรก และให้อาหารเหมือนกับหนูทดลองกลุ่มแรก แต่ในอาหารที่ให้นั้นไม่ได้มีส่วนผสมของสารสกัดจากพรมมิ
ผ่านไป 14 วัน จากการทำการตรวจสอบลักษณะของเซลล์สมองของหนูที่นำมาทดลอง พบว่าหนูทดลองกลุ่มที่ 1 เซลล์สมองมีการฟื้นฟูดีกว่าเซลล์สมองของหนูทดลองกลุ่มที่ 2 แสดงว่าสารสกัดพรมมิที่ใส่เข้าไปในอาหารมีส่วนช่วยฟื้นฟูความเสื่อมของเซลล์สมองหรือลดความเสื่อมของเซลล์สมองในหนูทดลองได้
ต้นพรมมิมีสรรพคุณทางยาเป็นที่รู้จักกันดีเป็นระยะเวลานานแล้ว นอกจากใช้เป็นยาต้นพรมมิยังมีประโยชน์ต่อร่างกาย คือ ช่วยบำรุงสมอง ลดความเสื่อมของสมอง เพิ่มความจำและการเรียนรู้
นอกจากการทดลองในหนูทดลองแล้ว ได้มีการทดลองในคน โดยมีการทดลองในกลุ่มของผู้สูงอายุที่มีอายุระหว่าง 50 – 80 ปี ซึ่งมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 60 ปี โดยแบ่งผู้ทดลองออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 ผู้ร่วมการทดลองรับประทานอาหารเสริมที่มีส่วนผสมของสารสกัดพรมมิ
กลุ่มที่ 2 ผู้ร่วมการทดลองรับประทานอาหารเสริมสารกัดพรมมิหลอก คือ รับประทานอาหารเสริมเหมือนกับผู้ทดลองในกลุ่มแรก แต่ในอาหารเสริมไม่มีส่วนผสมของสารสกัดพรมมิ
จากการทดลองทดลองพบว่าผู้ร่วมการทดลองที่รับประทานอาหารเสริมที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากพรมมิมีสมาธิในการทำกิจกรรมต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ทั้งการตอบรับกับสิ่งที่อยู่รอบตัวมากขึ้น เช่น การพูดคุยโต้ตอบ การมองและการจดจำภาพในการเล่นเกมส์ เป็นต้น รวมถึงการทรงตัวและการเคลื่อนไหวของผู้ร่วมทดลองดีขึ้น ทั้งการเดิน ยืนและลุกนั่ง สามารถทรงตัวได้ตรงขึ้น เดินไปข้างหน้ามีความมั่นคงไม่สะดุดหรือล้มบ่อยเหมือนก่อนการทดลอง มีความจำเพิ่มขึ้นสามารถจดจำได้มากขึ้นต่างจากผู้ร่วมทดลองกลุ่มที่ 2 ที่ทุกอย่างเหมือนเดิมก่อนที่จะทำการทดลองไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น จากการทดลองสรุปได้ว่าสารสกัดจากพรมมิมีประโยชน์ ดังนี้
1.บำรุงสารสื่อประสาท ในพรมมิมีสารสำคัญกลุ่มอัลคาลอยด์ อย่าง ซาโปนิน ( Saponins ) ไตรเทอร์ปีน ( Trierpenes ) สารบาโคไซด์ เอ ( BacosideS A ) สารบาโคไซด์ บี ( BacosideS B ) บาโคซัปโปไนน์ดี ( Bacosaponines D ) โดยสารกลุ่มนี้จะเข้าไปกระตุ้นการทำงานของสารสื่อประสาทให้ทำงานได้ดีขึ้น และช่วยในกระบวนการสร้างสารสื่อประสาทให้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ ทำให้สารสื่อประสาทในสมองมีปริมาณมากพอที่จะใช้ในการส่งสัญญาณประสาทจากสมองไปยังส่วนต่างๆ และช่วยให้สารการทำงานของสารสื่อประสาทมีความต่อเนื่องส่งผลให้การประมวลผล การคิด ความจำ การเรียนรู้ของสมองดีขึ้น
2.ยับยั้งการทำลายของเซลล์ประสาท โดยสารต้านอนุมูลอิสระที่อยู่ในพรมมิจะมีฤทธิ์ต้านการทำงานของอนุมูลอิสระในการทำลายเซลล์ประสาทและเซลล์สมอง โดยการเข้าไปยับยั้งการทำงานของอะซิทิลโคลีนเอสเตอเรส ( Acetylcholinesterase : AchE ) ซึ่งเป็นอนุมูลอิสระที่เข้าไปทำลายเซลล์ประสาทและสมองอย่างได้ผล จึง่ช่วยลดความเสื่อมและการตายของเซลล์ประสาทและสมอง ลดความเสี่ยงและป้องกันการเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้
3.ช่วยขยายหลอดเลือด สารสกัดพรมมิช่วยขยายขนาดของเส้นเลือดในสมองส่งผลให้การหมุนเวียนของเลือดในสมองดีขึ้น เลือกจึงสามารถนำพาออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงสมองได้มากขึ้น เซลล์สมองจึงแข็งแรงและมีอายุยืนยาว ชะลอความเสื่อมของเซลล์สมองได้มากขึ้นส่งผลให้สมองทำงานดีขึ้น ทั้งความจำ สมาธิและการเรียนรู้
4.คลายความซึมเศร้า สารสกัดพรมมิช่วยในการสร้างสารสื่อประสาทและลดการตายของสารสื่อประสาทซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคซึมเศร้า ดังนั้นการรับประทานสารสกัดพรมมิจึงช่วยลดอาการของโรคซึมเศร้า
พบว่าสารสกัดพรมมิเป็นสารที่มีคุณค่าโดยเฉพาะคุณค่าต่อสมองซึ่งถือว่าจำเป็นต่อคนไทยยุคปัจจุบัน
การกินสารสกัดพรมมินั้นช่วยบำรุงสมอง เพิ่มความจำ ลดความเสื่อมของเซลล์สมอง ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคสมองเสื่อม ไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายและไม่มีตกค้างในร่างกายอีกด้วย ไม่เหมือนกับสารสกัดจากแปะก๊วยที่ทำให้เกร็ดเลือดไม่แข็งตัว ซึ่งผลข้างเคียงนี้ไม่พบจากการรับประทานสารสกัดพรมมิ ดังนั้นสารสกัดพรมมิจึงเป็นทางเลือกใหม่ที่ดีทั้งด้านคุณภาพที่ไม่แพ้สารสกัดบำรุงสมองชนิดอื่นและราคาที่ถูกมากเมื่อเทียบกับสารสกัดที่ช่วยบำรุงสมองหลายชนิดที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ เพราะต้นพรมมิสามารถปลูกได้ในประเทศไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ สำหรับคนที่รักสุขภาพและต้องการบำรุงสมองสารสกัดพรมมิจึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง
เอกสารอ้างอิง
พรมมิ สมุนไพรเพื่อสุขภาพสมอง โดย ชาญชัย สาดแสงจันทร์
อภ.ผุดแคปซูลสมุนไพร ‘พรมมิ’ บำรุงสมองช่วยจำ ตำราพระโอสถพระนารายณ์, ชยันต์ พิเชียรสุนทร และคณะ, หน้า 479-480, พ.ศ. 2544, สำนักพิมพ์อมรินทร์ กรุงเทพฯ
www.mahosot.com
www.gponature.com
www.greenclinic.in.th/brahmi
www.youtube.com/watch?v=zatih
“Bacopa monnieri information from NPGS/GRIN”. www.ars-grin.gov. สืบค้นเมื่อ 2008-03-13.
List of Bacopa Monnieri Side Effects – Mild and Serious Reactions
Antidepressant activity of standardized extract of Bacopa monniera in experimental models of depression in rats.
Anticonvulsant potential of commonly practiced formulations of Brahmi (Bacopa monnieri Linn.) in Wistar rats.