ประโยชน์ของโปรไบโอติก (Probiotics)
โปรไบโอติก คือ จุลินทรีย์มีชีวิตและเป็นจุลิทรีย์ชนิดดีที่อยู่ในอาหาร ส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกาย

โปรไบโอติกส์

โปรไบโอติกส์ ( Probiotics ) คือ จุลินทรีย์ชนิดดีที่มีชีวิตขนาดเล็ก เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะทำให้สุขภาพดีในภาวะต่างๆ โดยเป็นจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติทนต่อกรดและด่าง สามารถจับที่บริเวณผิวของเยื่อบุลำไส้แล้วผลิตสารต่อต้านหรือกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ชนิดอื่นๆ รวมถึงก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพได้ สามารถพบได้ในอาหาร เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ มิโสะ แตงกวาดอง และสามารถพบโปรไบโอติกส์ใน ชีส Dark Chocolate ซุปมิโซะ เป็นต้น

ปัจจัยที่ทำลายโปรไบโอติกส์ในร่างกาย

  • ยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อไม่เพียงทำลายเชื้อโรค แต่ยังทำลายจุลินทรีย์โปรไบโอติกส์และแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อระบบย่อยอาหาร
  • สูบบุหรี่
  • คาเฟอีน
  • แป้งขัดสี
  • โรคเครียด
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • การออกกำลังกายไม่เพียงพอ
  • การพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • อาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในปริมาณมาก
  • อาหารที่ไม่มีประโยชน์ พวกอาหารขยะ

ประโยชน์ของโปรไบโอติกส์ต่อสุขภาพ

1. ป้องกันโรคทางเดินอาหารในทารก ทารกที่เพิ่งคลอดจะมีภูมิต้านทานโรคน้อยโดยเฉพาะบริเวณลำไส้และกระเพาะอาหารทำให้มีเสี่ยงต่อการเกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารที่รุนแรงได้ ดังนั้นการให้ทารกดื่มนมแม่จะช่วยเสริมภูมิต้านทานให้กับทารกได้ เพราะว่าในน้ำนมแม่มีจุลินทรีย์ บิฟิโดแบคทีเรียม ( Bifidobacterium ) ที่มีประโยชน์ต่อทารก โดยบิฟิโดแบคทีเรียม ( Bifidobacterium ) จะเข้าไปยึดเกาะกับผนังของลำไส้เล็กเจริญเติบโตที่สมบูรณ์ส่งผลให้ลำไส้เล็กมีความแข็งแรงต้านทานต่อโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารได้ดี และเข้าไปกระตุ้นการสร้างเมือกที่ใช้ในการจับเชื้อไวรัสโรต้าให้มีความหนาขึ้น ทำให้มีโอกาสจับเชื้อโรคได้มากขึ้น จึงลดความเสี่ยงในเป็นโรคท้องเสียชนิดรุนแรงที่เกิดจากเชื้อไวรัสโรต้าได้เป็นอย่างดี รวมถึงการท้องเสียที่เกิดจากเชื้อ Enterovirus ที่พบได้ในเด็กด้วย

2. ป้องกันโรคลำไส้อักเสบโดยโปรไบโอติกส์จะเข้าไปยึดเกาะกับเนื้อเยื่อบนผนังลำไส้เอาไว้ ทำให้ไม่มีช่องว่างหรือพื้นที่ว่างให้เชื้อโรคร้ายเข้ามาทำร้ายผนังลำไส้ได้ ผนังลำไส้จึงไม่เกิดการอักเสบ แต่ถ้าร่างกายมีปริมาณโปรไบโอติกส์น้อยไม่สามารถยึดเกาะกับเนื้อเยื่อของผนังลำไส้ได้ทั้งหมด เมื่อร่างกายรับเชื้อที่ก่อโรคเข้ามา เชื้อก่อโรคก็จะเข้าไปจับกับผนังลำไส้บริเวณที่ว่างอยู่ ทำให้เนื้อเยื่อในบริเวณนั้นจนเกิดการระคายเคืองหรืออักเสบขึ้นซึ่งเป็นสาเหตุของโรคลำไส้อักเสบ

3. ยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ก่อโรค ทั้งที่อยู่ในร่างกายและที่ร่างกายรับเข้ามาจากภายนอก โดยการที่โปรไบโอติกส์จะเข้าไปแย่งอาหารของจุลินทรีย์ก่อโรคไปจนหมด ทำให้จุลินทรีย์ก่อโรคขาดอาหารส่งผลให้จุลินทรีย์ก่อโรคหยุดการเจริญเติบโตและตายไปในที่สุด นอกจากแย่งอาหารของจุลินทรีย์ก่อโรคแล้วโปรไบโอติกส์ยังผลิตกรดอะซิติกและแลคติกขึ้นมา เพื่อควบคุมระดับความกรดเป็นกรด – ด่างภายในลำไส้ให้ไม่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ก่อโรค จุลินทรีย์ก่อโรคจึงมีปริมาณลดลงไม่สามารถส่งผลหรือก่อโรคภายในร่างกายได้

4. ทำลายจุลินทรีย์ก่อโรค โปรไบโอติกส์จะปล่อยสารแบคเทอริโอซิน ( Bacteriocin ) ที่มีคุณสมบัติทำลายเชื้อแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์ก่อโรค โดยสารแบคเทอริโอซิน ( Bacteriocin ) จะเข้าไปทำลายเยื่อหุ้มเซลล์ของจุลินทรีย์ก่อโรคทำให้เซลล์เกิดการสูญเสียสารอาหารและน้ำ ส่งผลให้จุลินทรีย์ก่อโรคเสื่อสภาพและตายในที่สุด จุลินทรีย์ก่อโรคจึงไม่สามารถทำให้เกิดโรคในร่างกายได้ จึงป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ป้องกันการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

5. ช่วยดูดซึมสารอาหาร โปรไบโอติกส์จะผลิตเอนไซม์ที่ช่วยในการย่อยอาหาร เช่น เอนไซม์ไลเปส ( Lipase ) ที่ย่อยไขมันให้เป็นกรดไขมันและกลีเซอรอล เอนไซม์โปติเอส ( Proteases ) ช่วยในการย่อยโปรตีนให้มีขนาดเล็กลง เป็นต้น เมื่อไขมันและโปรตีนมีขนาดที่เล็กลงจึงทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมได้มากขึ้น

6. เสริมสร้างภูมิต้านทาน โปรไบโอติกส์ที่ยึดเกาะอยู่กับเนื้อเยื่อของผนังลำไส้จะเข้าไปกระตุ้นต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ในชั้นใต้ผิวของผนังลำไส้ ( Gut-Associated Lymphocyte Tissue, GALT ) ทำให้ต่อมน้ำเหลืองมีการสร้างสารป้องกันหรือสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายให้อยู่ในระดับที่มีความสมดุล ส่งผลให้เมื่อมีเชื้อโรคเข้ามาระบบภูมิคุ้มกันจะเข้าไปกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวทำการจับตัวกับเชื้อโรคได้ดีขึ้น ทำให้เชื้อโรคโดนทำลายอย่างมีประสิทธิภาพ

7. ลดระดับคอเลสเตอรอล โปรไบโอติกส์ชนิด Lactobacillus Acidophilus ที่อยู่ในกลุ่มของบิฟิโดแบคทีเรียม ( Bifidobacterium ) จะเข้าไปช่วยย่อยคอเลสเตอรอลและยับยั้งการดูดซึมคอเลสเตอรอลที่อยู่ในลำไส้ และทำการขับเอาคอเลสเตอรอลออกมากับอุจจาระจึงช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้

8. ป้องกันท้องผูก เนื่องจากจุลนิทรีย์บิฟิโดแบคทีเรียม ( Bifidobacterium ) สามารถผลิตกรดอินทรีย์ที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ให้มีการบีบตัวมากขึ้นและยังเข้าไปเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับอุจจาระ ทำให้อุจจาระมีความอ่อนนุ่ม สามารถขับถ่ายออกมาได้ง่าย จึงสามารถป้องกันอาการท้องผูกได้เป็นอย่างดี

9. ลดอาการข้างเคียงจากยาปฏิชีวะนะ การทานยาปฏิชีวะนะหรือยาฆ่าเชื้อเข้าไป นอกจากยาจะเข้าไปฆ่าเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของโรคแล้ว ยาปฏิชีวะนะยังฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหมดภายในร่างกายทั้งจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ ส่งผลให้เมื่อรับประทานยาปฏิชีวะนะอาจจะมีอาการท้องเสียเกิดขึ้นเป็นอาการข้างเคียงได้ การรับประทานอาหารที่มีโปรไบโอติกส์เข้าไปจะความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงดังกล่าวได้ เพราะการทานโปรไบโอติกส์เข้าไปจะช่วยเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในร่างกายป้องกันการท้องเสียได้

10. ลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง โปรไบโอติกส์เป็นจุลินทรีย์ชนิดดีที่ป้องกันการอักเสบหรือติดเชื้อของเซลล์ภายในร่างกาย เมื่อเซลล์ไม่ได้รับการทำร้ายจากเชื้อโรคเซลล์ย่อมมีความแข็งแรงโดยเฉพาะดีเอ็นเอของเซลล์จะคงอยู่เหมือนเดิมไม่เกิดการกลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็ง และเมื่อไม่มีการสะสมของเสียในลำไส้จึงไม่มีอนุมูลอิสระเกิดขึ้นทำให้ผนังลำไส้ไม่เกิดการอักเสบซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ ดังนั้นการที่ร่างกายได้รับโปรไบโอติกส์ย่อมลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้ โดยเฉพาะโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร

ประโยชน์ของโปรไบโอติกส์สำหรับผู้ใหญ่

1. ช่วยป้องกันโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น ลำไส้อักเสบ โรคโครห์น ท้องร่วง ท้องอืด ลำไส้แปรปรวน และลำน้ำหนักได้
2. ช่วยรักษาโรควิตกกังวล ซึมเศร้า อ่อนเพลียเรื้อรัง
3. ช่วยรักษาโรคผิวหนังและแผลเป็น
4. ช่วยรักษาโรคในช่องปากและการติดเชื้อ

ประโยชน์ของโปรไบโอติกส์สำหรับผู้หญิง

1. ช่วยรักษาและป้องกันภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย
2. ช่วยป้องกันการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
3. ช่วยยับยั้งความยากอาหาร และลดน้ำหนัก
4. ช่วยปรับสมดุลให้ร่างกาย หลีกเลี่ยงการก่อเกิดโรคภูมิแพ้ ภูมิแพ้ตนเอง โรคผิวหนัง สิว

วิธีเลือกทานโปรไบโอติกส์

1. มีเลข อย. และมีชื่อสายพันธุ์เชื่อชัดเจน
1. เลือกทานโปรไบโอติกส์ให้ตรงกับปัญหาที่ต้องการและมีเชื้อมากพอ เช่น ทานเพื่อสุขภาพทั่วไปควรเริ่มจาก 30,000-50,000 ล้านตัว CFU (หรือแลคโตบาซิลัสกับบิฟิโดแบคทีเรียมอย่างน้ำ 15,000 ล้านตัว)
2. จุลินทรีย์ที่ดีต้องมีทั้งโปรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์คู่กัน

อาหารอะไรบ้างที่มีโปรไบโอติกส์ ?

  • โยเกิร์ต
  • นมเปรี้ยว
  • น้ำผลไม้
  • เครื่องดื่มจากถั่วเหลือง
  • ผักดอง
  • กะหล่ำปลีดอง หรือซาวเคราท์
  • กิมจิ
  • ชีสจากการบ่ม
  • คีเฟอร์ หรือบัวหิมะธิเบต
  • มิโซะ หรือเต้าเจี้ยวญี่ปุ่น
  • เทมเป้ หรือถั่วเหลืองหมัก
  • เต้าเจี้ยวหมัก (Soybean paste)
  • บัตเตอร์มิลค์ (Buttermilk)
  • คอมบูชาหรือชาหมัก ( Kombucha )

การได้รับโปรไบโอติกส์จำนวนมากเกินไป หรือได้รับโปรไบโอติกส์ในขณะที่ร่างกายอยู่ในสภาวะภูมิคุ้มกันลดลง อาจมีผลข้างเคียงต่อร่างกาย

โปรไบโอติกส์ที่อาศัยอยู่ในร่างกายเรามีกี่ชนิด?

โดยปกติแล้วร่างกายคนเรานั้นมีจุลินทรีย์อยู่ในร่างกายและผิวหนังหลายล้านชนิดอยู่แล้ว โดยเฉพาะที่ระบบทางเดินอาหาร อย่างลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ ซึ่งจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในร่างกายของเรานั้น สามารถแบ่งออกเป็น 4 ชนิด คือ

1. จุลินทรีย์ก่อโรค จุลินทรีย์ชนิดนี้ส่วนใหญ่จะเป็นจุลินทรีย์ที่ร่างกายรับเข้ามาจากภายนอก ทั้งจากอาหารและอากาศ เช่น วิบริโอ พาราฮีโม ไลติคัส ( V.cholerae ) ที่เป็นสาเหตุของโรคอหิวาตกโรค ชิเจลลา ( Shigella ) ที่ทำให้เกิดโรคบิด เป็นต้น เมื่อจุลินทรีย์ชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่น้อย ร่างกายจะสามารถขจัดออกไปได้จึงไม่ก่อให้เกิดโรคขึ้น แต่ถ้าได้รับในปริมาณที่มากเกินกว่าที่จะกำจัดออกได้โดยเฉพาะบริเวณทางเดินอาหารจะทำให้เกิดโรค เช่น อหิวาตกโรค โรคท้องเสีย อาหารเป็นพิษ โรคบิด เป็นต้น

2. จุลินทรีย์กลุ่มก่อการอักเสบหรือกลุ่มฉวยโอกาส เป็นจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในร่างกายอยู่แล้ว แต่มีอยู่ในปริมาณที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจุลินทรีย์ชนิดดี จึงไม่ส่งผลเสียหรือสร้างอันตรายต่อร่างกาย แต่ทว่าเมื่อใดก็ตามที่จุลินทรีย์ชนิดดีมีปริมาณน้อยกว่าจุลินทรีย์กลุ่มนี้แล้ว จุลินทรีย์กลุ่มนี้ก็จะแสดงผลที่เป็นอันตายต่อร่างกายทันที โดยการทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น การติดเชื้อ Pseudomonas การติดเชื้อ Staphylococcus ที่ทำให้เกิดตุ่มหนองตามผิวหนัง เป็นต้น

3. จุลินทรีย์ที่ทำหน้าที่เป็นกลาง คือ จุลินทรีย์ที่สามารถทำหน้าที่ทั้งป้องกันไม่ให้เกิดโรคและรอโอกาสที่จะทำให้เกิดโรค ขึ้นอยู่กับสถานะการณ์และปริมาณของจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในขณะนั้น เช่น เชื้ออีโคไล ( E.Coli ) ทำหน้าที่ในการช่วยย่อยอาหารภายในลำไส้เมื่อมีในปริมาณน้อย และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคท้องเสียได้เมื่อมีปริมาณมากกว่าจุลินทรีย์ชนิดดี

4. จุลินทรีย์ชนิดดีหรือจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย จุลินทรีย์กลุ่มนี้จะทำหน้าที่ในการช่วยปกป้องดูแลทางเดินอาหารไม่ให้เชื้อโรคหรือจุลินทรีย์กลุ่มที่ก่อโรคเข้ามาทำร้ายลำไส้ได้ นับว่าจุลินทรีย์ชนิดนี้เป็นชนิดที่ทำให้เรามีสุขภาพที่ดี เช่น แลคโตบาซิลลัส ( Lactobacillus ) พบได้ในลำไส้เล็ก และ บิฟิโดแบคทีเรียม ( Bifidobacterium ) พบได้ที่บริเวณลำไส้ใหญ่ ยูแบคทีเรีย ( Eubacteria ) เป็นต้น ร่างกายของคนเรานั้นโดยเฉพาะที่ลำไส้จะมีจุลินทรีย์อาศัยเป็นจำนวนมาก ซึ่งเราเรียกจุลินทรีย์เหล่านี้ว่า “ จุลินทรีย์เจ้าถิ่น ” ( Normalfloral ) จุลินทรีย์เจ้าถิ่นมีทั้งจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์และจุลินทรีย์ที่อาจก่อโทษได้ทั้งสองชนิด โดยโปรไบโอติกส์จัดเป็นจุลินทรีย์เจ้าถิ่นชนิดหนึ่งที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

โปรไบโอติกส์เป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและระบบย่อยอาหาร ซึ่งอาศัยอยู่ในลำไส้ โปรไบโอติกส์ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะอาหารเสริม อาหารทางการแทพย์ ผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก อาหารหมักดอง เครื่องดื่ม นมผง เป็นต้น

เชื้อจุลินทรีย์โปรไบโอติกส์

23 เชื้อจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับรองการใช้ในอาหาร

1. บาซิลลัส โคแอกกูแลน ( Bacillus coagulans )
2. บิฟิโดแบคทีเรียม อะโดเลสเซนทิส ( Bifidibacterium adolescentis )
3. บิฟิโดแบคทเรียม อะนิมอลิส ( Bifidobacterium animalis )
4. บิฟิโดแบคทีเรียม บิฟิดัม ( Bifidobacterium bifidum )
5. บิฟิโดแบคทีเรียม เบรเว ( Bifidobacterium breve )
6. บิฟิโดแบคทีเรียม อินฟานทิส ( Bifidobacterium infantis )
7. บิฟิโดแบคทีเรียม แล็กทิส ( Bifidobacterium lactis )
8. บิฟิโดแบคทีเรียม ลองกัม ( Bifidobacterium longum )
9. บิฟิโดแบคทีเรียม ซูโดลองกัม ( Bifidobacterium pseudolongum )
10. เอ็นเทอโรค็อกคัส ดูแรน ( Enterococcus durans )
11. เอ็นเทอโรค็อกคัส เฟเซียม ( Enterococcus faecium )
12. แล็กโทบาซิลลัส แอซิโดฟิลัส ( Lactobacillus acidophilus )
13. แล็กโทบาซิลลัส คริสปาทัส ( Lactobacillus crispatus )
14. แล็กโทบาซิลลัส แก็สเซอรี ( Lactobacillus gasseri )
15. แล็กโทบาซิลลัส จอห์นโซนอิ ( Lactobacillus johnsonii )
16. แล็กโทบาซิลลัส พาราคาเซอิ ( Lactobacillus paracasei )
17. แล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี ( Lactobacillus reuteri )
18. แล็กโทบาซิลลัส รามโนซัส ( Lactobacillus rhamnosus )
19. แล็กโทบาซิลลัสซาลิวาเรียส ( Lactobacillus salivarius )
20. แล็กโทบาซิลลัส ซีอี ( Lactobacillus zeae )
21. โพรพิโอนิแบคทีเรียม อะราไบโนซัม ( Propionibacterium arabinosum )
22. สแตปฟิโลคอคคัส ไซน์ยูรี ( Staphylococcus sciuri )
23. แซ็กคาโรไมซีส เซรีวิซิอี สับสปีชีย์ บัวลาดิอิ ( Saccharomyces cerevisiae subsp. Boulardii )

ผลข้างเคียงการใช้โปรไบโอติกส์

หากเกิดผลข้างเคียงของโปรไบโอติกส์มักจะไม่รุนแรงสามารถย่อยอาหารได้ปกติ อาการที่เกิดขึ้น เช่น แก๊สในลำไส้ ท้องอืด ในกรณีแพ้รุนแรงในบางคนโพรไบโอติกอาจทำให้เกิดการติดเชื้อสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ

การได้รับโปรไบโอติกส์จำนวนมากเกินไป หรือว่าการได้รับโปรไบโอติกส์ในขณะที่ร่างกายอยู่ในสภาวะภูมิคุ้มกันลดลง เช่น ช่วงที่ได้รับเคมีบำบัด ช่วงที่ร่างกายมีเม็ดเลือดขาวต่ำ เป็นต้น ช่วงเวลาที่ภูมิต้านทานต่ำ ถ้าเราได้รับโปรไบโอติกในปริมาณที่มากอาจทำให้เกิดภาวะติดเชื้อซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

โปรไบโอติกส์จัดเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเป็นอย่างมาก ก็ต่อเมื่อได้รับในปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายในขณะนั้น ดังนั้นเพื่อสุขภาพที่ดีของร่างกายเราควรเลือกบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของโปรไบโอติกเป็นประจำเพื่อช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทาน ทำให้ขับถ่ายเป็นปกติ

นอกจากโปรไบโอติกส์แล้วยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่อยู่ควบคู่กันนั่นคือ พรีไบโอติกส์ เพราะถ้าขาดสิ่งนี้ไปโปรไบโอติกก็จะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

ขอบคุณคลิปสาระประโยชน์จาก : หมอปุ้ม พญ.สิรนาถ สุขภาพดี คุณมีได้

http://medinfo.psu.ac.th/smj2/smj24_4/pdf24_4/07utai.pdf

https://www.doctor.or.th/clinic/detail/6931

http://www.agro.cmu.ac.th/absc/data/57/57007.pdf

http://lib3.dss.go.th/fulltext/dss_j/2555_189_60_p13-15.pdf

Hutkins RW; Krumbeck JA; Bindels LB; Cani PD; Fahey G Jr.; Goh YJ; Hamaker B; Martens EC; Mills DA; Rastal RA; Vaughan E; Sanders ME (2016). “Prebiotics: why definitions matter”. Curr Opin Biotechnol. 37: 1–7. doi:10.1016/j.copbio.2015.09.001. PMC 4744122 Freely accessible. PMID 26431716.

Gibson GR, Roberfroid MB (Jun 1995). “Dietary modulation of the human colonic microbiota: introducing the concept of prebiotics”. J. Nutr. 125 (6): 1401–1412. PMID 7782892.

Roberfroid MB (March 2007). “Prebiotics: The Concept Revisited”. J. Nutr. 137 (3 Suppl 2): 830S–7S. PMID 17311983.