ต้นปอกระสา สรรพคุณรากบำรุงไต ขับลมชื้น

0
1332
ต้นปอกระสา สรรพคุณรากบำรุงไต ขับลมชื้น มีถิ่นกำเนิดในประเทศญี่ปุ่นและจีน เป็นไม้ยืนต้น แผ่นใบเป็นเนื้อบาง ดอกสีขาว ผลทรงกลมสีส้มอมแดง ผลมีเนื้อผลมาก ฉ่ำน้ำ
ต้นปอกระสา
เป็นไม้ยืนต้น แผ่นใบเป็นเนื้อบาง ดอกสีขาว ผลทรงกลมสีส้มอมแดง ผลมีเนื้อผลมาก ฉ่ำน้ำ

ปอกระสา

ปอกระสา มีถิ่นกำเนิดในประเทศญี่ปุ่นและจีน ในประเทศไทยสามารถพบได้ในทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ตามบริเวณป่าโปร่ง ในพื้นที่ที่มีความชุ่มชื้น และพื้นที่ตามริมน้ำ[1],[2],[4],[5],[7],[9] ชื่อวิทยาศาสตร์ Broussonetia papyrifera (L.) L’Hér. ex Vent. จัดอยู่ในวงศ์: วงศ์ขนุน (MORACEAE)[1] ชื่ออื่น ๆ ปอสา (ชื่อทั่วไป), ป๋อสา (เฉพาะถิ่น), หมอมี หมูพี (ในภาคกลาง), ปอฝ้าย (ในภาคใต้), ปอกะสา (ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), สายแล (ชาวเงี้ยวในภาคเหนือ), ฉำฉา ชำสา (จังหวัดนครสวรรค์), ตู๋ซิก จูซิก (ภาษาจีนแต้จิ๋ว), โกวสู้ ชู่สือ (ภาษาจีนกลาง), ส่าแหล่เจ (ชาวกะเหรี่ยงในจังหวัดแม่ฮ่องสอน), หนั้ง (ชาวเมี่ยน), เตาเจ (ชาวม้ง), เซงซะ (ชาวกะเหรี่ยงในจังหวัดกาญจนบุรี), ไม้สา (ชาวไทลื้อ), ลำสา (ชาวลั้วะ), ชะดะโค ชะตาโค (ชาวกะเหรี่ยงในจังหวัดกำแพงเพชร), ไม้ฉายเล (ชาวไทใหญ่), ตุ๊ดซาแล (ชาวขมุ) เป็นต้น[1],[4],[5],[6],[8]

ลักษณะของปอกระสา

  • ต้น
    – เป็นพันธุ์ไม้ประเภทไม้ยืนต้นที่มีขนาดเล็กไปจนถึงขนาดกลาง
    – ลำต้นมีเปลือกเป็นสีน้ำตาลอ่อน ผิวเปลือกบางเห็นเป็นเส้นใย ลำต้นจะแผ่ขยายกิ่งก้านเป็นวงกว้าง ตามยอดและกิ่งอ่อนจะมีขนสีขาวขึ้นปกคลุม
    – ต้นมีน้ำยางสีขาว
    – ความสูงของต้น ประมาณ 6-10 เมตร
    – ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด
  • ใบ
    – ใบมีรูปร่างคล้ายรูปรี หรือรูปไข่กว้าง โดยปลายใบจะแหลม ส่วนโคนใบจะมีรูปร่างคล้ายรูปหัวใจ ตรงที่ขอบใบจะมองเห็นเป็นซี่ฟันเล็ก ๆ ยาวไปตลอดทั้งขอบใบ
    – ใบมีแผ่นใบเป็นเนื้อบาง โดยส่วนท้องของใบจะมีสีเขียวอ่อนหรือสีเทาและมีขนขึ้นปกคลุมเล็กน้อย ส่วนหลังของใบจะมีสีเขียวเข้ม
    – ใบจะออกเรียงเป็นแถวตามแนวก้านใบ โดยใบจะมีลักษณะเป็นใบเดี่ยว ซึ่งแตกต่างกันไปตามชนิดของใบแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดใบหยักจะมีแฉก 3-4 แฉก และชนิดใบมนที่ไม่มีแฉก โดยทั่วไปแล้วใบจะแยกชนิดใบหยักและใบมนอยู่คนละต้นกัน แต่ก็มีบางกรณีที่พบว่าใบมีทั้ง 2 ชนิดในต้นเดียวกัน
    – จากศึกษาพบว่าใบที่มีอายุมากขึ้นจะมีใบมนมากกว่าใบหยัก [1],[2],[4],[9]
    – ใบมีขนาดความกว้างประมาณ 5-15 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 7-20 เซนติเมตร และก้านใบมีความยาวประมาณ 3-10 เซนติเมตร
    – เป็นไม้ผลัดใบ
  • ดอก
    – ออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงช่วงเดือนมีนาคม โดยดอกมีลักษณะเป็นแบบแยกเพศ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
    – ดอกเพศผู้ โดยช่อดอกเพศผู้จะออกเป็นช่อห้อยลงมา มีดอกย่อยจำนวนมาก โดยจะออกที่บริเวณปลายกิ่ง ดอกมีกลีบดอกสีขาว กลีบรองดอกเป็นกาบ มีอยู่ 4 กลีบ
    – ดอกเพศเมีย โดยช่อดอกเพศเมียจะแตกต่างจากดอกเพศผู้ตรงที่จะออกเป็นช่อกลม มีดอกย่อยจำนวนมาก และจะออกที่บริเวณซอกใบ ดอกมีสีเขียว กลีบเลี้ยงที่โคนจะเชื่อมติดกัน ก้านเกสรมีลักษณะเป็นเส้นฝอยมีสีม่วง และมีหลอดรังไข่อยู่ที่กลางดอก[1],[2],[4],[5]
  • ผล
    – ผลมีลักษณะเป็นผลรวมและผลจะออกที่บริเวณซอกใบ โดยผลมีรูปร่างเป็นรูปทรงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร ผลมีสีส้มอมแดง ผลมีเนื้อผลมาก เมื่อมองดูจะรู้สึกถึงความแน่นและฉ่ำน้ำของผลอย่างชัดเจน
    – ออกผลในช่วงเดือนเมษายน[1],[2],[4]
  • เมล็ด
    – เมล็ดมีรูปร่างกลมแบน และมีขนาดเล็ก

สรรพคุณของต้นปอกระสา

1. ผลมีส่วนช่วยในการบำรุงสายตา (ผล)[4]
2. ผลมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง และแก้อาการอ่อนเพลียของร่างกายได้ (ผล)[4],[5],[9]
3. นำถั่วดำในปริมาณ 1 ถ้วยชา มาต้มเอาแต่น้ำ แล้วนำน้ำที่ได้นี้มาใช้แช่ผลที่ทำการตากแห้งแล้ว จากนั้นนำมาตากแดดจนกว่าน้ำถั่วที่นำมาแช่ผลจะแห้งสนิท พอน้ำแห้งสนิทแล้วก็ให้ทำการใส่เมล็ดเก๋ากี้ลงไป แล้วทำการคั่วรวมกันให้เกรียม ต่อมาให้นำมาบดจนละเอียดเป็นผงเป็นอันเสร็จ โดยนำมาใช้รับประทานวันละ 15 กรัม มีสรรพคุณในการรักษาอาการปัสสาวะกะปริบกะปรอย บรรเทาอาการปวดศีรษะ รักษาอาการการหลั่งน้ำอสุจิยามนอนหลับโดยไม่รู้ตัว รักษาอาการท้องผูก และแก้อาการกระหายน้ำ (ผล)[5]
4. ผลนำมารับประทานมีสรรพคุณเป็นยาในการบำรุงกระดูกและเส้นเอ็น (ผล)[4]
5. ผลนำมาใช้เป็นยาสำหรับใช้ภายนอกมีสรรพคุณในการรักษาอาการฝีมีหนอง (ผล)[4],[5]
6. ผลมีสรรพคุณในการบำรุงตับและไต (ผล)[4],[5]
7. ใบนำมาใช้เป็นยาสำหรับใช้ภายนอก โดยมีสรรพคุณในการรักษาแผลจากการถูกแมงป่อง งู ตะขาบ และแมลงที่มีพิษกัดต่อย (ใบ)[1],[2],[3],[4],[5]
8. ใบนำมาใช้เป็นยาสำหรับใช้ภายนอก โดยมีสรรพคุณในการรักษาโรคกลากเกลื้อน และรักษาอาการผิวหนังอักเสบ (ใบ)[4],[5]
9. ใบมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคปัสสาวะมีหนอง (ใบ)[4],[5]
10. ใบนำมาทำเป็นยา มีสรรพคุณในการแก้อาเจียนออกมาเป็นเลือด และบรรเทาอาการเลือดกำเดาไหลไม่หยุดได้ (ใบ)[4],[5]
11. ใบนำมาทำเป็นยาใช้สำหรับรักษาโรคกระเพาะอาการ และแก้อาการร้อนในตับ (ใบ)[4]
12. ใบนำมาทำเป็นยาใช้สำหรับรักษาอาการตามัว และหูอื้อ (ใบ)[4],[5]
13. รากและเปลือกมีสรรพคุณเป็นยารักษาอาการไอ (รากและเปลือก)[4],[5]
14. รากและเปลือกนำมาต้มกับน้ำใช้สำหรับดื่มเป็นยาบรรเทาอาการปวดฝี (รากและเปลือก)[4],[5]
15. รากและเปลือกนำมาต้มเป็นยาใช้สำหรับดื่ม โดยมีสรรพคุณเป็นยารักษาอาการสตรีตกเลือด รักษาโรคบิด และอาการถ่ายเป็นเลือด (รากและเปลือก)[4],[5]
16. รากและเปลือก นำมาใช้ทำเป็นยาสำหรับใช้ภายนอก มีสรรพคุณในการรักษาแผลสด และแผลฟกช้ำ [4],[5]
17. รากและเปลือกมีสรรพคุณในการบำรุงไต (รากและเปลือก)[2]
18. รากและเปลือกนำมาใช้ทำเป็นยาขับลมชื้น (รากและเปลือก)[4]
19. เปลือกนำมาใช้ทำเป็นยามีสรรพคุณในการแก้อาเจียน (เปลือก)[9]
20. ตำรายารักษาแผลสด และยาห้ามเลือดภายนอก ระบุไว้ว่าให้นำเปลือกที่ได้มาจากกิ่งก้านอ่อนนำมาตำให้ละเอียด จากนั้นเอากากที่ได้ มาพอกบริเวณบาดแผลที่มีเลือดออก หรือจะนำใบมาคั้นเอาแต่น้ำ ใช้สำหรับทาลงบนบาดแผลที่มีเลือดไหลจะช่วยให้เลือดหยุดไหลได้ (กิ่งก้านอ่อน, ใบ)[4],[5]
21. นำเปลือกที่ได้มาจากกิ่งก้านอ่อนมาตำให้ละเอียด จากนั้นเอากากที่ได้มาพอกบริเวณที่เป็นผื่นคัน [5]
22. นำเปลือกที่ได้มาจากกิ่งก้านอ่อนมาคั้นเอาแต่น้ำใช้รับประทานเป็นยาบรรเทาอาการก้างปลาติดคอได้ [5]
23. นำเปลือกที่ได้มาจากกิ่งก้านอ่อนมาคั้นเอาแต่น้ำใช้รับประทานเป็นยา การรักษาโรคตาแดง (กิ่งก้านอ่อน)[5]
24. ในตำรายารักษาอาการบวมน้ำ ระบุว่าให้นำใบสดในปริมาณประมาณ 3-6 กรัม มาต้มแล้วคั้นเอาแต่น้ำมาใช้ดื่ม หากใช้เปลือกให้นำเปลือกที่แห้งแล้วเท่านั้น ในปริมาณประมาณ 6-9 กรัม จากนั้นนำมาบดให้ละเอียดใช้สำหรับต้มเป็นยาสำหรับดื่ม หรือจะใช้ผลแห้งหรือรากแห้งก็ได้ นำมาต้มกับน้ำใช้สำหรับดื่ม (ใบ, รากและเปลือก, ผล)[4],[5]
25. ผล ราก และเปลือก มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ (ผล, รากและเปลือก)[2],[3],[4],[5]
26. ราก ต้น และใบ นำมาต้มกับน้ำใช้สำหรับดื่มเป็นยารักษาโรคริดสีดวงทวาร (ราก, ต้น, ใบ)[1],[2],[3]
27. นำเปลือกมาเผาไฟให้เป็นเถ้า จากนั้นนำมาบดให้ละเอียดใช้แต้มที่บริเวณตา มีสรรพคุณในการแก้อาการตาเป็นต้อ หรือจะนำผลมาตากให้แห้ง จากนั้นนำมาต้มกับน้ำใช้ดื่มเป็นยา (เปลือก, ผล)[4],[5]
28. ยางนำมาใช้ทำเป็นยาทาบรรเทาพิษจากการถูกแมลงสัตว์กัดต่อย และถอนพิษงู (ยาง)[4],[5]
29. ยางนำมาใช้ทำเป็นยาทาสำหรับรักษาโรคกลากเกลื้อน (ยาง)[4],[5]

ขนาดและวิธีใช้

1. เปลือกของต้น นำมาใช้ในปริมาณครั้งละ 10-18 กรัม โดยให้นำมาต้มกับน้ำใช้สำหรับดื่มเป็นยา
2. ผล นำมาใช้ในปริมาณครั้งละ 6-15 กรัม โดยมักนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในตำรายาจีน
3. รากและใบ นำมาใช้ในปริมาณครั้งละ 30-70 กรัม โดยให้นำมาต้มกับน้ำใช้สำหรับดื่มเป็นยา[4]

ประโยชน์ของต้นปอกระสา

1. ต้นปอกระสาเหมาะสำหรับการนำไปปลูกในพื้นที่ปลูกป่า เนื่องจากเป็นพืชที่โตเร็ว และคงทนต่อสภาพอากาศต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี[7],[9]
2. ที่ประเทศไทยทางภาคเหนือจะนำเส้นใยที่ได้มาจากเปลือกของต้นปอกระสา มาผลิตทำเป็นกระดาษหรือกระดาษที่ใช้ทำร่ม[5]
3. เปลือกต้นนำมาทำให้เป็นเส้นใย จากนั้นนำมาทำเป็นเชือก หรือจะนำไปใช้ทอผ้าก็ได้เช่นกัน[5]
4. ในชนเผ่าตองกา ตาฮิติ ฟิจิ และซามัว จะนำเส้นใยที่ได้จากเปลือกต้นปอกระสามาถักทอเป็นผ้า โดยผ้านี้มีชื่อเรียกว่า ตาปา
5. กระดาษสาที่ผลิตมาจากต้นปอกระสา จะมีคุณสมบัติพิเศษกว่ากระดาษสาชนิดอื่น ๆ คือ มีความทนทาน สามารถเก็บรักษาไว้ได้เป็นเวลานาน และไม่เปื่อยยุ่ยง่ายหากอยู่ในพื้นที่ชื้น[7],[9]
6. ใบสามารถนำมาสกัดเป็นสีได้ โดยจะให้สีเหลือง[9]
7. เนื้อไม้ของต้นปอกระสามักนำมาใช้ทำเป็นไม้จิ้มฟันและตะเกียบ[8]
8. นอกจากเปลือกต้นแล้ว แกนของต้นปอกระสา สามารถนำมาทำเป็นกระดาษได้อีกด้วย[9]
10. ใบหรือยอดอ่อนของต้นปอกระสา สามารถนำมาทำเป็นอาหารของสัตว์เกษตรได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น นำมาผสมในรำหมู ใช้เป็นอาหารปลา หรือนำมาใช้เป็นอาหารสำหรับโคและกระบือ เป็นต้น[6],[9]
11. เมล็ดนำมาสกัดเอาน้ำมัน มีประโยชน์ในการใช้ทำสบู่ หรือใช้สำหรับเครื่องเขิน[7]
12. ผลและเมล็ดสามารถนำมาใช้เป็นอาหารสำหรับกระรอกและนกได้[7],[9]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

1. จากการศึกษาโดยนำใบที่ตากแห้งแล้ว มาบดให้ละเอียด จากนั้นเติมน้ำข้าวและน้ำตาลทรายมาผสมใช้ทำเป็นยาทาภายนอก โดยนำมาทาแผลบริเวณที่ผู้ทดสอบถูกผึ้งต่อยจนเกิดอาการอักเสบ เป็นจำนวน 22 ราย ผลการทดสอบพบว่าตัวยานี้สามารถรักษาอาการปวดบวมอักเสบจากการถูกผึ้งต่อยได้ทุกราย[5]
2. จากการวิจัยพบว่า ในส่วนของใบและเปลือก มีสาร Tannin, Flavonoid Phenols, Glycoside และ สาร Carboxylicaid ส่วนในผลมีวิตามินบีและน้ำมันอยู่ ในอัตราส่วนร้อยละประมาณ 31.7% และในส่วนของน้ำมันที่สกัดออกมาจะมีสาร Saponin อยู่ นอกจากนี้จากการวิจัยยังพบสารอย่าง Fructose, Linoleic acid และ Oleic acid อีกด้วย[4]
3. จากการศึกษายารักษาโรคกลากเกลื้อน โดยนำน้ำยางของต้นมาทาผู้ป่วยในบริเวณที่เป็น วันละ 1-2 ครั้ง ทาติดต่อกันเป็นเวลา 15 วัน ผลพบว่าจากการรักษาผู้ป่วยโรคกลากเกลื้อน จำนวน 9 ราย หลังจากใช้ยาสูตรนี้พบว่ามีผู้ป่วยที่หายจากโรคดังกล่าวทันทีจำนวน 4 ราย และอีก 5 รายที่โรคนี้หายในเวลาต่อมา[5]
4. จากการศึกษาวิจัยการนำต้นมาใช้ทำเป็นยารักษาโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โดยนำเปลือกมาขูดเอาผิวนอกออกก่อน ใช้ในปริมาณประมาณ 30 กรัม, ต้นเสี้ยวหนี่อั้ง (Oldenlandia lancea (Thunb.) O.Ktze) สดในปริมาณ 15 กรัม และพลูคาวสดในปริมาณ 15 กรัม นำส่วนผสมทั้งหมดมาต้มรวมกัน จากนั้นกรองเอาแต่น้ำ ใช้สำหรับดื่มวันละ 3 ครั้ง โดยผลที่ได้พบว่าจากการนำตัวยานี้มาให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังดื่มเป็นจำนวน 233 คน พบว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คิดเป็นอัตราร้อยละ 27.4% และผู้ป่วยที่มีอาการหายขาดคิดเป็นอัตราร้อยละ 17.6% [5]

ข้อควรระวัง

ไม่ควรรับประทานผลในปริมาณที่มากจนเกินไป เพราะจะทำให้เสี่ยงกระดูกเปราะง่ายยิ่งขึ้น และอาจทำให้เกิดอาการท้องร่วงได้[4],[5]

สั่งซื้อ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “ปอ กระ สา (Po Kra Sa)”. หน้า 187.
2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “ปอกระสา”. หน้า 133.
3. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ปอกระสา”. หน้า 52.
4. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “ปอ กระสา”. หน้า 320.
5. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ปอกะสา”. หน้า 454-457.
6. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ปอกระสา”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6 (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม)., หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 6 (ก่องกานดา ชยามฤต). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [26 พ.ย. 2014].
7. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “ปอ กระ สา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [27 พ.ย. 2014].
8. พืชให้เส้นใย, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ปอสา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/use/fiber1.htm. [27 พ.ย. 2014].
9. วารสารกรมวิทยาศาสตร์บริการ ฉบับที่ 154 กันยายน 2543. (จิระศักดิ์ ชัยสนิท). “ปอสา”.
10. https://medthai.com

อ้างอิงรูปจาก
1. https://jardinage.lemonde.fr/
2. https://www.healthbenefitstimes.com/