เสม็ด น้ำมันเขียวเป็นยา รักษาโรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง โรคไขข้อ

0
1625
เสม็ด น้ำมันเขียวเป็นยา รักษาโรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง โรคไขข้อ
เร่ว เป็นพืชล้มลุกที่มีเหง้าหรือลำต้นอยู่ใต้ดิน กลีบดอกเป็นสีชมพูอ่อน ดอกคล้ายกับดอกข่า
เสม็ด น้ำมันเขียวเป็นยา รักษาโรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง โรคไขข้อ
เสม็ด หรือต้นเสม็ดขาว เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้น ใบอ่อนและกิ่งอ่อนมีขนสีขาวเป็นมันคล้ายเส้นไหม ดอกย่อยเป็นสีขาวขนาดเล็ก

เสม็ด

เสม็ด (Cajuput tree) หรือต้นเสม็ดขาว เป็นไม้ยืนต้นในวงศ์ชมพู่ที่มีดอกเป็นสีขาวขนาดเล็ก มักจะพบริมชายทะเลจึงพบได้มากทางภาคใต้ของประเทศไทย ส่วนของใบสดเมื่อนำมากลั่นจะได้ “น้ำมันเขียว” ซึ่งเป็นยาสมุนไพรที่ยอดเยี่ยมชนิดหนึ่ง นอกจากนั้นยังนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกหลายด้าน ส่วนของใบยังนำมาต้มกับน้ำดื่มแทนน้ำชาหรือนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้อีกด้วย ซึ่งส่วนของใบต้นเสม็ดถือเป็นขุมทรัพย์ชั้นดีที่นำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างน่าทึ่ง

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของเสม็ด

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Melaleuca quinquenervia (Cav.) S.T.Blake หรือ Melaleuca cajuputi Powell
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Cajuput tree” “Milk wood” “Paper bark tree” “Swamp tree”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคใต้เรียกว่า “เม็ด เหม็ด” ภาคตะวันออกเรียกว่า “เสม็ดขาว” ชาวมลายูปัตตานีเรียกว่า “กือแล”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ชมพู่ (MYRTACEAE)
ชื่อพ้อง : Melaleuca leucadendra var. minor (Sm.) Duthie

ลักษณะของต้นเสม็ด

เสม็ด เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็กไม่ผลัด ในประเทศไทยพบได้มากทางภาคใต้ มักจะพบได้ทั่วไปตามชายทะเล ป่าชายหาดใกล้ทะเล ในที่ลุ่มมีน้ำขัง ตามขอบของป่าพรุที่ถูกไฟเผาผลาญทำลายจนโล่งเตียน
ลำต้น : มีเรือนยอดแคบเป็นพุ่มทรงสูง ลำต้นมักบิด เปลือกลำต้นเป็นสีขาวนวลจนถึงสีน้ำตาลเทา เปลือกเป็นแผ่นบางเรียงซ้อนกันเป็นปึกหนานุ่ม ลอกออกได้เป็นแผ่น ส่วนเปลือกชั้นในบางและเป็นสีน้ำตาลอ่อน ตามยอดอ่อน ใบอ่อนและกิ่งอ่อนมีขนสีขาวเป็นมันคล้ายเส้นไหมขึ้นปกคลุมและกิ่งมักจะห้อยลง
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปวงรีแกมขอบขนานหรือรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบแหลมหรือมนหรือเป็นรูปลิ้ม ขอบใบเรียบ เนื้อใบค่อนข้างหนาและกรอบ เป็นสีเขียวอมเทา มีเส้นใบหลักประมาณ 5 – 7 เส้น
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแบบช่อเชิงลด โดยจะออกตามซอกใบหรือใกล้กับปลายกิ่ง ดอกย่อยเป็นสีขาวและมีขนาดเล็ก มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอก 5 กลีบ เป็นรูปช้อนแกมรูปไข่ เกสรเพศผู้เป็นเส้นเล็กสีขาวและมีจำนวนมาก ก้านเกสรเพศผู้ยาวพ้นกลีบดอกเป็นพู่ ก้านชูช่อดอกมีขนสีขาว มักจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม
ผล : เป็นผลแห้งและแตกออกได้เป็นพู 3 พู ลักษณะของผลเป็นรูปถ้วย ปลายปิด ขนาดเล็กและแป้น ผลแก่เป็นสีน้ำตาลอมเทาถึงสีคล้ำ ผลแห้งแตกด้านบน ภายในมีเมล็ดขนาดเล็กอยู่เป็นจำนวนมาก

สรรพคุณของเสม็ด

  • สรรพคุณจากน้ำมันเขียวที่สกัดจากใบ ช่วยขับเสมหะ แก้หลอดลมอักเสบ เป็นยาดมเพื่อรักษาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เป็นยาขับลม แก้จุกเสียด แก้ท้องอืด แก้ท้องขึ้น เป็นยาขับพยาธิ เป็นยาหม่องแก้ปวดศีรษะ แก้ปวดหู อุดฟันเพื่อแก้ปวดฟัน ช่วยขับเหงื่อ ช่วยแก้อาการเกร็งของกล้ามเนื้อในกระเพาะลำไส้ แก้ลมชัก เป็นยารักษาโรคผิวหนัง ใช้ฆ่าเชื้อโรค ช่วยรักษาสิว เป็นยาทาแก้ปวดเมื่อย แก้บวม แก้เคล็ด รักษาโรคไขข้ออักเสบ รักษาโรคปวดข้อรูมาติสซั่ม
  • สรรพคุณจากใบและเปลือก
    – กลัดหนอง ช่วยดูดหนองให้แห้ง ฆ่าเหา ฆ่าหมัด ไล่ยุง ด้วยการนำใบและเปลือกตำรวมกันใช้เป็นยาพอกแผล
  • สรรพคุณจากใบสด
    – แก้เคล็ดขัดยอกฟกช้ำบวม ด้วยการนำใบสดตำแล้วพอก

ประโยชน์ของเสม็ด

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบนำมาต้มกับน้ำดื่มแทนน้ำชา ใช้เป็นอาหารสัตว์ ใบและยอดอ่อนนำมาทานเป็นผัก ดอกและยอดอ่อนมีรสเผ็ดใช้ทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริกได้ ผลแห้งใช้ทำพริกไทยดำ
2. เป็นน้ำมันหอมระเหย ใบสดเฉพาะยอดอ่อนนำมาใช้กลั่นทำเป็นน้ำมันหอมระเหยได้ ซึ่งจะมีกลิ่นคล้ายกับการบูร
3. เป็นส่วนประกอบของยา มีคุณสมบัติในทางยาคล้ายกับ Eucalyptus oil
4. ไล่แมลง น้ำมันเสม็ดใช้ไล่แมลงจำพวกยุง เห็บ หมัด เหา ปลวกและสัตว์ดูดเลือด ทำเป็นสเปรย์ไล่ยุง สเปรย์ฆ่าปลวก สเปรย์ป้องกันทาก ธูปกันยังแชมพูสุนัข
5. เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง น้ำมันเสม็ดสามารถฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดสิวได้ จึงเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ป้องกันสิวได้
6. ใช้ในอุตสาหกรรม เนื้อไม้มีความคงทนต่อสภาพที่เปียกชื้นและในน้ำเค็มได้ดี จึงนำมาใช้ทำเสาเข็ม สร้างบ้าน ทำเฟอร์นิเจอร์ ทำรั้ว ทำถ่าน ส่วนเปลือกต้นใช้มุงหลังคา ทำฝาบ้านชั่วคราว เป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์ชาวประมง ใช้ห่อก้อนไต้สำหรับใช้จุดไฟ
7. ใช้ในอุตสาหกรรมย้อมผ้า น้ำต้มจากใบเสม็ดที่ได้จากการกลั่นน้ำมันไปย้อมสีผ้าจะให้สีน้ำตาลอ่อนและช่วยทำให้ผ้าคงทนต่อการเข้าทำลายของแมลงที่กัดกินเนื้อผ้าได้ดี
8. ด้านการเกษตร ทุกปีในช่วงหน้าแล้งหากมีฝนตกจนป่าเสม็ดชุ่มชื้น และมีแสงแดดจัดประมาณ 4 – 5 วัน จะมี “เห็ดเสม็ด” งอกขึ้นมา เป็นเห็ดมีรสค่อนข้างขมแต่ถือเป็นเห็ดยอดนิยมของชาวใต้ ป่าเสม็ดยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของผึ้งและนกน้ำ ในเวียดนามจะใช้ป่าเสม็ดเป็นที่กักเก็บน้ำเพื่อช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำที่เป็นกรดให้มีความเป็นกรดลดลงก่อนนำไปใช้ปลูกข้าว

ข้อควรระวังของเสม็ด

หากรับประทานมากเกินควรจะทำให้ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารได้

เสม็ด ถือเป็นไม้ต้นที่มีประโยชน์อย่างมากต่อการเกษตรและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นไม้ที่มีคุณค่าต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม เป็นวัตถุดิบชนิดหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ได้ มีน้ำมันหอมระเหยจากใบเป็นจุดเด่นซึ่งเรียกว่า “น้ำมันเขียว” หรือ “น้ำมันเสม็ด” เสม็ดมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของน้ำมันเขียวที่สกัดจากใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ รักษาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ขับลม รักษาโรคผิวหนัง รักษาโรคไขข้ออักเสบและโรคปวดข้อรูมาติสซั่มได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “เสม็ด (Samet)”. หน้า 307.
หนังสือพรรณไม้ป่าพรุ จังหวัดนาราธิวาสโครงการศูนย์การศึกษาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนาราธิวาส (งานป่าไม้). “เสม็ดขาว”.
สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “เสม็ดขาว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm. [14 มิ.ย. 2014].
อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “เสม็ด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/. [14 มิ.ย. 2014].
มูลนิธิชัยพัฒนา. “โครงการจัดการป่าเสม็ดแบบครบวงจร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เชียงใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.chaipat.or.th. [14 มิ.ย. 2014].
ส่วนพัฒนาวนศาสตร์ชุมชน สำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้. “การใช้ประโยชน์จากเสม็ดขาว”. หน้า 4.
ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). (อนงค์นาฏ ศรีบุญแก้ว). “เสม็ด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [14 มิ.ย. 2014].
Thai Medicinal and Aromatic Plants. “เสม็ดขาว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: med-aromaticplant.blogspot.com. [14 มิ.ย. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/