ระย่อม
ระย่อม เป็นไม้พุ่มเตี้ยขนาดเล็กที่พบได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย มีลักษณะของดอกคล้ายกับดอกเข็ม รากมีรสขม เป็นยาเย็น แต่มีพิษเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อตับและหัวใจได้ เป็นต้นที่อยู่ในตำรายาไทย ถือว่าเป็นต้นหนึ่งที่มีสรรพคุณได้หลากหลายมาก นิยมนำรากมาสกัดเพื่อใช้เป็นยาแก้ความดันโลหิตสูง ส่วนในประเทศอินเดียจะบดรากเตรียมเป็นยาเม็ดได้ ส่วนมากจะพบเป็นวัตถุดิบในพวกแกงเลียงหรือแกงส้ม
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของระย่อม
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rauvolfia serpentina (L.) Benth. ex Kurz
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Rauwolfia” “Serpent wood” “Indian Snake Root”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “เข็มแดง ย่อมตีนหมา” ภาคใต้เรียกว่า “กะย่อม ระย่อมน้อย” จังหวัดสุราษฎร์ธานีเรียกว่า “ละย่อม” จังหวัดกระบี่เรียกว่า “ปลายข้าวสาร” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “กอเหม่” ชาวกะเหรี่ยงกาญจนบุรีเรียกว่า “คลาน ตูมคลาน มะโอ่งที สะมออู” จีนกลางเรียกว่า “เสอเกินมุ อิ้นตู้หลัวฟูมุ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE)
ลักษณะของระย่อม
ระย่อม เป็นไม้พุ่มเตี้ยขนาดเล็ก ผลัดใบในช่วงฤดูแล้ง แล้วจะผลิใบใหม่ในช่วงฤดูฝน
ลำต้น : ลำต้นมักคดงอ เปลือกลำต้นเป็นสีขาวหรือสีน้ำตาลอมเทา มียางสีขาว รากใต้ดินแตกสาขามาก มีรอยแผลใบอยู่ตามลำต้น
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกันหนาแน่นที่ปลายยอด หรือออกเรียงรอบข้อ ข้อละ 3 – 4 ใบ ใบเรียงคู่จะมีน้อย ลักษณะของใบเป็นรูปวงรีหรือรูปวงรีแกมรูปหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา สีเขียวเข้มเป็นมัน
ดอก : ออกดอกเป็นช่อ ลักษณะคล้ายดอกเข็ม โดยจะออกที่ปลายยอด มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกเป็นสีขาว กลีบดอกมี 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวสีชมพูเข้มหรือสีแดง เมื่อดอกโรยจะเปลี่ยนเป็นสีแดง กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ สีขาวแกมเขียว ก้านดอกเป็นสีแดง มักจะออกดอกในช่วงต้นฤดูหนาว
ผล : เมื่อดอกร่วงโรยไปก็จะติดผล ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมหรือรูปทรงวงรี บางครั้งติดกันเป็นผลแฝดตรงโคนด้านใน ผิวผลเรียบเป็นมันและฉ่ำน้ำ ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงแดงเข้มหรือสีดำ ในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด
สรรพคุณของระย่อม
- สรรพคุณจากราก ออกฤทธิ์ต่อตับและหัวใจ ช่วยทำให้เจริญอาหาร ช่วยบำรุงประสาท ช่วยฟอกเลือด ทำให้เลือดเย็น ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยแก้อาการปวดศีรษะเนื่องจากความดันโลหิตสูง เป็นยากล่อมประสาท ช่วยทำให้จิตใจสงบ แก้อาการนอนไม่หลับ ช่วยให้นอนหลับ แก้อาการบ้าคลั่ง แก้คลุ้มคลั่งเนื่องจากดีกำเริบและโลหิต เป็นยาขับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้พิษกาฬ แก้บ้าเพื่อดีและโลหิต เป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้หวัดตัวร้อนที่ทำให้มีอาการปวดหัว เป็นยาแก้ไข้ชัก แก้โรคเด็กเป็นซางชัก ช่วยแก้หืด แก้ลมอัมพฤกษ์ ช่วยแก้อาการจุกเสียด เป็นยาแก้บิด แก้ท้องเดิน แก้ท้องเสีย เป็นยาระบายอ่อน ๆ เป็นยาขับพยาธิ ขับพยาธิในเด็ก ขับพยาธิไส้เดือนกลมของเด็ก ช่วยขับปัสสาวะ เพิ่มการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ เป็นยาขับระดูของสตรี ช่วยบำรุงความกำหนัด แก้พิษงู แก้แมลงกัดต่อย รักษาโรคผิวหนังผดผื่นคัน ช่วยระงับอาการปวด ช่วยบำรุงน้ำนมของสตรี
– เป็นยาลดความดันโลหิต ด้วยการนำรากแห้งขนาด 200 มิลลิกรัม มาป่นให้เป็นผงคลุกกับน้ำผึ้งทำเป็นยาเม็ดทานติดต่อกัน 1 – 3 อาทิตย์
– แก้ไข้ป่า แก้ไข้มาลาเรีย แก้ไทฟอยด์ ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
– ช่วยย่อยอาหาร ด้วยการนำรากมาบดให้เป็นผงปั้นเป็นเม็ดหรือคั่วให้กรอบ แล้วนำมาชงหรือต้มกินเป็นยา
– เป็นยารักษาหิด ด้วยการนำรากสด 2 – 3 ราก มาตำให้ละเอียด แล้วเติมน้ำพืชให้พอแฉะ ใช้เป็นยาทาวันละ 2 – 3 ครั้ง จนกว่าจะหาย - สรรพคุณจากกระพี้ เป็นยาบำรุงโลหิต ทำให้โลหิตเป็นปกติ ช่วยแก้โลหิตเป็นพิษ
- สรรพคุณจากต้น เป็นยาแก้ไข้อันทำให้หนาว
- สรรพคุณจากไส้ เป็นยาแก้ไข้เฉียบพลัน
- สรรพคุณจากเปลือก เป็นยาแก้ไข้พิษ แก้ไข้สันนิบาต
- สรรพคุณจากน้ำจากใบ เป็นยารักษาโรคแก้วตามัว
- สรรพคุณจากดอก เป็นยาแก้ตาแดง แก้โรคอันเกิดแต่จักษุ
ประโยชน์ของระย่อม
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อน ดอกอ่อน และผลอ่อน นำมาปรุงเป็นอาหารได้ เช่น แกงเลียง แกงส้ม
2. เป็นยา รากใช้เป็นยาถ่ายพยาธิในม้า บางที่ใช้รากเป็นยาเบื่อสุนัข สกัดเป็นยาแก้ความดันโลหิตสูง ในอินเดียจะบดรากเตรียมเป็นยาเม็ด ทางยุโรปและอเมริกาจะเตรียมสารสกัดระย่อมทำเป็นยาฉีดลดความดันโลหิตและกล่อมประสาทได้
ข้อควรระวังของระย่อม
1. สตรีมีครรภ์หรือให้นมบุตร ห้ามใช้สมุนไพรชนิดนี้
2. ระย่อมมีพิษเล็กน้อย จึงไม่ควรทานมากกว่าปริมาณที่กำหนด และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไป เพราะอาจเกิดอาการความดันต่ำและเป็นพิษต่อร่างกายได้
3. หากมีอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด ใจสั่น หรือมีอาการผิดปกติ ให้หยุดใช้ยาทันที
ระย่อม มีส่วนของรากอุดมไปด้วยสรรพคุณ รากมีรสขม เป็นยาเย็น แต่มีพิษเล็กน้อยจึงควรใช้อย่างระมัดระวัง นิยมนำรากมาสกัดเพื่อใช้เป็นยาแก้ความดันโลหิตสูง ระย่อมมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของราก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ความดันโลหิตสูง ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยบำรุงประสาท ช่วยให้นอนหลับ แก้อาการบ้าคลั่ง แก้ไข้ตัวร้อน แก้บิด ขับพยาธิและช่วยขับปัสสาวะได้
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “ระย่อม (Ra Yom)”. หน้า 257.
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “ระย่อม”. หน้า 169.
หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ระย่อมน้อย Rauwolfia”. หน้า 177.
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ระย่อม”. หน้า 672-673.
หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “ระย่อม”. หน้า 135-136.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “ระย่อมน้อย”. หน้า 474.
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ระย่อม”. อ้างอิงใน : หนังสือพืชสมุนไพร เล่ม 2. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [28 ต.ค. 2014].
สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ระย่อมน้อย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [28 ต.ค. 2014].
ผักพื้นบ้าน ในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง. “ระย่อมน้อย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : area-based.lpru.ac.th/veg/. [28 ต.ค. 2014].
ไทยเกษตรศาสตร์. “ประโยชน์ของระย่อมน้อย”. อ้างอิงใน : ศาสตราจารย์พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaikasetsart.com. [28 ต.ค. 2014].
ไทยเกษตรศาสตร์. “ระย่อม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaikasetsart.com. [28 ต.ค. 2014].
สมุนไพรในร้านยาโบราณ. “ระย่อม”. อ้างอิงใน : pharmacy.msu.ac.th. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.infoforthai.com. [28 ต.ค. 2014].
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ย่อมตีนหมา”. หน้า 666-656.
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/
รูปอ้างอิง
1.https://www.quintadosouriques.com/es/store/semillas/arbusto/rauvolfia-root-rauwolfia-sarpagandha-schlangenwurz-serpentine-wood/