ต้นจันผา สรรพคุณของแก่นใช้แก้ซาง

0
1596
ต้นจันผา สรรพคุณของแก่นใช้แก้ซาง เป็นไม้พุ่มไม่ผลัดใบ ดอกเป็นช่อพวงขนาดใหญ่ดอกย่อยเป็นสีขาวนวลมีขนาดเล็ก มีกลิ่นหอม ผลอ่อนสีเขียวอมน้ำตาล เมื่อแก่เป็นสีแดงคล้ำ
จันผา
เป็นไม้พุ่มไม่ผลัดใบ ดอกเป็นช่อพวงขนาดใหญ่ดอกย่อยเป็นสีขาวนวลมีขนาดเล็ก มีกลิ่นหอม ผลอ่อนสีเขียวอมน้ำตาล เมื่อแก่เป็นสีแดงคล้ำ

จันผา

จันผา หรือ จันทร์ผา เป็นไม้ประดับที่มีอยู่แถบตามป่าเขาในประเทศไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ Dracaena cochinchinensis (Lour.) S.C.Chen. อยู่ในวงศ์หน่อไม้ฝรั่ง (ASPARAGACEAE) ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ลักกะจันทน์ (ภาคกลาง), จันทน์ผา (ภาคเหนือ), จันทน์แดง (สุราษฎร์ธานี) เป็นต้น[1],[2],[3],[6],[7],[9]

ลักษณะต้นจันผา

  • ต้น เป็นไม้พุ่มไม่ผลัดใบ มีความสูงราวๆ 2-4 เมตร และเมื่อโตเต็มวัยอาจสูงได้มากถึง 17 เมตร ต้นมีเรือนยอดมาก(อาจมีมากกว่า 100 ยอด) ลักษณะของเรือนยอดจะเป็นทรงไข่และแผ่กว้าง ลำต้นมีลักษณะกลม ตั้งตรง เปลือกต้นมีสีน้ำตาลอมเทา ไม่มีกิ่งก้าน และจะแตกเป็นร่องตามแนวยาว มีใบออกมาตามลำต้น แก่นไม้ข้างในเมื่อต้นยังอ่อนจะมีสีขาว และพอต้นเริ่มแก่แก่นไม้ก็จะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีแดง ซึ่งหากเป็นสีแดงเต็มต้นเมื่อไหร่ ต้นก็จะตายลง[1],[2],[3],[6],[7]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ ใบออกบริเวณปลายกิ่ง ใบมีลักษณะเป็นรูปยาวรีขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบแผ่ออกเป็นกาบหุ้มลำต้นอยู่ ขอบใบเรียบ ความกว้างของใบอยู่ที่ 4-5 เซนติเมตร และยาว 45-80 เซนติเมตร แผ่นใบหนาและกรอบ ไม่มีก้านใบ ส่วนมากจะทิ้งใบและเหลือเพียงยอดไว้เป็นพุ่มๆ [1],[7]
  • ดอก เป็นช่อพวงขนาดใหญ่โค้งห้อยลงมา ดอกจะออกบริเวณซอกใบและปลายยอด ความยาวของช่อดอกจะอยู่ที่ 45-100 เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นสีขาวนวลมีขนาดเล็ก และมีดอกอยู่เป็นจำนวนมาก บริเวณกึ่งกลางของดอกจะมีสีแดงสด ดอกมีกลิ่นหอม มีกลีบดอก 6 กลีบ ขนาดของดอกจะอยู่ที่ประมาณ 1 เซนติเมตร มีก้านเกสรเพศผู้อยู่ 6 ก้าน ซึ่งจะขนาดกว้างเท่ากับอับเรณู ก้านเกสรตัวเมียจะแยกเป็น 3 พู ที่ส่วนปลาย ดอกจะออกในเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม[1],[2],[3],[7]
  • ผล เป็นผลสด ออกเป็นช่อพวงใหญ่ ผลมีลักษณะเป็นทรงกลมขนาดเล็ก ขนาดราวๆ 1 เซนติเมตร พื้นผิวของผลจะเรียบ ผลอ่อนมีสีเขียวอมน้ำตาล และเมื่อแก่จะกลายเป็นสีแดงคล้ำ ในหนึ่งผลจะมีเพียงเมล็ดเดียว ซึ่งผลจะเริ่มแก่ในเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน[1],[2],[3],[7]

ประโยชน์จันผา

  • สามารถนำส่วนของลำต้น มาปรุงเป็นน้ำยาอุทัยได้[3]
  • มีการนำต้นมาปลูกเป็นไม้ประดับ เนื่องจากด้วยทรงพุ่มที่สวยงาม และกลิ่นหอมของดอก[2],[3],[4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • ไม่พบความเป็นพิษในการทดลอง จากสารสกัดเนื้อไม้จากเอทานอล 50% มาให้หนูทดลองกิน หรือ ฉีดเข้าทางใต้ผิวหนัง ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม[8]
  • พบว่ามีฤทธิ์ในการต้านทานอาการปวด อักเสบ และใช้ลดไข้สำหรับสัตว์ทดลอง[8]
  • มีฤทธิ์คล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจน ในการต้านมะเร็ง และเชื้อแบคทีเรียรวมถึงเชื้อ HIV[8]

สรรพคุณจันผา

1. ต้น มีสรรพคุณในการรักษาพิษฝี ที่เกิดอาการปวดบวมและอักเสบ (แก่น[7], ทั้งต้น[5])
2. สามารถใช้ในการรักษาแผลได้ (แก่น[1],[5],[7], ราก[5])
3. ใช้ในการรักษาเลือดออกตามไรฟันได้ (แก่น[1],[2],[7], ทั้งต้น[5])
4. แก่น สามารถนำมาใช้ในการแก้ซางได้[5]
5. เมล็ดมีสรรพคุณที่สามารถรักษาอาการอาจมไม่ปกติได้ (เมล็ด)[5]
6. ช่วยแก้อาการไอที่เกิดจากซางได้(แก่น, เนื้อไม้)[1],[5],[7]
7. จันทน์แดง หรือแก่นที่มีเชื้อราอยู่จนแก่นเป็นสีแดงและมีกลิ่นหอม จะสามารถใช้เป็นยาในการแก้ไข้ทุกชนิดได้ โดยจะให้รสฝาดและขมเล็กน้อย(แก่น, แก่นที่ราลง)[3],[4],[5],[7]
8. สามารถทำยาทาใช้ภายนอก โดยให้นำแก่นมาฝน ทาบริเวณที่มีอาการบวม ฟกช้ำ หรือเป็นฝี(แก่น)[4],[5],[7]
9. ช่วยในการรักษาดีพิการ (แก่น, เนื้อไม้)[5]
10. มีสรรพคุณในการแก้อาการเหงื่อตก และกระสับกระส่าย(แก่น)[1],[7]
11. ทั้งต้นสามารถใช้รักษาอาการปวดศีรษะได้[5]
12. สามารถนำเมล็ดมาใช้ในการรักษาโรคดีซ่านได้(เมล็ด)[5]
13. แก่นสามารถใช้ในการบำรุงหัวใจได้ โดยจะให้รสขมเย็น(แก่น[1],[2],[7], ทั้งต้น[5])

สั่งซื้อ อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติ ภาคกลาง. “จันทน์ผา”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, รศ.ดร.ริจศิริ เรืองรังสี, อาจารย์กัญจนา ดีวิเศษ). หน้าที่ 89.
2. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “จันทร์ผา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [17 ม.ค. 2014].
3. สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่ สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “จันทน์ผา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [17 ม.ค. 2014].
4. วิทยาลัยการอาชีพชุมแพ. “จันทร์ผา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.chumphae.ac.th. [17 ม.ค. 2014].
5. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “สรรพคุณดอกพุดและจันทร์ผา”. อ้างอิงใน: หนังสือสมุนไพรไม้พื้นบ้าน เล่ม 3 และ 4. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th. [17 ม.ค. 2014].
6. โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย. “ต้นจันทร์ผา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.suriyothai.ac.th. [17 ม.ค. 2014].
7. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “จันทน์แดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [17 ม.ค. 2014].
8. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “จันทน์แดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [17 ม.ค. 2014].
9. บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร งานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “จันทร์แดง”. (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [17 ม.ค. 2014].
10. https://medthai.com/