หญ้าขัดใบยาว
หญ้าขัดใบยาว เป็นไม้ล้มลุก ใบ เดี่ยว เรียงสลับรูปขอบขนานแกมใบหอก ขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นการขยายพันธุ์เองในธรรมชาติ กิ่งและลำต้นนำไปตากแห้งแล้วเอามามัดรวมกันใช้ทำเป็นไม้กวาดได้ชื่อสามัญ Two-beaked, Snake’s tongue, Broom weed ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Sida acuta Burm.f. อยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE)[1],[2],[5] ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น หญ้าขัดมอน, ยุงกวาด, หญ้าข้อ, หญ้าขัดตัวเมีย, ลำมะเท็ง, นาคุ้ยหมี่, อึ่งฮวยอิ๋ว, หนานช่าง[1],[2],[6]
ลักษณะหญ้าขัดใบยาว
- ต้น เป็นไม้ล้มลุก ลำต้นตั้งตรงแข็งแรง สูงประมาณ 0.3-1 เมตร เปลือกต้นจะมีใบที่เหนียวมาก ลำต้นจะแตกกิ่งก้านสาขามาก ที่ตามกิ่งจะมีขนนุ่มหรือค่อนข้างเกลี้ยง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีใช้เมล็ด สามารถพบเจอขึ้นได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทยตามข้างถนนหนทาง ที่ตามชายป่า พื้นที่รกร้าง มักขึ้นในที่ชุ่มชื้น ทนทานต่อน้ำท่วมขัง[1],[2],[4]
- ใบ เป็นใบเดี่ยวเรียงเวียนห่าง ใบเป็นรูปใบหอก กว้างประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ที่ปลายใบจะแหลมหรือเรียวแหลม ที่โคนใบจะกลมหรือมน ที่ขอบใบจะเป็นจักคล้ายฟันเลื่อย ผิวใบจะมีขนเป็นรูปดาวประปรายหรืออาจเกลี้ยงทั้ง 2 ด้าน ก้านยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร จะมีขนนุ่ม มีหูใบติดทนเป็นรูปเส้นด้ายมีความยาวประมาณ 7-10 มิลลิเมตร[1],[2]
- ดอก มีสีเหลือง ดอกออกแบบเดี่ยว ๆ หรือจะออกเป็นคู่บริเวณง่ามใบ ก้านดอกมีความยาวประมาณ 4-12 มิลลิเมตร จะมีขนและมีข้อต่ออยู่กลางก้าน กลีบเลี้ยงโคนจะติดกันเป็นรูปถ้วยตื้น มีความยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร ที่ปลายแยกออกเป็นแฉก 5 แฉก ปลายจะเป็นแฉกเรียวแหลม กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปไข่กลับ ที่ปลายกลีบกลม ที่โคนกลีบจะสอบแคบ มีความยาวประมาณ 6-7 มิลลิเมตร และมีขน ถ้าดอกบานจะมีความกว้างประมาณ 8-10 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรตัวผู้ติดกันเป็นหลอด มีความยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร และมีขนแข็งอยู่ประปราย ก้านชูอับเรณูเรียวเล็ก อับเรณูมีสีเหลือง[1]
- ผล แก่จะเป็นรูปทรงจานกลมแบนและมีรอยแยก ผลจะเป็นแบบแห้งแตก ผลค่อนข้างกลม ประกอบด้วยซีกประมาณ 4-9 ซีก โดยส่วนมากจะมีประมาณ 5-6 ซีก ยาวประมาณ 3.5 มิลลิเมตร แต่ละซีกที่ปลายจะมีหนามแหลมสั้นอยู่ 2 อัน ที่ผิวเป็นลาย[1],[2]
สรรพคุณของหญ้าขัดใบยาว
1. สามารถนำรากหรือทั้งต้นมาต้มกับน้ำอาบ จะช่วยฆ่าเชื้อโรค ช่วยแก้พิษ (ราก, ทั้งต้น)[3]
2. สามารถแก้แผลบวม หกล้มกระดูกหัก มีเลือดออก เป็นพิษ (ทั้งต้น)[2],[4]
3. นำใบมาตำแล้วคั้นเอาแต่น้ำใช้พอกหรือทาเป็นยาห้ามเลือด สามารถรักษาแผลถลอก แผลเรื้อรัง แผลสดได้ (ใบ)[3]
4. รากสามารถใช้เป็นยาสมานได้ (ราก)[1],[2] สามารถช่วยสมานเนื้อได้ (ทั้งต้น)[2]
5. รากสามารถใช้เข้ายาฆ่าเชื้อ ช่วยลดอาการอักเสบได้ (ราก)[1]
6. สามารถใช้รากมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาแก้อาการปัสสาวะไม่ออกได้ (ราก)[1]
7. ใช้ใบมาคั้นเอาแต่น้ำ ทานใช้เป็นยาขับพยาธิ (ใบ)[4]
8. สามารถช่วยแก้ลำไส้อักเสบได้ (ทั้งต้น)[2],[4] สามารถรักษาลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคเรื้อรังที่เกี่ยวกับท้อง (ราก)[1],[2]
9. สามารถช่วยแก้โรคกระเพาะอาหารได้ (ราก[1], ทั้งต้น[3])
10. สามารถใช้ทั้งต้นมาต้มกับน้ำดื่มหรือเคี้ยวกิน ใช้เป็นยาแก้อาการปวดท้อง (ทั้งต้น)[3]
11. สามารถช่วยแก้อาเจียนได้ (ราก)[6]
12. สามารถช่วยแก้เสียงแหบ แก้อาการเจ็บคอ (ราก, ทั้งต้น[3])
13. สามารถช่วยแก้อาการหวัดได้ (ทั้งต้น)[2],[4]
14. สามารถใช้รากเป็นยาแก้อาการไข้ผิดปกติ แก้ไข้ หรือนำทั้งต้นมาต้มหรือนำมาแช่น้ำดื่ม สามารถแก้ไข้ก็ได้ (ราก, ทั้งต้น)[1],[2],[3]
15.ทั้งต้นจะมีรสเย็นและฉุนเล็กน้อย สามารถช่วยแก้พิษ ช่วยดับร้อนได้ (ทั้งต้น)[2]
16.นำลำต้นมาต้มในน้ำ เอาน้ำที่ได้มาอม สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดฟันได้ (ลำต้น)[1]
17. สามารถช่วยแก้โรคประสาทได้ (ราก)[1],[2]
18. สามารถช่วยบำรุงกำลังได้(ราก)[6]
19. สามารถใช้รากเป็นยาขมช่วยให้เจริญอาหารได้ (ราก)[2]
20. สามารถช่วยแก้บวม แก้อาการปวดได้ (ทั้งต้น)[2],[4]
21. นำใบมาตำแล้วคั้นเอาแต่น้ำ ใช้ทาหรือพอกรักษาสิว ฝี ตุ่มหนอง (ใบ)[1],[5]
22. เอาใบมาอังไฟพอสุกแล้วทาด้วยน้ำมันงา ใช้แปะในบริเวณที่เป็นฝีหรือหนอง จะช่วยทำให้ฝีหัวแก่เร็วขึ้น ช่วยกลัดหนองเร็วมากขึ้น (ใบ)[1]
23. ใบใช้เป็นยาทำให้แท้งบุตร (ใบ)[1],[2]
24. รากสามารถช่วยแก้น้ำดีพิการ (ราก)[6]
25. สามารถช่วยรักษาโรคทางเดินปัสสาวะได้ (ราก)[1],[2],[5]
26. นำรากมาต้มกับน้ำดื่ม สามารถช่วยแก้อาการท้องผูกได้ (ราก)[5]
27. สามารถช่วยแก้บิดได้ (ทั้งต้น)[2],[4]
28. สามารถช่วยแก้อาการอาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษได้ ด้วยการใช้ทั้งต้นมาต้มกับน้ำดื่มหรือนำมาเคี้ยวกิน (ทั้งต้น)[3]
29. สามารถช่วยรักษาเต้านมอักเสบได้ ด้วยการใช้ต้นแห้งผสมร่วมกับ โพกงเอ็ง มาต้มกับน้ำกิน สำหรับการใช้ภายนอกให้ใช้ต้นแห้งร่วมกับหัวผักกาดขาวสดและน้ำตาลแดง นำมาตำแล้วใช้พอก (ทั้งต้น)[2],[4]
30. สามารถช่วยขับเสมหะได้ (ราก)[6]
31. สามารถช่วยขับเหงื่อได้ (ราก)[1],[2]
32. สามารถช่วยแก้ไข้มาลาเรียได้ (ราก, ทั้งต้น)[3]
33. รากสามารถช่วยขับพิษร้อนภายในร่างกาย แก้พิษหลบใน ช่วยแก้อาการตัวร้อน ช่วยขับพิษไข้หัว (ราก)[6]
34. สามารถใช้ทั้งต้นมาต้มหรือแช่น้ำดื่ม ใช้เป็นยาแก้เบื่อ (ทั้งต้น)[1]
35. สามารถช่วยแก้อาการอ่อนเพลียได้ ด้วยการใช้รากมาแช่กับน้ำดื่มรวมกับหญ้าปากควาย เปลือกมะกอก ตะไคร้ ส่วนอีกวิธีให้ใช้รากผสมกับขิง ทานครั้งละ 1 ช้อนชา วันละ 2 ครั้ง จะช่วยแก้อาการอ่อนเพลียได้ (ราก)[1],[2]
36. สามารถช่วยบำรุงปอดได้ (ราก)[6]
37. สามารถช่วยบำรุงธาตุในร่างกายได้ (ราก)[2]
วิธีใช้ : การใช้เป็นยาภายใน ให้ใช้ทั้งต้นแห้ง (รวมราก) ประมาณ 15-30 กรัม มาต้มกับน้ำกิน (เป็นขนาดที่ใช้สำหรับผู้ใหญ่ ถ้านำไปใช้ควรดัดแปลงน้ำหนักของยาให้เหมาะสมกับอายุ สุขภาพ น้ำหนักตัวของผู้ใช้ด้วย) ถ้าใช้เป็นยาภายนอกให้ใช้ต้นสดมาตำแล้วพอก หรือจะนำต้นแห้งนำมาบดให้เป็นผงแล้วใช้โรย[2]
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของหญ้าขัดใบยาว
1. น้ำสกัดจากต้นจะมีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้เล็กของกระต่ายให้บีบตัวเพิ่มมากขึ้น เมื่อฉีดสารสกัดเข้าหลอดเลือดดำ ถ้าฉีดเข้าช่องท้องของหนูเล็ก ภายใน 24 ชั่วโมงหนูจะยังไม่ตาย แต่ถ้าให้มากกว่านี้หนูเล็ก 5 ตัวที่ฉีดจะตาย 1 ตัว[2]
2. น้ำสกัดจากต้นจะมีฤทธิ์ทำให้ชีพจรเต้นช้าลง ลดการเต้นของหัวใจของกบที่แยกออกจากตัวและที่อยู่ในลำไส้[2]
3. หญ้าขัดใบยาวมีสาร Scopadulcic acid และสารในกลุ่ม Flavone เป็นสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งทั้งในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลอง และสาร Scopadulin ก็ยังมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดเริมด้วย และยังพบว่ามีสาร Glutinol เป็นสารที่มีฤทธิ์แก้อาการปวดและช่วยลดการอักเสบ ส่วนสารสกัดแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ในการยับยั้งการบีบตัวของลำไส้ ต้านการเจริญของเชื้อแบคทีเรีย และช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด[3]
4. น้ำสกัดจากต้นจะมีฤทธิ์ช่วยลดความดันโลหิตของกระต่ายที่ถูกทำให้สลบแล้วก่อนลดลง[2]
ประโยชน์ของหญ้าขัดใบยาว
1. ใช้เป็นส่วนผสมสำหรับทำผงขัดหน้าและผิวกาย ทำให้ผิวพรรณผุดผ่องดูมีน้ำมีนวล ด้วยการใช้หญ้าขัดมอญ 40 กรัม, ขมิ้นชัน 120 กรัม, ไพล 100 กรัม, เหงือกปลาหมอ 60 กรัม, ดินสอพอง 80 กรัม มาบดให้เป็นผงแล้วผสมให้เข้ากัน แล้วนำผงที่ได้ใส่น้ำลงไปด้วยไม่ให้เหลวหรือแห้งมากเกินไป แล้วนำมาใช้ขัดผิวหน้าเบา ๆ เสร็จแล้วทิ้งไว้ประมาณ 10 นาทีแล้วล้างออก และให้ทาน้ำผึ้งหรือโลชั่นตามทันที หากนำมาขัดตัวก็ให้ทาผงขัดที่ผสมน้ำขัดให้ทั่วตัว ทิ้งไว้พอหมาดแล้วจึงขัดออก และอาบน้ำด้วยน้ำอุ่น เสร็จแล้วก็เช็ดตัวให้แห้งแล้วทาผิวด้วยโลชั่นหรือน้ำมันงาทันที[7]
2. นำกิ่งกับลำต้นไปตากแห้งแล้วเอามามัดรวมกันใช้ทำเป็นไม้กวาด ในชนบทจะใช้ต้นขัดมอญที่โตเต็มที่แล้ว (สูงประมาณหนึ่งเมตรกว่า ๆ) มาตัดแล้วตากแห้ง ใบจะหลุดร่วงหมด ใช้ต้นประมาณ 2-3 ต้น มามัดรวมกัน ใช้เป็นไม้กวาดลานบ้านได้ดี และยังเหนียวทนและแข็งแรงด้วย[1],[2],[5]
สั่งซื้อเนสท์เล่ ออรัลอิมแพค อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “Broom weed“. อ้างอิงใน: หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 7. (ก่องกานดา ชยามฤต, ลีนา ผู้พัฒนพงศ์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [21 ธ.ค. 2013].
2. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 12 คอลัมน์: สมุนไพรน่ารู้. “หญ้าขัด“. (ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ). อ้างอิงใน: หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรจีน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [21 ธ.ค. 2013].
3. CHM กรมวิชาการเกษตร. “หญ้าขัดใบยาว“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: chm.doa.go.th. [21 ธ.ค. 2013].
4.งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนวารินชำราบ. “หญ้าขัดใบยาว“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ict2.warin.ac.th/botany/. [21 ธ.ค. 2013].
5. พันธุ์ไม้พื้นล่าง เครือข่ายกาญจนาภิเษก โครงการอุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ . “หญ้าขัดใบยาว“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.kanchanapisek.or.th. [21 ธ.ค. 2013].
6. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “ขัดมอญ“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com. [21 ธ.ค. 2013].
7. มูลนิธิสุขภาพไทย. “ผงขัดหน้าและผิวกาย“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaihof.org. [22 ธ.ค. 2013].
8. รายชื่อพรรณไม้ (ป่า) ในประเทศไทย เครือข่ายการวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้ (ประเทศไทย) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “Family : MALVACEAE“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.frcdb.forest.ku.ac.th/Forest/. [22 ธ.ค. 2013].