ผมสวยได้ง่ายๆด้วยสมุนไพร “ใบหมี่”
ใบหมี่เป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้าน ช่วยกำจัดเหา ช่วยลดการหลุดร่วงของเส้นผม บำรุงหนังศีรษะ ฆ่าเชื้อรา

ใบหมี่

ใบหมี่ เป็นพืชสมุนไพรท้องถิ่นที่พบมากในเขตภาคเหนือและภาคอีสาน อาจไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในกลุ่มคนวงกว้างเท่าไรนัก เพราะยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้เต็มศักยภาพของสมุนไพรเท่าที่ควร แต่ก็มีชื่อเสียงพอตัวในกลุ่มของแชมพูสมุนไพร ด้วยว่าเป็นพืชใบหอมที่มีกลิ่นสุดพิเศษและมีคุณสมบัติที่ดีต่อเส้นผมด้วย ถึงขนาดที่กลายเป็นสูตรลับซึ่งใช้ต่อเนื่องยาวนานมามากกว่า 20 ปีแล้ว แต่เดิมหญิงสาวจากทุกชนเผ่าจะใช้ใบหมี่เป็นส่วนผสมสำคัญในการสระผม ด้วยการนำใบและเปลือกมาต้มเอาน้ำ แล้วใช้สระผมโดยไม่ต้องผสมสิ่งใดเพิ่ม ว่ากันว่าใบหมี่มีสารออกฤทธิ์ที่มีลักษณะเป็นเมือกลื่น ผมจึงนุ่มสลวยเป็นเงางามและไม่พันกัน แล้วก็มีสรรพคุณในการรักษารังแคกับแก้เหาได้ด้วย อย่างไรก็ตามใบหมี่ยังมีสรรพคุณที่ถูกซ่อนไว้อีกหลายอย่าง เรียกว่าแทบจะในทุกส่วนประกอบของต้นใบหมี่กันเลยทีเดียว 

ใบหมี่ มีชื่อเรียกอื่นๆ อีกหลายชื่อ ได้แก่ หมี หมี่เหม็น ใบเหมือดแกว หมูทะลวง ตังสีไพร ดอกจุ๋ม มือเบาะ เป็นต้น ซึ่งแต่ละตำรับยาก็จะเขียนระบุชื่อของใบหมี่แตกต่างกันไปด้วย เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้สนใจเกิดความสับสนได้บ่อยครั้ง ต้นใบหมี่เป็นไม้ยืนต้นที่มีความสูงตั้งแต่ 5 เมตรไปจนถึง 15 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกลมทึบ ตามยอดอ่อนและกิ่งอ่อนจะมีขนละเอียดเส้นสั้นๆ ขึ้นปกคลุมจนทั่ว ลำตันมีสีน้ำตาล เมื่อแก่แล้วก็จะแต่เป็นร่องตามยาว ใบเป็นใบเดี่ยวรูปวงรีที่ค่อนข้างมีเนื้อใบหนา แตกออกจากกิ่งแบบเรียงสลับ ผิวบนเป็นมันเรียบลื่น ผิวใต้ใบเป็นขนอ่อนๆ ส่วนใบมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ดอกออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง กลุ่มดอกมีสีเหลือง ไม่มีกลีบดอก มีเพียงใบประดับ กลีบเลี้ยงและเกสรตัวผู้จำนวนมาก สีเหลืองที่เรามองเห็นก็เป็นสีของเกสรตัวผู้นี่เอง ผลมีขนาดเล็ก เป็นเม็ดกลมสีเขียวสด อยู่เกาะกลุ่มกันเป็นพวงคล้ายกับมะเขือพวง เมื่อสุกผลจะกลายเป็นสีม่วงเข้ม

องค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญของใบหมี่

สารออกฤทธิ์ที่พบมากได้แก่ สารแทนนิน ( tannin ) ซึ่งเป็นสารโมเลกุลใหญ่และมีโครงสร้างซับซ้อน โดยธรรมชาติจะมีรสออกฝาด ช่วยลดระดับคลอเรสเตอรอลและต่อต้านอนุมูลอิสระ ต่อมาคือสารฟลาโวนอยด์ ( flavonoid ) เป็นสารในกลุ่มพอลิฟีนอล โดดเด่นด้านการต้านอนุมูลอิสระ และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ สารเมือก ( mucilage ) เป็นสารที่มีพอลิแซกคาไรด์เป็นส่วนประกอบ และเป็นตัวที่ทำให้ ใบหมี่ เหมาะกับการนำมาใช้เพื่อสระผมนั่นเอง นอกจากนี้ก็จะมี actinodaphnine, boldine, iso-boldine, laurelliptine, N-acetyl- laurelliptine, laruotetanine, N-acetyl-laurotetanine, N-methyl-laurotetanine, liriodenine, Litsea arabinoxylan PPS, litseferine, polysaccharide, reticuline และsebiferine

สรรพคุณของใบหมี่

บำรุงหนังศีรษะ ฆ่าเชื้อราและลดการหลุดร่วงของเส้นผม : นี่เป็นสรรพคุณข้อแรกที่ต้องกล่าวถึง เพราะเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สร้างชื่อเสียงให้กับคนเมืองน่านมาแล้ว ด้วยผลิตภัณฑ์แชมพูสมุนไพรจาก ใบหมี่ นั่นเอง สูตรที่ใช้เป็นตำรับยาที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ กระบวนการคือนำใบหมี่สดๆ ที่โตเต็มวัยแล้วมาย่อยให้มีขนาดเล็กลงด้วยการหั่นซอย แล้วนำไปหมักในถังสักช่วงหนึ่งก่อน เมื่อได้ที่จึงค่อยเอามาต้มและปั่นให้ละเอียดอีกทีหนึ่ง จะได้น้ำสมุนไพรใบหมี่ที่เข้มข้นพร้อมสารสกัดสำคัญที่ออกฤทธิ์ต่อเส้นผมและหนังศีรษะโดยเฉพาะ แต่เดิมเมื่อได้อย่างนี้แล้วก็นำไปสระผมได้เลย แต่ปัจจุบันก็มีการปรับปรุงให้เกิดความรู้สึกน่าใช้มากขึ้น ด้วยการนำไปผสมกับส่วนประกอบอื่นๆ ที่ช่วยให้เกิดฟอง บรรจุใส่ภาชนะไว้ใช้งานหรือจัดจำหน่ายได้เลย ที่สำคัญแชมพูที่ว่านี้ไม่ต้องเติมน้ำหอมสังเคราะห์เพิ่มอีก เพราะมีกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ของสมุนไพรใบหมี่อยู่แล้ว แถมยังหอมติดทนนานตลอดทั้งวันอีกด้วย

กำจัดเหา : ขนาดเชื้อราบนหนังศีรษะสมุนไพร ใบหมี่ ยังกำจัดให้สิ้นซากไปได้ แล้วกับแค่เหาตัวเล็กๆ มีหรือจะจัดการไม่ได้ หากคนภาคกลางกำจัดเหาด้วยใบน้อยหน่า คนทางเหนือเขาก็กำจัดเหาด้วยใบหมี่นี่แหละ วิธีการนั้นง่ายมากเลือกใบแก่ๆ จากต้น นำมาบดให้ละเอียดแล้วยีให้ทั่วศีรษะ จะให้ได้ผลดีต้องหมักทิ้งไว้ด้วย ยิ่งนานก็ยิ่งดี แต่ถ้าทนไม่ไหวจริงๆ อย่างน้อยขอให้ได้สักประมาณ 20 นาทีก่อนค่อยล้างออกแล้วสระผมตามปกติ วิธีนี้เป็นธรรมชาติและไม่มีสารตกค้างหรืออันตรายใดๆ จึงทำได้บ่อยตามที่ต้องการ และควรทำติดต่อกันในช่วงแรกจนกว่าจะเห็นว่าเหาหมดไปหรือลดน้อยลง

แก้ฝีที่มีหนอง : เรื่องของฝีจะว่าเป็นเรื่องเล็กก็ไม่ใช่ จะว่าเป็นเรื่องใหญ่ก็ไม่เชิง เพราะมันขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในการรักษาและตำแหน่งที่เกิดฝีขึ้น ถ้าเกิดในที่ลับและยังรักษาล่าช้า รับรองว่าเกิดหนองพร้อมกับจบที่การฝ่าออก ในขณะที่ถ้าตัดสินใจรักษาได้เร็วก็อาจจะแค่ทานยาเท่านั้น ใบหมี่ เป็นตัวยาสมุนไพรที่ใช้บรรเทาอาการของฝีที่มีหนองได้ด้วย โดยใช้ส่วนของรากมาตำให้ละเอียดหรือจะปั่นกับน้ำเพียงเล็กน้อยก็ได้ นำมาพอกบริเวณที่เป็นฝีสักพักใหญ่ๆ แล้วล้างออก ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรักษาฝีให้หายขาด จะช่วยทำให้อาการอักเสบและเป็นหนองลดน้อยลง ซึ่งเป็นผลดีต่อการรักษาต่อไปด้วย

บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ : แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในวงศ์เดียวกับขิงข่าหรือขมิ้น แต่ ใบหมี่ ก็มีสรรพคุณในการขับลมจากกระเพาะอาหารได้เช่นเดียวกัน โดยการนำส่วนของรากใบหมี่มาล้างทำความสะอาดแล้วต้มกับน้ำจนข้นงวด นำน้ำนั้นมาดื่มกิน สักพักอาการก็จะดีขึ้นเอง

แก้อาการประจำเดือนมาไม่ปกติ : ประจำเดือนของผู้หญิงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเป็นหนึ่งสัญญาณที่จะบอกได้ว่าตอนนี้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ดีอยู่หรือไม่ หากเมื่อไรมีอาการประจำเดือนขาด มากระปริดกระปรอย ไปจนถึงมามากเกินกว่าปกติ ก็ต้องตรวจเช็คให้รู้แน่ว่าเป็นโรคร้ายหรือไม่ ถ้าใช่ก็เข้ารับการรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ต่อไป แต่ในบางคนเป็นเพียงการเสียสมดุลของร่างกายหรือเลือดลมไม่ดีเท่านั้น แบบนี้ก็สามารถใช้สมุนไพรใบหมี่ช่วยได้ โดยเลือกรากที่ดูสมบูรณ์สักหน่อย ล้างให้สะอาดอย่าให้ติดคราบดินโคลน ตากให้แห้งสนิทด้วยแดดแรงสัก 3-4 วัน จากนั้นนำมาดองกับเหล้าขาว ใช้จิบหลังมื้ออาหารวันละครั้ง

แก้ปวดฟันและแก้ปัญหากลิ่นปาก : อาการปวดฟันนั้นค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว แต่สำหรับกลิ่นปาก ต้องทำความเข้าใจก่อนว่ามันเกิดได้จากหลายสาเหตุ หากเป็นเพราะระบบภายในไม่ดี เช่น ไม่ขับถ่าย มีสารพิษสะสมจำนวนมากในระบบทางเดินอาหาร หรือเป็นโรคร้ายแรงที่ทำให้เกิดความเสียหายของอวัยวะภายใน แบบนี้ ใบหมี่ ช่วยอะไรไม่ได้ แต่จะช่วยได้ในกรณีที่เป็นกลิ่นปากจากปัญหาในช่องปากเพียงอย่างเดียว เช่น ฟันผุ ฟันคุด รำมะนาด เป็นต้น วิธีการคือมองหาส่วนเปลือกที่ลำต้นซึ่งแก่สักหน่อย นำไปฝนกับน้ำสะอาดและป้ายไปตามจุดที่รู้สึกปวดฝันหรือมีสัญญาณฟันผุ ทำซ้ำทุกครั้งที่แปรงฟัน และเมื่อต้องการระงับกลิ่นปากก็ฝนกับน้ำสะอาดปริมาณมากสักหน่อย แล้วเอามาอมบ้วนปากหลายๆ ครั้ง

แก้อาการผดผื่นคัน : ส่วนเปลือกของ ใบหมี่ นอกจากแก้ปัญหาช่องปากได้แล้ว ก็ยังใช้เพื่อรักษาผดผื่นจากอาการแพ้ต่างๆ ได้ด้วย โดยนำเปลือกไปล้างให้สะอาด ก่อนใส่หม้อลงต้ม ไม่ต้องรอจนข้นมากนัก แค่น้ำเริ่มเปลี่ยนสีก็เพียงพอแล้ว ปล่อยทิ้งเอาไว้ให้อุ่นแล้วใช้อาบชำระร่างกาย

รักษากลากเกลื้อน : รูปแบบการนำใบหมี่มารักษาโรคผิวหนังจำพวกกลากเกลื้อนทำได้ 2 วิธี อย่างแรกคือการใช้ส่วนของเปลือกมาต้มน้ำอาบเช่นเดียวกับการแก้อาการผดผื่นคัน อีกอย่างคือการใบสดที่ตำละเอียดดีแล้วมาขัดถูและทาบริเวณที่เป็นกลากเกลื้อน ทำอย่างสม่ำเสมอก็จะเห็นผลลัพธ์ที่น่าพอใจในเวลาไม่นาน

ห้ามเลือด : ทันทีที่เกิดบาดแผลมีเลือดออก ก็สามารถนำสมุนไพร ใบหมี่ มาใช้ได้แบบเดียวกับการใช้ยาสามัญประจำบ้านทั่วไป แต่เนื่องจากมีขั้นตอนก่อนใช้งานเล็กน้อย จึงต้องทำเตรียมติดบ้านเอาไว้แต่เนิ่นๆ เลย ด้วยการนำเปลือกต้นใบหมี่ไปล้างทำความสะอาด แล้วตากให้พอแห้ง นำมาบดให้ละเอียดเป็นผง บรรจุใส่ขวดโหลที่ฆ่าเชื้อแล้วพร้อมมีฝาปิดมิดชิด ครั้นจะใช้ก็ตักออกมาพอประมาณ ผสมเข้ากับน้ำสะอาดหรือน้ำนมก็ได้ ใช้สำหรับทาแผลห้ามเลือดและลดอาการอักเสบที่แผลได้

“ ใบหมี่ ” เป็นพืชใบหอมที่มีกลิ่นสุดพิเศษและมีคุณสมบัติที่ดีต่อเส้นผม รักษารังแค บำรุงหนังศีรษะ ลดการหลุดร่วงของเส้นผม

คุณประโยชน์ในด้านอื่นๆ ของใบหมี่

ก่อนจะไปลงรายละเอียดในประโยชน์ของ ใบหมี่ อย่างแรกที่ต้องรู้ก่อนเลยก็คือ ผลของใบหมี่เมื่อสุกแล้วสามารถรับประทานได้ เหมือนกับพืชผักทั่วไป เพียงแต่รสชาติอาจไม่ค่อยถูกปากคนทั่วไปมากนัก

  • ใบหมี่ใช้สำหรับช่วยในการบ่มผลไม้ต่างๆ เช่น กล้วย ขนุน มะม่วง โดยลดระยะเวลาบ่มให้สั้นลง
  •  ส่วนของดอกสามารถนำมาตากแห้งและอบน้ำหอมเพื่อใช้เป็นของชำร่วยได้
  • ยางจากลำตันนิยมใช้เพื่อทาเครื่องจักสาน เพื่อให้ทนทานและมีผิวสัมผัสที่หนาขึ้น
  • สารเมือกในใบหมี่ใช้เป็นสารเพิ่มความหนืดให้กับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางได้หลายประเภท
  • ส่วนประกอบของต้นใบหมี่ใช้สำหรับการย้อมผ้าได้ 2 ส่วน ส่วนแรกคือใบ เมื่อนำมาย้อมก็จะให้สีเขียวสดสวยงาม อีกส่วนคือเปลือก เป็นตัวช่วยให้ผ้าที่ย้อมติดสีดีขึ้น

ผงที่บดละเอียดจากส่วนของเปลือกต้นใบหมี่ ใช้ทำเป็นธูปจุดไล่แมลงได้

ข้อมูลเพิ่มเติมในทางเภสัชวิทยาของใบหมี่

1. ส่วนของ ใบหมี่ มีสารออกฤทธิ์ที่ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราได้ดีมาก ทั้งยังยับยั้งการหดเกร็งของลำไส้ได้ด้วย
2. น้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้จากต้นใบหมี่ มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการนอนหลับ
3. สารสกัดเมทานอลของส่วนผิวใบ มีสารเคมีสำคัญที่ออกฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วงและโรคบิด
4. รากของต้นใบหมี่ เป็นวัตถุดิบพื้นฐานที่นิยมผสมในยาเย็น ยาผง และยาแก้ซาง
5. ใบหมี่มีความเป็นพิษด้วยเหมือนกัน เพราะผลจากการทดลองในหนู พบว่ามีหนูเสียชีวิตไปประมาณครึ่งหนึ่งของทั้งหมด ดังนั้นหากเราจะใช้สมุนไพรใบหมี่เพื่อรับประทาน ก็อาจจะต้องเลี่ยงที่จะใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

ศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “การนำสมุนไพรใบหมี่มาใช้ทางเครื่องสำอาง APPLICATION OF BAI MEE (Litsea glutinosa) IN COSMETICS”.

[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.ist.cmu.ac.th/researchunit/pcrnc/. [28 ก.ย. 2014].
ลานปัญญา. (by bangsai). “ต้นหมี่…”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : lanpanya.com/proiad/archives/152. [28 ก.ย. 2014].

สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm. [28 ก.ย. 2014].