นนทรี ไม้ประจำจังหวัดนนทบุรี มีเปลือกต้นเป็นยา แก้ท้องเสียและช่วยขับประจำเดือน

0
1776
นนทรี เป็นต้นไม้สูงที่มีดอกสีเหลือง ช่อขนาดใหญ่ตามง่ามใบหรือที่ปลายกิ่ง ฝักแบนรูปหอกสีน้ำตาล มีสรรพคุณในด้านยาสมุนไพรได้ด้วย
นนทรี ไม้ประจำจังหวัดนนทบุรี มีเปลือกต้นเป็นยา แก้ท้องเสียและช่วยขับประจำเดือน
นนทรี เป็นต้นไม้สูงที่มีดอกสีเหลือง ช่อขนาดใหญ่ตามง่ามใบหรือที่ปลายกิ่ง ฝักแบนรูปหอกสีน้ำตาล มีสรรพคุณในด้านยาสมุนไพรได้ด้วย

นนทรี

นนทรี (Copper pod) ถือเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดนนทบุรีและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้นสูงที่มีดอกสีเหลืองสวยงามและมักจะพบตามที่สาธารณะทั่วไป เป็นต้นที่คนไทยค่อนข้างรู้จักกันเยอะแต่หลายคนไม่รู้ว่ามีสรรพคุณในด้านยาสมุนไพรได้ด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของนนทรี

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Peltophorum pterocarpum (DC.) K.Heyne
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Copper pod” “Yellow flame” “Yellow poinciana”
ชื่อท้องถิ่น : จังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “สารเงิน” จังหวัดตราดเรียกว่า “กระถินป่า กระถินแดง” มีชื่อเรียกอื่น ๆ ว่า “นนทรีบ้าน”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE)

ลักษณะของนนทรี

นนทรี เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางที่มีถิ่นกำเนิดในอินเดียภาคตะวันออกและภาคใต้ รวมไปถึงประเทศศรีลังกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทยไปจนถึงประเทศฟิลิปปินส์และทวีปออสเตรเลียตอนเหนือ มักจะผลัดใบเมื่อมีอากาศแห้งแล้ง ชอบขึ้นตามป่าชายหาด
ลำต้น : ลำต้นค่อนข้างเปลาตรง แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มทรงเรือนยอดแผ่กว้างเป็นรูปร่มหรือเป็นทรงกลมกลาย ๆ
เปลือกลำต้น : เป็นสีเทาอมสีดำ เปลือกค่อนข้างเรียบและอาจแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ ตามกิ่งก้านอ่อนมีขนละเอียดสีน้ำตาลแดงปกคลุมอยู่ ส่วนกิ่งแก่จะเกลี้ยง
ใบ : ใบออกเป็นช่อแบบขนนกสองชั้นออกเรียงเวียนสลับหนาแน่นที่ปลายกิ่ง ใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบมนหรือหยักเว้าเล็กน้อย โคนใบมนเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ หลังใบเรียบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเรียบเป็นสีเขียวอ่อน
ดอก : ออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ตั้งขึ้นตามง่ามใบหรือที่ปลายกิ่ง มีกิ่งแขนงในช่อดอก ดอกย่อยเป็นสีเหลืองสด กลีบดอกมี 5 กลีบ เป็นลักษณะบางและค่อนข้างยับย่น โคนกลีบมีขนสีน้ำตาลอยู่ประปราย กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ขอบกลีบวางเกยทับกัน
ผล : ออกผลเป็นฝักแบนรูปหอก ปลายฝักและโคนฝักเรียวแหลม ฝักสดเป็นสีเขียวพอแห้งแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล โดยฝักจะแก่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน
เมล็ด : ภายในฝักมีเมล็ดเรียงขวางกับฝักประมาณ 1 – 4 เมล็ด เมล็ดมีความแข็งแรง มีรูปร่างและขนาดเท่าใบย่อย

สรรพคุณของนนทรีป่า

  • สรรพคุณจากเปลือกต้น เป็นยาขับเสมหะและโลหิต ช่วยปิดธาตุ เป็นยาขับผายลม ช่วยแก้บิด เป็นยาขับประจำเดือน เป็นยาสมานแผลสด
    – แก้อาการท้องร่วงและท้องเสีย ด้วยการนำเปลือกต้นมาเคี่ยวกับน้ำ 3 ส่วน ให้เหลือ 1 ส่วน แล้วเอานำมาดื่ม
    – เป็นยานวดแก้ตะคริวและแก้กล้ามเนื้ออักเสบ ด้วยการนำเปลือกต้นมาเคี่ยวเข้าน้ำมัน
  • สรรพคุณจากยอด
    – เป็นยาทาแก้โรคสะเก็ดเงิน 7 ชนิด ด้วยการใช้ยอด 1 กำมือ มาตำให้ละเอียดแล้วผสมกับไข่ขาวซึ่งเป็นไข่เป็ด จากนั้นทาบริเวณที่เป็นบนผิวแล้วใช้ผ้าพันทิ้งไว้หนึ่งคืนแล้วค่อยลอกออก

ประโยชน์ของนนทรี

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดและฝักอ่อนใช้เป็นอาหารประเภทผักเหนาะซึ่งให้รสชาติฝาดมัน
2. ปลูกเป็นไม้ประดับ ปลูกง่ายและมีความแข็งแรงทนทาน ดอกมีกลิ่นหอม นิยมปลูกตามอาคารสถานที่ต่าง ๆ อย่างสวนสาธารณะ รีสอร์ต ริมทะเล ริมถนน ทางเดินหรือที่จอดรถ เพื่อให้ร่มเงาและป้องกันลมได้ดี
3. ใช้ในอุตสาหกรรม ใช้ในการย้อมผ้าฝ้ายบาติกหรือใช้พิมพ์ผ้าปาเต๊ะ ใช้ย้อมแหและอวนเนื่องจากเปลือกต้นเมื่อนำไปต้มจะให้สีน้ำตาลอมเหลือง เนื้อไม้มีสีน้ำตาลอมสีชมพูใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือนได้

นนทรี มักจะมีสรรพคุณอยู่ที่เปลือกต้นเนื่องจากเปลือกต้นมีรสฝาดร้อนและมีสารแทนนินสูง เป็นต้นที่เด่นในเรื่องของการช่วยเรื่องระบบเลือดในร่างกาย เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดนนทบุรีและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งมีความเชื่อว่าเป็นไม้มงคลด้วย สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอุตสาหกรรม มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ เป็นยาขับเลือดและขับประจำเดือน แก้โรคเจ็ด แก้อาการท้องร่วงและท้องเสียได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “นนทรี (Non Si)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 149.
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 278 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า. “นนทรีจากป่าสู่นาคร”. (เดชา ศิริภัทร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [24 มี.ค. 2014].
พรรณไม้บริเวณพระตำหนักเรือนต้น, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “นนทรี”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/palace/chitralada/cld6-2_1.htm. [24 มี.ค. 2014].
ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “นนทรี”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [24 มี.ค. 2014].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “นนทรี”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [24 มี.ค. 2014].
พืชผักพื้นบ้าน นครศรีธรรมราช 103 ชนิด, เทศบาลเมืองทุ่งสง. “นนทรี”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.tungsong.com. [24 มี.ค. 2014].