รามใหญ่ ไม้ต้นของทางใต้ มีรสเฝื่อนเมา ช่วยแก้ไข้ แก้ท้องเสีย แก้พิษงู แก้พยาธิ
รามใหญ่ ไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีรสเฝื่อนเมา ยอดอ่อนทานจิ้มกับน้ำพริก ผลสุกมีสีม่วงดำ

รามใหญ่

รามใหญ่ (Ardisia elliptica Thunb) เป็นต้นที่มีรสเฝื่อนเมาซึ่งมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้น มักจะพบมากในทางภาคใต้แถบชายทะเลหรือป่าชายเลน มีผลขนาดกลมเป็นสีแดงหรือสีดำ สามารถนำมาปลูกเป็นไม้ประดับได้เนื่องจากมีช่อดอกสวยงาม มักจะนำยอดอ่อนมารับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก เป็นต้นที่คนเมืองหรือคนทั่วไปไม่ค่อยพบเจอหรือรู้จักเพราะเป็นต้นที่อยู่ในพื้นที่เฉพาะภาคใต้เท่านั้น

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของรามใหญ่

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ardisia elliptica Thunb.
ชื่อท้องถิ่น : จังหวัดตราดเรียกว่า “ลังพิสา” จังหวัดชุมพรเรียกว่า “ทุรังกาสา” ชาวมลายูนราธิวาสเรียกว่า “ปือนา”
ชื่อวงศ์ : วงศ์พริมโรส PRIMULACEAE (MYRSINACEAE)

ลักษณะของรามใหญ่

รามใหญ่ เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็กที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ ในประเทศไทยพบได้ทางภาคใต้ มักจะขึ้นกระจายตามชายฝั่งทะเล ริมแม่น้ำ แนวหลังป่าชายเลนและขึ้นแทรกอยู่ตามป่าเบญจพรรณหรือป่าดิบบนภูเขาหินทราย
เปลือกต้น : เปลือกลำต้นและกิ่งเรียบเกลี้ยงเป็นสีน้ำตาลอมเทา กิ่งอ่อนมนกลมหรือเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย เป็นสีน้ำตาลอมแดง มีการแตกกิ่งก้านสาขารอบต้นมาก
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันหนาแน่นที่ปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปวงรี รูปรีแกมขอบขนานหรือรูปใบหอกถึงรูปไข่กลับ ปลายใบกลมทื่อไปจนถึงติ่งแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่ม ขอบใบเรียบ มีจุดเล็ก ๆ สีเขียวอ่อนแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อใบแก่ เนื้อใบหนาคล้ายแผ่นหนัง นุ่มและอวบน้ำ หลังใบและท้องใบเรียบเกลี้ยง มีจุดโปร่งแสงสีเขียวคล้ำกระจายทั่วแผ่นใบ หลังใบด้านบนเป็นสีเขียวคล้ำ ท้องใบด้านล่างเป็นสีเขียวนวล เส้นใบเป็นแบบร่างแหขนนก มักจะมองเห็นไม่ค่อยชัดเจน ก้านใบสั้นเป็นสีแดง
ดอก : ออกดอกเป็นช่อเชิงลดรูปใบพัดคล้ายซี่ร่ม โดยจะออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อจะมีดอกประมาณ 5 – 8 ดอก ก้านดอกเรียว ดอกตูมเป็นรูปทรงกรวย เมื่อบานจะเป็นรูปวงล้อสีชมพูอ่อน มีกลีบดอก 5 กลีบ เรียงบิดเวียน ปลายกลีบเรียวแหลม มีจุดต่อมโปร่งแสงสีม่วง กลีบเลี้ยงเป็นสีเขียว มีโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก รูปไข่กว้างถึงรูปมนกลม
ผล : ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมหรือกลมแป้น ผิวผลเรียบ ปลายผลมีติ่งแหลมสั้น เนื้อในผลนุ่ม ผลอ่อนเป็นสีเขียวหรือสีแดงเรื่อ เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ ออกดอกและผลในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลมแข็ง

สรรพคุณของรามใหญ่

  • สรรพคุณจากใบ บำรุงธาตุ แก้ตับพิการและปอดพิการ
  • สรรพคุณจากผล แก้ธาตุพิการ แก้ซางและแก้ตานขโมย แก้ไข้ แก้ท้องเสีย แก้ลมพิษ
  • สรรพคุณจากลำต้น แก้โรคเรื้อน แก้กุฏฐังหรือโรคเรื้อนชนิดหนึ่งที่มีผลทำให้มือและเท้ากุดเหี้ยน
  • สรรพคุณจากเปลือก แก้ไข้ แก้ท้องเสีย
  • สรรพคุณจากราก แก้ท้องเสีย แก้กามโรคและหนองใน
    – แก้พิษงู ถอนพิษงู ถอนพิษตะขาบ ถอนพิษแมงป่องและแก้ลมเป็นพิษ ด้วยการนำรากมาตำกับเหล้าเอาน้ำมาดื่ม ส่วนกากนำมาพอกปิดแผล
  • สรรพคุณจากดอก แก้พยาธิ เป็นยาฆ่าเชื้อโรค
  • สรรพคุณจากต้น
    – แก้โรคเรื้อน ฆ่าพยาธิที่ผิวหนัง ด้วยการนำต้นมาปรุงผสมกับสมุนไพรอื่น
  • สรรพคุณจากรากและใบ แก้อาการไอ
  • สรรพคุณจากใบและดอก แก้ลม

ประโยชน์ของรามใหญ่

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนใช้รับประทานแกล้มกับน้ำพริกได้
2. ปลูกเป็นไม้ประดับ มีช่อดอกสวยงาม

รามใหญ่ เป็นต้นที่ส่วนต่าง ๆ สามารถนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้มาก นอกจากนั้นยังนิยมนำยอดอ่อนมารับประทานได้และยังนำมาปลูกในบริเวณบ้านเพื่อเป็นไม้ประดับได้อีกด้วย แต่ทว่ารามใหญ่นั้นมักจะอยู่ในทางภาคใต้ของประเทศไทยเท่านั้น และมักจะพบในป่าที่อยู่ใกล้ริมแม่น้ำหรือริมทะเลเป็นส่วนใหญ่ รามใหญ่มีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะราก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ไข้ แก้ท้องเสีย แก้พิษงู แก้พยาธิ แก้เรื้อนและแก้ตับพิการได้ เป็นต้นที่มีสรรพคุณที่หลากหลายและดีต่อร่างกาย

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “รามใหญ่ (Ram Yai)”. หน้า 264.
ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “รามใหญ่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [04 พ.ย. 2014].
คมชัดลึกออนไลน์. (นายสวีสอง). “รามใหญ่ เป็นยา-กินยอด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.komchadluek.net. [04 พ.ย. 2014].
สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 (สงขลา), กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “รามใหญ่ Ardisia elliptica Thunb.”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/mfcd20/heab-5.htm. [04 พ.ย. 2014].
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “พิลังกาสา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [04 พ.ย. 2014].