ต้นตาเสือ
ตาเสือ มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในภูมิภาคเอเชียใต้ และประเทศไทย พบได้ทั่วประเทศ ซึ่งพบมากในภาคเหนือ และภาคใต้ บริเวณป่าชายเลนน้ำกร่อย และตามริมชายฝั่งของแม่น้ำ ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Aphanamixis polystachya (Wall.) R.Parker อยู่ในวงศ์กระท้อน (MELIACEAE)[1] ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น มะยมหางก่าน, โทกาส้า, ยมหังก่าน, เลาหาง, แดงน้ำ, เซ่, พุแกทิ้, ขมิ้นดง[1]
ลักษณะต้นตาเสือ
- ต้น เป็นไม้ยืนต้นมีความสูงได้ถึง 25 เมตร เปลือกต้นจะหนาแตกเป็นสะเก็ดหลุดล่อนออก ที่ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนจะมีขนสีเหลือง[1]
- ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ปลายใบคี่ ใบจะออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 3-7 คู่ ใบย่อยเป็นรูปรีแกมขอบขนาน ที่ปลายใบจะแหลม ที่โคนใบจะกลมเบี้ยว ที่ขอบใบจะเรียบเป็นคลื่น ๆ ใบกว้างประมาณ 3-7 เซนติเมตร ยาวประมาณ 6-18 เซนติเมตร แผ่นใบจะเรียบเกลี้ยงเป็นสีเขียวเข้ม[1]
- ดอก ดอกออกเป็นช่อแยกแขนงยาว ดอกออกที่ตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกเป็นแบบแยกเพศ มีทั้งช่อดอกเพศผู้ ช่อดอกเพศเมีย และช่อดอกที่มีทั้งสองเพศ ดอกจะมีขนาดเล็ก มีสีเหลืองอ่อน มีลักษณะเป็นรูปทรงกลม กลีบเลี้ยงดอกจะเชื่อมติดกันปลายแยกเป็นแฉก 3 แฉก เป็นสีเขียวและมีขน มีกลีบดอก 3 กลีบ เป็นสีเหลือง เกสรเพศผู้จะเชื่อมติดกัน รังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ[1]
- ผล มีลักษณะกลม ผลมีขนาดประมาณ 3.5-5 เซนติเมตร ผลแก่จะแตกออกเป็นซีก 2-3 ซีก มีเมล็ดในผล เมล็ดมีสีน้ำตาลดำและมีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง[1]
สรรพคุณของต้นตาเสือ
1. ใบจะมีรสชาติฝาดเมา ใช้เป็นยาแก้บวมได้ (ใบ)[1]
2. สามารถนำเปลือกต้นมาต้มเอาน้ำ ใช้ดื่มเป็นยาขับระดู รัดมดลูก ขับโลหิต (เปลือกต้น)[1]
3. สามารถใช้เนื้อไม้เป็นยาแก้ท้องเสียได้ (เนื้อไม้)[2]
4. เปลือกต้นจะมีรสชาติฝาดเมา มีสรรพคุณที่เป็นยาปิดธาตุ แก้เสมหะ กล่อมเสมหะ(เปลือกต้น)[1],[2]
5. ผลจะมีรสชาติฝาดเมา สามารถใช้เป็นยาแก้บวมตามข้อต่าง ๆ ในร่างกาย หรือนำเปลือกต้นมาต้มเอาน้ำ ใช้ดื่มเป็นยาแก้ปวดตามข้อ (เปลือกต้น, ผล)[1],[2]
6. สามารถใช้เปลือกต้นเป็นยาสมานแผลได้ (เปลือกต้น)[1]
7. สามารถใช้เป็นยาแก้บิดมูกเลือด (เปลือกต้น)[1]
8.สามารถใช้แก่นทำเป็นยาสมานท้องไส้ได้ (แก่น)[2]
9. เนื้อไม้จะมีรสฝาด มีสรรพคุณเป็นยาแก้ธาตุพิการ (เนื้อไม้)[2]
ข้อควรระวัง : ทุกส่วนของต้นเป็นพิษ ถ้าทานเยอะอาจจะทำให้เสียชีวิตได้ และเห็ดที่เกิดจากขอนไม้ตาเสือถ้าทานเข้าไปจะทำให้เกิดอาการเมาอาเจียนถึงเสียชีวิตได้[1]
ประโยชน์ของต้นตาเสือ
1. สามารถใช้ผลเป็นอาหารของนกเงือกได้
2. ไม้ตาเสือสามารถนำมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ได้ เนื่องจากเนื้อไม้มีความแข็ง แข็งแรงทนทานดี เหนียว[2]
สั่งซื้อเนสท์เล่ ออรัลอิมแพค อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “ตาเสือ”. หน้า 115.
2. ศูนย์ปฏิบัติการโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ตาเสือ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.goldenjubilee-king50.com. [16 ธ.ค. 2014].
อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.nparks.gov.sg/
2. https://www.natureloveyou.sg/