ต้นขันทองพยาบาท สรรพคุณของรากใช้รักษาน้ำเหลืองเสีย

0
1354
ขันทองพยาบาท
ต้นขันทองพยาบาท สรรพคุณของรากใช้รักษาน้ำเหลืองเสีย เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ปลายและโคนใบแหลม ขอบใบหยัก ดอกเป็นช่อสั้นสีเขียว ผลมีขนาดเล็กสีเขียว ผลสุกสีเหลืองอมส้ม
ขันทองพยาบาท
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ปลายและโคนใบแหลม ขอบใบหยัก ดอกเป็นช่อสั้นสีเขียว ผลมีขนาดเล็กสีเขียว ผลสุกสีเหลืองอมส้ม

ขันทองพยาบาท

ขันทองพยาบาท มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะพบได้มากในประเทศไทย อินเดีย พม่า และในพื้นที่เขตอินโดจีน หรือคาบสมุทรมลายู[8] ชื่อวิทยาศาสตร์ Suregada multiflora (A.Juss.) Baill. ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Gelonium multiflorum A.Juss.[1] จัดอยู่ในวงศ์ วงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)[1],[5] ชื่ออื่น ๆ หมากดูด (ประเทศไทย), มะดูกเหลื่อม[2] (ภาคเหนือของไทย), ขันทองพยาบาท มะดูก หมากดูก (ภาคกลางของไทย), กะดูก[1] กระดูก[2] (ภาคใต้ของไทย), มะดูกเลื่อม[1] (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของไทย), มะดูกดง (จังหวัดปราจีนบุรี), ขนุนดง[1] ขุนดง[2] (จังหวัดเพชรบูรณ์), ยางปลวก[2] ยางปลอก[1] ยายปลวก[5] ฮ่อสะพานควาย (จังหวัดแพร่และน่าน), ดูดหิน (จังหวัดสระบุรี), ดูกใส ดูกไทร ดูกไม้ เหมือนโลด (เลย), ดูกไหล (จังหวัดนครราชสีมา), ทุเรียนป่า ไฟ (จังหวัดลำปาง), ขุนตาก[1] ข้าวตาก[2] (จังหวัดกาญจนบุรี), ขอบนางนั่ง (จังหวัดตรัง), ขันทองพยาบาทเครือ ขัณฑสกร ช้องลำพัน สลอดน้ำ (จังหวัดจันทบุรี), ข้าวตาก ขุนทอง คุณทอง (จังหวัดประจวบคีรีขันธ์), ขันทอง (จังหวัดพิษณุโลก), ดีหมี (จังหวัดพิษณุโลกและอุตรดิตถ์), เจิง[1] โจ่ง[3] (จังหวัดสุรินทร์) เป็นต้น[1],[2],[4],[9]

ลักษณะของขันทองพยาบาท

  • ต้น
    – เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง
    – ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง เปลือกต้นมีสีน้ำตาลและมีรอยแตกเป็นร่องทั่วลำต้น โดยลำต้นจะแตกกิ่งก้านออกเป็นทรงพุ่มกลม และที่บริเวณกิ่งก้านจะมีขนรูปดาวขึ้นปกคลุม[1],[2],[5],[8]
    – ความสูงของต้น ประมาณ 7-13 เมตร
    – การขยายพันธุ์ด้วยการใช้วิธีการเพาะเมล็ด
  • ใบ 
    – เป็นใบเดี่ยว ใบมีรูปร่างเป็นใบหอกแกมขอบขนาน ปลายใบและโคนใบแหลม ตรงขอบใบหยักเป็นซี่ฟัน ใบเรียบและมีความเป็นมันแต่ตรงบริเวณด้านล่างใบจะมีขนเป็นรูปดาว และตรงท้องใบจะมีสีอ่อนกว่าบริเวณอื่น
    – ใบมีหูใบมีขนาดเล็กแบ่งเป็นคู่ ๆ เชื่อมต่อกัน ซึ่งใบเมื่อหลุดร่วงไปจะทิ้งแผลใบเป็นวงเอาไว้บนลำกิ่ง[1],[2],[5]
    – สัดส่วนขนาดของใบ ใบมีความกว้างประมาณ 3-8 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 9-22 เซนติเมตร และก้านใบที่มีความยาวประมาณ 2-5 มิลลิเมตร
    – เป็นไม้ไม่ผลัดใบ
  • ดอก
    – ออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ดอกจะมีลักษณะเป็นช่อสั้น ๆ ขึ้นบริเวณซอกใบ โดยภายในแต่ละช่อดอกจะมีดอกย่อย 5-10 ดอก กลีบของดอกย่อยมีรูปร่างเป็นหอกปลายแหลม กลีบมีสีเขียวอมเหลือง ดอกมีกลีบรองดอกอยู่ 5 กลีบ ดอกเป็นดอกแบบแยกเพศ โดยดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้อยู่ประมาณ 35-60 ก้าน ส่วนดอกเพศเมียมีเกสรเพศเมียอยู่ประมาณ 2-3 ก้านและมีรังไข่อยู่ 3 ช่องอยู่เหนือวงกลีบ[5]
  • ผล 
    – ออกผลในช่วงเดือนเมษายนไปจนถึงเดือนมิถุนายน ผลมีขนาดเล็กเป็นรูปทรงเกือบกลม ผลมีพู 3 พู และตรงยอดผลจะมีติ่งเล็ก ๆ ติดอยู่ ผลอ่อนมีสีเขียว แต่เมื่อผลสุกแล้วจะมีสีเหลืองอมส้ม
  • เมล็ด 
    – เมล็ด มีขนาดเล็ก รูปร่างค่อนข้างกลม มีสีน้ำตาลเข้ม ภายนอกมีเยื่อบาง ๆ สีขาวห่อหุ้มอยู่ โดยภายในผลจะมีเมล็ดอยู่ 2-3 เมล็ด[5]

สรรพคุณของขันทองพยาบาท

1. เนื้อไม้ เปลือกต้น และราก มีสรรพคุณเป็นยารักษาประดง (โรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการคัน) (เนื้อไม้[1],[2],[3],[5], เปลือกต้น[2],[5], ราก[5])
2. เนื้อไม้ เปลือกต้น และราก ใช้ทานรักษาอาการพิษในกระดูกกำเริบ (เนื้อไม้[1],[2],[3],[5], เปลือกต้น[2],[5], ราก[5])
3. เนื้อไม้และเปลือกต้น นำมาใช้ทานเป็นยาฆ่าพยาธิ (เนื้อไม้[1],[3],[5], เปลือกต้น[4],[5])
4. เนื้อไม้และเปลือกต้น นำมาใช้ทานเป็นยารักษากามโรค (เนื้อไม้[1],[2],[3],[4],[5], เปลือกต้น[2])
5. เนื้อไม้และเปลือกต้นมีสรรพคุณในการรักษาโรคลมพิษ (เนื้อไม้, เปลือกต้น)[1],[2],[3],[4],[5]
6. เนื้อไม้และเปลือกต้นมีฤทธิ์เป็นยารักษาโรคผิวหนังได้ทุกชนิด (เนื้อไม้, เปลือกต้น)[1],[2],[3],[5],[8]
7. เปลือกต้นและเนื้อไม้ มีสรรพคุณในการขับลมและรักษาอาการโลหิตเป็นพิษ (เปลือกต้น, เนื้อไม้)[5]
8. เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยารักษาอาการปวดไขข้อ (เปลือกต้น)[9]
9. เปลือกต้นมีสรรพคุณในการช่วยขับน้ำเหลืองเสีย (เปลือกต้น)[5]
10. เปลือกต้นใช้บำรุงเหงือกและฟัน หรือนำมาใช้รักษาอาการที่เกี่ยวกับเหงือกและฟันก็ได้เช่นกัน[1],[2],[3],[5]
11. เปลือกต้นมีสรรพคุณช่วยรักษาปอดพิการ (เปลือกต้น)[5]
12. เปลือกต้นมีสรรพคุณในการรักษาโรคตับพิการ (เปลือกต้น)[1],[2],[3],[5]
13. เปลือกต้นใช้รับประทานเป็นยาถ่าย หรือยาระบายได้ (เปลือกต้น)[1],[2],[3],[5]
14. เนื้อไม้และราก มีสรรพคุณรักษาน้ำเหลืองเสีย (เนื้อไม้, ราก)[5]
15. เนื้อไม้ มีสรรพคุณเป็นยารักษาไข้[4],[5]
16. ราก เป็นหนึ่งในส่วนประกอบหลักของตำรับยา “พิกัดเนาวโลหะ” ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณในการดับพิษทั้งปวง ขับระดูมาไม่ปกติ ฆ่าพยาธิ ขับเสมหะ ชำระลำไส้ และรักษาโรคตับ[10]
17. รากนำมาต้มใช้สำหรับดื่มเป็นยารักษาไข้[8]
18. รากช่วยขับลม[5]

ประโยชน์ของขันทองพยาบาท

1. ต้นมักจะปลูกไว้สำหรับประดับสวน เนื่องจากทรงพุ่มที่มีความโดดเด่นและดอกที่มีความสวยงาม[6]
2. เนื้อไม้นำมาใช้ทำเป็นยาเบื่อ[5]
3. เนื้อไม้นำมาทำเป็นเครื่องมือหรือเครื่องจักสาน[9]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

จากการวิจัยพบว่า เปลือกต้นเมื่อนำมาสกัดจะพบสารไดเทอร์ปีน 7 ชนิด คือ abbeokutone, ent-3-oxo-16-kaurene-15β,18-diol, ent-16-kaurene-3β, 15β-diol, ent-kaurene-3β,15β,18-diol, helioscopinolide A, helioscopinolide C และ helioscopinolide I โดยได้นำสารแต่ละชนิดมาทดสอบฤทธิ์ในการต่อต้านอาการแพ้ พบว่าสารทั้ง 7 ชนิด มีฤทธิ์ในการยับยั้งการปล่อยเอนไซม์ที่มีชื่อว่า β-Hexosaminidase แต่สารดังกล่าวไม่ได้มีผลในการยับยั้งฤทธิ์ของเอนไซม์โดยตรง[11]

สั่งซื้อ อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ขันทองพยาบาท”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 101-102.
2. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ขันทองพยาบาท (Khan Thong Phayabat)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 61.
3. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. “ขันทองพยาบาท”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). หน้า 77.
4. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. “ขันทองพยาบาท”. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). หน้า 196.
5. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ขันทองพยาบาท”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [12 ก.พ. 2014].
6. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “ขันทองพยาบาท”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [12 ก.พ. 2014].
7. ฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในโรงเรียน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. “ดูกใส ขันทองพยาบาท”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: copper.msu.ac.th/plant/. [12 ก.พ. 2014].
8. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ขันทองพยาบาท”. อ้างอิงใน: หนังสือพืชสมุนไพร เล่ม 2 และ 3, หนังสือไม้ต้นในสวน Tree in the Garden. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [12 ก.พ. 2014].
9. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ, สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “ขันทองพยาบาท”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: biodiversity.forest.go.th. [12 ก.พ. 2014].
10. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “กวาวเครือแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [12 ก.พ. 2014].
11. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ฤทธิ์แก้แพ้ของสารสกัดที่ได้จากเปลือกของต้นขันทองพยาบาท”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th. [12 ก.พ. 2014].
12. https://medthai.com/
อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.monaconatureencyclopedia.com/
2.https://commons.wikimedia.org/