ขจร ดอกสีเหลืองกลิ่นหอม มีสรรพคุณช่วยบำรุงอวัยวะที่สำคัญในร่างกาย
ขจร หรือดอกสลิดเป็นไม้เถาเลื้อย ดอกที่มีสีเหลืองสดเป็นช่อแบบกระจุกตามซอกใบ

ขจร

ขจร (Cowslip creeper) หรือเรียกกันว่า “ผักสลิด” และ “ดอกสลิด” เป็นไม้ต้นที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงอยู่บ้าง ส่วนมากมักจะพบขจรในเมนูอาหารมากมายอย่างแกงส้มดอกขจร เป็นดอกที่มีสีเหลืองสดและมีสรรพคุณทางยาอย่างคาดไม่ถึง เป็นต้นที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของขจร

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Telosma cordata (Burm. f.) Merr.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Cowslip creeper”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “สลิด ขจร” จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “ผักสลิด” มีชื่ออื่น ๆ เรียกว่า “กะจอน ขะจอน สลิดป่า ผักสลิดคาเลา ผักขิก”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE)
ชื่อพ้อง : Telosma minor (Andrews) W. G. Craib

ลักษณะของขจร

ขจร เป็นไม้เถาเลื้อยที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนและอินเดีย มักจะขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าละเมาะและป่าเต็งรัง
เถา : เถามีขนาดเล็ก ลักษณะกลมเหนียวมากและเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจคล้ายใบโพธิ์หรือใบพลู ปลายใบเรียวแหลมยาวเป็นติ่ง โคนใบมนเว้า ขอบใบเรียบ หลังใบและท้องใบเรียบ แผ่นใบบางเกลี้ยง หน้าใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบเป็นสีเขียวอมแดงเล็กน้อย
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแบบกระจุกตามใบหรือออกเป็นพวง ๆ คล้ายพวงอุบะตามซอกใบหรือโคนก้านใบ ดอกย่อยมีลักษณะแข็งเป็นสีเขียวอมเหลือง ดอกมีกลิ่นหอม กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบเลี้ยงเป็นสีเขียว 5 กลีบ ออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม
ผล : ผลมีลักษณะเป็นฝักกลมยาวปลายแหลม ผิวเรียบ ผลเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะแตกออกตะเข็บเดียว
เมล็ด : ภายในผลหรือฝักมีเมล็ดลักษณะแบนจำนวนมาก และมีปุยสีขาวติดอยู่ที่ปลายเมล็ด เมล็ดปลิวว่อนคล้ายกับนุ่นที่มีเมล็ดเกาะติดกับใยสีขาว

สรรพคุณของขจร

  • สรรพคุณจากดอก บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงสายตา รักษาหวัดที่เกิดจากการตากลมหรือตากอากาศเย็น บรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะและคลื่นไส้อาเจียน ขับเสมหะ แก้เสมหะและโลหิต ช่วยบำรุงปอด แก้อาการท้องอืดและท้องเฟ้อ ช่วยในการขับถ่าย บำรุงฮอร์โมนของสตรี บำรุงตับและไต
  • สรรพคุณจากยอดใบอ่อน บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงสายตา บำรุงตับและไต
  • สรรพคุณจากราก รักษาโลหิตเป็นพิษ ช่วยให้อาเจียน เป็นยาดับพิษ ทำให้รู้รสชาติของอาหารและช่วยดับพิษยา
    – แก้ตาอักเสบ ตาแดง ตาแฉะ ตามัว ด้วยการนำรากมาฝนหยอดตาหรือใช้ผสมกับยาหยอดตา
  • สรรพคุณจากแก่นและเปลือก บำรุงธาตุในร่างกาย

ประโยชน์ของขจร

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อน ผลอ่อนและดอกใช้รับประทานเป็นผักสดหรือนำมาลวกให้สุกแล้วรับประทานร่วมกับน้ำพริก ดอกนำไปทำเมนูแกงส้มดอกขจร แกงจืดดอกขจร แกงเลียง ขจรผัดไข่ ขจรชุบแป้งทอด ยำดอกขจร ข้าวต้มดอกขจร เป็นต้น สามารถทำขนมดอกขจรได้ด้วย
2. เป็นไม้ประดิษฐ์ นำมาใช้ร้อยอุบะติดชายมาลัยหรือเครื่องแขวนต่าง ๆ
3. ใช้แทนอุปกรณ์ เถานำมาใช้แทนเชือกได้
4. ปลูกเป็นไม้ประดับ
5. ใช้ในอุตสาหกรรม เนื้อไม้สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างได้

คุณค่าทางโภชนาการของขจร

คุณค่าทางโภชนาการของขจรในส่วนที่รับประทานได้ ต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 72 แคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ
คาร์โบไฮเดรต 10.6 กรัม
โปรตีน 5.0 กรัม
ไขมัน 1.1 กรัม
ใยอาหาร 0.8 กรัม
น้ำ 80.5 กรัม
เถ้า 1.0 กรัม
วิตามินเอ 3,000 หน่วยสากล
วิตามินบี1 0.04 มิลลิกรัม
วิตามินบี2 0.12 มิลลิกรัม
วิตามินบี3 0.17 มิลลิกรัม
วิตามินซี 68 มิลลิกรัม
แคลเซียม 70 มิลลิกรัม
เหล็ก 1.0 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 90 มิลลิกรัม

ขจร เป็นดอกที่มีสีเหลืองและมีกลิ่นหอม ยอดอ่อนของขจรคือส่วนที่มีคุณค่าทางอาหารมากที่สุด ทั้งนี้ลำต้นนั้นเป็นพิษต่อสุกร ในส่วนของรากมีรสเบื่อเย็น ดอกมีรสเย็นขมและหอม สามารถนำดอกมาใช้เป็นเครื่องยาหอมได้ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงปอด บำรุงสายตา บำรุงธาตุในร่างกาย บำรุงตับและไต เป็นต้นที่คู่ควรแก่การนำมารับประทานในชีวิตประจำวัน

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ขจร (Kha Chon)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 56.
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “ขจร”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [07 ก.พ. 2014].
บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร งานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “ขนุนและขจร”. (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [07 ก.พ. 2014].
กรุ่นกลิ่นดอกไม้ในโคราช, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา. “ขจร”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.nrru.ac.th. [07 ก.พ. 2014].
สถานบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.). “ขจร”.
หน่วยปฏิบัติการวิจัยพรรณไม้ประเทศไทย ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. “สลิด ขจร (Telosma monor Craib)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.sc.chula.ac.th/thaiplants/. [07 ก.พ. 2014].
เดอะแดนดอทคอม. “ดอกขจร”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.the-than.com. [07 ก.พ. 2014].
Tree2go. “ขจร Telosma minor Craib อร่อย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.tree2go.com. [07 ก.พ. 2014].
มติชนออนไลน์. “ดอกขจร”. (จอม ณ คลองลึก). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.matichon.co.th. [07 ก.พ. 2014].