เทียนบ้าน ดอกสีสันตามสายพันธุ์ โดดเด่นในการเป็นยาภายนอก

0
1634
เทียนบ้าน
เทียนบ้าน ดอกสีสันตามสายพันธุ์ โดดเด่นในการเป็นยาภายนอกและภายใน มีสรรพคุณทางยา นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ

เทียนบ้าน

เทียนบ้าน

เทียนบ้าน มีดอกหลากหลายสีแล้วแต่สายพันธุ์ อย่างเช่น สีชมพู สีแดง สีม่วง สีขาว หรืออาจเป็นสีผสม แต่ส่วนที่นิยมนำมาใช้ทำยาสมุนไพรจะเป็นสีขาว ด้วยความที่มีสีสันจึงเป็นพรรณไม้ที่นิยมปลูกกันเป็นไม้ประดับตามบ้านเรือน ตามสถานที่ราชการต่าง ๆ ส่วนต่าง ๆ ของต้นทำเป็นยาได้ ในอดีตชาวบาหลีจะนำใบเทียนบ้านมารับประทานเป็นอาหาร ส่วนของใบสดมีสรรพคุณช่วยบำรุงผมได้ด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของเทียนบ้าน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Impatiens balsamina L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Garden balsam”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “เทียนดอก เทียนสวน เทียนไทย เทียนขาว เทียน” คนจีนเรียกว่า “จึงกะฮวย จี๋กะเช่า เซียวก่ออั้ง ห่งเซียง” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “จือเจี่ยฮวา จี๋ซิ่งจื่อ เฟิ่งเซียนฮวา ฝู่เฟิ่งเซียนฮวาจื่อ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์เทียนดอก (BALSAMINACEAE)

ลักษณะของเทียนบ้าน

เทียนบ้าน เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็กอายุ 1 ปี ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดียและแอฟริกา
ลำต้น : แตกกิ่งก้านใกล้กับโคนต้น ลำต้นกลมเป็นสีเขียวอ่อนอมสีแดงและอวบน้ำ มีข้อกลวงเป็นรูปกลมทรงกระบอก
ใบ : เป็นใบเดี่ยวที่ออกเรียงสลับเวียนรอบต้น เป็นรูปวงรีกว้าง ตรงปลายใบแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่ม ขอบใบจักเป็นซี่ฟัน แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม
ดอก : ออกดอกเป็นช่อ 2 – 3 ดอก หรือออกดอกเดี่ยว มักจะออกตามซอกใบ มีหลายสีแล้วแต่สายพันธุ์ มีกลีบดอก 4 – 5 กลีบ อาจซ้อนกันหรือไม่ก็ได้ ปลายของกลีบหยักเว้าเป็นลอน กลีบรองดอกมีลักษณะเป็นรูปถ้วยปากบานออก มีงวงน้ำหวาน มีเกสรเพศผู้จำนวน 5 ก้านเกิดติดกันอยู่รอบรังไข่ โดยรังไข่แบ่งเป็น 5 ห้อง กลีบเลี้ยงมี 3 กลีบเป็นสีเขียว ออกดอกตลอดทั้งปี
ผล : เป็นรูปทรงวงรี ผิวมีขนยาวสีขาวปกคลุม ผลเป็นกระเปาะมีรอยแยกเป็น 5 กลีบ เมื่อแก่เต็มที่แล้วจะแตกออกตามยาว เปลือกจะบิดม้วนขมวดและดีดเมล็ดออกมา
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลเข้มถึงดำ มีรอยกระอยู่หลายที่ เมล็ดมีลักษณะกลมหรือเป็นรูปไข่แบน

สรรพคุณของเทียนบ้าน

  • สรรพคุณจากราก ใช้กระจายเลือด ขับลมชื้นในร่างกาย เป็นยาฟอกเลือด เป็นยาแก้ตกขาวของสตรี เป็นยาแก้ตกเลือด รักษาแผลเรื้อรัง เป็นยาแก้ฝีหนอง แก้อาการฟกช้ำดำเขียว แก้ฟกช้ำเป็นก้อน แก้หกล้ม แก้บวมแดง ช่วยลดบวม ช่วยแก้อาการปวดกระดูก
    – แก้อาการบวมน้ำ ด้วยการนำรากสด 4 – 5 ราก มาต้มกับเนื้อหมูทาน 3 – 4 ครั้ง
  • สรรพคุณจากเมล็ด ช่วยกระจายเลือด ช่วยแก้ก้างติดคอ เป็นยาขับเสมหะข้น เป็นยาขับลูกที่ตายในท้องของสตรี ช่วยขับรกค้าง เป็นยาแก้ซีสต์หรือก้อนเนื้อในมดลูกของสตรี ช่วยแก้ตับแข็ง แก้แผลติดเชื้ออักเสบเรื้อรัง รักษาแผลไฟไหม้ รักษาน้ำร้อนลวก เป็นยาแก้พิษงู ช่วยแก้อาการปวดบวม
    – แก้คอเป็นเม็ดเดี่ยวหรือเม็ดคู่ ด้วยการนำเมล็ดมาบดเป็นผง ใช้กระดาษม้วนเป่าเข้าไป แล้วอมไว้วันละ 2 – 3 ครั้ง
    – เป็นยาขับเลือด ขับประจำเดือนของสตรี แก้ประจำเดือนไม่มา เป็นยากระจายเลือด ด้วยการนำเมล็ดแห้งของชนิดดอกขาว 60 กรัม มาบดเป็นผงรวมกับตังกุย 10 กรัม ผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นยาเม็ด ใช้ทานหลังอาหารครั้งละ 3 กรัม วันละ 3 เวลา
    – สำหรับสตรีที่คลอดบุตรยาก ด้วยการนำเมล็ด 6 กรัม มาบดเป็นผงกินกับน้ำ
  • สรรพคุณจากลำต้น ช่วยทำให้เลือดเดินสะดวก ช่วยทำให้อาเจียน เป็นยาขับลม เป็นยาขับปัสสาวะ รักษาแผลเน่าเปื่อย แก้ปวด แก้บวมเป็นพิษ ช่วยแก้เหน็บชา ช่วยทำให้เส้นเอ็นคลายตัว
    – แก้ก้างปลาหรือกระดูกติดคอ ด้วยการนำลำต้นมาตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำดื่มหรือกลืน
  • สรรพคุณจากดอก เป็นยาเย็น ช่วยบำรุงร่างกาย
  • สรรพคุณจากเมล็ด ใบ ดอก ทั้งต้น เป็นยาฟอกเลือด
  • สรรพคุณจากยอดสด
    – แก้จมูกอักเสบ แก้บวมแดง ด้วยการนำยอดสดมาตำผสมกับน้ำตาลทรายแดง แล้วพอกบริเวณที่มีอาการ ทำการเปลี่ยนเช้าและเย็น
  • สรรพคุณจากทั้งต้น เป็นยาแก้ฝีบริเวณต่อมทอนซิล เป็นยาขับลม ช่วยแก้อาการปวดบวม
  • สรรพคุณจากใบ เป็นยาสลายลม เป็นยาแก้บิด แก้มูกเลือด รักษาแผลเรื้อรัง เป็นยาแก้งูกัด เป็นยาถอนพิษ แก้ปวดแสบ แก้ปวดร้อน รักษาฝี เป็นยาแก้แผลหนองเรื้อรัง แก้น้ำกัดมือ แก้ฝีประคำร้อย แก้ฝีตะมอย แก้เล็บขบเล็บช้ำ เป็นยากันเล็บถอด กันจมูกเล็บหรือซอกข้างเล็บอักเสบบวม ช่วยแก้บวม แก้อาการเจ็บปวดเนื่องจากการกระทบกระแทก แก้ปวดไขข้อ
    – รักษาแผลที่ถูกน้ำร้อนลวก แก้แผลพุพอง แก้แผลไฟไหม้ ด้วยการนำใบสดที่ล้างสะอาด 5 – 10 ใบ มาตำให้ละเอียด ใช้พอกวันละ 3 ครั้ง จนกว่าจะหาย
    – แก้แผลอักเสบ แก้แผลเน่าเปื่อย แก้ฝีหนอง ด้วยการนำใบแห้ง 10 – 15 กรัม มาต้มกับน้ำดื่มเช้าเย็น
    – เป็นยารักษากลากเกลื้อน ด้วยการนำใบสด 1 กำมือมาตำให้ละเอียด ใช้พอกหรือทาบริเวณที่เป็นจนกว่าจะหาย
    – ช่วยแก้ฝีอักเสบเกิดที่หลัง ด้วยการนำใบสดมาตำพอกหรือใช้ยาสดล้างสะอาดตำและต้ม รินเอาน้ำมารวมกันเคี่ยวให้ข้น ใช้ทากระดาษแก้ว ปิดที่แผล เปลี่ยนยาวันละ 1 ครั้ง
  • สรรพคุณจากดอก เป็นยาสลายลม แก้อาการปวดก่อนมีประจำเดือน เป็นยากันเล็บถอด ช่วยแก้ปวด แก้ปวดเอว แก้ลดบวม แก้ปวดไขข้อ
    – รักษาแผลที่ถูกน้ำร้อนลวก แก้แผลพุพอง แก้แผลไฟไหม้ ด้วยการนำดอกมาตำให้ละเอียดแล้วพอก
  • สรรพคุณจากต้น รักษาฝี ช่วยขับลมชื้น แก้ปวดไขข้อ รักษาอาการปวดข้อกระดูกอันเนื่องมาจากลมชื้น ช่วยบำรุงผิวและลดริ้วรอย
    – แก้แผลงูสวัด ด้วยการนำต้นสดมาตำคั้นเอาแต่น้ำดื่มเป็นยา
    – แก้พิษงู แก้แผลงูกัด ด้วยการนำต้นสด 160 กรัม มาตำเอาน้ำดื่มเป็นยา และนำกากที่เหลือพอกแผล
    – แก้ฝีมีหนอง ด้วยการนำต้นสดผสมกับน้ำตาลทรายแดงเล็กน้อย แล้วพอกบริเวณที่มีอาการ
    – แก้เล็บเท้าอักเสบบวม แก้แผลบริเวณเล็บมือ ด้วยการนำต้นสดผสมกับน้ำตาลทรายแดงเล็กน้อย ใช้พอก
  • สรรพคุณจากรากและใบ
    – ช่วยแก้หน้าบวมและขาบวม ด้วยการนำรากและใบสดผสมกับน้ำตาลทราย ตำให้ละเอียดแล้วใช้พอก
    – แก้แผลที่ถูกเศษแก้วตำเนื้อ รักษาเสี้ยน ด้วยการนำใบและรากมาตำให้ละเอียด ใช้พอกบริเวณแผล
  • สรรพคุณจากดอกและใบ แก้อาการปวดตามข้อมือข้อเท้าของผู้ป่วยที่เป็นโรคเกาต์ รักษาอาการเล็บขมมีหนอง

ประโยชน์ของเทียนบ้าน

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ชาวบาหลีในอดีตนำใบมาทานเป็นอาหาร
2. บำรุงผม ใบสดนำมาต้มกับน้ำใช้สระผม ช่วยบำรุงผม ทำให้ผมดกดำ น้ำคั้นจากใบสดนำมาใช้ย้อมสีผมได้
3. เป็นของเล่นเด็ก เด็กใช้กลีบและผลเป็นของเล่น ชาวมาเลเซียในอดีตนำกลีบของต้นทาสีเล็บ ดอกและใบสดใช้ย้อมเล็บ ทำให้เล็บเป็นสีส้ม
4. ใช้เป็นเชื้อเพลิง เมล็ดบีบให้น้ำมันสำหรับหุงต้มหรือใช้จุดตะเกียงได้
5. ปลูกเป็นไม้ประดับ ตามบ้านเรือน ตามสถานที่ราชการต่าง ๆ

เทียนบ้าน พรรณไม้ดั้งเดิมที่นำมาแปรรูปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ในปัจจุบันจะนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับตามสถานที่ต่าง ๆ เป็นต้นที่ดีต่อผมเป็นอย่างมาก เทียนบ้านมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของเมล็ดและใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้แผลอักเสบ เป็นยาฟอกเลือด แก้บวมอักเสบ เป็นยาแก้บิด และแก้ปวดประจำเดือนของสตรี เทียนบ้านจะมีสรรพคุณเป็นยาใช้ภายนอกมากกว่าภายใน

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “เทียนดอก (Tian Dok)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 147.
หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “เทียนบ้าน Garden Balsam”. หน้า 124.
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “เทียนดอก”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 382-384.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “เทียนดอก”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 268.
สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “เทียนบ้าน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [22 มี.ค. 2014].
สถาบันการแพทย์แผนไทย. “เทียนบ้าน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ittm-old.dtam.moph.go.th. [22 มี.ค. 2014].
สมุนไพร, สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์. “เทียนบ้าน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: aidsstithai.org/herbs/. [22 มี.ค. 2014].
ไทยโพสต์. “เทียนบ้านรักษาเล็บขบ และวิธีรักษาเชื้อราที่เล็บอย่างได้ผล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaipost.net. [22 มี.ค. 2014].
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 13 คอลัมน์: สมุนไพรน่ารู้. “ดาวเรืองและเทียน”. (ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ). อ้างอิงใน: หนังพจนานุกรมสมุนไพรจีน (ของประเทศจีน). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [22 มี.ค. 2014].
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 334 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า. “เทียนไม้ดอกงามที่ได้นามจากลำต้น”. (เดชา ศิริภัทร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [22 มี.ค. 2014].
บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร, งานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “เทียนบ้าน”. (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [22 มี.ค. 2014].
ไทยเกษตรศาสตร์. “เทียนบ้านมีสรรพคุณดังนี้”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaikasetsart.com. [22 มี.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/
รูปอ้างอิง
https://www.emporiodassementes.com.br/flores/impatiens-maria-sem-vergonha/impatiens-balsamina-dobrada-beijo-de-frade