สะพ้านก๊น
สะพ้านก๊น จัดเป็นพรรณไม้พุ่ม พบขึ้นตามชายป่าทั่วไปเขตการกระจายพันธุ์ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชื่อสามัญ Javanese Elder[2] ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Sambucus javanica Blume จัดอยู่ในวงศ์ ADOXACEAE ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ โป่ทีโด๊ะ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่),พวงไข่มุก (ภาคเหนือ),แป่โลเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), เปร่เส้า (ม้ง),ไม้ขี้ป้าน หมากอูนเทิ้น(ไทใหญ่),เชียลิ่ ลู่อิง เจียกู่เฉ่า (จีนกลาง) [1],[2],[3]
ลักษณะของสะพ้านก๊น
- ต้น เป็นพรรณไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรง มีการแตกกิ่งก้านสาขามากมาย มีผิวเรียบไร้ขน มีความสูงได้ประมาณ 1-3 เมตร ตามกิ่งก้านมีสีเขียวเข้มและเป็นเหลี่ยม กิ่งแก่ไม่มีขนส่วนกิ่งอ่อนมีขนขึ้นปกคลุมเล็กน้อย ตามกิ่งมีข้อสีแดงอ่อน รากมีลักษณะกลมและคดงอ มีรากแก้วใหญ่และรากฝอย เนื้อในมีสีขาวเหลือง มีร่องประมาณ 7-8 ร่อง เปลือกเป็นสีเลี่ยมอ่อน สามารถขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความร่วนซุยความชื้นปานกลาง [1],[2],[3],[4]
- ดอก มีลักษณะช่อดอกคล้ายกับรูปซี่ร่ม ออกดอกเป็นช่อๆบริเวณส่วนยอดของกิ่ง ช่อมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 20-30 เซนติเมตรและจะมีขนสั้นๆ มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบทุกๆกลีบจะเป็นรูปสามเหลี่ยม มีดอกย่อยขนาดเล็ก สีของดอกย่อยจะมีสีขาวออกเหลืองอ่อนๆ ดอกหนึ่งจะมีอยู่ 5 กลีบเป็นรูปกลมรีปลายแหลม มีเกสรเพศเมีย 1 อันยื่นออกมาข้างกลีบดอกและมีเกสรเพศผู้ติดอยู่สั้นๆ 5 อัน[1],[2]
- ใบ เป็นใบประกอบขนนกปลายคี่ ลักษณะของใบเป็นรูปแบบขนนกแต่จะใหญ่มากกว่า ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรียาวปลายแหลม ในก้านหนึ่งจะมีใบย่อยประมาณ 5-9 ใบ ใบมีขนาดยาวประมาณ 8-18 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ส่วนท้องใบเป็นสีเขียวอ่อน หลังใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้ม ผิวใบเรียบมันไม่มีขน ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ก้านใบย่อยยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ไม่มีหูใบ เมื่อนำใบมาขยี้จะมีกลิ่นเหม็น[1],[2]
- ผล มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-4 มิลลิเมตร มีลักษณะกลมรูปไข่ ผลที่สุกแล้วจะเป็นสีเหลืองอมส้มหรือสีแดง ผลอ่อนเป็นสีเขียวส่วนผลแก่จะเป็นสีแดงจนถึงสีดำ เมล็ดเดี่ยวรูปไข่[1],[2],[3]
ประโยชน์ของสะพ้านก๊น
- ผลถูกนำมาทำเป็นของเล่นโดยชาวม้ง โดยการนำมาใส่ในกระบอกไม้ไผ่แล้วอัดทำให้เกิดเสียงดัง[3]
- ดอก ถูกชาวลั้วะนำไปวัดหรือบูชาพระ[3]
สรรพคุณของสะพ้านก๊น
1. สามารถใช้ต้นและรากเป็นยาแก้ปวดข้อ บรรเทาอาการปวดในกระดูกที่หักและช่วยต่อกระดูกได้(ต้นและราก, ทั้งต้น)[1],[2] หรือจะใช้ใบสดและยอดมาพอกบริเวณที่กระดูกหักได้เช่นกัน(ใบ)[4] บางพื้นที่อาจใช้ใบร่วมกับต้นหญ้าเอ็นยืดใช้ประคบบริเวณที่กระดูกเคลื่อน (ใบ)[3] ใช้ทั้งต้นนำมาต้มรวมกับไมยราบแล้วใช้ผ้าชุบน้ำประคบบริเวณที่กระดูกหัก (ทั้งต้น)[3] ใช้ใบนำมาอังไฟ ประคบรักษากระดูกหัก กระดูกเคลื่อน (ใบ)[3]
2. ผงของราก ตำกับหัวหอมใหญ่ แล้วนำมาคั่วกับเหล้าสามารถช่วยแก้อาการปวดเมื่อย ฟกช้ำดำเขียวจากการกระแทก เคล็ดขัดยอกได้ โดยการใช้พอกบริเวณที่เป็น (ราก)[2] หรือจะใช้ยอดและใบสดนำมาตำพอกบริเวณที่มีอาการก็ได้หรือนำใบสดมาปูนอนแก้อาการปวดเมื่อยก็ทำได้ (ใบ)[4]ในบางพื้นที่จะใช้ใบนำมาย่างกับไฟแล้วนำไปประคบบริเวณที่มีอาการปวดเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด (ใบ)[3]
3. ใช้ผลสด มาตำให้ช้ำแล้วถูทาบริเวณที่เป็นสามารถใช้เป็นยาแก้โรคหูดได้(ผล)[1]
4. สามารถใช้ใบนำมาบดกับน้ำเป็นยาทาแก้อาการอักเสบได้(ใบ)[5]
5. ใช้เป็นยาแก้โรคดีซ่านได้ (ต้นและราก, ทั้งต้น)[1],[2]
6. สามารถใช้รากสด มาช่วยแก้ตัวบวมน้ำ รวมถึงอาการนั่งนอนไม่สบาย ด้วยการนำมาลอกเปลือกออกแล้วนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำ 1 ถ้วยผสมกับเหล้า 1 ถ้วยอุ่น ใช้ทานเป็นยาตอนท้องว่าง(ราก)[1],[2] และสามารถใช้รากนำมาต้มให้สตรีที่เพิ่งคลอดลูกใหม่กิน รักษาอาการหน้าบวม ตัวบวม เป็นยาแก้หรือบำรุงกำลัง (ราก)[4] ส่วนชาวกะเหรี่ยงแดงนั้นจะใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำอาบเพื่อแก้อาการตัวบวม (ทั้งต้น)[3]
7. สามารถใช้รากสดประมาณ 90-120 กรัมนำมาตุ๋นกับกระเพาะหมู ใช้รับประทานเป็นยาติดต่อกันประมาณ 3-4 วัน แก้โลหิตไหลออกจากทวารทั้งห้าได้ (ราก)[1]
8. ผล ช่วยทำให้ถ่ายท้อง ใช้กินเป็นยาระบายได้ (ผล)[5]
9. ต้นและราก ช่วยแก้หลอดลมอักเสบเรื้อรังได้ (ต้นและราก, ทั้งต้น)[1],[2]
10. สามารถใช้ราก ร่วมกับพืชชนิดอื่นเป็นยาแก้ไข้มาลาเรียได้ (ราก)[4]
11. ทั้งต้นนั้นเป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อตับและไต ใช้เป็นยาฟอกเลือด กระจายเลือดอุดตัน ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดี (ต้นและราก,ทั้งต้น)[1],[2]
12. สามารถใช้ก้านและใบมาแก้อาการชักได้ โดยการนำมาขยี้ให้คนไข้ดม (ก้านและใบ)[5]
13. ชาวปะหล่องและชาวไทใหญ่จะใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำให้สตรีที่คลอดลูกใหม่ๆอาบ เพื่อช่วยให้ฟื้นตัวเร็ว สบายเนื้อสบายตัว แก้อาการปวดเอวและปวดหลัง (ทั้งต้น)[3] คนเมืองจะใช้รากนำมาต้มรวมกับรากกล้วยเป็นยาแก้อาการปวดหลังปวดเอวหรือแก้ลมผิดเดือน หลังการคลอดบุตรของสตรี (ราก)[3] ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่ จะใช้ใบนำมาอังกับไฟ ใช้นวดบริเวณที่มีอาการปวดเมื่อย และให้ผู้หญิงคลอดบุตรแล้วอยู่ไฟด้วยการมานั่งทับใบอุ่น (ราก, ใบ)[3]
14. ทั้งต้น สามารถใช้ภายนอกเป็นยาแก้ปวดบวม ฝีหนองได้(ทั้งต้น)[2]
15. ใช้ทั้งต้นนำมาต้มแล้วเอาน้ำชะล้างสามารถใช้รักษาโรคผิวหนังผดผื่นคัน ผดผื่นคันมีน้ำเหลือง ติดเชื้อไวรัสบริเวณผิวหนังได้(ต้นและราก, ทั้งต้น)[1],[2],[5]
16. ใช้ใบหรือรากสดนำมาหั่นเป็นฝอย ๆ ตำให้ละเอียด ใช้ผสมกับไข่ขาวเล็กน้อยคลุกให้เข้ากันสามารถใช้รักษาแผลบวมแดงอักเสบได้ ด้วยการนำมาทาบริเวณที่เป็นหรือจะใช้พอกเลยก็ได้ (ราก, ใบ)[1]
17. สามารถใช้ต้นแห้งประมาณ 12-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา ช่วยแก้ไตอักเสบ บรรเทาอาการบวมน้ำ หรือขาบวมน้ำได้(ต้น, ต้นและราก, ทั้งต้น)[1],[2]
18. สามารถใช้ราก 90 กรัม นำมาตุ๋นกับลำไส้เล็กของหมูรับประทานเป็นยาติดต่อกันประมาณ 3-5 วัน ใช้แก้สตรีตกขาวมากผิดปกติได้(ราก)[1]
19. ต้น ช่วยในการขับปัสสาวะได้ (ทั้งต้น)[2]ชาวเมี่ยนนั้นจะใช้ใบนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้นิ่ว (ใบ)[3]
20. ใช้เป็นยาแก้บิดได้ (ต้นและราก, ทั้งต้น)[1],[2]
21. สามารถใช้ยอดและใบ ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไอได้ (ใบ)[4]
22. ทั้งต้นนั้นมีสรรพคุณช่วยขับลมชื้นได้ (ทั้งต้น)[2]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยา
- ใช้ทั้งต้นมาตำคั่วกับเหล้า ใช้เป็นยาพอกขาของกระต่ายที่มีอาการกระดูกหักแล้วใช้ไม้ดามกระดูกไว้เปลี่ยนยาทุก ๆ 3 วัน จากนั้นนำรากมาต้มน้ำให้กระต่ายกินไปด้วย ทำแบบนี้ติดต่อกันเป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่า กระดูกมีการเชื่อมติดกันและบริเวณกระดูกที่ร้าวมีแคลเซียมเคลือบอยู่[2]
- สามารถใช้เป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และฆ่าแมลงได้[4]
- ทั้งต้นมีสารประกอบจำพวก Tannins, ฟีนอล, Flavonoid, Camperol, Stigmasterol, Campestetol, Chloronic acid, Ursolic acid และน้ำตาล ส่วนรากมีแทนนินมาก อัลคาลอยด์ และมีน้ำตาลคืนรูป ส่วนใบมี B-sitosterol,stigmasterol,campesterol, α-amyrin palmitate,ursolic acid และโพแทสเซียมไนเตรต และในเมล็ดพบสารไซยาโนจีนีติค ไกลโคไซด์ (Cyanogenic glycoside)[1],[2]
- สามารถนำน้ำที่ต้มได้จากรากและใบ มากวนกับแป้งให้ข้น ใช้ทาบริเวณหูของกระต่ายทดลอง
ที่มีอาการบวม จากนั้นพบว่ากระต่ายทดลองมีอาการบวมลดลงอย่างเห็นได้ชัด และเส้นเลือดบริเวณหูของกระต่ายก็กลับมามีขนาดปกติอีกด้วย[2]
วิธีการใช้
- ยาสดให้ใช้ครั้งละ 30-60 กรัมนำมาต้มกับน้ำใช้ตำคั้นเอาน้ำมาล้างแผลภายนอก หรือใช้รับประทานก็ได้ สามารถทำเป็นยาพอกแผลบริเวณที่เป็น ส่วนยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 7-15 กรัม นำมาต้มเอาน้ำรับประทานหรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่นได้ในตำรับ[2]
ข้อควรระวัง
- สตรีมีครรภ์ห้ามใช้สมุนไพรชนิดนี้เป็นอันขาด[1],[2]
สั่งซื้อ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1.หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “สะพ้านก๊น”. หน้า 765-767.
2.หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “สะพ้านก๊น”. หน้า 544.
3.โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “สะพ้านก๊น, อูน ,พวงไข่มุก, อูนป่า”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [13 ต.ค. 2014].
4.ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “สะพ้านก๊น”. อ้างอิงใน : หนังสือพืชสมุนไพร เล่ม 2. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [13 ต.ค. 2014].
5.วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “สะพานก๊น”. อ้างอิงใน : หนังสือป่าแม่คำมีความหลากหลายทางชีวภาพจากอดีตถึงปัจจุบัน (กลุ่มงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้)., Ethnomedical survey of plants used by the Orang Asli in Kampung Bawong, Perak, West Malaysia. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : th.wikipedia.org/wiki/สะพานก๊น. [13 ต.ค. 2014].
อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.flickr.com/
2. https://www.flickr.com/
3. https://medthai.com/