ข่า สมุนไพรรสเผ็ดร้อนที่ใคร ๆ ก็รู้จัก ช่วยระงับกลิ่นปากและแก้หวัดได้
พืชสมุนไพรรสจัดจ้าน ช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ เป็นส่วนผสมในเครื่องแกงหรือน้ำพริกต่าง ๆ และใช้ในการปรุงรสอาหารที่เป็นเมนูเผ็ด

ข่า

ข่า ( Galangal ) เป็น พืชสมุนไพรที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี และเป็นที่โด่งดังในเรื่องของความจัดจ้านของรส ส่วนมากมักจะนำข่ามาเป็นส่วนประกอบของอาหารและใช้เป็นเครื่องเทศเพื่อช่วยแต่งกลิ่น ความแรงของข่าช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ เป็นส่วนผสมในเครื่องแกงหรือน้ำพริกต่าง ๆ และใช้ในการปรุงรสอาหารที่เป็นเมนูเผ็ด อย่างเช่น ต้มข่า ต้มยำ เครื่องพริกแกง เป็นต้น

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของข่า

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alpinia galanga (L.) Willd.
ชื่อสามัญ : ข่ามีชื่อสามัญ 2 ชื่อ คือ “Greater Galangal” และอีกชื่อคือ “Galangal”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “กฎุกกโรหินี” ภาคเหนือเรียกว่า “ข่าหยวกหรือข่าหลวง” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า “ข่าหลวง” และจังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “สะเอเชยหรือเสะเออเคย”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)
ชื่อพ้อง : Languas galanga (Linn.) Sw.

ลักษณะของข่า

ข่า เป็นไม้ล้มลุกที่มีลำต้นอยู่ใต้ดินเรียกว่า “เหง้า” เหง้ามีข้อและปล้องชัดเจน เนื้อในมีสีเหลืองและมีกลิ่นหอม
ใบ : เป็นใบเดี่ยว ลักษณะใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ขอบใบเรียบและบางช่วงเป็นคลื่น ปลายใบเรียวแหลม แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมัน มีก้านใบสั้น
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจะ ดอกมีสีขาวขนาดเล็ก
ผล : มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกหรือกลมรีขนาดเท่าเม็ดบัว ผลอ่อนสีเขียวเมื่อแก่จะมีสีแดงอมส้ม และภายในมีเมล็ดเล็ก ๆ สีดำ มีรสขมและเผ็ด

การนำไปใช้ประโยชน์ของข่า

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ดอกและลำต้นอ่อนสามารถใช้รับประทานเป็นผักสดได้ นำมาใช้ประกอบอาหารพวกเครื่องแกง น้ำพริกข่า นำมาแปรรูปเป็นเครื่องดื่มหรือชา
2. เป็นสารแต่งกลิ่นหรือน้ำมันหอมระเหย มีการนำข่ามาใช้เป็นสเปรย์ดับกลิ่น ใช้ระงับกลิ่นปากและใช้ดับกลิ่นกาย

ประโยชน์ของข่า

  1. สรรพคุณจากเหง้า ช่วยแก้เสมหะ ช่วยบำรุงร่างกาย มีฤทธิ์ยับยั้งการเกิดโรคมะเร็งด้วยสาร 1 – acetoxychavicol acetate (ACA) ในข่า แก้อาการอาหารเป็นพิษ ช่วยขับน้ำดี เป็นยาระบายและยับยั้งแผลในกระเพาะอาหาร ลดอาการอักเสบ รักษาโรคผิวหนังต่าง ๆ ช่วยแก้ตะคริวและเหน็บชา
  • แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน แก้ท้องขึ้น ท้องอืดท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่นท้องและขับลมในลำไส้ แก้อาการบิด ปวดมวนท้องและลมป่วง ด้วยการใช้เหง้าข่าแก่สดประมาณ 1 นิ้วฟุต นำมาตำจนละเอียดแล้วเติมน้ำปูนใส ใช้เป็นยาดื่มครั้งละครึ่งแก้วหลังอาหารวันละ 3 เวลา
  • ขับเลือด ขับน้ำคาวปลาและขับรก ด้วยการใช้เหง้านำมาตำกับมะขามเปียกและเกลือให้ผู้หญิงรับประทานหลังคลอด
  • รักษากลากเกลื้อน ด้วยการใช้เหง้าแก่เท่าหัวแม่มือมาตำจนละเอียดผสมกับเหล้าขาว แล้วทาบริเวณที่เป็นกลากเกลื้อน
  • เป็นยาแก้ลมพิษ ด้วยการใช้เหง้าข่าแก่ ๆ ที่สด 1 แง่ง นำมาตำจนละเอียดแล้วเติมเหล้าขาวพอแฉะ และใช้ทั้งน้ำและเนื้อนำมาทาบริเวณที่เป็นลมพิษ
  • แก้โรคน้ำกัด ด้วยการใช้เหง้าแก่สดขนาดเท่าหัวแม่มือ นำมาตำให้ละเอียดแล้วเติมเหล้าขาวพอท่วม ทิ้งไว้ 2 วัน แล้วใช้สำลีชุบแล้วทาบริเวณที่เป็นวันละ 3 รอบ
  • แก้ฟกช้ำ ข้อเท้าแพลงและเคล็ด ด้วยการใช้เหง้าแก่ตำละเอียดนำมาพอกบริเวณที่มีอาการหรือตำให้ละเอียดแล้วนำไปแช่กับเหล้าขาวหรือน้ำส้มสายชูทิ้งไว้ 1 วัน กรองเอาแต่น้ำมาใช้ทาบริเวณที่ฟกช้ำ
  • ช่วยไล่แมลง ด้วยการใช้เหง้านำมาตำให้ละเอียดเพื่อเอาน้ำมันหอมระเหยแล้วนำไปวางในบริเวณที่มีแมลง
    สรรพคุณสารสกัดจากเหง้า มีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งและช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด รักษาโรคหลอดลมอักเสบ น้ำมันหอมระเหยจากข่าช่วยแก้อาการหวัด ไอและเจ็บคอ ช่วยทำลายสารพิษที่ตกค้างในลำไส้และลดการบีบตัวของลำไส้ เป็นยารักษาแผลสด มีฤทธิ์ช่วยต้านอาการแพ้ต่าง ๆ ช่วยแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อยและฆ่าแมลงวันได้ ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา น้ำมันหอมระเหยใช้ดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์จำพวกกุ้ง หอย ปู ปลา
  • ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและอาการปวดบวมตามข้อ ด้วยการใช้ต้นข่าแก่นำมาตำผสมกับน้ำมันมะพร้าวแล้วทาแก้อาการ

2. สรรพคุณจากเหง้าแก่ รักษาโรคหลอดลมอักเสบ แก้ไข้ในระยะอยู่ไฟที่เกิดจากการติดเชื้อเมื่อเวลาคลอด ช่วยย่อยอาหารและแก้อาการอาหารไม่ย่อย

3.สรรพคุณจากเหง้าของข่าลิง ช่วยแก้กามโรค ช่วยทำให้สุรามีกลิ่นฉุนแรงมากขึ้น ด้วยการเอามาต้มน้ำแล้วนำน้ำมาผสมกับสุรา

4. สรรพคุณจากดอกของข่าลิง ช่วยแก้ฝีดาษ

5. สรรพคุณจากข่าหลวง ช่วยให้เจริญอาหาร ช่วยแก้ดีพิการซึ่งเกี่ยวกับน้ำดี

6. สรรพคุณจากหน่อ ช่วยบำรุงธาตุไฟและช่วยแก้ลมแน่นหน้าอก

7. สรรพคุณจากราก ช่วยขับเลือดลมและเพิ่มการไหลเวียนของเลือด เพิ่มการเผาผลาญของร่างกายให้ดีขึ้น ช่วยแก้เสมหะ

8. สรรพคุณจากผลข่า ช่วยรักษาโรคท้องร่วง ช่วยย่อยอาหารและแก้อาการอาหารไม่ย่อย ใช้รักษาอาการปวดฟัน ด้วยการนำผลไปบดแล้วนำมาทาบริเวณที่ปวด

9. สรรพคุณจากดอก ช่วยแก้อาการท้องเสีย

10. สรรพคุณจากใบ ช่วยฆ่าพยาธิ รักษากลากเกลื้อน แก้ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและอาการปวดบวมตามข้อ

11. สรรพคุณด้านอื่น ๆ ช่วยบำรุงสมรรถภาพทางเพศ

ข่า เป็นสมุนไพรรสจัดที่ไม่สามารถรับประทานสดได้ง่าย จึงนิยมนำมาประกอบอาหารพวกรสเผ็ดทั้งหลาย ข่าถือเป็นสิ่งที่คนไทยคุ้นเคยและรู้จักในด้านประโยชน์ต่อร่างกาย สรรพคุณที่โดดเด่นของข่าเลยก็คือช่วยระงับกลิ่นตัวและกลิ่นปาก แก้อาการหวัดและใช้กำจัดแมลง ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น ถือเป็นสมุนไพรที่โด่งดังและพบได้มากในเมนูอาหารไทยทั่วไป

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม