ตองแตก
เป็นไม้พุ่ม แตกแขนงจากรากหรือโคนต้นลำต้น ชาวไทใหญ่จะใช้ใบตากแห้งชงดื่มแก้อาการง่วง ดอกสีขาวเหลือง ผลเว้าหรือบุ๋มสีเขียว

ตองแตก

ตองแตก เป็นไม้พุ่ม แตกแขนงจากรากหรือโคนต้นลำต้น ชาวไทใหญ่จะใช้ใบตากแห้ง นำมาชงเหมือนชาดื่มแก้อาการง่วง มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Baliospermum solanifolium (Burm.) Suresh และมีชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ คือ Baliospermum axillare Blume, Baliospermum montanum (Willd.) Müll.Arg.) โดยจัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)[1],[2],[3] ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า นองป้อม ลองปอม, ตองแต่, ทนดี, เปล้าตองแตก, ถ่อนดี, โทะโคละ พอบอเจ๊าะ, ยาบูเวอ หญ้าโวเบ่อ เป็นต้น[1]

ลักษณะตองแตก

  • ต้น เป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็ก ที่มีความสูงได้ประมาณ 1-2 เมตร เป็นพรรณไม้ที่มีอายุอยู่ได้นานและทนทาน
    – ลำต้นเป็นสีเขียวมีขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร
    – เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล ยอดอ่อนมีขนสีขาว
    – สามารถขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
    – มีการกระจายพันธุ์ในอินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ ศรีลังกา ลงมาจนถึงพม่า กัมพูชา ลาว เวียดนาม อินโดจีน คาบสมุทร-มาเลเซีย เกาะบอเนียว สุมาตรา ชวา มาลูกู สุราเวศรี เลสเซอร์ เกาะซันดร้า
    – ในประเทศไทยนั้นจะพบได้ทั่วไปตามป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าไผ่ และตามที่รกร้าง จนถึงระดับความสูง 700 เมตร[1],[2],[3],[6],[7]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน และใบมีขนาดและรูปร่างต่างกัน
    – ใบที่อยู่ส่วนยอด เป็นรูปรีหรือรูปใบหอก มีขนาดกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-7 เซนติเมตร
    – ใบที่อยู่โคนต้น ขอบใบจะหยักเว้าเป็น 3-5 แฉก จะเป็นรูปไข่แกมขอบขนานหรือเกือบกลม ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ตามขอบใบจักเป็นซี่ฟันห่างกันไม่สม่ำเสมอ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 7-8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-18 เซนติเมตร
    – เนื้อใบบาง เส้นใบด้านล่างเห็นชัดกว่าด้านบน ก้านใบมีลักษณะเรียวยาว มีความยาวประมาณ 2-6 เซนติเมตร ยอดอ่อนมีขน-[1],[3]
  • ดอก มีขนาดเล็ก เป็นสีขาวเหลือง ออกเป็นช่อตามซอกใบ ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ในช่อเดียวกัน
    – ช่อดอกมีลักษณะเล็กเรียว ยาวประมาณ 3.5-12 เซนติเมตร
    – ดอกเพศผู้ จะอยู่ตอนบนของช่อและมีจำนวนมาก มีรูปร่างกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 มิลลิเมตร มีกลีบเลี้ยง 4-5 กลีบ ฐานดอกมีต่อมประมาณ 4-6 ต่อม มีเกสรเพศผู้ประมาณ 15-20 อัน อับเรณูคล้ายกับรูปถั่ว ก้านดอกย่อยมีลักษณะเล็กเรียวคล้ายเส้นด้าย มีความยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร
    – ดอกเพศเมีย จะอยู่โคนช่อของดอก มีกลีบเลี้ยงเป็นรูปไข่ปลายแหลม ขอบจัก ฐานดอกเป็นรูปถ้วยสั้น ๆ รังไข่มี 3 พู ก้านเกสรเพศเมียจะแยกออกเป็น 2 แฉก[1],[2],[3]
  • ผล มีลักษณะเป็นพู 3 พู
    – มีก้านเกสรเพศเมียติดอยู่ 2 อัน
    – ปลายผลเว้าหรือบุ๋ม
    – โคนผลกลม มีกลีบเลี้ยงติดอยู่ที่ขั้วผล โคนของผลจะมีสีเข้มกว่าตอนปลาย
    – ผลเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะแตกออกตามยาวที่กลางพู
    – แต่ละพูจะมีเมล็ด 1 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปขอบขนาน[1],[2],[3]

สรรพคุณ

  • ราก ใช้ฝนทาแก้อาการฟกช้ำ (ราก)[6]
  • ราก ใช้เป็นยารักษาโรคโลหิตจาง (ราก)[5]
  • ราก ใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาขับปัสสาวะ (ราก)[5]
  • ราก ใช้เป็นยาแก้อาการบวมน้ำ แก้ดีซ่าน แก้ม้ามอักเสบ (ราก)[2],[3],[5]
  • ราก ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับลม แก้อาการจุกเสียด แก้ท้องเสีย (ราก)[5],[6],[7]
  • ราก ใช้ต้มกับน้ำดื่มหรือฝนน้ำกินเป็นยาถ่ายลมเป็นพิษ (อาการผื่นคันหรือตุ่มหนองที่ผิวหนัง) [1],[2],[3],[4]
  • ราก มีรสขมเล็กน้อย ใช้ต้มกับน้ำดื่มหรือฝนน้ำกินเป็นยาถ่ายเสมหะเป็นพิษ (เสมหะเขียวเป็นก้อนหรือบิด) แก้เสมหะ ขับเสมหะ (ราก)[1],[2],[3],[5],[7]
  • ราก ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาถ่ายหรือยาระบายชนิดที่ไม่รุนแรงมากนัก เหมาะสำหรับคนไข้โรคริดสีดวงทวารที่ใช้ยาดำเป็นยาถ่ายไม่ได้ และเป็นยาถ่ายพิษพรรดึก (ราก)[1],[2],[3],[4],[5],[7]
  • ใบ ใช้ตำพอกแผล ห้ามเลือด (ใบ)[6]
  • ใบ นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ร้อนใน (ใบ)[6]
  • ใบ นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาช่วยขับเหงื่อ (ใบ)[5]
  • ใบ ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคกระเพาะ (ใบ)[8]
  • ใบ นำมาต้มกับน้ำหรือแช่กับน้ำกินเป็นยาแก้โรคหืดหอบ (ใบ)[2],[4],[5],[6]
  • น้ำยางจากยอดอ่อน ใช้ใส่รักษาแผลทั้งสดและเรื้อรัง แผลโรคปากนกกระจอก (ใบ)[8]
  • ชาวไทใหญ่นั้นจะใช้ใบตากแห้ง นำมาชงเหมือนชาดื่มแก้อาการง่วง (ใบ)[5]
  • ใบแห้ง นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาถ่ายก็ได้ (ใบแห้ง)[1],[3],[4],[5]
  • น้ำมันจากเมล็ด ใช้เป็นยาทาแก้อาการปวดตามข้อ (เมล็ด)[2],[5]
  • เมล็ด ใช้เป็นยาถ่ายอย่างแรง และภายในเมล็ดจะมีน้ำมันที่เป็นพิษมาก ซึ่งเป็นยารุยาถ่ายอย่างแรงถึงกับถ่ายเป็นน้ำ จึงไม่นิยมใช้กัน (เมล็ด)[1],[2],[3],[4],[5]
  • เมล็ด ใช้ภายนอกนำมาตำหรือบดทาบริเวณที่ปวดเมื่อย ทำให้ร้อนและเลือดไหลเวียน ช่วยกระตุ้นให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณที่ทา (เมล็ด)[2],[6]
  • ต้น ใช้เป็นยาบำรุงน้ำดี (ต้น)[7]
  • ทั้งต้น นำมาต้มกับน้ำอาบ สำหรับผู้หญิงหลังคลอด ช่วงอยู่ไฟ (ทั้งต้น)[5]
  • ใบและเมล็ด ใช้เป็นยาแก้ฟกบวม (ใบ, เมล็ด)[3]
  • ใบและเมล็ด ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ (ใบ, เมล็ด)[3]
  • ราก มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ ใบ มีสรรพคุณเป็นยาถอนพิษไข้ เมล็ด มีสรรพคุณเป็นยาถ่ายพิษไข้ (ราก, ใบ, เมล็ด)[7]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

รากมีอนุพันธ์ของ phorbol ester เช่น baliospermin และ montanin เป็นสารที่ทำให้ถ่ายและมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ในหลอดทดลอง แต่ควรมีการศึกษาวิจัยต่อไป[4]

สั่งซื้อเนสท์เล่ ออรัลอิมแพค อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “ตอง แตก (Tong Taek)”. หน้า 117.
2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ตอง แตก”. หน้า 298-299.
3. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ตอง แตก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [22 ธ.ค. 2014].
4. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ตอง แตก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/. [22 ธ.ค. 2014].
5. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ตอง แตก, เปล้าตอง แตก”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., หนังสือพืชสมุนไพรในสวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน ฉบับสมบูรณ์ (พงษ์ศักดิ์ พลเสนา)., หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 7 (ก่องกานดา ชยามฤต, ลีนา ผู้พัฒนพงศ์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [22 ธ.ค. 2014].
6. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “ตอง แตก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [22 ธ.ค. 2014].
7. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ตอง แตก”. อ้างอิงใน : หนังสือพรรณไม้เมืองไทย พืชสมุนไพร 1. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [22 ธ.ค. 2014].
8. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ตอง แตก”. อ้างอิงใน : หนังสือพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง (อัปสร และคณะ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [22 ธ.ค. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1. https://commons.wikimedia.org/
2. https://www.flickr.com/