หนาดคำ ไม้ล้มลุกของทางเหนือ ต้นยอดนิยมของชาวกะเหรี่ยง
หนาดคำ มีดอกสีเหลืองทองเป็นกระจุกเล็ก มีขนเหนียวติดมือ ผลมีขนยาวสีเทา

หนาดคำ

หนาดคำ (Inula cappa) เป็นพืชในวงศ์ทานตะวันที่มีดอกสีเหลืองทองเป็นกระจุกเล็ก สามารถพบได้ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ส่วนมากมักจะพบตามทุ่งหญ้า เป็นอาหารของชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนและสัตว์เคี้ยวเอื้อง จากภายนอกดูเหมือนจะไม่สามารถทำประโยชน์อะไรได้มากนักแต่ต้นหนาดคำนั้นกลับมีสรรพคุณทางยาสมุนไพรได้มากกว่าที่คิด ซึ่งชาวเขาเผ่าแม้ว ตำรับยาพื้นบ้านล้านนา ตำรายาไทยและชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนล้วนนำหนาดคำมาใช้เป็นยาทั้งนั้น

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของหนาดคำ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Inula cappa (Buch.-Ham. ex D.Don) DC.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “เขืองแพงม้า หนาดดอย” ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่เรียกว่า “พอปัวล่ะ ห่อเปรื่อะ ห่อเผื่อะ” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “เพาะปกาล่า”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)

ลักษณะของหนาดคำ

หนาดคำ เป็นไม้ล้มลุกอายุได้หลายปี มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มักจะพบตามที่เปิด ทุ่งหญ้าและป่าโปร่ง
ลำต้น : ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง โคนเนื้อค่อนข้างแข็ง ส่วนที่ยังอ่อนอยู่จะมีขนสีเทาแกมเหลืองปกคลุมหนาแน่น
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบสอบ มีขนเหนียวติดมือที่ผิวด้านหลังใบ ท้องใบมีขนละเอียดยาวเป็นมันสีเงินแกมเทา
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจุก โดยจะออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง มีก้านช่อดอกมาก ดอกย่อยไม่มีก้านหรือมีก้านสั้น กลีบดอกเป็นสีเหลืองทอง มีชั้นใบประดับ มักจะออกดอกในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์
ผล : เป็นผลแห้งและไม่แตก ลักษณะของผลเป็นรูปขอบขนาน ผลมีขนยาวสีเทา

สรรพคุณของหนาดคำ

  • สรรพคุณจากราก ตำรายาไทยใช้เป็นยาแก้นิ่วและขับปัสสาวะ แก้ไตพิการ
    – บำรุงกำลังและแก้อาการอ่อนเพลีย โดยชาวเขาเผ่าแม้วนำรากมาต้มกับน้ำกินเป็นยา
    – แก้แพ้อาหาร โดยตำรับยาพื้นบ้านล้านนานำรากมาฝนกับน้ำกินอย่างน้อยครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ
    – แก้ท้องร่วงและช่วยให้คลอดบุตรง่ายขึ้น ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำกินเป็นยา
    – รักษาอาการประจำเดือนไม่ปกติ แก้ผิดเดือนและผิดสาบ ด้วยการนำรากมาผสมกับรากกระดูกไก่และรากหนาด (Inula polygonata DC.) ทำการฝนกับน้ำกินเป็นยา
    – แก้ผื่นคัน ด้วยการนำรากมาฝนกับน้ำกินอย่างน้อยครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ
  • สรรพคุณจากใบ
    – ช่วยย่อยอาหาร โดยตำรายาพื้นบ้านนำใบมาต้มกับน้ำกิน
    – รักษาแผลสด แผลถลอกและใช้ห้ามเลือด ด้วยการนำใบมาตำแล้วพอกหรือคั้นเอาน้ำทา
    – ช่วยบรรเทาอาการปวด ด้วยการนำใบมาย่างไฟแล้วนำมาพันขา
    – แก้อาการเคล็ดและปวดบวม ด้วยการนำใบมาอังไฟใช้ประคบบริเวณที่มีอาการ
  • สรรพคุณจากต้น
    – แก้อาการลมผิดเดือน โดยชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนนำต้นมาต้มกับน้ำอาบ
  • สรรพคุณจากดอกและเมล็ด น้ำมันหอมระเหยจากดอกและเมล็ดมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด โดยเฉพาะเชื้อที่ทำให้เกิดอาการท้องร่วงและเชื้อที่ทำให้เกิดแผลพุพอง

ประโยชน์ของหนาดคำ

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนนำยอดอ่อนมาลวกกินกับน้ำพริก
2. ใช้ในการเกษตร เป็นอาหารสัตว์จำพวกเคี้ยวเอื้อง

หนาดคำ เป็นต้นเล็ก ๆ ที่มีประโยชน์ในการนำมาใช้มากมาย ถือเป็นต้นยอดนิยมของชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนและชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่เป็นอย่างมากเพราะเป็นต้นที่มักจะพบในทางภาคเหนือ ชาวเขาเผ่าแม้ว ตำรับยาพื้นบ้านล้านนา ตำรายาไทยและชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนนำหนาดคำมาใช้เป็นยาสมุนไพรพื้นบ้าน หนาดคำมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของรากและใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้นิ่ว บำรุงกำลัง แก้ท้องร่วง บรรเทาอาการปวดและแก้ประจำเดือนผิดปกติ ถือเป็นต้นที่นิยมนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในตำรายาพื้นบ้านทั้งหลาย

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “หนาดคำ”. หน้า 130.
หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 1. “หนาดคำ”.
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “หนาดคำ”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [01 ต.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/