คว่ำตายหงายเป็น

คว่ำตายหงายเป็น

คว่ำตายหงายเป็น พบขึ้นกระจายทั่วไปในเขตร้อนของโลก มีดอกลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกและห้อยลง กลีบดอกด้านล่างเป็นสีเขียว ส่วนด้านบนเป็นสีแดง ทำให้มีลักษณะเฉพาะโดดเด่น ทั้งต้นและรากมีรสเปรี้ยวฝาดเล็กน้อย เป็นยาเย็นที่ออกฤทธิ์ต่อปอดและไต เป็นยาของชาวเขาเผ่าอีก้อ แม้ว เย้า ม้ง ตำรายาไทยและตำรายาพื้นบ้านล้านนา นอกจากนั้นยังเป็นของเล่นของเด็กพื้นบ้านได้อีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของคว่ำตายหงายเป็น

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bryophyllum pinnatum (Lam.) Oken
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “กระลำเพาะ ต้นตายใบเป็น นิรพัตร เบญจฉัตร” ภาคเหนือเรียกว่า “มะตบ ล็อบแล็บ ลบลับ ลุบลับ ลุมลัง” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า “ยาเท้า ยาเถ้า มะตบ ล็อบแลบ ลุบลับ ฮ้อมแฮ้ม” ภาคใต้และจังหวัดชลบุรีเรียกว่า “กะเร คว่ำตายหงายเป็น” จังหวัดตราดเรียกว่า “กาลำ” จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “แข็งโพะ แข็งเพาะ โพะเพะ โพ้ะเพะ” จังหวัดจันทบุรีเรียกว่า “ต้นตายปลายเป็น” จังหวัดกาญจนบุรีเรียกว่า “ทองสามย่าน” จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เรียกว่า “เพรอะแพระ” จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และสุราษฎร์ธานีและตรังเรียกว่า “ส้มเช้า” ชาวเขมรจันทบุรีเรียกว่า “ปะเตียลเพลิง” ชาวมาเลย์ยะลาเรียกว่า “ตะละ ตาละ” คนเมืองเรียกว่า “โกดเกาหลี” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “สะแกหล่า” ชาวม้งเรียกว่า “บล้งตัวเก่า” คนไทยเรียกว่า “กะลำเพาะ เพลาะแพละ นิรพัตร ต้านตายใบเป็น ฆ้องสามย่านตัวเมีย” จีนกลางเรียกว่า “ลั่วตี้เซิงเกิน”
ชื่อวงศ์ : วงศ์กุหลาบหิน (CRASSULACEAE)
ชื่อพ้อง : Kalanchoe pinnata (Lam.) Pers.

ลักษณะของคว่ำตายหงายเป็น

คว่ำตายหงายเป็น เป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุหลายปี เป็นพืชดั้งเดิมของทวีปแอฟริกา พบขึ้นกระจายทั่วไปในเขตร้อนของโลก พบได้ในดินที่เป็นหิน ที่โล่งแจ้ง หรือในที่ค่อนข้างร่ม เป็นพืชที่ทนทานและสามารถขึ้นได้แม้ในสภาพอากาศที่แห้งแล้ง
ลำต้น : ลำต้นมีความแข็งแรงมากและมีลักษณะตั้งตรง ไม่แตกกิ่งก้านหรือแตกเพียงเล็กน้อย ลำต้นกลม มีเนื้อนิ่มอวบน้ำ ผิวเกลี้ยง ภายในลำต้นและกิ่งก้านกลวง โคนกิ่งเป็นสีเทา ยอดต้นเป็นสีม่วงแดง ส่วนที่ยังอ่อนอยู่ของลำต้นจะมีข้อโป่งพองเป็นสีเขียวและแถบหรือจุดสีม่วงเข้มแต้มอยู่ ส่วนที่แก่แล้วจะมีใบเฉพาะครึ่งบน หรือในช่วงที่ดอกบานนั้นใบเกือบจะไม่มีเลย
ใบ : เป็นใบเดี่ยวหรือใบประกอบ มีใบย่อย 3 ใบ อาจเป็นใบประกอบแบบขนนกที่มีใบย่อยได้ถึง 5 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปวงรีแกมขอบขนาน รูปขอบขนานแกมรูปไข่ หรือรูปวงรีกว้าง ส่วนปลายและโคนใบจะมน ขอบใบหยักโค้งเป็นซี่มนตื้นและหนา ฉ่ำน้ำ และเป็นสีม่วง แต่ละรอยจักจะมีตาที่สามารถงอกรากและลำต้นใหม่ได้ ก้านใบจะย่อยและสั้น
ดอก : ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยมีจำนวนมาก มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกและห้อยลง กลีบดอกด้านล่างเป็นสีเขียว ด้านบนเป็นสีแดง ส่วนกลีบรองดอกจะเชื่อมติดกัน ที่ปลายจักเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ แบ่งออกเป็น 4 แฉก ตรงปลายแหลม
ผล : ผลจะออกเป็นพวงและมีอยู่ 4 หน่วย เป็นผลแห้ง แตกตะเข็บเดียว มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกหุ้มอยู่
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก มีลักษณะเป็นรูปกระสวยแกมรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปวงรี

สรรพคุณของคว่ำตายหงายเป็น

  • สรรพคุณจากทั้งต้นและราก ออกฤทธิ์ต่อปอดและไต เป็นยาทำให้เลือดเย็น เป็นยาฟอกเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนดี แก้ไอเป็นเลือด แก้อาเจียนเป็นเลือด
    – แก้อาการปวดกระเพาะ แก้กระเพาะแสบร้อน ด้วยการนำรากและใบสดมาตำผสมกับเกลือเล็กน้อย
    – แก้อาการเคล็ดขัดยอก ด้วยการนำรากหรือทั้งต้นสดมาตำพอก
  • สรรพคุณจากใบ รักษาโรคหิด รักษาขี้เรื้อน เป็นยาทารักษาโรคไขข้ออักเสบ
    – บำรุงกำลัง โดยคนเมืองนำใบมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
    – ช่วยให้คลอดบุตรได้ง่ายขึ้น โดยชาวเขาเผ่าอีก้อ แม้ว และเย้า นำใบมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
    – ช่วยบำรุงกำลังสำหรับคนติดฝิ่น โดยชาวเขาเผ่าแม้วนำใบมาผสมกับก้านและใบขี้เหล็กอเมริกา ใบสับปะรดและแก่นสนสามใบ ทำการต้มอบไอน้ำ
    – แก้บิด แก้ท้องร่วง แก้ปวดท้อง แก้อหิวาตกโรค โดยตำรายาไทยนำใบมาตำคั้นเอาน้ำดื่มเป็นยา
    – ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว ด้วยการนำใบมาตำคั้นเอาน้ำดื่มเป็นยา
    – รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกที่อาการไม่หนัก ผิวหนังไหม้ที่เกิดจากการถูกแดดเผา ด้วยการนำใบหรือทั้งต้นมาตำพอก หรือใช้เฉพาะใบเอามาเผาไฟเล็กน้อยแล้วมาตำพอก
    – ฆ่าเชื้อ รักษาโรคผิวหนัง รักษาตาปลา รักษาหูดที่เท้า ด้วยการนำใบมาตำพอกเป็นยา
    – แก้ลมพิษ แก้อาการปวดอักเสบ แก้ฟกช้ำบวม ขับพิษ แก้ถอนพิษ ด้วยการนำใบมาตำพอกบริเวณผื่น
    – แก้อาการเคล็ดขัดยอก แก้แพลง แก้กล้ามเนื้ออักเสบ ช่วยทำให้เลือดไหลเวียนดี ด้วยการนำน้ำคั้นจากใบใช้ผสมกับการบูรมาทาถูนวด
    – แก้อาการปวดหลังปวดเอว โดยชาวม้งนำใบมาหั่นให้เป็นฝอยแล้วตุ๋นกับไข่ทานเป็นยา
  • สรรพคุณจากราก แก้อาการบวมน้ำ
    – ลดไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้หัดหรืออีสุกอีใส ด้วยการนำรากมาตากแห้งใช้เป็นยา
    – แก้ปวดหัว ด้วยการนำใบวางไว้บนศีรษะ
    – รักษาอาการไอและอาการเจ็บหน้าอก ด้วยการนำใบวางบนหน้าอกเป็นยา
  • สรรพคุณจากทั้งต้น แก้อาการบวมน้ำ
    – เป็นยาแก้คอบวม แก้คอเจ็บ ด้วยการนำทั้งต้นมาตำคั้นเอาน้ำมาอมกลั้วคอ
    – ช่วยให้คลอดบุตรได้ง่ายขึ้น โดยชาวเขาเผ่าอีก้อ แม้ว และเย้า นำทั้งต้นมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
    – แก้อาการผิดเดือน ด้วยการนำใบมาต้มกับน้ำกินหลังคลอดเป็นยา
  • สรรพคุณจากรากและใบ
    – เป็นยาห้ามเลือด รักษาแผลสด แก้แผลโดนมีดบาด ช่วยสมานบาดแผล ทำให้แผลหายเร็ว โดยตำรายาพื้นบ้านล้านนานำใบหรือรากสดมาตำพอก
    – แก้ฝีหนองทั้งภายในและภายนอก รักษาฝี แก้พิษฝีหนอง แก้ฝีเต้านม ด้วยการนำรากและใบสดรวมกัน 60 กรัม มาตำให้พอแหลก คั้นเอาน้ำผสมกับน้ำผึ้งใช้ทาน ส่วนกากที่เหลือนำมาพอกบริเวณที่เป็นฝี
  • สรรพคุณจากทั้งต้นและใบ
    – แก้อาการปวดกระดูก แก้กระดูกหัก แก้กระดูกร้าว แก้ปวดตามข้อ ด้วยการนำใบหรือทั้งต้นใช้ตำพอก

ประโยชน์ของคว่ำตายหงายเป็น

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนนำใบมาทานสดร่วมกับลาบ
2. เป็นของเล่นพื้นบ้าน เด็ก ๆ มักนำมาเล่นโดยเอาใบมาวางทับในหนังสือ เมื่อทิ้งไว้ไม่นานตรงขอบของใบจะมีรากงอกออกมาโดยไม่ต้องมีน้ำหล่อเลี้ยง
3. ปลูกเป็นยาสมุนไพร

คว่ำตายหงายเป็น เป็นไม้ล้มลุกที่มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นในประเทศเราหลากหลายมาก ส่วนของดอกดูแปลกทำให้โดดเด่นออกมา เป็นยาสมุนไพรยอดนิยมของชนชาวเขาทั่วไป คว่ำตายหงายเป็นมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ดีต่อระบบเลือด แก้อาการปวดกระเพาะ บำรุงกำลัง แก้อาการปวดหลังปวดเอว แก้อาการปวดกระดูก แก้กระดูกหัก แก้กระดูกร้าวและแก้ปวดตามข้อได้

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “คว่ำตายหงายเป็น”. หน้า 136.
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “คว่ำตายหงายเป็น”. หน้า 170-172.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “คว่ำตายหงายเป็น”. หน้า 156.
นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 166 ตุลาคม 2557 โดย มีคณา.
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (รศ.ดร.ภญ.พาณี ศิริสะอาด). “คว่ำตายหงายเป็น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.cmu.ac.th. [23 ม.ค. 2015].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “คว่ำตายหงายเป็น”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [23 ม.ค. 2015].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “Kalanchoe pinnata (Lam.) Pers.”. อ้างอิงใน : สมุนไพรไม้พื้นบ้าน เล่ม 2 หน้า 47. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [23 ม.ค. 2015].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/
รูปอ้างอิง
1.https://www.researchgate.net
2.https://commons.wikimedia.org