ทิ้งถ่อน หรือ “ถ่อน” ช่วยแก้ลมในร่างกาย ดีต่อระบบขับถ่าย

0
1828
ทิ้งถ่อน หรือ “ถ่อน” ช่วยแก้ลมในร่างกาย ดีต่อระบบขับถ่าย
ทิ้งถ่อน ส่วนของรากและแก่นมีรสขมร้อน ใบมีรสเฝื่อนเมาและเปลือกต้นมีรสฝาดร้อน
ทิ้งถ่อน หรือ “ถ่อน” ช่วยแก้ลมในร่างกาย ดีต่อระบบขับถ่าย
ทิ้งถ่อน ส่วนของรากและแก่นมีรสขมร้อน ใบมีรสเฝื่อนเมาและเปลือกต้นมีรสฝาดร้อน

ทิ้งถ่อน

ทิ้งถ่อน (White siris) หรือเรียกกันเฉย ๆ ว่า “ถ่อน” ส่วนของรากและแก่นมีรสขมร้อน ใบมีรสเฝื่อนเมาและเปลือกต้นมีรสฝาดร้อน เป็นต้นในวงศ์ถั่วที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายทั้งการนำมาใช้ในการก่อสร้าง ใช้ในการเกษตรและใช้ในการย้อมผ้า เป็นต้นที่นำใบอ่อน ยอดอ่อนและดอกอ่อนมารับประทานเป็นผักร่วมกับน้ำพริกด้วยการลวกหรือต้ม นอกจากนั้นยังมีสรรพคุณทางยาที่ยอดเยี่ยมหลายอย่างทีเดียว

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของทิ้งถ่อน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Albizia procera (Roxb.) Benth.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “White siris” และ “Sit”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ถ่อน ถินถ่อน นมหวา นุมหวา ทิ้งถ่อน” จังหวัดเชียงใหม่และเลยเรียกว่า “พระยาฉัตรทัน ส่วน” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ควะ เยกิเด๊าะ” ชาวกะเหรี่ยงกาญจนบุรีเรียกว่า “เชอะบ้อง ซะบ้อง แซะบ้อง เซะบ้อง เส่บ้อง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE)

ลักษณะของทิ้งถ่อน

ทิ้งถ่อน เป็นไม้ยืนต้นที่มักจะพบขึ้นตามป่าหญ้า ป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณและป่าทุ่งตอนลุ่มในภาคกลางทั่วไปหรือในพื้นที่ต่ำน้ำท่วมถึง สามารถพบได้ทางตอนใต้ของจีน พม่า ลาวและกัมพูชา ในประเทศไทยพบทุกภาคแต่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้มักจะขึ้นเป็นกลุ่มแบบห่าง ๆ กันบนภูเขา
ลำต้น : ลำต้นแตกกิ่งก้านต่ำและโปร่ง ลำต้นเปลาตรง ทรงพุ่มเป็นเรือนยอด ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนปกคลุมเล็กน้อย ต้นแก่เป็นสีเทาถึงสีน้ำตาล
เปลือกต้น : เปลือกต้นมีรอยด่างเป็นสีน้ำตาลกระจาย
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นออกเรียงสลับกัน เหนือโคนก้านมีต่อมเป็นรูปกลมนูน ก้านใบมีขนปกคลุมเล็กน้อย มีใบย่อยประมาณ 5 – 12 คู่ ลักษณะของใบเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน รูปไข่กลับ รูปขอบขนานหรือรูปวงรี ปลายใบมนหรือเว้าเล็กน้อย โคนใบมนหรือเบี้ยว ขอบใบเรียบ แผ่นใบมีขนทั้งสองด้าน ท้องใบมีขนสั้นปกคลุม
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจุกแน่นตามซอกใบและที่ปลายกิ่งโดยช่อดอกจะเกิดเป็นกลุ่มบนก้านช่อรวม กลุ่มละประมาณ 2 – 5 ช่อ ในแต่ละช่อจะมีดอกย่อยประมาณ 15 – 25 ดอก ดอกย่อยไม่มีก้านดอกหรือมีแต่สั้นมาก ดอกเป็นสีขาวมีกลีบดอก 5 กลีบ เกสรขาวแกมสีเหลืองอ่อนติดกันเป็นหลอด มีผิวเรียบ ปลายแยกเป็น 5 แฉก มีลักษณะเป็นรูปไข่ปลายแหลม ปลายกลีบดอกมีขนเล็ก ๆ ดอกมีเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูเป็นสีเหลืองอ่อน ปลายก้านเป็นสีเขียวอ่อน อับเรณูมีสีขาว กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบติดกันเป็นรูปถ้วย มีสีเขียวและมีผิวเรียบ ขอบถ้วยแยกเป็นแฉก 5 แฉก ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมยาว ดอกมีเกสรเพศผู้เป็นเส้นสีขาว
ผล : ออกผลเป็นฝักแบน ฝักเมื่อแห้งแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
เมล็ด : ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 6 – 12 เมล็ด เมล็ดเป็นสีน้ำตาลและมีลักษณะแบนรูปวงรี

สรรพคุณของทิ้งถ่อน

  • สรรพคุณจากเปลือกต้น แก้ลมในกองธาตุ แก้ลมป่วง บำรุงธาตุในร่างกาย แก้ธาตุพิการ แก้กษัยและลมกษัยหรือโรคของความเสื่อมโทรมทางร่างกายที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค ช่วยทำให้เจริญอาหาร แก้หืดไอ ช่วยในการขับผายลม แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ แก้บิดมูกเลือด แก้ริดสีดวงทวาร แก้ระดูขาวของสตรี เป็นยาห้ามเลือด ใช้ชะล้างบาดแผลและช่วยสมานแผล แก้แผลเน่าเปื่อยเรื้อรังและใช้ทาฝี แก้โรคผิวหนัง
    – เป็นยาอายุวัฒนะ แก้อาเจียน แก้ท้องร่วง ด้วยการนำเปลือกต้นมาต้มกับรากมะตูม
  • สรรพคุณจากแก่น บำรุงกำลัง
  • สรรพคุณจากรากและแก่น
    – แก้อาการท้องอืด แก้อาการปวดหลังและปวดเอว แก้เส้นตึงและเส้นท้องตึง ด้วยการนำรากและแก่นมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม
  • สรรพคุณจากผล ขับลม แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ
  • สรรพคุณจากราก แก้น้ำเหลืองเสีย

ประโยชน์ของทิ้งถ่อน

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบอ่อน ยอดอ่อนและดอกอ่อนนำมาลวกหรือต้มทานเป็นผักร่วมกับน้ำพริก
2. ใช้ในการเกษตร เป็นยาฉีดฆ่าตัวสัตว์พวกหนอนและแมลงด้วยการนำใบมาเผาไฟผสมกับน้ำใบยาสูบและน้ำปูนขาว นิยมปลูกในแปลงวนเกษตรและปลูกตามสวนหรือริมถนน
3. ใช้ในอุตสาหกรรมผ้าหรือหนัง เปลือกต้นนำมาฟอกหนังหรือใช้ในการย้อมผ้าได้
4. ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เนื้อไม้มีความเหนียว แข็งแรงและชักเงาดีจึงนำมาใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน ทำเฟอร์นิเจอร์ ใช้ในงานแกะสลัก ทำเครื่องมือกสิกรรมต่าง ๆ

ทิ้งถ่อน เป็นต้นที่มีรสร้อนและมีสรรพคุณหลากหลายต่อร่างกาย นอกจากนั้นยังเป็นต้นที่มีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังพบได้ง่ายตามท้องถนนทั่วไปในกรุงเทพมหานคร เป็นต้นที่มักจะนำใบอ่อน ยอดอ่อนและดอกอ่อนมาลวกหรือต้มเพื่อรับประทาน ทิ้งถ่อนมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะเปลือกต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ลมในร่างกาย ดีต่อระบบขับถ่ายและแก้ท้องอืดท้องเฟ้อได้ เป็นต้นที่แก้อาการพื้นฐานทั่วไปและเหมาะสำหรับคนที่ระบบขับถ่ายหรือลมในร่างกายมีปัญหาเป็นอย่างมาก

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “ทิ้งถ่อน”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 121.
หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ถ่อน”. หน้า 41
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ถ่อน”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 322.
ศูนย์ปฏิบัติการโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ถ่อน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.goldenjubilee-king50.com. [19 มี.ค. 2014].
ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “Sit, White siris”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org. [19 มี.ค. 2014].
ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “ถ่อน (กลาง), ส่วน (เชียงใหม่), เชอะบ้อง (กาญจนบุรี), ทิ้งถ่อน (กลาง)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [19 มี.ค. 2014].
บันทึกขนำริมทุ่งปลักเหม็ด. “ทิ้งถ่อน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: plugmet.orgfree.com. [19 มี.ค. 2014].
ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, กระทรวงวัฒนธรรม. “สมุนไพรพื้นบ้านทิ้งถ่อน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.m-culture.in.th. [19 มี.ค. 2014].
ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, กระทรวงวัฒนธรรม. “ผักซึก (ถ่อน)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.m-culture.in.th. [19 มี.ค. 2014].