ต้นไมยราบยักษ์ ใช้ดื่มเป็นยาแก้โรคปวดหลัง

0
1469
ไมยราบยักษ์
ต้นไมยราบยักษ์ ใช้ดื่มเป็นยาแก้โรคปวดหลัง เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง โคนใบจะมน มีขนคลุมหลังใบท้องใบเรียบ ดอกออกเป็นช่อกระจุกกลม เป็นสีชมพู สีม่วงอ่อน ผลเป็นฝักแบนโค้งงอมีขน
ไมยราบยักษ์
เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง โคนใบจะมน มีขนคลุมหลังใบท้องใบเรียบ ดอกออกเป็นช่อกระจุกกลม เป็นสีชมพู สีม่วงอ่อน ผลเป็นฝักแบนโค้งงอมีขน

ไมยราบยักษ์

ไมยราบยักษ์ เป็นพืชดั้งเดิมของประเทศอเมริกากลาง และทางตอนเหนือแถบโคลัมเบีย เวเนซุเอลา ภายหลังได้แพร่กระจายมายังทวีปอเมริกาใต้ แอฟริกา ถึงทวีปเอเชีย อย่างเช่น ประเทศไทย ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย ชื่อสามัญ Maiyaraap ton[2], Giant sensitive[3] ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Mimosa pigra L. อยู่วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่วงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)[1] ชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ไมยราบหลวง, ฝีหมอบใหญ่ (ภาคอีสาน), ขี้แฮด (ภาคเหนือ), จี่ยอบหลวง, ไมยราบต้น (ภาคเหนือ),พรม (ภาคกลาง) [1],[2],[3]

ลักษณะของไมยราบยักษ์

  • ต้น เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ต้นสูงประมาณ 1-3 เมตร มีหนามแหลมงองุ้มลงตลอดลำต้นกับกิ่ง ที่ปลายกิ่งจะย้อย มีเนื้อแข็งเหนียว มักขึ้นเองที่ในเขตร้อนชื้น ตามที่กว้าง ริมถนนหนทาง ทุ่งหญ้า หุบเขา และที่รกร้างทั่วไป[1],[2],[3]
  • ใบ เป็นใบประกอบ 3 ชั้น ก้านใบมีความยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร ใบประกอบย่อยมีอยู่ประมาณ 6-14 คู่ ใบประกอบจะมีใบประกอบย่อยประมาณ 15-40 คู่ เป็นรูปขอบขนาน ที่ปลายใบจะมน ส่วนที่โคนใบจะมน มีขนขึ้นคลุมหลังใบ มีท้องใบเรียบ[1]
  • ดอก ออกเป็นช่อ ออกดอกที่ตามยอดที่ตามซอกใบ ช่อดอกมีลักษณะเป็นกระจุกกลม เป็นสีชมพู สีม่วงอ่อน มีดอกย่อยอยู่เป็นจำนวนมาก กลีบเลี้ยงจะรวมกันเป็นเส้น ที่ปลายกลีบเลี้ยงจะแตกเป็นฝอย กลีบดอกรวมกันเป็นหลอด ที่ปลายจะแยกเป็น 4 กลีบ ก้านเกสรเพศผู้ยาวพ้นกลีบดอกมาเป็นจำนวน 8 ก้าน[1]
  • ผล เป็นฝัก ฝักแบน โค้งงอ ที่ปลายฝักจะแหลม จะมีขนขึ้นคลุม หนึ่งช่อดอกติดฝักประมาณ 3-16 ฝัก มีเมล็ดอยู่ในฝักประมาณ 9-25 เมล็ด ฝักแก่เป็นสีน้ำตาลดำ พอแก่จะแตกออกเป็นข้อทีละเมล็ด[1]

วัชพืชไมยราบยักษ์

ในปี พ.ศ.2490 ประเทศไทยมีการนำเมล็ดเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย เพื่อปลูกเป็นพืชคลุมดินในไร่ยาสูบ สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม ภูมิอากาศได้ดี จึงทำให้เกิดการแพร่กระจายพันธุ์แบบรวดเร็ว ที่ตามแหล่งน้ำ การคมนาคมขนส่ง และได้เกิดการแพร่ระบาดไปเกือบทุกจังหวัดของประเทศไทย จึงทำให้ศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ ได้นำเข้าด้วงเจาะเมล็ดจากประเทศเม็กซิโก เพื่อใช้ในการกำจัดและช่วยลดการแพร่กระจาย นับว่าเป็นวิธีที่ปลอดภัยกับสภาพแวดล้อม และยังให้ผลควบคุมในระยะยาว[3]

ซึ่งเป็นวัชพืชที่ร้ายแรงในเขตที่ลุ่ม ที่ชายน้ำทางภาคเหนือ เนื่องจากขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดได้ดี แต่ละปีมีการสร้างเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดพักตัวได้เป็นเวลาหลายปีเพื่อรอสภาพแวดล้อมเหมาะสมกับการงอก ทำให้แพร่กระจายไปได้หลายพื้นที่ เมื่อยึดครองพื้นที่แล้วก็ยากที่พรรณไม้อื่นจะผสมกัน เนื่องจากขึ้นคลุมหนาแน่น จึงทำให้พรรณพืชดั้งเดิมขาดแสงตายลงและค่อย ๆ หายไปจากพื้นที่

วิธีการป้องกันและวิธีกำจัด

จะต้องตัดไฟตั้งแต่ต้นลม โดยกำจัดตั้งแต่ยังเล็ก ด้วยการขุดรากถอนโคน การถาง การตัดออกไม่สามารถกำจัดได้ เนื่องจากเป็นพืชล้มลุกคาบปี ดอกออกติดเมล็ดเป็นจำนวนมาก ฝักแก่จะแตกออก และสามารถดีดตัวได้ จึงทำให้การกระจายพันธุ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง และเมล็ดยังมีความแข็งแรงทนทานเนื่องจากมีเปลือกที่แข็ง และวิธีการสุดท้ายจะต้องใช้สารเคมีช่วยกำจัด ถ้าพบเห็นให้รีบป้องกันและรีบกำจัด

สรรพคุณไมยราบยักษ์

1. นำต้นมาต้มกับน้ำดื่ม สามารถช่วยแก้อาการปวดข้อได้ (ต้น)[2]
2. แพทย์ตามชนบทที่ทางภาคอีสาน นำทั้งต้นมาตากให้แห้งแล้วเอาไปคั่วไฟต้มกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาช่วยขับน้ำนิ่วในไต ขับปัสสาวะได้ (ใบ, ทั้งต้น)[1]
3. นำต้นมาต้มกับน้ำ สามารถใช้ดื่มเป็นยาขับเสมหะได้ (ต้น)[2]
4. นำทั้งต้นมาต้มกับน้ำ สามารถใช้ดื่มเป็นยาบำรุงร่างกายได้ ชาวบ้านมักใช้ร่วมกับพืชชนิดอื่น นำมาต้มด้วยกันเป็นยาสมุนไพรพื้นบ้าน (ใบ,ทั้งต้น)[2]
5. นำทั้งต้นมาตากให้แห้งแล้วคั่วไฟต้มกับน้ำ สามารถใช้ดื่มเป็นยาแก้โรคปวดหลังได้ (ทั้งต้น)[1]
6. ใบ มีรสขมเฝื่อนนิดหน่อย สามารถนำมาตำใช้พอกเป็นยารักษาแผลฝีหนอง แผลเรื้อรัง แก้ปวดบวมได้ (ใบ)[2]
7. สามารถนำใบมาต้มหรือชงกับน้ำ ใช้ดื่มเป็นยาแก้บิดได้ (ใบ)[2]
8. ต้น มีรสขมเฝื่อนนิดหน่อย สามารถนำมาต้มกับน้ำใช้ดื่มเป็นยาแก้ไข้ (ต้น)[2]

ประโยชน์ไมยราบยักษ์

1. สามารถนำลำต้นใช้ทำฟืน ทำรั้ว ไม้ค้ำได้[5]
2. สามารถช่วยทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ได้ เนื่องจากช่วยตรึงไนโตรเจนได้[5]
3. สามารถใช้แปรรูปเป็นพลังงานทดแทนอัดแท่ง ใช้เป็นเชื้อเพลิงแทนพลังงานรูปแบบต่าง ๆ โดยนำมาอัดให้เป็นแท่งถ่าน ถ้าเทียบกับถ่านไม้ทั่วไปที่ขายกันตามตลาดจะเกิดอัตราการสิ้นเปลืองสูง มอดเร็ว ทำให้มีการเปลี่ยนมาใช้ถ่านแท่งที่เอามาบดเป็นผงถ่าน ผสมตัวประสานเพื่อให้เป็นถ่านอัดแท่ง รูปแบบนี้ทำให้อัตราการสิ้นเปลืองลดลง จากการทดสอบปรากฏว่าประหยัดกว่าถ่านทั่วไปถึง 3 ส่วน[6]
4. สามารถช่วยป้องกันการชะล้างของหน้าดิน และช่วยป้องกันการพังทลายของตลิ่งได้[5]
5. สามารถใช้เป็นอาหารของสัตว์ได้ [5]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • ยาสกัด 50% แอลกอฮอล์จากรากสามารถช่วยยับยั้งการเจริญของ S. typhimurium, B. subtilis, S. brunii, P. aeruginosa ได้[4]
  • ยาสกัด 50% แอลกอฮอล์จะแสดงผลมี alkaloid (s) เป็นสารสำคัญ ไม่มีผลเป็น steroid[4]
  • สารสกัด 50% แอลกอฮอล์ส่วนกลางลำต้นสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อรา T. rubrum ได้สมบูรณ์แบบ[4]
  • จากการศึกษาผลการต้านจุลินทรีย์ปรากฏว่ายาผงสกัดชนิด spray dried กับ ยาสกัด 50% แอลกอฮอล์ส่วนยอด ส่วนกลาง ส่วนราก สามารถช่วยยับยั้งการเจริญของเชื้อ S. aureus ที่เข้มข้น 0.6% และเข้มข้น 5% และยับยั้งการเจริญของ B. subtilis ได้[4]

สั่งซื้อ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. “ไมยราบยักษ์”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). หน้า 129.
2. โครงการตาสับปะรด นักสืบเสาะภูมิปัญญาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชุมชนสกลนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร. “ไมยราบยักษ์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: pineapple-eyes.snru.ac.th. [21 พ.ค. 2014].
3. ศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ. “ด้วงเจาะเมล็ดไมยราบยักษ์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaibiocontrol.org. [21 พ.ค. 2014].
4. ฐานข้อมูลการเกษตรของประเทศไทย. “ประโยชน์ของไมยราบยักษ์ สารสกัดแสดงฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์”. (ฉันทรา พูนศิริ, พุทธรินทร์ วรรณิสสร, ศศิธร วสุวัต). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: pikul.lib.ku.ac.th/agdb/. [21 พ.ค. 2014].
5. หน่วยงานในกรมชลประทาน ส่วนกลาง, กรมชลประทาน. “ไมยราบยักษ์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: kromchol.rid.go.th. [21 พ.ค. 2014].
6. เดลินิวส์. “ถ่านอัดแท่งไมยราบยักษ์ จากวัชพืชสู่พลังงานทดแทน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dailynews.co.th. [21 พ.ค. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.flickr.com/photos/adaduitokla/5918060342
2. https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Mimosa_pigra_%28Fabaceae%29.jpg
3. https://medthai.com/