คำรอก
คำรอก ประเทศไทยสามารถพบได้เยอะที่ทางภาคเหนือ มักขึ้นที่ตามป่าพรุ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าผลัดใบ ชายป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลถึงประมาณ 800 เมตร ชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Ellipanthus tomentosus Kurz (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ คือ Ellipanthus cinereus Pierre, Ellipanthus subrufus Pierre) อยู่วงศ์ถอบแถบ (CONNARACEAE)[1],[2] ชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ตานกกด, หมาตายทากลาก (ภาคตะวันออก), ช้างน้าว (จังหวัดราชบุรี), กะโรงแดง (จังหวัดราชบุรี), จับนกกรด (จังหวัดนครราชสีมา), กะโรงแดง (จังหวัดนครราชสีมา), ตานนกกดน้อย (จังหวัดสุโขทัย), หมาตายทากลาก (จังหวัดเชียงใหม่), ตานนกกรดตัวเมีย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), กะโรงแดง (ภาคตะวันออก), จันนกกด (จังหวัดราชบุรี), จันนกกด (จังหวัดนครราชสีมา), อุ่นขี้ไก่ (จังหวัดลำปาง), ตานนกกดน้อย (จังหวัดสุรินทร์), ประดงเลือด (จังหวัดสุโขทัย), ช้างน้าว (จังหวัดนครราชสีมา) [1],[2]
ลักษณะของคำรอก
- ต้น เป็นพรรณไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นที่มีขนาดกลาง สามารถสูงได้ถึงประมาณ 12-20 เมตร จะไม่ค่อยแตกกิ่งก้าน เรือนยอดมีลักษณะเป็นรูปพุ่มไข่หรือแผ่เป็นพุ่มแคบ มีเปลือกต้นสีน้ำตาลแดง หรือเทา จะแตกเป็นร่องที่ลำต้นตามแนวยาว เป็นสะเก็ดหนา ที่กิ่งก้านอ่อนจะมีขนที่ละเอียดเป็นสีน้ำตาลขึ้น ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ในต่างประเทศสามารถพบได้ที่ประเทศอินเดีย ประเทศพม่า ภูมิภาคมาเลเซีย ภูมิภาคอินโดจีน[1],[2],[3]
- ใบ เป็นใบเดี่ยว ใบจะออกเรียงสลับกัน ใบเป็นรูปรีค่อนข้างยาว เป็นรูปรีถึงรูปใบหอก ที่โคนใบจะสอบถึงกลม ส่วนที่ปลายใบจะมนถึงเรียวแหลม ที่ขอบใบเรียบ ใบกว้างประมาณ 3.5-8 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 8-18 เซนติเมตร แผ่นใบมีลักษณะหนา ที่ผิวใบด้านบนจะมีขนขึ้นที่ตามเส้นกลางใบ ผิวใบด้านล่างจะมีขนละเอียดเป็นสีน้ำตาลแดงสั้นหนาแน่นตามเส้นใบ มีเส้นแขนงใบข้างละประมาณ 6-10 เส้น ที่ปลายจะจรดกันใกล้กับขอบใบ ก้านใบมีความยาวประมาณ 0.8-1.5 เซนติเมตร ที่ปลายก้านใบจะมีข้อ ใบลู่ลง [1],[2]
- ดอก ออกเป็นช่อจะแยกแขนงที่ตามซอกใบ มีขนาดยาวประมาณ 3 เซนติเมตร มีก้านช่อดอกสั้น มีขนขึ้นอยู่แน่น ดอกส่วนใหญ่จะเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ กลีบเลี้ยงมีอยู่ 5 กลีบ มีลักษณะเป็นสีเขียวอ่อน กลีบเลี้ยงเป็นรูปไข่ปลายทู่หรือแหลม แยกกัน มีขนาดกว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร มีความยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ที่ด้านนอกจะมีขนขึ้นยาวห่าง ด้านในจะเกลี้ยงไม่มีขน และมีกลีบดอกอยู่ 5 กลีบ มีลักษณะเป็นสีขาวหรือสีครีม แยกกัน กว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร มีความยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร ด้านในจะมีขนสั้นหนานุ่มขึ้นอยู่ ที่ด้านนอกจะมีขนยาวห่าง ดอกมีเกสรเพศผู้อยู่ 10 อัน ที่เป็นหมัน 5 อัน มีเกสรเพศเมีย มีรังไข่อยู่ที่เหนือวงกลีบ เป็นรูปไข่เบี้ยว จะมีขนหนาแน่น ที่ยอดเกสรเพศเมีย ปลายจะแยกเป็นแฉก 2 แฉก ใบประดับมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ออกดอกช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม [1],[2]
- ผล เป็นรูปทรงค่อนข้างกลม ที่ปลายผลจะแหลม ผลยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ผิวผลจะมีขนละเอียดเป็นสีน้ำตาลแดงขึ้นอยู่แน่น ก้านผลสั้น ผลอ่อนมีลักษณะเป็นสีเขียว ผลแก่เป็นสีน้ำตาล มีเปลือกผลที่บาง ผลจะไม่มีเนื้อ พอแก่จะแตกเป็น 2 ซีก มีเมล็ดอยู่ในผล 1 เมล็ด ติดผลช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน[1],[2]
- เมล็ด เป็นสีดำและเป็นมัน เมล็ดเป็นรูปไข่ รูปรี สามารถยาวได้ถึงประมาณ 1-2 เซนติเมตร มีเยื่อหุ้มเมล็ดเป็นสีส้มแดงคล้ายตาของนกกรด [1],[2]
สรรพคุณ และประโยชน์คำรอก
1.ยาสมุนไพรพื้นบ้านอุบลราชธานีนำเนื้อไม้มาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดเมื่อย (เนื้อไม้)[2]
2. ใช้ต้นกับกิ่งก้านเป็นส่วนผสมยารักษาประดงกินกระดูก (ต้น, กิ่งก้าน)[4]
3. เนื้อไม้สามารถใช้เป็นยาถ่ายพิษตับ และช่วยแก้ตับทรุดได้ (เนื้อไม้)[2]
4. สามารถนำเนื้อไม้มาต้มกับน้ำ ดื่มเป็นยารักษาอาการไตพิการ ยาขับปัสสาวะ แก้โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ [2]
5. ในยาสมุนไพรพื้นบ้านอุบลราชธานีนำเนื้อไม้ของคำรอกเข้ายากับตาไก้และขันทองพยาบาท มาต้มกับน้ำใช้ดื่มเป็นยาแก้อาการท้องผูก (เนื้อไม้)[2]
6, สามารถนำเนื้อไม้ต้มกับน้ำ ใช้ดื่มเป็นยาแก้อาการปวดท้อง ช่วยคลายอาการเกร็งของกล้ามเนื้อท้อง (เนื้อไม้)[2]
7. ใช้ต้นกับกิ่งก้านผสมแก่นจำปา ต้นสบู่ขาว ต้นกำแพงเจ็ดชั้น ต้นพลองเหมือด แก่นพลับพลา เอามาต้มกับน้ำใช้ดื่มเป็นยาแก้หอบหืด (ต้น, กิ่งก้าน)[2]
8. ใช้ต้นกับกิ่งก้านต้มกับน้ำ นำมาดื่มเป็นยาช่วยเรียกน้ำย่อย ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ต้น, กิ่งก้าน)[1],[2]
9. นำรากมาผสมรากตากวง รากตาไก้ แล้วต้มกับน้ำ ใช้ทานเป็นยาบำรุงร่างกาย และบำรุงโลหิต (ราก)[2]
10. สามารถนำรากมาต้ม ใช้ทานเป็นยาบำรุงหลังคลอดบุตรของผู้หญิงได้ (ราก)[2]
11. นำรากคำรอกผสมนมวัวทั้งห้า ข้าวเย็นเหนือ แก่นจวง ข้าวเย็นใต้ อ้อยดำ อย่างละเท่า ๆ กัน ต้มกับน้ำ ใช้ทานเป็นยาช่วยรักษาประดงที่มีปวดวิ่งตามร่างกาย (ราก)[2]
12. นำแก่นกับเปลือกต้นมาต้มกับน้ำ ใช้ดื่มเป็นยาแก้โรคทางเดินปัสสาวะ (แก่น, เปลือกต้น)[1],[2]
13. นำต้นกับกิ่งก้านมาต้มกับน้ำ ใช้ดื่มเป็นยาแก้อาการปวดท้องเกร็ง และช่วยรักษาอาการบีบเกร็งของช่องท้อง (ต้น, กิ่งก้าน)[1],[2]
14. นำต้นกับกิ่งก้านมาต้มกับน้ำ ใช้ดื่มเป็นยาแก้ท้องเฟ้อ ท้องอืด ช่วยป้องกันอาการท้องอืด (ต้น, กิ่งก้าน)[1],[2]
15. เนื้อไม้มีรสฝาดขมมัน สามารถใช้เป็นยาแก้กระษัย และเป็นยาถ่ายพิษเสมหะกับโลหิตได้ (เนื้อไม้)[2]
16. ในตำรายาไทยนำเนื้อไม้ ไปต้มกับน้ำ ใช้ดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง (เนื้อไม้)[2]
17. นำแก่นกับเปลือกต้นมาต้มสกัดเป็นยาช่วยรักษาการทำงานที่ผิดปกติของไต ต้มกับน้ำ ใช้ดื่มเป็นยาแก้ไตพิการ (แก่น, เปลือกต้น)[1],[2]
18. เนื้อไม้สามารถใช้ทำเชื้อเพลิง ใช้ก่อสร้าง เครื่องมือการเกษตร เครื่องมือใช้สอย ทำเครื่องจักสาน [3]
สั่งซื้อ อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “คำรอก (Kham Rok)”. หน้า 81.
2. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ตานกกด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [20 ม.ค. 2015].
3. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “คำ รอก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [20 ม.ค. 2015].
4. หนังสือพรรณไม้พื้นบ้านอีสาน เล่ม 1. “คำรอก”. (สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม). หน้า 97.
5. https://medthai.com/