พญาดง สมุนไพรของชาวเขาและชาวเผ่า ยาดีต่อระบบขับถ่าย
พญาดง เป็นพรรณไม้ล้มลุก ดอกเป็นช่อ ผลสดค่อนข้างกลม มีสีน้ำเงินเข้ม

พญาดง

พญาดง (Persicaria chinensis) เป็นต้นที่มีผลสีน้ำเงินเข้มและมีดอกสีขาวหรือสีชมพู สามารถนำผลสุก ยอดอ่อนและใบมารับประทานได้ เป็นอาหารของชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน ชาวลัวะ ชาวปะหล่องและชาวเมี่ยน ถือเป็นต้นยอดนิยมของชนชาวเผ่าอย่างแท้จริง นอกจากนั้นยังเป็นยาสมุนไพรที่ชาวเขาเผ่าแม้ว ชาวเขาเผ่าอีก้อ มูเซอและตำรายาพื้นบ้านล้านนาใช้เป็นส่วนผสมในการปรุงยารักษาอีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของพญาดง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Persicaria chinensis (L.) H. Gross
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “เอื้องเพ็ดม้า” ภาคเหนือเรียกว่า “ผักบังใบ ผักไผ่น้ำ” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “หน่อกล่ะอึ” ชาวลัวะเรียกว่า “มีส้อย ลำถ้อย” ชาวปะหล่องเรียกว่า “ปร้างเจงบั้ว” ชาวเมี่ยนเรียกว่า “โพ้งลิ่น”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ผักไผ่ (POLYGONACEAE)
ชื่อพ้อง : Polygonum chinense L.

ลักษณะของพญาดง

พญาดง เป็นพรรณไม้ล้มลุกเลื้อยพาดพันกับต้นไม้อื่น
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ผิวใบเรียบหรือมีขน มีหูใบเป็นปลอกหุ้มลำต้น
ดอก : ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกตามซอกใบ มีดอกย่อยจำนวนมาก กลีบดอกเป็นสีขาวหรือสีชมพู
ผล : เป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปเกือบกลม มีสีน้ำเงินเข้ม

สรรพคุณของพญาดง

  • สรรพคุณจากราก
    – แก้อาการปวดท้องน้อยสำหรับกามโรค ชาวเขาเผ่าแม้วนำรากมาผสมกับรากสากเหล็ก รากหนามแน่และรากปัวชุนเยแล้วมาต้มกับน้ำเพื่อดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากใบ
    – แก้อาการปัสสาวะขัด ด้วยการนำใบมาต้มกับน้ำเพื่อดื่มเป็นยา แต่ห้ามใช้ในขณะมีรอบเดือน
    – ทำให้หยุดมีประจำเดือน ด้วยการนำใบมาต้มกับน้ำเพื่อดื่มเป็นยา แต่ห้ามใช้กับสตรีที่ยังอยู่ในวัยเจริญพันธุ์และสตรีมีครรภ์เด็ดขาด
  • สรรพคุณจากเหง้า
    – แก้หนองใน ชาวเขาเผ่าแม้วนำเหง้าผสมกับเหง้าเอื้องหมายนาและว่านกีบแรดมาต้มกับน้ำเพื่อดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากทั้งต้น
    – แก้นิ่ว ด้วยการนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำแล้วดื่มเป็นยา
    – แก้อาการปวดท้องไส้ติ่งที่มีอาการไม่มาก ด้วยการนำทั้งต้นมาทุบห่อผ้าหมดไฟเพื่อใช้เป็นยาประคบ
  • สรรพคุณจากใบและทั้งต้น
    – เป็นยาถ่ายพยาธิ ชาวเขาเผ่าอีก้อ มูเซอนำใบหรือทั้งต้นมาต้มกับน้ำเพื่อดื่มเป็นยา
    – ช่วยห้ามเลือด รักษาแผลสด แผลเปื่อย แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ด้วยการนำใบหรือทั้งต้นมาตำแล้วพอก
    – แก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน หูด ฝี หนอง ฆ่าเชื้อโรค ด้วยการนำใบหรือทั้งต้นมาตำหรือคั้นเอาน้ำมาทาหรือพอก
  • สรรพคุณจากรากหรือเหง้า
    – แก้โรคหนองใน ตำรายาพื้นบ้านล้านนานำรากหรือเหง้าผสมกับรากขี้ครอก โดยใช้อย่างละเท่ากันมาหั่นเป็นชิ้นเล็กแล้วนำไปต้ม ทำการเคี่ยวให้ข้นเพื่อใช้ดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากใบหรือยอด
    – แก้โรคหนองใน ด้วยการนำใบหรือยอดมาผสมกับรากส้มกุ้งแล้วต้มกับน้ำเพื่อดื่มเป็นยา

ประโยชน์ของพญาดง

เป็นส่วนประกอบของอาหาร ผลสุกนำมารับประทานได้ ชาวลัวะนำยอดอ่อนมาทานโดยจิ้มกับเกลือ ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนนำยอดอ่อนไปย่างกับไฟทานกับน้ำพริก ชาวปะหล่องนำใบมาสับให้ละเอียดใช้เป็นส่วนผสมในการทำลาบ ชาวเมี่ยนนำใบมาต้มกับน้ำแล้วนำน้ำที่ได้มาใช้เป็นส่วนผสมในการทำแป้งเหล้า

พญาดง เป็นต้นที่มีผลสุกรสเปรี้ยวและเป็นอาหารยอดนิยมของชาวเขาและชาวเผ่า รวมถึงชาวกะเหรี่ยงด้วย แต่ผู้หญิงที่มีประจำเดือนควรระมัดระวังในการทานพญาดงเพราะอาจจะมีฤทธิ์ทำให้ประจำเดือนชะงักได้ เป็นต้นที่นิยมใช้เป็นยาสมุนไพรในหลายชนเผ่า พญาดงมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะใบและทั้งต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้โรคหนองใน แก้นิ่ว แก้อาการปัสสาวะขัดและเป็นยาถ่ายพยาธิ ถือเป็นต้นที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเกี่ยวกับระบบขับถ่าย

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “พญาดง”. หน้า 175.
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “พญาดง, ผักไผ่”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [11 พ.ย. 2014].