คนทีเขมา
เป็นพรรณไม้พุ่ม ดอกออกเป็นช่อสีขาวแกมม่วงอ่อน ผลสดกลมแห้ง เปลือกผลมีลักษณะแข็งและเป็นสีน้ำตาล

คนทีเขมา

คนทีเขมา มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกา และเป็นพรรณไม้พื้นเมืองของอเมริกา ได้แพร่พันธุ์มาถึงญี่ปุ่นและเอเชียตอนใต้ ที่สูงประมาณ 200-1,400 เมตร ชื่อสามัญ Indian privet, Five-leaved chaste tree, Negundo chest nut, Chinese chaste[2],[7] ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Vitex negundo L.[1] อยู่วงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE) ชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น หวงจิง (จีนกลาง), กูนิง (มาเลเซีย-นราธิวาส), คนทีสอดำ (ภาคเหนือ), อึ่งเกง (จีนแต้จิ๋ว), กุโนกามอ (มาเลเซีย-ปัตตานี), คนทิ (ภาคตะวันออก), ดินสอดำ โคนดินสอ ผีเสื้อดำ คนดินสอดำ (อื่น ๆ) [2],[3],[6]

ลักษณะของคนทีเขมา

  • ต้น เป็นพรรณไม้พุ่ม ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง สูงได้ประมาณ 3-6 เมตร มีลำต้นเป็นสีเทาปนกับน้ำตาล ใบ กิ่ง ก้านจะมีกลิ่นหอม กิ่งอ่อนเหลี่ยม เป็นสีเทา มีขนอ่อนขึ้น มีรากสีเหลือง เนื้อในรากจะมีลักษณะเป็นสีขาว ขยายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเมล็ด การปักชำ การกิ่งตอน[2],[3],[6]
  • ใบ เป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ ใบจะออกเรียงตรงข้ามกัน มีใบย่อยอยู่ 5 หรือ 3 ใบ ใบด้านบนจะมีก้าน ใบล่างไม่มีก้าน ใบเป็นรูปใบหอก ที่ขอบใบจะเรียบหรือหยัก ที่ปลายใบจะยาวแหลม ใบกว้างประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร มีขนาดยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร ที่ด้านหลังของใบจะเป็นสีเขียวเข้ม ท้องใบจะเป็นสีขาว มีขนอ่อนปกคลุม[2]
  • ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ที่ตามซอกใบ มีขนาดยาวประมาณ 15 เซนติเมตร มีดอกย่อยขนาดเล็กอยู่จำนวนมาก กลีบดอกเป็นสีขาวแกมม่วงอ่อน กลีบดอกแตกออกเป็น 5 แฉก ขนาดไม่เท่ากัน จะมีขนขึ้นนิดหน่อย เชื่อมกันที่โคน ที่ปลายกลีบล่างจะแผ่โค้ง กลีบรองดอกจะเชื่อมติดกันเป็นถ้วย ที่ปลายกลีบแยกเป็นแฉก 5 แฉก มีเกสรเพศผู้อยู่ 4 อัน ดอกออกประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน[2],[3]
  • ผล เป็นผลสด เป็นรูปกลม จะแห้ง เปลือกผลมีลักษณะแข็งและเป็นสีน้ำตาล มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5 มิลลิเมตร ติดผลช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน[2],[3]

ประโยชน์ของคนทีเขมา

1. ปลูกเป็นไม้ประดับกลางแจ้ง[7]
2. มีผลิตภัณฑ์รูปแบบยาแคปซูล ยาเม็ด น้ำมันนวด สำหรับรักษาอาการปวดฟัน ข้ออักเสบ ปวดเมื่อย ตึง เกาต์ [6]
3. สามารถใช้ไล่ไรไก่ เห็บ หมัด ลิ้น ไรได้ ด้วยการเอากิ่งไปไว้ในเล้าไก่ ขยี้ใบทาตัวไล่แมลง หรือเอากิ่งใบไปเผาไล่ยุง หรือต้มกิ่งก้านใบกับน้ำใช้ฉีดไล่ยุง ยาไล่ยุง ให้นำกิ่งก้านใบ 1 ส่วน น้ำ 2 ส่วน มาต้มให้เดือด 15 นาที ทิ้งให้เย็น กรองเอาน้ำไปฉีดพ่นไล่ยุง[6]
4. สามารถนำใบผสมน้ำอาบเพื่อให้มีกลิ่นหอม[2],[5]
5. นำใบแห้งมาปูรองเมล็ดพืช สามารถช่วยป้องกันแมลง มอดมากวนได้[2],[6]
6. ถ้านำมาต้มทานต้มอาบเป็นประจำ สามารถช่วยทำให้ผิวพรรณผุดผ่องเป็นยองใย เหมาะกับการที่จะเอามาใช้ในสปา ทำครีมบำรุงผิว[6]

สรรพคุณของคนทีเขมา

1. ใบ มีสรรพคุณที่รักษาโรคปวดตามข้อ (ใบ)[2]
2. สามารถใช้ผลเป็นยารักษาอาการเหน็บชาได้ (ผล)[2]
3. ยางสามารถใช้เป็นยาฆ่าพยาธิผิวหนัง แก้คุดทะราด (หนัง)[5]
4. ใบสามารถใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง ฝี กลาก เชื้อราที่เท้า เกลื้อน ถอนพิษสาหร่ายทะเล โดยนำใบสดมาตำให้ละเอียด แล้วเอามาใช้พอกบริเวณที่เป็น (ใบ)[2],[4],[5]
5. สามารถใช้รักษาแผลพุพองที่เกิดจากไฟไหม้ได้ โดยนำกิ่งแห้ง มาคั่วโดยอย่าให้ไหม้ แล้วเอามาบดเป็นผงผสมน้ำมัน นำมาใช้ทาตรงบริเวณที่เป็นแผล (กิ่งแห้ง)[2]
6. ช่อดอก สามารถใช้เป็นยาฝาดสมานได้ (ช่อดอก)[2]
7. ราก สามารถใช้เป็นยารักษาโรคตับได้ (ราก)[4]
8. สามารถใช้เป็นยาแก้ตับอักเสบได้ (ดอก, รากและก้าน, ผล, ใบ)[3]
9. เปลือกต้น สามารถใช้เป็นยาแก้ริดสีดวงทวารได้ (เปลือกต้น)[5]
10. ราก มีสรรพคุณที่เป็นยาขับปัสสาวะ (ราก)[2]
11. นำใบกับรากมาต้มทานเป็นยาแก้ปวดท้อง (รากและใบ, รากและก้าน)[1],[3]
12. เปลือกต้น มีรสหอมร้อน สามารถใช้เป็นยาแก้ลมเสียดแทงได้ (เปลือกต้น)[5]
13. สามารถใช้เป็นยาขับเสมหะได้ (ราก, ใบ, ผล)[2],[4],[5]
14. สามารถใช้เป็นยาแก้ไอได้ (ราก, ใบ, ผล)[2],[5]
15. ในตำรายาไทยจะนำใบกับรากมาต้มทานเป็นยาแก้ไข้ ลดไข้ (รากและใบ)[1],[4]
16. ช่อดอก มีสรรพคุณที่เป็นยาลดไข้ (ช่อดอก)[2]
17. ยางจะมีรสร้อนเมา สามารถใช้ช่วยขับเลือดขับลมให้กระจายได้ (ยาง)[5]
18. ใบ มีสรรพคุณที่ช่วยแก้อาการหูอื้อ (ใบ)[2]
19. ยางสามารถใช้เป็นยาบำรุงกำลังได้ (ยาง)[5]
20. ใบ สามารถใช้เป็นยาบำรุงธาตุได้ (ใบ)[4]
21. ใบ มีรสหอมร้อน สามารถใช้เป็นยาแก้เยื่อจมูกอักเสบได้ (ใบ)[5]
22. สามารถช่วยรักษาอาการเจ็บคอได้ (ใบ)[2],[5]
23. ราก มีรสร้อนเมา สามารถใช้เป็นยาขับเหงื่อ และแก้ลมได้ (ราก)[5]
24. ช่อดอก มีสรรพคุณที่เป็นยารักษาอาการท้องเสีย (ช่อดอก)[2],[5]
25. ราก สามารถใช้เป็นยารักษาโรคกระเพาะอาหารได้ (ราก)[2]
26. สามารถช่วยแก้อาหารไม่ย่อยได้ (เมล็ด)[3]
27. สามารถใช้เป็นยาแก้ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้ (ใบ, ดอก, ผล)[3]
28. ราก สามารถใช้เป็นยาแก้ริดสีดวงแห้งได้ (ราก)[5]
29. ในตำรับยาแก้เลือดแห้ง นำรากคนทีเขมา รากมะอึก รากมะตูม เปลือกเพกา เปลือกไม้แดง ฝาง ไผ่สีสุกมาต้มทานแก้เลือดแห้ง (ราก)[6]
30. ใบ สามารถใช้เป็นยาแก้ดีซ่านได้ (ใบ)[5]
31. สามารถใช้รักษาบาดแผลที่เกิดจากสุนัขกัดกับตะขาบกัด และบาดแผลที่เกิดจากของมีคม โดยนำใบสดมาตำให้ละเอียด แล้วเอาไปใช้พอกตรงบริเวณที่เป็น (ใบ)[2]
32. สามารถใช้รักษาโรคปวดตามข้อได้ โดยนำกิ่งสดประมาณ 15 กรัม มาต้มทาน แบ่งทาน 2 เวลา เช้าและเย็น (กิ่งสด)[2]

ขนาดและวิธีใช้

  • ถ้าใช้กิ่งแห้งให้ใช้ 15-35 กรัม มาต้มทาน หรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่นในตำรับยา[3]
  • ถ้าใช้ใบแห้งให้ใช้ 10-35 กรัม มาต้มทาน หรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่นในตำรับยา[3]
  • ถ้าใช้เมล็ดให้ใช้ 3-10 กรัม มาต้มทาน หรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่นในตำรับยา[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • เมื่อนำสารสกัดจากเมล็ด หรือต้นสด หรือราก ที่นำมาต้มเป็นน้ำยา มาทดสอบกับเชื้อ Staphylo coccus ในหลอดแก้ว ปรากฏว่ามีการยับยั้งหรือฆ่าเชื้อ Staphylo coccus ได้ ด้วยการที่สารสกัดจากเมล็ด จะมีประสิทธิภาพที่สูงกว่าสารที่สกัดจากราก[3]
  • สารสกัดจากใบช่วยบรรเทาอาการอักเสบ และอาการปวดของหนูขาวทดลองที่เป็นโรคไขข้ออักเสบได้[3]
  • เมื่อเอาสารสกัดจากเมล็ดหรือรากมาฉีดเข้าไปในปอดที่อยู่นอกร่างของหนูขาวทดลอง ปรากฏว่าหลอดลมของปอดหนูขยายตัวขึ้น[3]
  • ผล ใบ เมล็ดพบน้ำมันระเหย อย่างเช่น Camphene, L-Sabine และพบสารจำพวก Nishindine, Alkaloid, Cineole, Flavonoid glycoside ใบพบสาร Pinene, Casticin, Luteolin-7-glucoside และมีวิตามินซี[3]
  • สารสกัดจากใบจะมีฤทธิ์ที่ต้านเซลล์ในเนื้องอกชนิดเออร์ลิช แอสไซติส (Ehrlich ascites tumour cells)[2]
  • สารละลายจากการต้มรากมีฤทธิ์ระงับอาการไอในหนูถีบจักร[2]
  • สารสกัดจากรากช่วยยับยั้งอาการและขับเสมหะของหนูขาวทดลองได้[3]
  • มีฤทธิ์ที่ทำให้หลอดลมของหนูขาวขยายตัว และมีฤทธิ์ขับเสมหะ รักษาอาการหอบ อาการไอ รักษาหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียได้ เมื่อฉีดน้ำที่ต้มเมล็ดกับรากเข้าปอดของหนูขาว[2],[6]

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “คนทีเขมา”. หน้า 207.
2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “คนทีเขมา”. หน้า 202-203.
3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “คนทีเขมา”. หน้า 148.
4. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “คนทีเขมา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/. [24 ม.ค. 2015].
5. ไทยโพสต์. “คนที ดูแลสุขภาพผิวรับหน้าร้อน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaipost.net. [24 ม.ค. 2015].
6. อภัยภูเบศร. “คนทีเขมา ผีเสื้อที่ดูแลผู้หญิง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.abhaiherb.com. [24 ม.ค. 2015].
7. สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “คน ที เขมา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm. [24 ม.ค. 2015].

อ้างอิงรูปจาก
1. https://crimsonsage.com/product/chaste-tree/
2. https://www.hobbyseeds.com/vitex-negundo-chaste-tree-10.html
3. https://medthai.com/