ฝิ่นต้น
ฝิ่นต้น (Coral bush) เป็นไม้ยืนต้นที่มีลำต้นคล้ายกับต้นมะละกอ มีดอกสีแดงสดและเจริญเติบโตได้ดีในดินทุกประเภททำให้นิยมปลูกเป็นไม้ประดับได้ ส่วนของรากมีรสเฝื่อนแต่สามารถนำมารับประทานได้ ส่วนของเปลือกต้นมีรสฝาดเมาร้อน ใบมีรสเมา เมล็ดมีรสเมาเบื่อ ทว่าสามารถนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้ นอกจากจะเป็นยาแล้วนั้นฝิ่นต้นถือเป็นต้นที่มีพิษชนิดหนึ่ง ส่วนที่มีพิษคือส่วนของเมล็ดและยาง มีสารที่เป็นพิษคือ สาร Clacium Oxalate
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของฝิ่นต้น
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Jatropha multifida L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Coral bush” “Coral plant” “Physic Nut”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “มะหุ่งแดง” จังหวัดกรุงเทพมหานครเรียกว่า “มะละกอฝรั่ง” คนเมืองเรียกว่า “ทิงเจอร์ต้น ว่านนพเก้า”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)
ลักษณะของฝิ่นต้น
ฝิ่นต้น เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก
ลำต้น : ลำต้นคล้ายกับต้นมะละกอแต่มีขนาดเล็กและเป็นแกนแข็งกว่า ค่อนข้างอวบน้ำ เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีเทา มีกระและจุดเล็ก ๆ มียางเป็นสีขาว
ราก : รากมีลักษณะเป็นหัว
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปกลม ขอบใบลึกเป็นแฉกเว้าลึกลักษณะคล้ายฝ่ามือ ประมาณ 9 – 11 แฉก ในขอบใบที่เป็นแฉกจะหยักเป็นซี่ฟันช่วงกลางขอบใบ ปลายเป็นติ่งแหลมถึงยาวคล้ายหาง ปลายใบแหลม แผ่นใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน หลังใบเรียบ ก้านใบยาวกลม หูใบแยกเป็นง่ามรูปขนแข็ง
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแบนแน่นติดกันแบบช่อเชิงหลั่น โดยจะออกที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยมีขนาดเล็กติดกันแน่น ดอกมีสีแดงสดเป็นแบบแยกเพศ ลักษณะของดอกคล้ายกับดอกเถาคันหรือดอกกะตังบาย กลีบเลี้ยงในดอกเพศผู้เป็นรูปไข่กลับกว้าง กลีบดอกแยกจากกันเป็นสีแดงสด เกสรเพศผู้มี 8 อัน ก้านเกสรแยกกัน ส่วนกลีบดอกในดอกเพศเมียมียอดเกสรเพศเมียเป็นรูปกระจุก เป็นพู 2 พู
ผล : ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม มีพู 3 พู คล้ายผลสลอดหรือผลปัตตาเวียแต่จะมีขนาดใหญ่กว่า แต่ละพูจะมีลักษณะเป็นสัน ผิวผลเรียบ ผลอ่อนเป็นสีเขียว พอแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีออกเหลืองหม่น มีลายสีน้ำตาล มีจุกขั้วขนาดเล็ก แต่ละพูมีเมล็ด 1 เมล็ด
สรรพคุณของฝิ่นต้น
- สรรพคุณจากเปลือกต้น เป็นยาแก้ลมและโลหิต เป็นยาคุมธาตุ เป็นยาแก้อาการลงแดง เป็นยาแก้อาเจียน เป็นยาแก้บิดปวดเบ่ง แก้ท้องเสีย แก้ท้องร่วง แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้ปวดเมื่อยตามข้อ แก้ปวดเส้นเอ็น เป็นยาบำรุงกำลัง ทำให้ตัวเย็น แก้อาการคลื่นเหียนอาเจียน
- สรรพคุณจากเมล็ด ทำให้อาเจียน เป็นยาถ่ายอย่างแรง
– ทำให้แท้งบุตร ด้วยการนำเมล็ดมาบีบเอาน้ำมันใช้ทั้งภายในและภายนอก - สรรพคุณจากราก
– แก้โรคลำไส้ ช่วยย่อยอาหาร ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา - สรรพคุณจากใบ เป็นยาฆ่าหิด กำจัดพยาธิผิวหนัง ใช้สระผมแก้เหา
– เป็นยาถ่าย ด้วยการนำมาต้มกินเป็นยา - สรรพคุณจากน้ำยาง
– ช่วยสมานแผล ใช้ทาแผลปากเปื่อย แก้แผลมีดบาด แก้แผลอักเสบเรื้อรัง ทำให้แผลหายเร็วขึ้น ด้วยการนำน้ำยางใส่แผลสดเป็นยา
ประโยชน์ของฝิ่นต้น
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร รากมีรสเฝื่อนแต่สามารถนำมาเผาแล้วกินได้
2. เป็นยาเบื่อ เมล็ดใช้เป็นยาเบื่อ อาจใช้เป็นยาเบื่อปลา ต้นมีสารจำพวกซาโปนินก็สามารถนำมาใช้เบื่อปลาได้
3. ใช้ในอุตสาหกรรมย้อมผ้า ใบใช้ในการย้อมสีเส้นไหมโดยใช้ใบสด 15 กิโลกรัม ย้อมสีเส้นไหมได้ 1 กิโลกรัม โดยให้สีน้ำตาลเขียว
4. ปลูกเป็นไม้ประดับ
5. เป็นส่วนประกอบของตำรับยา อยู่ในตำรับพิกัดตรีเกสรมาศ ตำรับพิกัดตรีเกสรเพศ
พิษของฝิ่นต้น
ส่วนที่มีพิษในฝิ่นต้น เมล็ดและน้ำยางมีพิษ ซึ่งเมล็ดจะมีฤทธิ์ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร โดยสารที่เป็นพิษคือสาร Clacium Oxalate
อาการของพิษที่ได้รับ
- เมล็ด เมื่อรับประทานจะทำให้เกิดอาการคัน รู้สึกปวดแสบปวดร้อน ปากบวมพอง เยื่อบุแกม ลิ้นเพดานและหนาบวม น้ำลายไหล บริเวณที่บวมพองอาจมีเม็ดตุ่มเกิดขึ้น ลิ้นเคลื่อนไหวลำบาก กลืนอาหารยาก พูดไม่ถนัด มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ทำให้กระเพาะอักเสบ ปวดท้อง อาจมีอาการชา แขนขาอาจเป็นอัมพาตได้ถึง 24 ชั่วโมงและอาการจะดีขึ้นภายใน 7 วัน หายใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ แม้ว่าจะรับประทานเพียง 3 เมล็ด ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้
- น้ำยาง เมื่อถูกผิวหนังจะทำให้เกิดอาการระคายเคือง บวมแดงแสบร้อน
การรักษาอาการเบื้องต้นเมื่อได้รับสารพิษ : - หากทานเมล็ด ก่อนนำส่งโรงพยาบาลให้ดื่มนมหรือผงถ่าน (Activated charcoal) เพื่อช่วยลดการดูดซึมของสารพิษ แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อล้างท้องทันที ให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดเพื่อป้องกันการหมดสติและอาการช็อกที่เกิดจากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่
- หากมีอาการคล้ายสาร atropine เช่น ในกลุ่มสารพิษ curcin ให้สารแก้พิษ (atropine antagonists) เช่น physostigmine salicylate ทางเส้นเลือด
- น้ำยาง หากถูกผิวหนังให้ล้างน้ำยางออกโดยใช้สบู่และน้ำ และใช้ยาทาสเตียรอยด์ แต่หากรับประทานเข้าไปให้เอาส่วนที่ไม่ถูกดูดซึมออกโดยใช้ผงถ่าน ทำให้อาเจียนหรือล้างท้องและรักษาตามอาการ
- กรณีอื่น รักษาไปตามอาการ เช่น การให้ morphine sulfate เพื่อลดอาการปวด เป็นต้น
ฝิ่นต้น เป็นต้นที่ค่อนข้างเป็นพิษสูงในส่วนของเมล็ดและน้ำยาง ทว่าส่วนของใบและเปลือกต้นถือเป็นส่วนที่อุดมไปด้วยสรรพคุณทางยา เป็นส่วนที่นำมาใช้เป็นส่วนประกอบของตำรับยา เป็นต้นที่สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมย้อมผ้า เป็นยาเบื่อและนำมารับประทานได้ ฝิ่นต้นมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของเปลือกต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้บิด แก้ปวดเมื่อย แก้โรคลำไส้และช่วยสมานแผล เป็นต้นที่ค่อนข้างดีต่อระบบขับถ่ายและลำไส้ต่าง ๆ ทว่าฝิ่นต้นนั้นก็เป็นพืชที่ควรระวังเป็นอย่างมากเพราะมีสารพิษสูงและอาจอันตรายต่อชีวิตได้ ดังนั้นก่อนที่จะนำมารับประทานไม่ว่าจะรูปแบบใดควรศึกษาให้ดีก่อนใช้ด้วย
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “ฝิ่นต้น (Fin Ton)”. หน้า 187.
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ฝิ่นต้น”. หน้า 520-521.
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “มะละกอฝรั่ง, ฝิ่นต้น”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6 (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม)., หนังสือสมุนไพรใกล้ตัว เล่ม 6 : สมุนไพรที่เป็นพิษ (สมพร ภูติยานันต์)., หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 6 (ลีนา ผู้พัฒนพงศ์)., ทรัพยากรพืชในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลำดับที่ 12(1) : พืชสมุนไพรและพืชพิษเล่ม 1 (สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [13 พ.ย. 2014].
ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ฝิ่นต้น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/. [13 พ.ย. 2014].
สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ฝิ่นต้น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm. [13 พ.ย. 2014].
สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “ฝิ่นต้น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.saiyathai.com. [13 พ.ย. 2014].
พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ, กรมหม่อนไหม. “ฝิ่นต้น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : qsds.go.th/webtreecolor/. [13 พ.ย. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/