กระดูกไก่ ดอกมีกลิ่นหอม ใช้ในอุตสาหกรรมย้อมผ้า แถมปลูกประดับได้
กระดูกไก่ หรือหอมไก๋ ลำต้นเป็นข้อบวมพองลักษณะคล้ายกระดูกไก่ นำมาขยี้มีกลิ่นคล้ายกับการบูร มีรสค่อนข้างขม และสามารถนำมาใช้ทำสีย้อมผ้าได้

กระดูกไก่

กระดูกไก่ (Chloranthus erectus) หรือเรียกกันอีกอย่างว่า “หอมไก๋” เป็นต้นที่มีลำต้นเป็นข้อบวมพองลักษณะคล้ายกระดูกไก่ จึงเป็นที่มาของชื่อต้น ทั้งนี้ลำต้นจะมีกลิ่นคล้ายกับการบูรอีกด้วยเมื่อนำมาขยี้ และมีรสค่อนข้างขมพอสมควร มักจะพบได้ทางภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่ ส่วนของใบอ่อนจะนำมารับประทานในรูปแบบของผักได้ นอกจากนั้นยังเป็นยาสมุนไพรที่ใช้ในตำรับยาพื้นบ้านล้านนาและชาวกาลิมันตัน ส่วนคนไทยอาจจะยังไม่ค่อยนิยมนำมาใช้กันมากนัก กระดูกไก่ยังเป็นต้นที่สามารถนำมาใช้ทำสีย้อมผ้าได้อีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของกระดูกไก่

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chloranthus erectus (Buch. – Ham.) Verdc.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “หอมไก่” ภาคตะวันตกเฉียงเหนือเรียกว่า “หอมไก๋” จังหวัดกรุงเทพมหานครเรียกว่า “เกตเมือง ฝอยฝา” จังหวัดตรังเรียกว่า “ชะพลูป่า” ชาวมาเลเซียเรียกว่า “เกอรัส ตูรัง” ชาวฟิลิปปินส์เรียกว่า “บาเรา บาเรา”
ชื่อวงศ์ : วงศ์กระดูกไก่ (CHLORANTHACEAE)

ลักษณะของกระดูกไก่

กระดูกไก่ เป็นพรรณไม้พุ่มที่มีเขตการกระจายพันธุ์ในทวีปเอเชียเขตร้อน พบได้ทั่วไปตั้งแต่เนปาล ยูนนาน หมู่เกาะอันดามันไปจนถึงเกาะนิวกินี มักจะพบได้ทั่วไปตามบริเวณริมน้ำหรือดินที่ค่อนข้างแฉะชื้นและมักพบได้ทั่วไปในป่าที่ราบต่ำ พบได้มากที่สุดทางภาคเหนือ
ลำต้น : ลำต้นมีข้อบวมพองลักษณะคล้ายกระดูกไก่ ทุกส่วนของลำต้นเมื่อนำมาขยี้จะมีกลิ่นคล้ายกับการบูรและมีรสค่อนข้างขม
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ลักษณะของใบเป็นรูปวงรี รูปหอก รูปขอบขนานแกมใบหอกหรือรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบและโคนใบเรียวแหลม ขอบใบดูเหมือนเรียบแต่จะมีหยักเป็นฟันเลื่อยแบบตื้น แผ่นใบบางเป็นสีเขียวสด หลังใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้มและเกลี้ยงเป็นมัน ท้องใบมีสีอ่อนกว่าหลังใบ ใบมีน้ำมันหอมระเหยและกรดคูมาริก
ดอก : ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่งติดก้านช่อดอก แต่ละช่อประกอบไปด้วยดอกย่อยขนาดเล็กหลายดอก ดอกย่อยเป็นสีขาวติดเป็นก้อนกลมตามก้านช่อดอก ดอกมีกลิ่นหอม ไม่มีกลีบดอกหรือกลีบรองดอกแต่จะมีใบประดับและเกสรเพศผู้สีขาวซึ่งจะออกเรียงกันอยู่ข้างในและมีอับเรณู 4 พู มีรังไข่ 1 ช่อง เชื่อมติดกันอยู่โคนใบประดับ มักจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม
ผล : ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม ผลสดสีขาวฉ่ำน้ำ
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด ซึ่งลักษณะของเมล็ดเป็นรูปค่อนข้างกลมและแข็ง

สรรพคุณของกระดูกไก่

  • สรรพคุณจากทั้งต้น
    – แก้ไข้เรื้อรัง โดยตำรับยาพื้นบ้านล้านนานำทั้งต้นผสมกับหัวยาข้าวเย็นแล้วต้มกับน้ำดื่มต่างชาเป็นยา
  • สรรพคุณจากรากและใบ
    แก้ไข้ เป็นยาขับเหงื่อ แก้กามโรค ด้วยการนำรากและใบชงเป็นชาดื่ม
  • สรรพคุณจากกิ่ง
    – รักษามาลาเรีย โดยชาวไทยภูเขานำกิ่งมาต้มเป็นยา
    – ป้องกันการตั้งครรภ์ โดยชาวกาลิมันตันนำกิ่งมาต้มกับน้ำดื่ม
  • สรรพคุณจากราก
    – รักษาอาการประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ แก้ผิดเดือนและผิดสาบ ด้วยการนำรากมาผสมกับรากหนาดคำและรากหนาดมาฝนกินเป็นยา
  • สรรพคุณจากลำต้น
    – เป็นยากระตุ้น ระงับอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ด้วยการนำลำต้นมาต้มกับเปลือกอบเชยกินเป็นยา

ประโยชน์ของกระดูกไก่

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบอ่อนนำมากินเป็นผักร่วมกับลาบได้
2. ใช้ในอุตสาหกรรม ใช้ทำสีย้อมผ้าโดยจะให้สีน้ำเงินเข้มจนเกือบดำ
3. ปลูกเป็นไม้ประดับ ดอกมีกลิ่นหอมและปลูกเลี้ยงง่าย

กระดูกไก่ เป็นต้นที่มีประโยชน์สำหรับชาวบ้านและชาวเขาเป็นอย่างมาก สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมย้อมผ้าได้อีกด้วย และส่วนของดอกมีกลิ่นหอมชวนให้น่าชม แต่ที่สำคัญเลยก็คือกระดูกไก่เป็นส่วนประกอบในตำรับยาพื้นบ้านมากมาย กระดูกไก่มีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะกิ่ง รากและใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ไข้ รักษามาลาเรีย รักษาอาการประจำเดือนมาไม่เป็นปกติและระงับอาการเกร็งของกล้ามเนื้อได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “กระดูกไก่”. หน้า 17-18.
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “กระดูกไก่”. หน้า 67.
หนังสือพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง ชุดที่ 1 บ้านปางมะโอ. (เกรียงไกร และคณะ). “กระดูกไก่”.
หนังสือทรัพยากรพืชในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลำดับที่ 16 พืชที่ให้สารกระตุ้น. (พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ และคณะ). “กระดูกไก่”.
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/