สลอด
สลอด เป็นไม้กลางแจ้งสามารถโตได้ดีในดินร่วนซุยและความชื้นน้อย[1],[4],[5] พบได้ในศรีลังกา อินเดีย จีนและมาเลเซีย ชื่อสามัญ Purging Croton[3], Croton oil plant[1] ชื่อวิทยาศาสตร์ Croton tiglium L. อยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)[1],[2] ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ หมากหลอด ลูกผลาญศัตรู สลอดต้น ต้นหมากหลอด (ภาคกลาง), หมากทาง หัสคืน มะคัง มะข่าง มะตอด (ภาคเหนือ), ปาโต้ว (จีนกลาง), หมากยอง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), บะกั้ง(แพร่) เป็นต้น[1],[4],[5]
ลักษณะของสลอด
- ต้น เป็นไม้ยืนต้นหรือไม้พุ่มที่มีขนาดเล็ก แตกกิ่งก้านสาขาออกมามาก ความสูงราวๆ 2-4 เมตร เปลือกต้นมีสีเทาเข้มหรือน้ำตาลอ่อนลักษณะเรียบเกลี้ยง มีขนขึ้นปกคลุมและมีเส้นร้อยสีเขียวบริเวณกิ่งอ่อน และยอดอ่อนเป็นสีแดง ใช้วิธีการเพาะเมล็ด การตอน การปักชำในการขยายพันธุ์ จะติดผลในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม[9]
- ดอก มีลักษณะออกเป็นดอกเดี่ยว ๆ หรือช่อตั้งที่ปลายยอด มีใบประดับเล็ก และเป็นดอกแยกเพศซึ่งอยู่บนต้นเดียวกัน โดยดอกเพศเมียจะอยู่ช่วงล่าง และดอกเพศผู้จะอยู่ช่วงบน โดยดอกเพศผู้จะมีกลีบรองดอก 4-6 กลีบ และกลีบดอก 4-6 กลีบ โดยมีขนเป็นรูปดาว ฐานดอกและปลายกลีบดอกมีขน มีต่อมซึ่งอยู่ตรงข้ามกับกลีบรองกลีบดอกจำนวนเท่ากันส่วนเกสรเพศผู้จะมีจำนวนมากและก้านเกสรจะโค้งเข้าไปข้างในเมื่อดอกยังอ่อนอยู่ สำหรับดอกเพศเมียจะไม่มีกลีบดอกหรือมีแต่จะมีกลีบรองดอกเป็นรูปไข่ขนาดเล็กมากๆ ดอกย่อยมีขนาดเล็กเป็นสีขาว ที่โคนกลีบมีขน และรังไข่มี 2-4 ช่อง ดอกที่บานได้เต็มที่กลีบดอกจะงองุ้มไปด้านหลัง[1],[2],[5],[6]
- ใบ ออกเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ ใบเป็นรูปไข่ รูปหอก รูปรี มีหยักห่างๆที่ขอบใบ โคนใบมน ปลายใบเรียวแหลม ขนาดของใบมีความกว้าง 2-7 เซนติเมตรและความยาว 5-14 เซนติเมตร แผ่นใบบาง มีขนขึ้นประปรายที่หน้าใบ หน้าใบเป็นสีเขียวเข้มและหลังใบมีสีเขียวอ่อน ใบที่แก่จัดจะเป็นสีแดงและเริ่มหลุดร่วงไป หลังใบเรียบ มีเส้นใบ 3-5 เส้น มีต่อมอยู่ 2 ต่อมที่ฐานใบ ก้านใบยาว 3-4 เซนติเมตร ลักษณะเรียวเล็ก[1],[2],[4],[5]
- ผล แบ่งเป็นพู มี 3 พู ลักษณะเป็นรูปรีหรือกลมรูปไข่ มีขนาดความกว้าง 1-1.5 เซนติเมตร และยาว 2 เซนติเมตร ผลมีผิวที่สากมือและมีลักษณะขรุขระเล็กน้อย หน้าตัดปลายผลเป็นรูปสามเหลี่ยม ผลแห้งออกเป็น 3 ซีก มีเมล็ดอยู่ 1-3 เมล็ดในผล ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปกลมรี และแบนเล็กน้อย เมล็ดเป็นสีเหลืองเข้มหรือน้ำตาลอ่อน มีความยาว 1-1.5 เซนติเมตรและความกว้าง 8-10 มิลลิเมตร หนา 4-7 มิลลิเมตร ผิวเรียบเป็นมันเงา มีเนื้อที่อมน้ำมัน พบพิษจำนวนมากในน้ำมันที่ได้จากเมล็ด[1],[2],[5]
ประโยชน์ของสลอด
สามารถนำใบมาทำเป็นยาฆ่าแมลงวัน[5]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยา
- การทดสอบความเป็นพิษ พบว่ามีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง และน้ำมันเพียงแค่ 10 หยดสามารถฆ่าสุนัขได้ ส่วนที่สกัดแยกได้จากเมล็ด Resin มีคุณสมบัติเป็นสาเหตุของเนื้องอก[7]
- น้ำแช่หรือต้มจากเมล็ด มีฤทธิ์ทำให้ไส้เดือน แมลงวัน หอยโข่งตายได้[5]
- สารสำคัญที่พบในเมล็ดมีน้ำมัน Croton oil ประมาณ 40-60% ซึ่งประกอบด้วย Croton resin, Crotonic acid, Phorbol, โปรตีน 18% เป็นโปรตีนพิษเช่น Crotin ที่มีฤทธิ์คล้ายกับพิษโปรตีนจากเมล็ดละหุ่ง พบ Alkaloids อีกหลายชนิด เช่น Ricinine,Crotonside และพบสาร Cocarcinogen A1 (สารก่อมะเร็ง)[5] นอกจากนี้ยังพบสารที่มีฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหาร และมีสารอื่น ๆ อีกเช่น Crotonoside ที่เป็นน้ำตาลและไกลโคไซด์ และ Terpenoid ที่เป็นตัวทำให้เกิดมะเร็งได้เร็วขึ้น (Phorbals) [4][5].
- พบว่าสารสกัดชั้นเมทานอล ช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ HIV-1 protease และยังสามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อ HIV-1 ที่มีค่า IC100 เท่ากับ 0.04 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตรได้ด้วย[8].
- พบว่าน้ำเกลือที่แช่กับใบสามารถช่วยในการฆ่าเชื้อ Columbacilus(มาจากลำไส้ใหญ่) ในหลอดทดลองได้หลายชนิด[5]
- ในเมล็ดพบสาร Crotonic acid, Croton resin และ Phorbol ซึ่งเป็นยาถ่ายอย่างแรง[5]
สรรพคุณของสลอด
1. ยาที่ได้จากราก สามารถช่วยแก้อาการฟกช้ำปวดบวมได้ดี(ราก)[5]
2. ดอก มีสรรพคุณในการรักษาคุดทะราด (ดอก)[2],[6]
3. ใช้เพื่อรักษาโรคเรื้อนได้[1],[2],[6]
4. ทำเป็นยาแก้พิษงูได้โดยการนำรากและเมล็ดมาใช้ภายนอก(ราก,เมล็ด)[5]
5. ช่วยในการขับปัสสาวะได้ ด้วยการใช้รากมาต้มกับน้ำกิน ข้อควรระวังสำหรับสตรีมีครรภ์คือหากกินในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้แท้งบุตรได้(ราก)[1],[2]
6. ใช้ทำเป็นยาถ่ายพยาธิ ช่วยขับพยาธิในลำไส้(เมล็ด)[1],[2],[5]
7. เมล็ดมีสรรพคุณช่วยแก้อาการท้องผูกได้(เมล็ด)[2]
8. ใช้เมล็ดในการรักษาอาการปวดท้องได้(เมล็ด)[2]
9. มีสรรพคุณในการขับลมชื้น(เมล็ด)[5]
10. ช่วยแก้อาการคอตีบได้ โดยใช้เมล็ดมาทำเป็นยาใช้ภายนอก(เมล็ด)[5]
11. สามารถช่วยในการถ่ายเสมหะ โลหิตและลม(ราก)[6]
12. ทำเป็นยาแก้ไอสำหรับเด็กได้ ด้วยการนำเมล็ดในปริมาณน้อยมาผสมกับน้ำขิงสดทาน(เมล็ด)[1],[2]
13. ใช้เพื่อแก้อาการผิดปกติทางจิตได้ (เมล็ด)[1],[2]
14. เมล็ดใช้รักษาโรคเกาต์ได้(เมล็ด)[1],[2]
15. สามารถรักษาลมชักบางชนิดได้(เมล็ด)[1],[2]
16. ใช้ใบมาตำพอกเป็นยาแก้ฝีมะตอยได้ ใบมีรสฝาดเมา (ใบ)[2],[5]
17. ช่วยแก้โรคผิวหนังกลากเกลื้อนได้ โดยนำเมล็ดมาใช้ภายนอกเป็นยา(เมล็ด)[5] ดอกก็สามารถเป็นยาแก้กลากเกลื้อนได้เช่นกัน(ดอก)[1],[2],[6]
18. เมล็ดมีสรรพคุณในการถ่ายน้ำเหลืองเสีย(เมล็ด)[1],[2]
19. ใช้แก้อาการบวมน้ำได้ โดยนำรากมาต้มกับน้ำทาน(ราก)[2] เมล็ดก็สามารถใช้แก้อาการบวมน้ำ และอาการท้องมานได้ (เมล็ด)[2]
20. สามารถช่วยในการถ่ายอุจจาระธาตุ (เมล็ด)[5]
21. เมล็ดสามารถแก้อาการลำไส้อุดตันได้ (เมล็ด)[5]
22. เมล็ดมีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง ก่อนใช้ต้องกำจัดพิษก่อนด้วยการนำมาเมล็ดมาทุบให้รอบ จากนั้นต้มกับน้ำนม 2-3 ครั้ง เมล็ดมีรสเผ็ดร้อนมัน(เมล็ด)[1],[2],[3]
23. สามารถทำเป็นยาแก้ปวดท้องเนื่องจากลมชื้นได้(ราก)[5]
24. นำเมล็ด มาใช้เป็นยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อเนื่องจากกระเพาะเย็นชื้นได้ อีกทั้งยังช่วยในการขับลม(เมล็ด)[1],[2]
25. ช่วยในการขับเหงื่อและทำให้อาเจียนได้ โดยใช้น้ำต้มจากเนื้อไม้(ใช้ในปริมาณน้อย)(เนื้อไม้)[9]
26. เปลือกต้นใช้แก้เสมหะที่ค้างอยู่ในอกและลำคอได้ เปลือกต้นมีรสเฝื่อน(เปลือกต้น)[2],[6]
27. ช่วยในการถ่ายพิษเสมหะและโลหิต โดยนำเมล็ดมากินเป็นยา(เมล็ด)[1],[2],[5]
28. ผลสามารถช่วยแก้ลมอัมพฤกษ์ และใช้ในการดับเตโชธาตุ ไม่ให้เจริญ (ผล)[6] ดอกก็สามารถแก้ลมอัมพฤกษ์ได้เช่นกัน อีกทั้งยังช่วยในการดับธาตุไฟไม่ให้กำเริบ(ดอก)[1],[2]
หมายเหตุ
- ราก ให้ใช้ครั้งละ 3-10 กรัม น้ำมาต้มกับน้ำทาน
- ใบ ใช้ใบแห้ง 0.01-0.05 มาบดทานเป็นผง
- เมล็ด ก่อนทานควรจะเอาเปลือกเมล็ดออกก่อน จากนั้นบีบเอาน้ำมันออกมา โดยจะใช้เมล็ดครั้งละ 0.15-0.35 กรัม มาบดทานเป็นผง[5]
ข้อควรระวังในการใช้งาน
- การนำเมล็ดมาทำเป็นยานั้น ต้องใช้ยาในการคุมฤทธิ์ไว้ เนื่องจากเมล็ดมีพิษมาก [6]
- สำหรับผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ และสตรีมีครรภ์ห้ามในการทานสมุนไพรชนิดนี้[5]
- การใช้สมุนไพรชนิดนี้ต้องใช้อย่างระมัดระวัง เนื่องจากมีพิษในทุกส่วนของต้น[2] พบสารพิษคือ Toxic albuminous substance crotin, Taxalbumins (phytotoxins), Croton oil, Resin, Crotin ในยาง เนื้อในเมล็ด และ ส่วนของเมล็ด[7]
- การใช้รากในปริมาณมากๆ จะทำให้แท้งบุตร[1],[2]
- อาการเป็นพิษจากพืชชนิดนี้ที่พบคือ ทำให้คลื่นไส้อาเจียนคล้ายอาหารเป็นพิษ ท้องเสียอย่างรุนแรง และอาจสูญเสียน้ำและเกลือแร่จนเสียชีวิตในที่สุด น้ำมันที่มาจากพืชชนิดนี้เป็นยาถ่ายอย่างแรงและทำให้เกิดอาการระคายเคืองมาก หากน้ำมันโดนผิวหนังจะทำให้เกิดอาการผิวหนังไหม้แดง เป็นผื่นคันระคายเคือง และผงจากเมล็ดหากโดนผิวหนังจะทำให้เป็นแผลพุพองอักเสบ และหากรับประทานเข้าไปอาจทำให้เกิดอาการลำไส้ฉีกขาด (gastroenteritis) ซึ่งอาจเกิดขึ้นในระยะเวลาตั้งแต่ 1-2 ชม. หรือ 2 วัน และยางจากลำต้นจะทำให้เกิดแผลพุพองหากถูกผิวหนัง[4],[5],[6],[7]
- เมล็ดมีพิษมากและมีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง เนื่องจากน้ำมันในเมล็ดมีพิษร้อนคอ ระบายจัด และปวดมวน ก่อนจะใช้จึงต้องกำจัดพิษก่อนด้วยการแช่เมล็ดไว้ในน้ำ 3-4 วัน จากนั้นนำมาคนกับน้ำต้มข้าวเหนียวให้เข้ากัน จนน้ำข้าวซึมไปในเมล็ด และนำไปตากให้แห้ง ลอกเอาเปลือกออกมาจากนั้นบีบน้ำมันออกมาจนหมด สุดท้ายนำเมล็ดไปคั่วหรือตากให้แห้ง จะสามารถใช้เป็นยาได้เลย[5] หรืออีกวิธีคือทุบเมล็ดจนเปลือกและจุดงอกในเมล็ดแยกออก จากนั้นต้มกับน้ำนม 2-3 ครั้ง ก่อนนำมาใช้งาน[2] มีข้อมูลระบุไว้ว่า มีน้ำมันอยู่ในเมล็ดแก่ ซึ่งสามารถจำกัดได้โดยการนำไปคั่วจนน้ำมันระเหยออกไป จะมีผลทำให้ฤทธิ์อ่อนลง[4],[6]
- สำหรับการรักษาพิษจากเมล็ด จะเริ่มต้นด้วยการทำให้ผู้ป่วยอาเจียนเพื่อลดการดูดซึมของพิษ และให้รับประทานยาเคลือบกระเพาะอาหารและลำไส้ เช่น นมหรือผงถ่าน เพื่อช่วยลดอาการและรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อล้างท้องทันที นอกจากนี้ยังให้รับประทานยาถ่ายประเภทเกลือเพื่อลดการดูดซึมสารพิษ และเพื่อป้องกันการหมดสติควรให้น้ำเกลือทางเส้นเลือด นอกจากนี้ยังให้รับประทานโซเดียมไบคาร์บอเนต เพื่อลดการอุดตันต่อทางเดินในไตเนื่องจากเม็ดเลือดแดงเกาะตัวรวมกัน และให้ทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง และงดไขมันเพื่อลดอาการตับอักเสบ หากมีอาการคล้าย atropine เช่นในกลุ่มสารพิษ curcin ให้ atropine antagonists เช่น physoatigmine salicylate IV ระบบไหลเวียนเลือด และสำหรับกรณีอื่นๆให้รักษาตามอาการ[7],[10] และอีกวิธีในการแก้พิษคือใช้ถั่วเขียว ต้มกับน้ำรับประทานหรือใช้อึ่งเน้ย อึ่งแปะ นำมาต้มกับน้ำรับประทานก็ได้[5]
สั่งซื้อ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “สลอด (Salod)”. หน้า 289.
2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “สลอด”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 177.
3. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “สลอด Purging Croton”. หน้า 93.
4. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “สลอด”. หน้า 756-757.
5. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “สลอด”. หน้า 536.
6. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ส ล อ ด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [11 มิ.ย. 2014].
7. ฐานข้อมูลพืชพิษ, ศูนย์ข้อมูลสมุนไพร สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. “สลอด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: webdb.dmsc.moph.go.th/poison/. [11 มิ.ย. 2014].
8. สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์. “ส ล อ ด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: aidsstithai.org/herbs/. [11 มิ.ย. 2014].
9. เดลินิวส์. “ส ล อ ด ต้ น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dailynews.co.th. [11 มิ.ย. 2014].
10. ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “สลอด” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/. [11 มิ.ย. 2014].
11. https://medthai.com/
อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.ydhvn.com/