ต้นกร่าง
ต้นกร่าง มีถิ่นกำเนิดที่ประเทศอินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา แล้วแพร่กระจายพันธุ์ในแทบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงประมาณ 10-30 เมตร ลำต้นตรงเป็นพูพอน แตกกิ่งก้านหนา มีลักษณะเป็นเรือนยอด ปลายกิ่งลู่ลง เปลือกต้นเกลี้ยง ลำต้นกับกิ่งจะมีรากอากาศห้อยลงจำนวนมาก เมื่อหยั่งถึงดินจะทำให้เป็นหลืบสลับซับซ้อน หรือเป็นลำต้นต่อ ลำต้นมียางสีขาว ที่กิ่งอ่อนจะมีขนหนาแน่น ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ปักชำ หรือวิธีทางธรรมชาติโดยนก หรือค้างคาว จะกินผลแล้วถ่ายมูลจะมีเมล็ดติดอยู่ เติบโตได้ในดินทุกชนิดที่มีความชุ่มชื้น
ชื่อสามัญ : Bar, East Indian Fig, Banyan tree
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Ficus benghalensis L.อยู่ในวงศ์ขนุน
ชื่อต้นกร่างของท้องถิ่นอื่น ๆ : บาร์คาด ไทรนิโครธ บันยัน นิโครธ
ลักษณะของต้นกร่าง
- ใบของต้นกร่าง เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับ ใบมีลักษณะเป็นรูปรี รูปไข่ ปลายใบมน บ้างก็ว่ามีติ่งแหลม ส่วนที่โคนใบจะเรียบหรือโค้งกว้าง ใบกว้างประมาณ 10-14 เซนติเมตร ยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร มีเส้นแขนงใบประมาณ 4-6 คู่ ก้านใบอวบ ยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร มีหูใบหุ้มยอดอ่อน[1],[4] ที่ใบอ่อนมีขนหนาโดยเฉพาะส่วนท้องใบ ใบแก่จะไม่มีขน ใบแก่จะร่วงและมีรอยแผลใบ[2]
- ดอกออกเป็นช่อมะเดื่อที่ตามซอกใบ ดอกเล็กและมีจำนวนมาก เติบโตภายใต้ฐานรองดอก เป็นดอกแยกเพศอยู่ในช่อเดียวกัน ดอกประกอบด้วยดอกตัวผู้และดอกตัวเมีย ดอกตัวเมียอยู่ใกล้กับรูปากเปิด [1]
- ผลขนาดเล็ก ลักษณะเป็นรูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ผลมีสีเขียว ผลสุกมีสีเหลืองถึงสีส้ม ผลแก่มีสีแดงคล้ำ แต่ละผลมีกลีบเลี้ยงประมาณ 2-4 กลีบ[1],[2],[4]
สรรพคุณของต้นกร่าง
- ยางจากต้นสามารถใช้แก้หูดได้[4]
- สามารถนำยางจากต้นมาใช้แก้โรคริดสีดวงทวารได้[4]
- ผลสุกมีฤทธิ์เป็นยาระบาย สามารถรับประทานได้[4]
- สามารถนำใบและเปลือกต้น มาใช้เป็นยาแก้ท้องร่วง[4]
- นำรากมาเคี้ยว ป้องกันโรคเหงือกบวม[4]
- นำเมล็ดมาใช้เป็นยาเย็นและยาบำรุงร่างกาย[2],[3]
- นำยางจากต้นมาใช้เป็นยาทาแก้ไขข้ออักเสบ[1]
- นำใบและเปลือกต้นมาใช้เป็นยาช่วยห้ามเลือด[4]
- ใบและเปลือกต้น ช่วยแก้อาการถ่ายเป็นมูกเลือด[4]
- ใช้ยางและเปลือกต้นแก้บิด[3]
- ใช้เปลือกต้นและยาง เป็นยาแก้ท้องเสีย แก้ท้องเดิน[1],[2],[3],[4]
- นำเปลือกต้นมาทำยาชง ใช้ลดระดับน้ำตาลในเลือดและแก้โรคเบาหวาน[3],[4]
ประโยชน์ของต้นกร่าง
- ต้นกร่างหรือต้นนิโครธ เป็นไม้มงคลตามพุทธประวัติที่พระกัสสปพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเพียร 7 วัน และได้ตรัสรู้ ณ ควงไม้นิโครธ จึงนิยมปลูกไว้ตามศาสนสถาน ตามวัดวาอาราม เพื่อเป็นไม้ให้ร่มเงา เพิ่มความร่มเย็น ไม่นิยมปลูกไว้ในบ้านเพราะต้นนิโครธมีขนาดใหญ่[4]
- ใช้ผลแก่เป็นอาหารของนก[2]
- รากอากาศมีความเหนียว นำมาเป็นเชือกได้ และสามารถนำเปลือกด้านในมาใช้ทำกระดาษ
ในอินเดียนำใบมาใช้ใส่อาหารรับประทาน[4] - สามารถทานผลได้[4]
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “กร่าง”. (พญ. เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 89.
สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “นิโครธ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [02 ก.พ. 2014].
หนังสืออนุกรมวิธานพืชอักษร ก. ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, (รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา).
ผู้จัดการออนไลน์. (29 พฤศจิกายน 2547). “โพธิญาณพฤกษา : นิโครธ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.manager.co.th. [02 ก.พ. 2014].
อ้างอิงรูปจาก
1.https://plantly.io/plant-care/ficus-benghalensis
2.https://www.cabidigitallibrary.org/doi/10.1079/cabicompendium.24066