ตรีผลา
ตรีผลา (Triphala) คือ สมุนไพรที่ประกอบพืชสมุนไพร 3 ชนิด ที่มีถิ่นกำเนิดในอินเดียถูกนำมาใช้เป็นยาแผนโบราณมานานกว่า 1,000 ปี เพื่อรักษาอาการต่างๆ ประกอบด้วยผลของ มะขามป้อม หรือ มะขามป้อมอินเดีย (Emblica officinalis) , สมอพิเภก (Terminalia bellirica), สมอไทย(Terminalia chebula) ตรีผลาเป็นที่รู้จักกันทั้งวงการแพทย์ไทยและในกลุ่มของอายุรเวทอินเดียตรีผลาถือเป็นยาพื้นฐานที่เด่นเรื่องการปรับสมดุลของธาตุทั้ง 4 ในร่างกาย และได้ถูกขนานนามว่า“ ราชาแห่งการปรับสมดุลธาตุและล้างพิษ ”
ข้อมูลโภชนาการในผงตรีผลาหนึ่งช้อนชาหรือประมาณ 2.8 กรัม
พลังงาน 10 แคลอรี่ ใยอาหาร 1 กรัม โปรตีน 0 กรัม ไขมัน 0 กรัม คาร์โบไฮเดรต 3 กรัม และ น้ำตาล 0 กรัม
การใช้ตรีผลา
ตรีผลาถูกนำมาแปรรูปและจำหน่ายในรูปแบบผง เครื่องดื่มสมุนไพร สารสกัด แคปซูล หรือยาเม็ด ทั้งในรูปแบบยา อาหารเสริม ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก เครื่องดื่มบํารุงร่างกาย ซึ่งพบได้ทั่วไปตามร้านยา ร้านสะดวกซื้อร้านขายอาหารเสริม และในทางออนไลน์
หลายคนอาจจะรู้จัก “ ตรีผลา ” ครั้งแรกจากยาสมุนไพรบำรุงร่างกายหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมในช่วงไม่นานมานี้เอง แล้วแทบจะในทันทีก็มีกระแสตามออกมามากมาย ทั้งด้านที่เป็นคุณและด้านที่เป็นโทษ จนทำให้บางคนเริ่มหวาดระแวงแล้วว่า ตรีผลาคืออะไรกันแน่ ตรีผลาอันตราย หรือมีสรรพคุณแบบที่เคยได้ยินมาจริงหรือไม่ เมื่อตัดสินใจลองใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของตรีผลาอยู่จะปลอดภัยหรืออันตรายมากน้อยแค่ไหน
แม้ว่าบ้านเราอาจไม่คุ้นชื่อ ตรีผลา มากนัก แต่นี่เป็นตำรับยาตามแพทย์แผนไทยโบราณที่มีมานานแสนนานแล้ว ทั้งวงการแพทย์ไทยและในกลุ่มของอายุรเวทอินเดีย ตรีผลาถือเป็นยาพื้นฐานที่เด่นเรื่องการปรับสมดุลของธาตุทั้ง 4 ในร่างกาย ถึงขนาดได้รับฉายาว่าเป็น “ ราชาแห่งการปรับสมดุลธาตุและล้างพิษ ” กันเลยทีเดียว นั่นหมายความว่าสรรพคุณของตรีผลาย่อมมีหลากหลาย และหากใช้อย่างถูกต้องก็ย่อมเกิดประโยชน์ที่มาพร้อมกับความปลอดภัยอย่างแน่นอน
อันที่จริง ตรีผลา นั้นไม่ได้เป็นสมุนไพรพันธุ์ใหม่ หรือเป็นของแปลกประหลาดอะไร แต่เป็นเพียงการนำสมุนไพรพื้นบ้าน 3 ชนิดมารวมเข้าด้วยกัน ตามความหมายของคำคือ ตรี หมายถึง สาม และผลา หมายถึง ผล สมุนไพรทั้ง 3 ที่ถูกเลือกมาเป็นส่วนประกอบได้แก่ ลูกสมอไทย ลูกสมอพิเภกและมะขามป้อม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสมุนไพรที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี แล้วก็เป็นของหาง่ายในบ้านเราอีกด้วย เราอาจนิยามตรีผลาได้อีกแบบก็คือ “ สมุนไพรทรีอินวัน ” นั่นเอง เราลองมาทำความรู้จักสมุนไพรแต่ละชนิดกันดูก่อน
ลูกสมอไทย
สมอไทยเป็นพืชที่พบได้ทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ จัดเป็นไม้ยืนต้นที่มีความสูงเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20 เมตร ส่วนสำคัญที่นิยมนำมาใช้ประโยชน์ก็คือส่วนของผล มีลักษณะป้อมๆ คล้ายทรงไข่ ส่วนของเนื้อค่อนข้างหนา รสฝาดเปรี้ยว ผลที่แก่ได้ที่แล้วจะมีสีเขียวอมเหลือง แล้วก็เปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อผลนั้นแห้ง องค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญอยู่ในกลุ่มของสารแทนนิน ( tannin ) จึงโดดเด่นในเรื่องแก้ปัญหาโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ไม่ว่าจะเป็น แก้ลมจุกเสียด อาหารไม่ย่อย ท้องผูก เป็นต้น นอกจากนี้ก็จะเป็นโรคผิวหนัง โรคพยาธิ โรคหัวใจ คลื่นไส้ อาเจียน และอื่นๆ อีกมายมาย แม้ว่าเราจะนิยมใช้ส่วนของผลมากกว่าส่วนอื่น แต่ลำต้น เปลือก ดอก หรือแม้แต่ผลที่ยังอ่อนอยู่ก็สามารถนำมาทำตำรับยาได้ทั้งหมด
ลูกสมอพิเภก
สมอพิเภกเป็นกลุ่มของไม้ผลัดใบที่มีความสูงเฉลี่ยไม่ต่างจากสมอไทย จุดสังเกตคือบริเวณโคนต้นมักมีรากค้ำยันที่เราเรียกว่า “ พูพอน ” ซึ่งมีขนาดใหญ่ เปลือกหนาสีดำแกมขาว ผลมีลักษณะกลมและอยู่รวมกันเป็นพวงโต หากมองจากที่ไกลๆ ก็ดูคล้ายลำใยอยู่เหมือนกัน เปลือกผลของสมอพิเภกจะต่างจากสมอไทยเล็กน้อย คือมีความแข็งและมีขนที่ละเอียด สามารถทานได้ทั้งผลดิบและผลสุก โดยผลดิบจะมีคุณสมบัติเป็นยาระบายอ่อนๆ ส่วนผลสุกจะช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย ลดไข้และรักษาโรคภูมิแพ้ได้ สิ่งที่โดดเด่นของสมอพิเภกก็คือมีสารออกฤทธิ์ที่ต่อต้านเชื้อจุลินทรีย์ได้
มะขามป้อม
มะขามป้อมเป็นผลไม้ที่มีค่าวิตามินซีสูงมากชนิดนี้ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางที่พบได้มากในเขตป่าเบญจพรรณ ลักษณะต้นโดยรวมคล้ายต้นมะขามที่ดูโปร่ง ส่วนผลเป็นทรงกลมสีเขียวอ่อน และเมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลือง ขนาดของผลอยู่ที่ประมาณเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เซนติเมตร ทานได้ตั้งแต่ผลเริ่มโตเต็มที่ รสชาติออกเปรี้ยวฝาด และมีความรู้สึกหวานตามมา สรรพคุณคือช่วยแก้ไอ ขับเสมหะ ทำให้สดชื่นและแก้อาการผิวหนังอักเสบ มีงานวิจัยว่าช่วยป้องกันโรคมะเร็งและแก้พิษจากสารตะกั่วได้
จะเห็นว่าเพียงลำพังแค่สมุนไพรแต่ละตัวก็มีคุณประโยชน์ที่กว้างขวางครอบคลุมหลายอย่างอยู่แล้ว หากนำมารวมกันด้วยสัดส่วนที่เหมาะสมตามแบบฉบับของตรีผลา ก็จะยิ่งส่งเสริมกันให้ดียิ่งขึ้นไปอีก
สมดุลของร่างกายจากธาตุทั้ง 4
แล้วการปรับสมดุลธาตุมันสำคัญอย่างไร ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าร่างกายของเราจะประกอบด้วยองค์ประกอบหลายอย่าง ซึ่งทำงานสอดคล้องเชื่อมโยงกัน และระบบต่างๆ เหล่านี้ ในแนวทางการแพทย์อายุรเวทของอินเดียโบราณ จะแบ่งกลุ่มเป็น 3 กลุ่ม 4 ธาตุ ดังนี้
วาตะ หมายถึง ธาตุลม ว่าตามตรงก็คืออากาศ หน้าที่หลักคือควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับอากาศก็จัดเป็นธาตุลม เช่น ระบบหายใจ การเต้นของหัวใจ เป็นต้น
ปิตตะ หมายถึง ธาตุไฟ ความร้อนต่างๆ ที่อยู่ในกระบวนการของร่างกายทั้งหมดนั่นคือธาตุไฟ ได้แก่ ระบบเผาผลาญอาหาร อุณหภูมิร่างกาย กระบวนการดูดซึมอาหาร เป็นต้น นอกจากนี้ธาตุไฟก็ยังมีผลต่อสีผิวและแววตาด้วย
กผะ หมายถึง ธาตุดินและธาตุน้ำ ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ของร่างกายเลย ได้แก่ กระดูก กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น น้ำเหลือง น้ำเลือด เป็นต้น
หากองค์ประกอบทั้ง 3 กลุ่มนี้มีความสมดุลดี จะส่งผลให้ระบบต่างๆ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และร่างกายก็จะแข็งแรง แต่เมื่อไรที่มีแม้สักส่วนผิดเพี้ยนไป ก็จะเกิดความผิดปกติขึ้นที่จุดใดจุดหนึ่ง แล้วกระทบเป็นทอดๆ ไปยังส่วนอื่นๆ ตัวอย่างเช่น เมื่อระบบย่อยอาหารไม่ดี เริ่มจากท้องอืดท้องเฟ้อ ก็เชื่อมไปยังระบบขับถ่าย ทำให้ถ่ายไม่สะดวกหรือไม่ถ่าย เชื่อมโยงไปถึงระบบหายใจ ถ้าท้องอืดมากก็หายใจลำบาก เป็นต้น
ตรีผลา เป็นยาสมุนไพรที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งมีส่วนผสมของสมุนไพร 3 ชนิดคือ สมอพิเภก สมอไทย มะขามป้อม สรรพคุณของตรีผลาช่วยปรับสมดุลและล้างพิษในร่างกาย
ตรีผลาสรรพคุณ
เป็นยาอายุวัฒนะ : หน้าที่หลักของสมุนไพร ตรีผลา ก็คือการดูแลสุขภาพร่างกายแบบองค์รวม โดยการปรับส่วนที่บกพร่องหรือมีปัญหาให้กลับมาเข้าที่เข้าทาง การทำงานของระบบต่างๆ จึงสอดคล้องและสมบูรณ์ดังเดิม เคยมีผู้เชี่ยวชาญกล่าวไว้ว่า ความจริงแล้วมนุษย์เราสามารถเป็นอมตะได้ หากระบบร่างกายไม่ได้ทำงานผิดปกติไปจากเดิมในวันที่เริ่มต้น แต่เพราะความผิดปกติที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นี่เองที่ทำให้มนุษย์มีช่วงอายุที่จำกัด สมุนไพรตรีผลามีส่วนช่วยในการลดอัตราความผิดปกติของร่างกายที่จะเกิดขึ้นนั่นเอง ดังนั้นยาอายุวัฒนะชนิดนี้จึงทำให้ชีวิตยืนยาว กระตุ้นระบบการทำงานของร่างกาย กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
ล้างพิษในระบบร่างกาย : โดยปกติ ตรีผลา จะใช้ในแนวทางแพทย์อายุรเวทในการปรับปรุง 2 ระบบ คือ ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย ซึ่งเป็นส่วนที่สะสมสารพิษเอาไว้มาก ใครที่ขับถ่ายไม่ดีก็จะสังเกตเห็นได้ง่าย คือ มีสิวขึ้น ผิวหมองคล้ำ มีกลิ่นตัว และเจ็บป่วยบ่อย นี่คือสัญญาณที่บอกว่าร่างกายมีพิษมากเกินไป ส่วนผสมในตรีผลาทั้ง 3 ชนิด คือ สมอไทย สมอพิเภกและมะขามป้อม จะออกฤทธิ์ร่วมกันเพื่อกระตุ้นกระเพาะอาหารให้ทำงานได้ดีขึ้น จึงหมดปัญหาเรื่องการย่อยอาหารไปได้เปราะหนึ่ง แล้วจะกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ โดยไม่ทำให้เกิดอาการปวดบิดหรือมวนท้องเช่นเดียวกันกับสมุนไพรประเภทอื่นๆ หลังจากระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายกลับเข้าสู่สมดุลดีแล้ว แทบจะทุกอย่างในร่างกายก็จะกลับมาดีขึ้นด้วย และอีกหนึ่งประเด็นที่หลายคนไม่ค่อยรู้ก็คือ การที่เลือดมีสารอาหารน้อยก็เป็นผลมาจากในลำไส้มีสารพิษหรือมีขยะสะสมเยอะเกินไป ใครที่ไม่เคยให้ความสำคัญกับการขับถ่ายจึงต้องหันมาใส่ใจบ้างแล้วในตอนนี้
บำรุงสมอง สายตาและผิวพรรณ : การใช้ยาสมุนไพร ตรีผลา อย่างถูกต้องนั้น จะช่วยล้างพิษให้หมดไปจากร่างกาย ผิวพรรณจึงสดใสและแลดูสุขภาพดีขึ้น ทั้งยังมีส่วนผสมของมะขามป้อมที่วิตามินซีสูงมาก จึงส่งเสริมการทำงานของตับและระบบภูมิคุ้มกันได้ดี สามารถต้านไวรัส ต้านการอักเสบและลดไขมันในเส้นเลือดได้ สมองและสายตาจึงมีสุขภาพดีขึ้นไปด้วย
บรรเทาโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ : ส่วนประกอบตัวหนึ่งในตรีผลามีคุณสมบัติปรับสมดุลของระบบทางเดินหายใจ ช่วยลดอาการติดขัดและระคายเคืองต่างๆ เช่น อาการไอ หายใจไม่สะดวก เจ็บคอ เป็นต้น หากรับประทานในช่วงที่มีอาการเจ็บป่วยก็จะทุเลาลงได้ หลายคนก็หายเป็นปกติได้เลย แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะไม่ว่าอย่างไรตรีผลานั้นก็ไม่สามารถรักษาต้นเหตุของโรคระบบทางเดินหายใจที่ร้ายแรงได้ จึงเหมาะสำหรับใช้เป็นตัวช่วยอีกทางหนึ่งเท่านั้น
ลดน้ำหนัก : มีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจำนวนไม่น้อยเลยที่เลือกใช้สมุนไพร ตรีผลา เป็นส่วนประกอบ อันที่จริงก็เคยมีงานวิจัยเกี่ยวกับสรรพคุณข้อนี้ด้วยเหมือนกัน โดยใช้ตรีผลาเป็นยาหลอกเพื่อทดสอบกับผู้ป่วยโรคอ้วนจำนวนหนึ่ง ติดต่อกันเป็นระยะเวลามากกว่า 3 สัปดาห์ ผลปรากฏว่าเกือบทั้งหมดมีน้ำหนักลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และพบว่าตรีผลามีศักยภาพในการขับไขมันออกจากร่างกายได้ดี แต่ไม่ใช่ส่วนของไขมันสะสม เป็นส่วนของไขมันที่อยู่ในระบบย่อยอาหาร เมื่อเราทานของทอดของมันเข้าไป สารออกฤทธิ์ในตรีผลาจะเร่งขับไขมันเหล่านั้นออกเพื่อไม่ให้เกิดการสะสมเพิ่มเติม ดังนั้นหากต้องการใช้สมุนไพรเพื่อลดน้ำหนัก ก็ต้องออกกำลังกายควบคู่ไปด้วยเพื่อเผาผลาญไขมันเก่า
ต่อต้านอนุมูลอิสระ : อนุมูลอิสระก็เป็นอีกหนึ่งตัวการที่มักสร้างปัญหาให้กับร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นผิวพรรณไม่สดใส มีจุดฝ้ากระ รอยด่างดำต่างๆ อวัยวะภายในทำงานได้ไม่สมบูรณ์ เป็นต้น ตรีผลา มีสารออกฤทธิ์ที่ทำหน้าที่ต่อต้านอนุมูลอิสระที่สูงมาก จนได้รับการยอมรับทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ มีงานวิจัยรองรับว่าสารต้านอนุมูลอิสระในตรีผลานั้นช่วยบำรุงสุขภาพ ลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคตับ และความเสี่ยงที่จะเกิดเซลล์มะเร็งในร่างกายได้
ตรีผลา กินตอนไหน
การเลือกทาน ตรีผลา ต้องเลือกให้ดี เนื่องจากส่วนผสมของสมุนไพรตรีผลานั้น อันที่จริงก็เป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่เราสามารถหาได้ไม่ยาก ดังนั้นหากใครสะดวกที่จะแปรรูปสมุนไพรเพื่อปรุงเป็นตรีผลาเองก็ไม่มีปัญหา เพียงแค่ใช้สมอไทย สมอพิเภกและมะขามป้อมในลักษณะที่บดแห้งแบบละเอียดแล้ว ผสมเข้าด้วยกันในอัตราส่วนต่างๆ ที่ต้องการ สูตรมาตรฐานคืออัตราส่วน สมอไทย: สมอพิเภก: มะขามป้อม เท่ากับ 1:1:1 นอกจากนี้ก็จะมี
• ตรีผลาสูตรสำหรับฤดูฝน : ใช้ป้องกันโรคภัยต่างๆ ที่มากับฤดูฝน อัตราส่วน 3:1:2
• ตรีผลาสูตรสำหรับฤดูหนาว : ปรับสมดุลร่างกายในช่วงที่อากาศหนาวเย็น อัตราส่วน 3:1:2
• ตรีผลาสูตรสำหรับฤดูร้อน : ปรับแก้อาการร้อนใน อุณหภูมิร่างกายขึ้นสูง ธาตุไฟกำเริบ อัตราส่วน 3:1:2
แต่หากไม่สะดวกที่จะทำ สมุนไพรตรีผลาก็หาซื้อได้ทั่วไปในรูปแบบต่างๆ ทั้งแบบแคปซูลและผงสำหรับชงดื่ม แต่ต้องระวังการปนเปื้อนต่างๆ ให้มาก โดยเฉพาะเชื้อรา ผลิตภัณฑ์ที่สนใจต้องถูกเก็บไว้ในที่แห้งและผลิตมาไม่นานเกินไปนัก
ตรีผลา ยี่ห้อไหนดี
ในการเลือกซื้อตรีผลาเพื่อมาบริโภคนั้น นอกจากเลือกจากตรีผลายี่ห้อไหนดีแล้วจะต้องรู้ด้วยว่าชนิดตรีผลาแบบไหนเหมาะกับเรา เช่น
1. ต้องการตรีผลาลักษณะอย่างไร แบบน้ำหรือแบบแคปซูล เนื่องจากปริมาณความเข้มข้นของตรีผลาจะแตกต่างกันออกไป
• ตรีผลาแบบน้ำ มีลักษณะเป็นของเหลวบรรจุมาในขวด อาจมีสมุนไพรชนิดอื่นเข้ามาประกอบขึ้นอยู่กับสูตรการผลิตของแต่ละยี่ห้อ ข้อดีของตรีผลาแบบน้ำคือสามารถนำมาผสมกับน้ำผึ้ง น้ำตาลหรือวัตถุดิบอื่นเพื่อเพิ่มรสชาติให้ทานง่ายขึ้นได้
• ตรีผลแบบแคปซูล มีลักษณะเป็นผงบรรจุอยู่ในแคปซูล สามารถย่อยสลายได้ ข้อดีของตรีผลาแบบแคปซูลคือทานง่าย รสชาติหรือกลิ่นมีน้อย พกพาและเก็บรักษาได้สะดวก
2. ชอบรสธรรมชาติ หรือรสหวาน โดยรสธรรมชาติอาจทานยากสำหรับคนที่ไม่ชอบกลิ่นหรือรสชาติของสมุนไพรบางตัว ก็สามารถเลือกรสหวานเพื่อให้ทานได้ง่ายขึ้น
ตรีผลาข้อควรระวัง ข้อห้าม
เนื่องจากตรีผลากินเพื่อเป็นยาระบายอ่อนๆ จึงอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงทางเดินอาหาร รวมทั้งมีแก๊สในลำไส้ มีอาการปวดท้อง ท้องร่วง และตะคริว ผลข้างเคียงเหล่านี้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ใช้แต่ละคนบางคนผลข้างเคียงอาจเกิดขึ้นน้อย แต่บางคนที่มีอาการแพ้รุนแรงก็อาจมีอาการคลื่นไส้ วิงเวียน มีผื่นขึ้น ซึ่งจะค่อยๆ หายไปเองในเวลาไม่นาน สำหรับผู้หญิงที่อยู่ในช่วงมีประจำเดือน ตรีผลา จะทำให้เลือดประจำเดือนออกมามากกว่าปกติเป็นอันตรายได้เช่นกัน
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง
เอกสารอ้างอิง
Jansen, P.C.M., 2005. Terminalia chebula Retz. [Internet] Record from PROTA4U. Jansen, P.C.M. & Cardon, D. (Editors). PROTA (Plant Resources of Tropical Africa / Ressources végétales de l’Afrique tropicale), Wageningen, Netherlands. Accessed 7 June 2018.