กฤษณา
เป็นไม้ยืนต้นทรงเปลาตรง ดอกเป็นช่อ ผลทรงกลมรีสีเขียวขนสั้นละเอียด ผิวข้างขรุขระ เมล็ดเล็กทรงกลมสีน้ำตาลเข้ม ตรงหางเมล็ดมีสีส้มออกแดง

กฤษณา

กฤษณา สามารถพบได้ในป่าแถบเขตร้อนชื้น เช่นป่าดงดิบแล้งและชื้น หรือในบริเวณพื้นที่ราบใกล้กับแม่น้ำลำธาร ชื่อสามัญ Eagle wood, Agarwood, Aglia, Aloewood, Akyaw, Calambac, Calambour, Lignum aloes ชื่อวิทยาศาสตร์ Aquilaria crassna Pierre ex Lecomte ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Aquilaria crasna Pierre จัดอยู่ในวงศ์ วงศ์กฤษณา (THYMELAEACEAE) ชื่ออื่น ๆ ไม้พวงมะพร้าว (ภาคใต้ของไทย), ไม้หอม (ภาคตะวันออกของไทย), สีเสียดน้ำ (จังหวัดบุรีรัมย์), ตะเกราน้ำ (จังหวัดจันทบุรี), กายูการู กายูกาฮู กายูดึงปู (จังหวัดปัตตานีและมาเลเซีย), ติ่มเฮียง (ภาษาจีน), เซงเคง (ภาษากะเหรี่ยง), ชควอเซ ชควอสะ (ชาวกะเหรี่ยงในจังหวัดแม่ฮ่องสอน), อครุ ตคร (ภาษาบาลี), จะแน, พวมพร้าว, ปอห้า (ภาษาถิ่นคนเมือง) [1],[2],[3],[4],[5] เป็นต้น

ข้อควรรู้

ไม้นี้จะมีอยู่ด้วยกันประมาณ 15 ชนิด กระจายพันธุ์อยู่ทั่วพื้นป่าในแถบเอเชียเขตร้อน โดยในประเทศไทยจะพบอยู่หลัก ๆ 3 ชนิด[2] ดังนี้
1. Aquilaria crassna Pierre. พบได้ในป่าทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ[2]
2. Aquilaria subintegra Ding Hau พบได้ในเฉพาะทางภาคตะวันออก[2]
3. Aquilaria malaccensis Lamk. พบได้ในเฉพาะทางภาคใต้[2]
ส่วนชนิดอื่น ๆ ที่อาจจะพบเจอได้ คือ Aquilaria rugosa, Aquilaria baillonil, และ Aquilaria hirta

ลักษณะกฤษณา

  • ต้น
    – ลำต้นเป็นทรงเปลาตรง พื้นผิวเปลือกต้นเรียบเป็นสีเทาอมขาว มีรูระบายอากาศสีน้ำตาลอ่อนอยู่ทั่วลำต้น และเปลือกด้านในมีสีขาวอมเหลือง เมื่อต้นมีอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ เปลือกภายนอกจะค่อย ๆ แตกเป็นร่องยาวทั่วลำต้น และมีพูพอนที่โคนต้น ต้นจะแตกกิ่งก้านออกเป็นทรงพุ่มเจดีย์ต่ำ ๆ ตามกิ่งก้านจะมีขนสีขาวเล็ก ๆ ขึ้นปกคลุมอยู่
    – เป็นไม้ยืนต้นที่มีขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่
    – ความสูงของต้น ประมาณ 18-30 เมตร
    – การขยายพันธุ์ใช้วิธีการเพาะเมล็ด การปักชำ การตอนกิ่ง และการขุดต้นกล้าอ่อนมาปลูก[1],[2]
  • ใบ
    – ใบเป็นรูปรี ใบมีสีเขียว ตรงปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบมน มีผิวใบและขอบใบเรียบ แต่จะมีขนขึ้นปกคลุมอยู่ที่เส้นใบด้านล่างเล็กน้อย
    – มีความกว้างของใบอยู่ 3-5 เซนติเมตร มีความยาวอยู่ 6-11 เซนติเมตร และมีก้านใบยาวอยู่ที่ประมาณ 0.2-0.7 เซนติเมตร[1]
    – เป็นไม้ไม่ผลัดใบ
  • ดอก
    – ออกดอกเป็นช่อที่บริเวณซอกใบ ดอกมี 5 กลีบมีสีเขียวอมเหลือง มีเกสรเพศผู้อยู่ 10 ก้าน และดอกมีกลีบเลี้ยงที่โคนติดกันเป็นรูปหลอด[1]
  • ผล
    – ผลมีรูปร่างเป็นรูปทรงกลมรี ผลมีสีเขียว และมีขนละเอียดสั้น ๆ ขึ้นปกคลุม ผลมีเส้นเล็ก ๆ ขึ้นที่บริเวณตามยาวของผล พื้นผิวของผลค่อนข้างขรุขระ และเมื่อผลแก่ ผลจะแตกและเปิดอ้าออก
  • เมล็ด
    – เมล็ดมีขนาดเล็กเป็นทรงกลมรีมีสีน้ำตาลเข้ม ตรงหางเมล็ดมีสีส้มออกแดง ทั่วพื้นผิวเมล็ดจะปกคลุมไปด้วยขนสั้น ๆ สีแดงแกมน้ำตาล โดยภายในผลนั้นจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 1-2 เมล็ด[1],[2]

เอกลักษณ์เนื้อไม้กฤษณา

1. เนื้อไม้ปกติ โดยเนื้อไม้ปกติจะมีสีขาวนวลและจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน เหมาะกับการทำเป็นฟืน และก่อสร้าง
2. เนื้อไม้หอมที่มีน้ำมัน เนื้อไม้จะมีสีดำ ซึ่งคุณภาพของเนื้อไม้ชนิดนี้จะขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำมันภายในเนื้อไม้ เหมาะสำหรับทำเป็นไม้หอม สมุนไพร และทำฟื้น

คุณภาพของไม้กฤษณา

1. เกรดที่ 1 มักเรียกกันว่า ไม้ลูกแก่น ส่วนต่างประเทศจะเรียกว่า True agaru เกรดนี้จะมีน้ำมันสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก และมีราคาที่แพงที่สุด[2],[3]
2. เกรดที่ 2 ในต่างประเทศจะเรียกว่า Dhum โดยจะมีน้ำมันและกลิ่นหอมรองลงมาจากเกรดที่ 1 ราคาจะถูกกว่าเกรดที่ 1[2],[3]
3. เกรดที่ 3 จะมีน้ำมันและกลิ่นหอมรองลงมาจากเกรดที่ 1 และ 2 มีน้ำหนักที่เบากว่าน้ำ ราคาจะถูกกว่าเกรดที่ 1 และ 2[2]
4. เกรดที่ 4 มักเรียกกันว่า ไม้ปาก โดยไม้เกรดนี้จะมีกลิ่นหอมและน้ำมันสะสมอยู่น้อยที่สุดในบรรดาไม้ทั้ง 4 เกรด อีกทั้งยังมีราคาที่ถูกที่สุดอีกด้วย

สรรพคุณของกฤษณา

  • น้ำจากต้นสามารถรักษาอาการกลากเกลื้อนได้ (ต้น)[1]
  • ต้นมีสรรพคุณในการบรรเทาอาการปวดเมื่อยตรงบริเวณเอวและหัวเข่า (ต้น)[8]
  • ต้นนำมาทำเป็นยาทา มีสรรพคุณในการรักษาฝีและผิวหนังเป็นผื่นคัน (ต้น)[11]
  • เนื้อไม้มีสรรพคุณทางยาที่หลากหลาย อันได้แก่ นำมาปรุงเป็นยาอายุวัฒนะ ยาบำรุงธาตุหรือบำรุงกำลัง ยารักษาไข้ ยารักษาโรคลมซาง ยาบำรุงหัวใจ ยาบำรุงสมอง ยาบำรุงปอด บำรุงตับ และบรรเทาอาการปวดตามข้อ เป็นต้น (เนื้อไม้)[1],[2],[3],[5]
  • น้ำจากเนื้อไม้มีสรรพคุณเป็นยารักษาอาการร้อนใน แก้เสมหะ และแก้อาการกระหายน้ำได้ (เนื้อไม้)[3]
  • เนื้อไม้นำมาปรุงเป็นยาหอมมีสรรพคุณในการบรรเทาอาการหน้ามืดและวิงเวียนศีรษะ (เนื้อไม้)[1],[2],[3]
  • น้ำจากใบมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคภูมิแพ้ (ใบ)[5]
  • น้ำจากใบมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคเบาหวาน (ใบ)[5]
  • ใบมีสรรพคุณในการรักษาโรคผิวหนังอันเนื่องมาจากการทำนา และโรคน้ำกัดเท้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ใบ)[2],[3],[12]
  • รักษาโรคผิวหนังเป็นกลากเกลื้อนเนื่องจากเชื้อรา (ใบ)[5]
  • สารสกัดน้ำจากแก่นของต้น มีฤทธิ์ในการเข้าไปต่อต้านอาการแพ้อย่างเฉียบพลันตรงบริเวณผิวหนังของหนูทดลองได้ จากการวิจัยระบุว่าสารสกัดดังกล่าวจะเข้าไปยับยั้งการหลั่งของ Histamine จาก Mast cell (แก่นไม้)[3]
  • แก่นไม้นำมาทำเป็นยาหอม มีสรรพคุณเมื่อสูดดมจะทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า (แก่นไม้)[2]
  • สารสกัดจากแก่นของต้น มีฤทธิ์ที่สามารถลดความดันโลหิตได้ (แก่นไม้)[3]
  • น้ำมันที่สกัด มีสรรพคุณต่าง ๆ ได้แก่ เป็นยารักษาโรคตับ เป็นยารักษาโรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหารหรือกระเพาะอาหาร เช่น โรคท้องอืด โรคมะเร็งลำไส้ หรือโรคกระเพาะ เป็นต้น (น้ำมัน)[5]
  • น้ำมันที่สกัดมาจากเมล็ด มีสรรพคุณในการรักษาโรคผิวหนังได้ (น้ำมันจากเมล็ด)[1]

ประโยชน์ของต้นกฤษณา

  • เป็นส่วนผสมของเครื่องหอมทุกชนิด เช่น ยาหอม น้ำมันหอมระเหย น้ำอบไทย และธูปหอม เป็นต้น[1],[2],[5]
  • ชาวอาหรับนิยมใช้ไม้ลูกแก่นของต้นมาเผาไฟใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นไม้มงคลที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในพิธีกรรมทางศาสนาอิสลามในสุเหร่า และใช้ต้อนรับอาคันตุกะพิเศษ[2]
  • ชาวฮินดูและชาวอาหรับมักนิยมนำไม้ของต้นมาเผาไฟเพื่อให้มีกลิ่นหอมภายในห้อง[6]
  • น้ำมันหอมระเหยที่สกัดมา เป็นที่นิยมในอุตสาหกรรมการผลิตน้ำหอมและเครื่องสำอาง[1],[2]
  • กลิ่นของน้ำหอม มีคุณสมบัติในการไล่แมลงและระงับความเครียดได้[2],[5]
  • เส้นใยของเปลือกต้น สามารถนำมาใช้ทำเป็นเสื้อผ้า ย่าม ใช้สานหมวก ถุง ที่นอน เชือก และกระดาษได้[1],[2],[4]
  • ใบ นำมาใช้ทำธูปสีเขียว[5]
  • ประเทศญี่ปุ่นมีการนำใบมาตากแห้งทำเป็นใบชา[5]
  • นำผงที่สกัดมาโรยลงบนเสื้อผ้า โดยจะมีคุณสมบัติในการฆ่าหมัดและเหาได้ อีกทั้งยังมีคุณสมบัติช่วยป้องกันตัวเรือดและตัวไรได้อีกด้วย[1],[3],[5]
  • เนื้อไม้ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย เช่น นำมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ นำมาก่อสร้าง นำมาทำเป็นอุปกรณ์สำหรับใส่ข้าวของชาวกะเหรี่ยง ทำลูกประคำ และนำมาใช้ทำเป็นเยื่อกระดาษ[5]

ตำรับยาต่าง ๆ

  • จัดได้ว่าเป็นพืชสมุนไพรอันเลอค่า โดยมีบันทึกอยู่ในพระคัมภีร์ทางยาอยู่มากมาย ได้แก่ พระคัมภีร์มหาโชตรัต เล่ม 3, ตำรายาพระโอสถของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช, ตำรายาทรงทาพระนลาต, พระคัมภีร์ปฐมจินดา, พระคัมภีร์แลมหาพิกัต, พระคัมภีร์ธาตุวิภังค์, พระคัมภีร์ชวดาร, พระคัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา และพระคัมภีร์โรคนิทาน[5]
  • ในตำรายาจีนได้มีการนำไม้มาปรุงเป็นยาบรรเทาอาการต่าง ๆ อันได้แก่ ยาเสริมสมรรถภาพทางเพศ ยาแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน ยาบรรเทาอาการปวดแน่นหน้าอก และยาบรรเทาอาการหอบหืด (ตำรายาจีน)[2],[3]

เอกสารอ้างอิง
1. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กฤษณา“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [22 พ.ย. 2013].
2. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “กฤษณา“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th. [22 พ.ย. 2013].
3. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “กฤษณา“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [22 พ.ย. 2013].
4. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง. “กฤษณา Aquilaria rugosa K. Le-Cong“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [22 พ.ย. 2013].
5. ชมรมไม้กฤษณา (ไม้หอม) แห่งประเทศไทย. “การนำส่วนต่าง ๆ ของกฤษณามาใช้ประโยชน์“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaikrisana.com. [22 พ.ย. 2013].
6. เดอะแดนดอตคอม. “กฤษณา“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.the-than.com. [22 พ.ย. 2013].
7. https://medthai.com/

อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.ydhvn.com/
2. https://palms.org.au/