ขางคันนา
ขางคันนา สมุนไพรมีรสเมาเฝื่อน มีอายุสั้น เลื้อยไปตามพื้นดินหรือตั้งขนานไปกับพื้น ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Desmodium heterocarpon var. strigosum Meeuwen อยู่วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่วงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[1],[2] ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น พึงฮวย (จังหวัดชุมพร), หญ้าตืดหมา (จังหวัดลำปาง), เส่งช้างโชก (กะเหรี่ยง, จังหวัดลำปาง), ขางคันนาแดง (จังหวัดเชียงใหม่), อีเหนียวใหญ่ (จังหวัดชัยภูมิ) [1],[2] สามารถพบขึ้นได้ในจังหวัดศรีสะเกษ อุบลราชธานี, นราธิวาส, สงขลา, ขอนแก่น, นครศรีธรรมราช, เพชรบูรณ์, กาญจนบุรี, นครราชสีมา, ยะลา, พัทลุง ที่สูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 76-892 เมตร[1],[2]
ลักษณะขางคันนา
- ต้น เป็นพรรณไม้ล้มลุกฤดูเดียว ลำต้นตั้งกึ่งตั้งและกึ่งตั้งกึ่งเลื้อยถึงกึ่งแผ่คลุมดิน สามารถสูงได้ถึงประมาณ 50-175 เซนติเมตร และอาจสูงถึง 2 เมตร ลำต้นมีลักษณะเป็นสีเขียวอ่อน ตรงที่โดนแสงแดดมักจะเป็นสีน้ำตาลแดงเข้ม ด้านล่างที่ไม่โดนแสงนั้นจะเป็นสีเขียวอ่อน ลำต้นมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.8-5.2 มิลลิเมตร จะมีขนสีขาวปกคลุมหนาแน่น
- ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ใบย่อยมีอยู่ 3 ใบ จะออกเรียงสลับกัน ใบย่อยด้านบนสุดเป็นรูปไข่กลับแกมใบหอกหรือรูปไข่กลับ กว้างประมาณ 1.6-2.8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3-3.5 เซนติเมตร ใบย่อยด้านข้างเป็นรูปไข่กลับ หรือรูปวงรี กว้างประมาณ 1.1-2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2.3-4 เซนติเมตร แผ่นใบมีลักษณะเป็นสีเขียวถึงค่อนข้างเขียวเข้ม ที่หลังใบจะมีขนสีขาวปกคลุมอย่างหนาแน่น ที่ด้านหน้าใบจะไม่ขน แต่สามารถพบได้บางสายพันธุ์ที่มีขนเล็กขึ้นกระจายตามเส้นใบ แผ่นใบด้านหน้า ก้านใบมีความยาวประมาณ 1.4-2.2 เซนติเมตร หูใบมีลักษณะเป็นสีน้ำตาลจนถึงสีน้ำตาลแดงเข้ม[1],[2]
- ดอก ออกเป็นช่อที่ตรงปลายยอดและที่ตามซอกใบ ช่อดอกมีความยาวประมาณ 4.3-5.8 เซนติเมตร มีดอกย่อยอยู่ประมาณ 43-90 ดอก ออกดอกแบบ Indeterminate กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปดอกถั่ว เป็นสีม่วงหรือสีม่วงปนขาวนวล มีเกสรเพศเมียเป็นสีเหลืองปนสีน้ำตาล ก้านเกสรเพศเมียเป็นสีเขียว ก้านอับเรณูจะเป็นสีแดง อับเรณูนั้นจะเป็นสีเหลืองปนสีน้ำตาล[1],[2]
- ผล เป็นฝัก มีความยาวประมาณ 1.3-3 เซนติเมตร จะมีขนกับคอดหักเป็นข้อ สามารถแตกได้ตามตะเข็บล่าง มีเมล็ดอยู่ในแต่ละฝักประมาณ 4-9 เมล็ด บางช่อดอกย่อยฝักจะมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด ออกดอกติดเมล็ดดี เริ่มออกดอกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม จะออกดอกเยอะช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน[1],[2]
สรรพคุณขางคันนา
1. ยาพื้นบ้านนำรากมาต้มกับน้ำผสมผงปวกหาด รากมะเดื่อดิน ใช้ดื่มเป็นยาถ่ายพยาธิ โดยให้ใช้ครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ ดื่มวันละ 3 ครั้ง (ราก)[1]
2. ในตำรายาไทยกล่าวไว้ว่า มีรสเมาเฝื่อน มีสรรพคุณที่เป็นยาแก้กาฬมูตร แก้เด็กตัวร้อน และดับพิษตานซางได้ (ลำต้น, ใบ)[1],[2]
3. ยาพื้นบ้านล้านนาจะนำลำต้นกับใบมาต้มกับน้ำ เอามาใช้อาบเป็นยาแก้บวมพองได้ (ใบ, ลำต้น)[1],[2]
4. สามารถใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ยาแก้โรคลำไส้ ขับพยาธิได้ทุกชนิด (ลำต้น, ใบ)[1],[2]
ประโยชน์ขางคันนา
- สามารถใช้เป็นอาหารสัตว์เลี้ยงได้
คุณค่าทางอาหาร
- ต้นที่อายุ 45 วัน จะประกอบด้วย DMD 39.3-39.5%, ADF 38.7-47.3%, ฟอสฟอรัส 0.18-0.26%, โปรตีน 11.9-15.9%, ลิกนิน 14.2-17.7%, NDF 45.8-54.9%, โพแทสเซียม 1.17-1.26%, แคลเซียม 1.26-1.49% [2]
- ต้นที่อายุประมาณ 75-90 วัน จะประกอบด้วย แทนนิน 4.2-6.1%, ไนเตรท 78.4-85 พีพีเอ็ม, มิโมซิน 1.17-1.54%, โปรตีน 11-12.8%, ออกซาลิกแอซิด 14.1-22.4 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ [2]
สั่งซื้อ อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์. “ขาง คัน นา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : nutrition.dld.go.th. [03 มิ.ย. 2015].
2. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ขาง คัน นา”. หน้า 91.
อ้างอิงรูปจาก
1.https://nanps.org/product/desmodium-canadense/
2.https://tropical.theferns.info/viewtropical.php?id=Desmodium+heterocarpon