ต้นโนรา
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ของต้นโนรา คือ Hiptage benghalensis (L.) Kurz[2] อีกข้อมูลระบุไว้ว่าเป็นชนิด Hiptage benghalensis var. benghalensis[1] อยู่วงศ์โนรา (MALPIGHIACEAE)[1] ชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น แหนปีก (ภาคอีสาน), พญาช้างเผือก (จังหวัดแพร่), กะลังจ่าง (กะเหรี่ยง, จังหวัดแม่ฮ่องสอน), สะเลา (เชียงใหม่), กำลังช้างเผือก (ภาคเหนือ) [1],[4]
ลักษณะของต้นโนรา
- ลักษณะของต้น เป็นไม้พุ่มหรือไม้เถาขนาดใหญ่ เลื้อยได้ไกลและเร็ว (เลื้อยไกลได้ถึงประมาณ 10 เมตร) เถามีลักษณะเป็นสีเขียว กลมและเกลี้ยง มีเนื้อไม้ที่แข็ง ลำต้นมีแตกกิ่งก้านเล็กและห้อยลง (บ้างว่าแตกกิ่งก้านสาขามาก) ทรงต้นมีรูปร่างไม่แน่นอน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง แต่จะนิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนกิ่ง เพราะออกรากได้ง่ายและไม่จำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนช่วย พบเจอได้ในประเทศอินเดีย จีน มาเลเซีย ประเทศไทย สำหรับประเทศไทยสามารถพบได้ทุกภาค ขึ้นที่ตามป่าชายหาด ป่าผลัดใบ ป่าดิบเขา ตั้งแต่ที่ระดับใกล้น้ำทะเลถึง 2,000 เมตร[1],[2],[3]
- ลักษณะของใบ เป็นใบเดี่ยว ใบจะออกเรียงตรงข้าม ใบเป็นรูปรีแกมขอบขนาน ที่ปลายใบจะแหลม ส่วนที่โคนใบจะสอบ ขอบใบเรียบ ใบกว้างประมาณ 4-6 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ที่แผ่นใบด้านบนจะมีลักษณะเกลี้ยง ที่ท้องใบจะมีขน และจะมีต่อมเล็ก ๆ อยู่ใกล้กับฐานใบ[1],[2]
- ลักษณะของดอก ดอกจะออกเป็นช่อ ออกดอกที่ตามซอกใบกับปลายกิ่ง ช่อดอกมีความยาวประมาณ 9-22 เซนติเมตร ดอกมีลักษณะเป็นสีขาว สีชมพูอ่อน ที่กลางดอกจะเป็นสีเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อนคล้ายกับกลิ่นดอกส้มโอ กลีบดอกมีอยู่ 5 กลีบ มีขนาดไม่เท่ากัน กลีบด้านข้างพับลง ที่ส่วนปลายกลีบจะจักเป็นฝอย ที่กลีบดอกมักจะยู่ยี่ มีเกสรเพศผู้จำนวน 10 ก้าน มี 1 ก้าน ที่มีความยาวเป็นพิเศษ มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ ที่โคนเชื่อมจะติดกัน จะมีกลีบอยู่หนึ่งอันที่จะมีต่อมนูน ดอกบานประมาณ 3-4 วันแล้วก็ร่วงหล่น มีดอกใหม่ทยอยบานเรื่อย ๆ ออกดอกช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ บ้างก็ว่าออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน[1],[2],[3]
- ลักษณะของผล เป็นผลแห้งจะไม่แตก มีลักษณะเป็นสีแดง เป็นรูปกระสวย ที่ปลายจะแหลม มีปีกอยู่ 3 ปีก ปีกกลางจะมีขนาดที่ใหญ่[1],[2]
สรรพคุณโนรา
1. แก่นกับเปลือกต้น สามารถใช้เป็นยาบำรุงเส้นเอ็นได้ (แก่น, เปลือกต้น)[4]
2. สามารถนำเปลือกต้นมาตำใช้พอกรักษาแผลสดได้ (เปลือกต้น)[2]
3. แก่นต้น สามารถช่วยแก้อาการจุกเสียดแน่นเฟ้อ และช่วยขับลมได้ (แก่น)[1]
4. แก่นของต้น สามารถช่วยทำให้เจริญอาหารได้ (แก่น)[1]
5. สามารถใช้เป็นยาบำรุงโลหิตได้ (แก่น, เปลือกต้น)[4]
6. เป็นยาอายุวัฒนะ (แก่น)[1]
7. ใบ มีรสร้อนขื่น สามารถใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนังได้[2] ช่วยรักษาหิด รูมาติกได้ (ใบ)[4]
8. เป็นยาบำรุงกำหนัดได้ โดยนำแก่นมาดองกับเหล้า (แก่น)[1],[4]
9. แก่นต้น สามารถช่วยแก้อาการอ่อนเพลียได้ (แก่น)[1]
10. แก่นต้น มีรสร้อนขื่น สามารถช่วยบำรุงธาตุในร่างกายได้ (แก่น, เปลือกต้น)[4]
11. เป็นยาบำรุงกำลังได้ โดยนำแก่นมาดอง (แก่น)[2]
ประโยชน์โนรา
- นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เพราะดอกสวย ออกดอกเยอะในการออกดอกแต่ละครั้ง ดอกมีกลิ่นหอมทั้งวัน ช่วงอากาศเย็นจะหอมเป็นพิเศษ ถ้าต้องให้ออกดอกบ่อย ๆ ให้ปลูกไว้ที่กลางแจ้งเพื่อให้ได้รับแสงแดดแบบเต็มที่ ควรตัดแต่งกิ่งให้น้อย เนื่องจากต้นที่ถูกตัดแต่งกิ่งให้เป็นไม้พุ่มตลอดจะไม่ค่อยออกดอก เพราะออกดอกที่บริเวณปลายกิ่ง โดยธรรมชาติเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย แต่สามารถตัดแต่งเป็นไม้ยืนต้นแบบเดี่ยวได้[2],[3]
สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “โ น ร า”. (นพพล เกตุประสาท). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th. [28 มี.ค. 2014].
2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “โ น ร า”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 129.
3. Green Clinic. “โ น ร า”. อ้างอิงใน: หนังสือเครื่องยาไทย 1 (วุฒิ วุฒิธรรมเวช). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.greenclinic.in.th. [28 มี.ค. 2014].
4. หนังสือสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 4. “โ น ร า”. (วีระชัย ณ นคร).
5. https://www.medthai.com/
อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.ydhvn.com/
2. https://www.flickr.com/photos/37274296@N08/26935538214