ดาวเรืองฝรั่ง

ดาวเรืองฝรั่ง

ดาวเรืองฝรั่ง เป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุประมาณ 1 – 2 ปี เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของยุโรปตอนใต้ เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ทานตะวัน เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของยุโรปตอนใต้ที่มีดอกสีเหลืองหรือสีเหลืองปนส้ม ทำให้ดูสวยงามและสดใสชวนให้น่ามอง ส่วนของรากมีรสจืดและเป็นยาสุขุม ส่วนของใบมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ คล้ายกับเครื่องเทศ สามารถนำมาใช้ทำอาหารได้เหมือนผักชนิดหนึ่ง กลีบดอกใช้ฉีกใส่ในซุปและเป็นสมุนไพรชั้นดี นอกจากนั้นยังเป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอางได้อีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Calendula officinalis L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Calendula” “Common marigold” “Cape marigold” “English marigold” “Garden marigold” “Scottish marigold” “Marigold” “Pot marigold” “Ruddles”
ชื่อท้องถิ่น : จังหวัดกรุงเทพมหานครเรียกว่า “ดาวเรืองหม้อ” จีนกลางเรียกว่า “จินจ่านจวี๋” จีนแต้จิ๋วเรียกว่า “กิมจั้วเก็ก”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)

ลักษณะของดาวเรืองฝรั่ง

ลำต้น : ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านสาขามากที่โคนต้น ทั้งต้นมีขนขึ้นปกคลุมเล็กน้อย ตามกิ่งและก้านจะมีร่องเหลี่ยม
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปหอก ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นคลื่น ไม่มีก้านใบ ใบที่อยู่ตรงโคนก้านจะมีขนาดใหญ่เรียงกันขึ้นไปหาเล็ก แผ่นใบมีสีเขียวอ่อน
ดอก : เป็นดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุกบริเวณปลายต้น ดอกมีสีเหลืองหรือสีเหลืองปนส้ม กลีบดอกมีขนาดเล็ก ลักษณะเป็นรูปแกมขอบขนานเรียงซ้อนกันเป็นชั้นหลายชั้น หรือเรียงซ้อนกันเป็นวงหลายวง วงนอกเป็นดอกเพศเมีย ส่วนวงในเป็นดอกเพศผู้ ปลายดอกแยกออกเป็นแฉก กลีบดอกทั้งหมดจะมีขนแข็งติดอยู่ที่โคน บริเวณใต้ดอกมีกลีบเลี้ยงอยู่ 1 – 2 ชั้น
ผล : เป็นผลแห้ง ผลมีลักษณะเป็นรูปขอบขนานโค้ง มีขนเล็กน้อยหรืออาจเกลี้ยง

สรรพคุณของดาวเรืองฝรั่ง

  • สรรพคุณจากดอก เป็นยาธาตุ เป็นยาแก้อาการอักเสบของตา เป็นยาแก้ไข้ ขับเหงื่อ เป็นยาขับพยาธิ เป็นยาห้ามเลือด ทำให้เลือดเย็น เป็นยารักษาแผลทั้งภายนอกและภายใน เป็นยาแก้พุพอง ช่วยบำรุงผิว ช่วยสมานผิว
    – ลดไขมันในเลือด ลดคอเลสเตอรอล แก้ไข้ทรพิษ แก้โรคหัด ด้วยการนำดอกมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
    – เป็นยาขับลม ขับกระษัยลม แก้โรคดีซ่าน ด้วยการนำดอก 1 กำมือ มาต้มกับน้ำดื่ม
    – รักษาอาการถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ด้วยการนำดอกสด 10 – 15 ดอก มาต้มกับน้ำตาลกรวดทาน
    – แก้ปวดฟกช้ำ แก้แมลงกัดต่อย ด้วยการนำดอกมาถูบริเวณที่เป็น
  • สรรพคุณจากต้น ช่วยเจริญอาหาร ช่วยขับเหงื่อ แก้คลื่นเหียนอาเจียน เป็นยาขับพยาธิ เป็นยาแก้โรคดีซ่าน รักษาแผลเรื้อรังและแก้เส้นเลือดพอง
  • สรรพคุณจากราก ออกฤทธิ์ต่อตับและม้าม เป็นยาฟอกเลือด ช่วยกระจายเลือดลมที่อุดตัน เป็นยารักษาซีสต์ในมดลูกของสตรี เป็นยาห้ามเลือด ทำให้เลือดเย็น
    – เป็นยาขับลม ขับกระษัยลม ด้วยการนำรากสดประมาณ 50 – 80 กรัม มาต้มในน้ำที่ผสมกับเหล้าอย่างละเท่ากัน แล้วนำมาทาน
    – แก้ปวดกระเพาะเนื่องจากกระเพาะชื้นเย็นและพร่อง ด้วยการนำรากประมาณ 30 – 50 กรัม มาต้มกับน้ำหรือนำมาดองกับเหล้า
  • สรรพคุณจากใบ แก้โรคต่อมน้ำเหลืองในเด็ก
    – แก้อาการท้องผูก ด้วยการนำใบมาคั้นเอาแต่น้ำทาน

ประโยชน์ของดาวเรืองฝรั่ง

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบมีกลิ่นหอมอ่อนคล้ายเครื่องเทศ จึงนำมาใช้ทำอาหารได้เหมือนผักชนิดหนึ่ง หรือใช้ใส่ในซุปให้ได้กลิ่นและรสพิเศษ กลีบดอกใช้ฉีกใส่ในซุปได้
2. เป็นส่วนประกอบของยา ใบนำมาตากแห้งแล้วบดให้เป็นผงให้ใช้เป็นยานัตถุ์ได้
3. ปลูกเป็นไม้ตัดดอก ก้านดอกตรงยาวใช้ปลูกเป็นไม้ตัดดอกได้ดี
4. เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง มีความสำคัญสำหรับทารก โดยนำมาใช้ผสมในแป้งสำหรับโรยตัวเด็ก ผสมในน้ำสำหรับอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย

ดาวเรืองฝรั่ง เป็นต้นที่มีดอกเป็นยาสมุนไพรและเป็นส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย สามารถนำมาประกอบอาหาร เป็นส่วนประกอบของยา ปลูกเป็นไม้ตัดดอก และเป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง สรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของดอก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ช่วยบำรุงผิว ลดไขมันในเลือด ลดคอเลสเตอรอล แก้โรคดีซ่าน เป็นยาขับลมและแก้อาการท้องผูกได้

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “ดาวเรืองฝรั่ง”. หน้า 224.
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ดาวเรืองฝรั่ง”. หน้า 287-288.
หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “ดาวเรืองฝรั่ง” หน้า 84.
ไทยเกษตรศาสตร์. “ดาวเรืองหม้อ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaikasetsart.com. [23 ธ.ค. 2014].
หนังสือสมุนไพรธรรมชาติและประโยชน์ทางเครื่องสำอาง. (กลุ่มควบคุมเครื่องสำอาง, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา). “สมุนไพรธรรมชาติที่ใช้ในเครื่องสำอาง”. หน้า 2.
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/
รูปอ้างอิง
1.https://www.herbaldynamicsbeauty.com/blogs/herbal-dynamics-beauty/the-benefits-of-calendula-for-skin