บานไม่รู้โรย

บานไม่รู้โรย

บานไม่รู้โรย เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก นิยมใช้ปลูกกันอยู่ด้วยกัน 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ Tall Mixture ซึ่งมีทั้งสีขาวและสีแดงอมม่วง และพันธุ์ Buddy ที่มีดอกเป็นสีแดงอมม่วง มีกลีบดอกที่ไม่หลุดร่วงได้ง่าย แม้ว่าดอกจะแก่หรือแห้งแล้วก็ตาม จึงเป็นที่มาของชื่อ “บานไม่รู้โรย” เป็นต้นที่คนทั่วไปรู้จักกันอย่างกว้างขวางเพราะเป็นดอกที่นำมาใช้ทำเป็นดอกไม้ประดิษฐ์ และใช้ในงานพิธีกรรมต่าง ๆ รวมถึงเป็นไม้มงคลและเป็นไม้ปลูกประดับตามบ้านเรือนทั่วไปด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของบานไม่รู้โรย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gomphrena globosa L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Bachelor’s button” “Button agaga” “Everlasting” “Gomphrena” “Globe amaranth” “Pearly everlasting”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “กะล่อม ตะล่อม” ภาคใต้เรียกว่า “ดอกสามเดือน สามเดือนดอกขาว กุนนีดอกขาว กุนหยินขาว กุนหยี” จังหวัดขอนแก่นเรียกว่า “สามปีบ่เหี่ยว” คนจีนเรียกว่า “โขยหยิกแป๊ะ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์บานไม่รู้โรย (AMARANTHACEAE)

ลักษณะของบานไม่รู้โรย

บานไม่รู้โรย เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็กอายุประมาณ 1 ปี ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ หรือมีถิ่นกำเนิดในเอเชีย ออสเตรเลีย ยุโรป และอเมริกา
ลำต้น : แตกกิ่งก้านบริเวณยอดต้น กิ่งก้านเป็นเหลี่ยมและมีร่อง ลำต้นอ่อนมีขนสีขาวปกคลุม ตามข้อต้นพองออกเล็กน้อย ข้อต้นเป็นสีแดง แต่บางต้นข้อต้นก็เป็นสีเขียว
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปวงรี ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ หลังใบและท้องใบมีขนสีขาว เนื้อใบมีลักษณะนิ่ม ก้านใบสั้น และมีขนสีขาว
ดอก : ออกดอกเป็นกระจุกทรงกลมบริเวณปลายกิ่ง มีดอกย่อยอัดกันแน่น แต่ละช่อมีดอกย่อยประมาณ 2 – 3 ดอก ลักษณะของดอกเป็นรูปทรงกลมขนาดเท่าผลพุทรา ดอกเป็นสีขาว สีแดงแก่ สีม่วง หรือสีชมพูอ่อน แต่จะใช้ดอกขาวมาเป็นยา เพราะสีขาวเป็นสีที่บริสุทธิ์ มีลักษณะแข็ง กลีบดอกมีขนาดเล็กเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ทั้งดอก ปลายกลีบแหลมคล้ายขนแข็ง และมีใบประดับหรือกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียว กลีบดอกยังไม่หลุดร่วงได้ง่าย แม้ว่าดอกจะแก่หรือแห้งแล้วก็ตาม จึงเป็นที่มาของชื่อ “บานไม่รู้โรย”
ผล : มีผลแห้งเป็นกระเปาะ ลักษณะเป็นรูปทรงกลมหรือเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน
เมล็ด : ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลอ่อน เมล็ดมีลักษณะแบนหรือเป็นรูปไข่

สรรพคุณของบานไม่รู้โรย

  • สรรพคุณจากทั้งต้นและราก ช่วยแก้อาการไอ ช่วยรักษาโรคบิด
    – แก้กษัย ขับปัสสาวะ ขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ แก้กามโรค แก้หนองใน แก้มุตกิดหรือตกขาว ช่วยขับระดูขาวของสตรี ช่วยขับระดูขาวให้แห้ง ด้วยการนำทั้งต้นและรากมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากต้นและดอก ออกฤทธิ์ต่อปอดและตับ เป็นยาแก้ตับร้อนหรือธาตุไฟเข้าตับ ช่วยแก้ตาเจ็บ ตามัว อันเนื่องจากธาตุไฟเข้าตับ แก้อาการไอเป็นเลือด แก้เลือดออกตามทวารทั้งเก้า
  • สรรพคุณจากดอก ช่วยแก้อาการไอ แก้ไอกรน ช่วยขับเสมหะ ช่วยรักษาวัณโรคในปอด ช่วยรักษาโรคบิด เป็นยาบำรุงตับ เป็นยารักษาแผลผื่นคัน ใช้รักษาฝีประคำร้อย ตำรับยารักษามะเร็งมดลูกและมุตกิดระดูเสียของสตรี
    – แก้เด็กตัวร้อนตาเจ็บ ด้วยการนำดอกสด 10 – 14 ดอก มาต้มกับน้ำทาน หรือใช้ผสมกับฟักเชื่อมแห้ง แล้วนำมาต้มกับน้ำทานเป็นยา
    – ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ แก้ลมขึ้นศีรษะ ด้วยการนำดอก 10 กรัม หญ้าแซ่ม้า 20 กรัม มาต้มกับน้ำทาน
    – แก้เด็กเป็นโรคลมชัก ด้วยการนำดอก 10 ดอก มาผสมกับตั๊กแตนแห้ง 7 ตัว แล้วนำมาตุ๋นเป็นยา
    – แก้หืดหอบ แก้ไอหืด แก้ไอหอบ แก้หลอดลมอักเสบ ด้วยการนำดอกแห้ง 10 – 15 กรัม มาต้มกับน้ำทาน หรือนำดอก 10 ดอก มาต้มผสมกับเหล้าเล็กน้อย ใช้ดื่มวันละ 3 ครั้ง หรือใช้สารที่สกัดได้จากดอกทำเป็นยาฉีด โดยใช้ครั้งละ 0.3 ซีซี
    – ช่วยแก้บิดมูก ด้วยการนำดอก 10 ดอก มาต้มกับน้ำผสมกับเหล้าเล็กน้อย ใช้ดื่มเป็นยา
    – ขับปัสสาวะ ขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ ด้วยการนำดอกมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
    – ช่วยแก้ปัสสาวะขัด แก้ปัสสาวะกะปริดกะปรอย ด้วยการนำดอก 10 กรัม มาต้มกับน้ำทานบ่อย ๆ
  • สรรพคุณจากราก เป็นยาแก้พิษต่าง ๆ
  • สรรพคุณจากต้น ตำรับยากระทุ้งไข้แก้เหือดหัดในเด็ก
    – แก้ฝีหนอง ด้วยการนำต้นสดในปริมาณพอควร มาตำพอกเป็นยา
  • สรรพคุณจากทั้งห้าส่วน ตำรับยารักษามะเร็ง
  • สรรพคุณจากรากและต้น ตำรับยาแก้มดลูกเคลื่อนหรือกะบังลมเคลื่อน

ประโยชน์ของบานไม่รู้โรย

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ชาวเกาะมอลัคคัสในหมู่เกาะชวาใช้บานไม่รู้โรยมาทานเป็นผักชนิดหนึ่ง
2. เป็นดอกไม้ประดิษฐ์ ทำบุหงา ร้อยพวงมาลัย ร้อยอุบะ เป็นพานพุ่ม เป็นดอกไม้แห้งเพื่อใช้ในงานอุตสาหกรรม ทำเป็นสินค้าส่งออกได้ ใช้ในงานพิธีกรรมต่าง ๆ ใช้ในงานมงคล ใช้ในงานศพ
3. ปลูกเป็นไม้ประดับ ดอกมีความสวยงาม ปลูกเลี้ยงได้ง่าย
4. เป็นไม้มงคล เชื่อว่าหากนำมาปลูกไว้ในบริเวณบ้านจะช่วยเสริมดวงในเรื่องของความรักและความผูกพันของคู่สามีภรรยา ทำให้มีความรักที่มั่นคงและยั่งยืน

บานไม่รู้โรย ทั้งต้นและรากมีรสเย็นขื่น ดอกและต้นมีรสหวาน ขื่นและชุ่ม เป็นยาสุขุมชนิดหนึ่ง นิยมนำมาใช้เป็นดอกไม้ประดิษฐ์ เอาไว้ใช้ในงานพิธีกรรมต่าง ๆ บานไม่รู้โรยมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของดอก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ช่วยแก้อาการไอ ช่วยรักษาโรคบิด แก้โรคทางเดินปัสสาวะ ช่วยขับระดูขาวของสตรี ช่วยรักษาวัณโรคในปอด แก้หลอดลมอักเสบ บำรุงตับ รักษามะเร็งและแก้มดลูกเคลื่อนหรือกะบังลมเคลื่อนได้

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “บานไม่รู้โรย (Ban Mai Ru Roy)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 164.
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “บานไม่รู้โรยดอกขาว”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 425-426.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “บานไม่รู้โรยดอกขาว”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 306.
สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “บานไม่รู้โรยดอกขาว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [02 เม.ย. 2014].
กรุงเทพธุรกิจ. “สีสมุนไพร…บำบัดอารมณ์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bangkokbiznews.com. [02 เม.ย. 2014].
กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. “บานไม่รู้โรย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doae.go.th. [02 เม.ย. 2014].
การผลิตไม้กระถางและไม้ตัดดอก (PRODUCTION OF POT-PLANTS AND CUT-FLOWERS), ภาควิชาพืชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. “บานไม่รู้โรย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th/Department/PlantScience/510-111web/510-482web/index.htm. [02 เม.ย. 2014].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “บานไม่รู้โรย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [02 เม.ย. 2014].
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 288 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า. “บานไม่รู้โรย : ความงามที่ยั่งยืนฝืนกาลเวลา”. (เดชา ศิริภัทร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [02 เม.ย. 2014].
สำนักแชลั้ง. “ต้นไม้มงคล ภาค1”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.sumnakcharang.com. [02 เม.ย. 2014].
ตำรับยาไทยแผนโบราณ สำหรับโรคเรื้อรัง โดย หมอเมือง สันยาสี.
หนังสือเพชรน้ำเอก กรุยอดตำรับยาสมุนไพร. (พฤฒาจารย์ วิพุธโยคะ รัตนรังษี และคณะ).
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/

รูปอ้างอิง
https://housing.com/news/gomphrena-globosa-know-more-about-this-medicinal-plant/