อุโลก หรือ “ส้มกบ” เป็นไม้มงคลที่ช่วยถอนพิษไข้ แก้ไอ ขับเสมหะ

อุโลก หรือ “ส้มกบ” เป็นไม้มงคลที่ช่วยถอนพิษไข้ แก้ไอ ขับเสมหะ
อุโลก เป็นไม้ยืนต้นที่อยู่ในตระกูลเข็ม ดอกมีกลิ่นหอม ผลแข็งบางเป็นสีน้ำตาลแดง
อุโลก หรือ “ส้มกบ” เป็นไม้มงคลที่ช่วยถอนพิษไข้ แก้ไอ ขับเสมหะ
อุโลก เป็นไม้ยืนต้นที่อยู่ในตระกูลเข็ม ดอกมีกลิ่นหอม ผลแข็งบางเป็นสีน้ำตาลแดง

อุโลก

อุโลก (Hymenodictyon orixense) หรือเรียกกันว่า “ส้มกบ” เป็นไม้ยืนต้นที่อยู่ในตระกูลเข็ม มีถิ่นกำเนิดในทวีปอินเดียจึงเป็นไม้ที่ชอบขึ้นในที่แดดจัดหรือพื้นที่ดินทราย เป็นต้นไม้ที่คนไทยไม่ค่อยรู้จักและมักจะพบในป่ามากกว่า มีประโยชน์ในด้านสรรพคุณทางยาและด้านอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังเป็นไม้มงคลที่เคยใช้ในการสลักตราของพระเจ้าแผ่นดินและในวัง อีกทั้งยังเป็น 1 ใน 9 ไม้มงคลที่ใช้แกะสลักในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ อีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของอุโลก

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hymenodictyon orixense (Roxb.) Mabb.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือและภาคอีสานเรียกว่า “ส้มกบ ส้มเห็ด” ภาคใต้เรียกว่า “ส้มลุ ลุ ลาตา” จังหวัดตรังเรียกว่า “ลาตา” จังหวัดสุราษฎร์ธานีเรียกว่า “ลุ ส้มลุ” ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่เรียกว่า “สั่งเหาะ” จีนกลางเรียกว่า “ถู่เหลียนเชี่ยว”
ชื่อวงศ์ : วงศ์เข็ม (RUBIACEAE)
ชื่อพ้อง : Hymenodictyon excelsum (Roxb.) Wall., Hymenodictyon excelsum (Roxb.) DC.

ลักษณะของต้นอุโลก

อุโลก หรือส้มกบ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางผลัดใบที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอินเดีย อินโดจีนไปจนถึงฟิลิปปินส์ มักจะขึ้นตามป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณผสมและป่าดงดิบแล้งทั่วไป
ลำต้น : ลำต้นเปลาตรง เรือนออกเป็นทรงพุ่มกลมโปร่ง กิ่งแขนงแตกออกจากลำต้นเป็นวงรอบที่ปลายกิ่ง
เปลือกต้น : เปลือกต้นหนาและแตกลอนเป็นสะเก็ด มีสีน้ำตาลปนเทา บางทีก็มีสีเทาปนน้ำตาล
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ออกเป็นกระจุกตามปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปวงรี รูปไข่หรือรูปโล่ ปลายใบมนและมีติ่ง โคนใบสอบเข้าหาก้านใบ ขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบหนาและเป็นลอนเล็กน้อย หลังใบและท้องใบมีขนนุ่มทั้งสองด้าน เส้นใบเห็นได้ชัดเป็นร่างแห ก้านใบมีสีแดงอ่อน มีหูใบอยู่ระหว่างก้านใบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนง โดยจะออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ในแต่ละช่อมีดอกย่อยจำนวนมาก กลีบดอกเป็นสีขาวขนาดใหญ่กว่ากลีบฐานดอก ดอกมีกลิ่นหอม กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปกรวย ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก กลีบเลี้ยงมีเส้นใบคล้ายกับตาข่ายเป็นสีเขียว
ผล : ผลสามารถพบได้ในดอก มักจะอยู่รวมกันเป็นพวงห้อยลงแต่ปลายผลชี้ย้อนขึ้นไปทางโคนช่อ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงวงรีขนาดเล็ก มีร่อง 2 ร่อง เมื่อสุกผลจะแตกได้ ผิวเปลือกผลแข็งบางเป็นสีน้ำตาลแดง
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดมีครีบหรือปีกบาง ๆ อยู่ที่ปลาย

สรรพคุณของอุโลก

  • สรรพคุณจากราก แก่น เปลือกต้น เป็นยาแก้ไข้พิษต่าง ๆ ช่วยระงับความร้อน ใช้เป็นยาขับพิษร้อนถอนพิษไข้ แก้ไข้ตัวร้อน ไข้หวัด แก้ไข้จับสั่น เป็นยาแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ
  • สรรพคุณจากรากและแก่น ช่วยแก้อาการไอ ช่วยขับเสมหะ
  • สรรพคุณจากใบและราก เป็นยาดูดพิษฝีหนอง เป็นยาภายนอกที่แก้ไขข้ออักเสบและแก้ปวดบวมแดงตามข้อ

ประโยชน์ของอุโลก

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบอ่อนมีรสเปรี้ยวจึงนำมาใช้รับประทานเป็นผักสดหรือลวกต้มกินกับน้ำพริก
2. ใช้ในอุตสาหกรรม เนื้อไม้เป็นไม้เนื้ออ่อนจึงนำมาทำเฟอร์นิเจอร์หรือทำฝาบ้านได้

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของอุโลก

  • เปลือกต้นและใบ พบสาร Aesculin และ Scopoletin
  • ราก พบ Rubiadin, Lucidin, Damnacanthal, Morindon, Nordamnacanthal, 2 – Benzylxanthopurpurin, 6 – Methyllalizarin และ Anthragallol เป็นต้น

อุโลก เป็นพันธุ์ไม้มงคลของไทยที่อยู่ในโครงการพระราชดำริ ดอกมีกลิ่นหอมและเป็นต้นไม้ที่สำคัญ อุโลกเป็นต้นไม้ที่ช่วยในด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเนื่องจากไม้ของอุโลกเป็นไม้เนื้ออ่อนและเนียนละเอียด เหมาะอย่างมากแก่การแกะสลักและสามารถนำมาทำเฟอร์นิเจอร์หรือทำฝาบ้านได้ นอกจากนั้นส่วนอื่นของต้นยังมีสรรพคุณทางยาได้อีกด้วย ซึ่งมีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ช่วยถอนพิษไข้ แก้ไอ ขับเสมหะ แก้ไขข้ออักเสบและแก้ปวดบวมแดงตามข้อได้ เป็นต้นไม้ที่คนไทยควรอนุรักษ์เป็นอย่างยิ่ง

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “อุโลก”. หน้า 154.
หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “อุโลก”. หน้า 123.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “อุโลก”. หน้า 652.
ผักพื้นบ้าน ในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง. “อุโลก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: area-based.lpru.ac.th/veg/. [26 ก.ค. 2014].
ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “อุโลก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [26 ก.ค. 2014].